• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรและยาที่อาจทำให้เกิดดีซ่าน-ตับอักเสบ

"คุณหมอคะดิฉันสังเกตว่า ๒-๓ วันมานี้ ปัสสาวะสีเหลืองเข้มผิดปกติ และตาขาวก็เป็นสีเหลือง ไม่ทราบว่าเป็นดีซ่านหรือเปล่าคะ"

คุณหมอซักและตรวจคนไข้สาววัย ๔๐ ปีเพิ่มเติม พบว่านอกจาก ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง แล้วยังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และตับโตกว่าปกติเล็กน้อยได้ทำการ ตรวจเลือดพบว่า มีอาการอักเสบของตับ แต่ไม่พบร่องรอยของการติดเชื้อไวรัส

คนไข้ที่มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง ดังที่เรียกว่า"ดีซ่าน" นั้น ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากโรคตับอักเสบจากไวรัส แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ รวมทั้งจากสารเคมีและยา (ดูตาราง)

คุณหมอได้พยายามทบทวนหาสาเหตุของหญิงสาวรายนี้อย่างถี่ถ้วน ก็ไม่พบว่ามีสาเหตุจากโรคอะไร ท้ายที่สุด ได้สอบถามถึงประวัติ ของการใช้ยา จึงพบว่าคนไข้มีอาการเครียด นอนไม่หลับ ได้ซื้อยาสมุนไพร ขี้เหล็กชนิดเม็ดที่มีสรรพคุณเป็นยานอนหลับอ่อนๆ มากินทุกคืนต่อเนื่อง มานานกว่าเดือน

คุณหมอเคยอ่านพบรายงานทางการแพทย์ในบ้านเราเมื่อไม่นาน มานี้ว่า สมุนไพร "ขี้เหล็ก" อาจทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้

ขี้เหล็กมักจะทำเป็นยาเม็ดมี สรรพคุณช่วยให้นอนหลับแทนยา นอนหลับแผนปัจจุบัน เช่น ไดอะซีแพมได้ ชาวบ้านนิยมซื้อใช้เอง ด้วย ความเชื่อว่าปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบัน อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายกว่ายาแผนปัจจุบัน เมื่อมีความนิยมใช้ยานี้ กันมากๆ แพทย์ตามโรงพยาบาลก็เริ่มพบว่า มีคนไข้หลายๆ รายเกิดโรคตับอักเสบจากการใช้ยาขี้เหล็ก

มิเพียงแต่ขี้เหล็กชนิดเม็ดเท่านั้น แม้แต่การนำใบและดอกขี้เหล็ก ต้มเอาน้ำดื่มเป็นประจำทุกวัน ก็อาจทำให้ตับอักเสบได้เช่นกันคนไข้เหล่านี้ เมื่อหยุดกินขี้หล็ก อาการตับอักเสบก็ทุเลาไปได้เอง แต่เมื่อลองกลับมากินใหม่ก็เกิด อาการตับอักเสบกำเริบได้อีก

จากข้อมูลเหล่านี้ คุณหมอจึงได้แนะนำให้หญิงสาวหยุดกินยาเม็ด ขี้เหล็ก โดยไม่ได้ให้การรักษาอื่นๆไม่นานอาการตับอักเสบก็หายได้เอง

นอกจากขี้เหล็กแล้ว ยังพบว่า บอระเพ็ดก็อาจทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้เช่นกัน ที่ผ่านมาเคยมีการใช้ บอระเพ็ดรักษาเบาหวาน เพราะมีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งต้องกินเป็นประจำทุกวัน ก็พบว่าคนไข้เบาหวานที่กินสมุนไพร ตัวนี้หลายรายเกิดอาการดีซ่าน ตับอักเสบตามมา เมื่อหยุดกิน อาการดังกล่าวก็หายไปได้เอง

เรื่องราวทั้งหมดนี้ เป็นอุทาหรณ์ เตือนให้เราต้องพึงระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สมุนไพรก็ จำเป็นต้องมอง ๒ ด้าน เช่นเดียวกับ การใช้ยาแผนปัจจุบัน อย่าคิดเพียงด้านเดียวว่าสมุนไพรมีความปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
แท้จริงแล้ว สมุนไพรมีสรรพคุณเป็นยาได้ก็เพราะมีองค์ประกอบ ที่เป็นสารเคมี (ที่เรียกว่า phyto-chemical) ซึ่งก็ย่อมมีทั้งคุณและโทษ (ทวิลักษณ์)

ท่ามกลางกระแสนิยมการใช้สมุนไพรธรรมชาติในการป้องกันและ รักษาโรค ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้ง ประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการค้นพบข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่า การใช้สมุนไพรอย่างพร่ำเพรื่อ หรือ ใช้เกินขนาด ก็อาจทำให้เกิดผลข้าง เคียงร้ายแรงได้ เช่นเดียวกับยาแผน ปัจจุบัน

ดังนั้น เราจึงต้องทำการศึกษา หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุนไพร จะต้องเลือกใช้ให้เป็น และพยายามหลีกเลี่ยงจากผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

ข้อมูลสื่อ

277-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 277
พฤษภาคม 2545
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ