หัด เป็นโรคที่มีอาการไข้ผื่นขึ้น เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่าย มักเป็นอยู่นาน ๑ สัปดาห์ ก็จะหายได้เอง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน จึงไม่ค่อยมีการระบาดเช่นสมัยก่อน
ชื่อภาษาไทย หัด
ชื่อภาษาอังกฤษ Measles
สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า "ไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus)" ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ถูกมือผู้ป่วยหรือสื่อกลาง (เช่น ลูกบิดประตู รีโมต โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น) ที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วใช้นิ้วมือที่สัมผัสถูกเชื้อนั้น แคะจมูก หรือขยี้ตา เชื้อก็จะผ่านเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจ
ระยะฟักตัวของโรค ๙-๑๑ วัน
มักพบระบาดในโรงเรียนและชุมชนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน
อาการ แรกเริ่มมักมีอาการไข้สูง น้ำมูกใส ไอ แบบเดียวกับไข้หวัด แตกต่างจากไข้หวัดตรงที่ผู้ที่เป็นหัดจะมีไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ สร่าง หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร เด็กเล็กมักจะมีอาการร้องงอแง
หลังมีไข้ ๑-๒ วัน จะมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้ม ๒ ข้าง พบเป็นจุดสีขาวๆ เหลืองๆ ขนาดเล็กคล้ายเมล็ดงา เห็นชัดตรงเยื่อบุกระพุ้งแก้มในบริเวณใกล้ฟันกรามล่าง สามารถตรวจพบโดยใช้ไฟฉายส่องดู (อาจใช้ไม้กดลิ้นหรือด้ามช้อนช่วยดันกระพุ้งแก้ม เพื่อให้เห็นได้ชัด) ผื่นที่กระพุ้งแก้มนี้ภาษาแพทย์เรียกว่า "จุดค็อปลิก (koplik's spots)" ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคหัด
หลังมีไข้ ๓-๔ วัน จะพบผื่นขึ้นตามผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นแดงราบขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ขณะรีดหนังให้ตึงจะจางหายชั่วคราว ขึ้นที่ตีนผมและซอกคอก่อน ต่อมาจะลามไปตามหน้าผาก ใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยจะค่อยๆ แผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้าง บางคนอาจมีความรู้สึกคันเล็กน้อย
ผื่นของหัดจะไม่จางหายไปทันทีทันใดเช่นไข้ออกผื่นอื่นๆ (เช่น หัดเยอรมัน ส่าไข้) แต่จะค่อยๆ จางลงทีละน้อยภายใน ๔-๗ วัน เหลือให้เห็นเป็นรอยแต้มสีคล้ำๆ (ดูคล้ายผิวที่มีขี้ไคลติด) บางคนอาจมีอาการหนังลอกตามมาได้
ส่วนอาการไข้ (ตัวร้อน) จะขึ้นสูงสุดใกล้ๆ มีผื่นขึ้นและจะเริ่มทุเลาลงเมื่อผื่นขึ้นแล้ว ไข้มักจะเป็นอยู่นานประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็จะหายไปได้เอง (ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้กินยาอะไรก็ไม่ลด)
อาการทั่วไปจะค่อยๆ ดีขึ้น พร้อมๆ กับผื่นที่จางลง แต่อาจมีอาการไอต่อไปได้อีกหลายวัน
การแยกโรค
ในระยะแรกเริ่ม ขณะที่มีเพียงอาการไข้ น้ำมูกไหล ไอ โดยยังไม่มีผื่นขึ้น ควรแยก ออกจากสาเหตุอื่น เช่น
๑. ไข้หวัด จะมีอาการไข้เป็นพักๆ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ โดยที่อาการทั่วไปค่อนข้างดี ไม่ซึม ไม่เบื่ออาหาร ช่วงที่ไข้ลง (ตัวเย็น) ก็จะรู้สึกค่อนข้างสุขสบาย ไข้มักจะเป็นอยู่ ๒-๔ วัน ก็จะทุเลาไปได้เอง
๒. ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยมาก น้ำมูกไหล ไอ ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง ตาแดง คล้ายหัดมาก แยกออกจากหัด โดยที่ตรวจไม่พบผื่นในกระพุ้งแก้ม (หลังมีไข้ ๑-๒ วัน) และไม่มีผื่นขึ้นตามตัว (หลังมีไข้ ๓-๔ วัน) โดยทั่วไปอาการไข้มักจะเป็นอยู่ ๓-๕ วัน
๓. ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง เจ็บหน้าอก หายใจ หอบเร็ว ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว
๔. ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร คล้ายหัด แต่มักจะไม่มี อาการน้ำมูกไหล ไอ หรือเจ็บคอ มักพบระบาด ในช่วงหน้าฝน
ในระยะที่มีผื่นขึ้นตามตัว ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
๑. ส่าไข้ จะมีไข้สูงตลอดเวลา โดยไม่มี อาการอื่นๆ ให้เห็นชัดเจน ๓-๕ วัน ต่อมาไข้จะลดลงเอง หลังไข้ลดไม่กี่ชั่วโมง จะมีผื่นแดงขึ้นตาม ตัว ตอนผื่นขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกสุขสบายเป็นปกติ และผื่นจะจางหายไปภายใน ๒ วัน มักพบในเด็กเล็กอายุไม่เกิน ๓ ขวบ (พบมากในช่วง ๖-๑๘ เดือน)
๒. หัดเยอรมัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา แบบเดียวกับผื่นของหัด โดย ที่อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ ผื่นอาจขึ้นพร้อมไข้ ก่อนหรือหลังมีไข้ก็ได้ ผู้ป่วยค่อนข้างจะสบาย ดี กินได้ ทำงานได้ ลักษณะจำเพาะก็คือ จะตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู หลังคอ ท้ายทอย และข้างคอทั้ง ๒ ข้าง
๓. ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร หลังมีไข้ ๒-๓ วัน อาจ มีผื่นแดงขึ้นตามลำตัวและแขนขา ซึ่งจะขึ้นอยู่ ๒-๓ วัน ก็จางหาย บางคนอาจพบมีจุดเลือดออกลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ (รีดหนังให้ตึง ไม่จาง หาย)
๔. ผื่นจากยา จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเกิดขึ้นหลังกินยารักษาอาการไม่สบาย (เช่น เป็นไข้ ไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาปฏิชีวนะ ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้
การวินิจฉัย แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคหัดจากอาการแสดง ได้แก่ การตรวจพบผื่นในกระพุ้งแก้ม (จุดค็อปลิก) และผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งขึ้น หลังมีไข้ ๓-๔ วัน ร่วมกับอาการไข้สูงตลอดเวลา
หน้าแดง ตาแดง และอาการเป็นหวัด ไอ
ในกรณีที่แยกไม่ได้ชัดเจนจากไข้เลือดออก หรือปอดอักเสบ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด เป็นต้น
การดูแลตนเอง
๑. ขณะมีไข้สูง ให้ทำการเช็ดตัว และดื่มน้ำมากๆ
๒. ถ้าเบื่ออาหาร ให้ดื่มนม น้ำหวาน น้ำผลไม้
๓. ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล ซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง (สำหรับโรคหัด ยาลดไข้อาจไม่ช่วยบรรเทาอาการไข้ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโรคนี้ ก็ไม่ควรกินยาถี่กว่าที่แนะนำ)
๔. ถ้าไอมาก ให้จิบน้ำอุ่น หรือน้ำผึ้งผสมมะนาว
ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. มีอาการหายใจหอบเร็ว ปวดท้องมาก ชัก มีเลือดออก ซึมมาก หรือกระสับกระส่าย
๒. มีน้ำมูก หรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว เจ็บหู ตาแฉะ
๓. กินไม่ได้ อาเจียน ดื่มน้ำได้น้อย หรือท้องเดินมาก
๔. มีไข้สูงเกิน ๔ วันแล้วยังไม่มีผื่นขึ้น
๕. สงสัยเป็นไข้เลือดออก ปวดอักเสบ หรือผื่นจากยา
๖. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง
การรักษา เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ถ้าพบว่าเป็นโรคหัด ก็จะให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้) และแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ
แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ (ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือขียว หรือมีหูชั้นกลางอักเสบแทรกซ้อน) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงแทรกซ้อนได้
ภาวะแทรกซ้อน มักพบในเด็กที่ขาดอาหารหรือมีภูมิต้านทานต่ำ
ที่พบบ่อยคือ ปอดอักเสบ ท้องเดิน
อาจพบหูชั้นกลางอักเสบ ปากเปื่อย หลอดลมอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ
ที่รุนแรงถึงตายได้ คือ สมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อย
นอกจากนี้ ยังทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น ถ้ามีเชื้อมาลาเรียอยู่ก่อนก็อาจเป็นไข้มาลาเรียชนิดรุนแรงได้
เด็กบางคนที่เบื่ออาหาร หรืองดอาหารโปรตีน (ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นของแสลง) ก็อาจกลายเป็นโรคขาดอาหารได้
การดำเนินโรค ส่วนใหญ่มักจะเป็นอยู่ประ-มาณ ๑ สัปดาห์ ไข้จะทุเลาไปได้เอง และอาการออกผื่นจะค่อยๆ จางหายไปภายใน ๔-๗ วันหลังผื่นขึ้น ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา
การป้องกัน โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เมื่อเด็กอายุได้ ๙-๑๒ เดือน ฉีดเพียงเข็มเดียวป้องกันได้ตลอดไป
ความชุก พบมากในเด็กอายุ ๒-๑๔ ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า ๖ เดือน (เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา) ในผู้ใหญ่ก็พบได้ประปราย ในปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันหัดอย่างทั่วถึงมากขึ้น
- อ่าน 8,656 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้