• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระเพาะ

โรคกระเพาะ

*ชื่อภาษาไทย :   โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคแผลในกระเพาะ โรคแผลเพ็ปติก

*ชื่อภาษาอังกฤษ :  Dyspepsia, Peptic ulcer (PU)

*สาเหตุ :  คำว่า "โรคกระเพาะ" ในที่นี้หมายถึงอาการปวดแสบ จุกแน่น หรืออืดเฟ้อ ตรง บริเวณลิ้นปี่หรือยอดอก มักเกิดขึ้นตอนหิว (ก่อน อาหาร) หรือตอนอิ่ม (หลังอาหาร)

สาเหตุสามารถแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ได้แก่
๑. กลุ่มโรคกระเพาะชนิดมีแผล หรือกลุ่ม แผลเพ็ปติก (peptic ulcer) ซึ่งอาจเป็นแผลตรงส่วนกระเพาะอาหาร เรียกว่า แผลกระเพาะ อาหาร (gastric ulcer, ย่อว่า GU) หรือแผลตรงส่วนลำไส้เล็กส่วนต้น เรียกว่า แผลลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer, ย่อว่า DU) ก็ได้
 

สาเหตุของแผลเพ็ปติกส่วนใหญ่เกิดจากข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (non steroidal anti inflammatory drugs, ย่อว่า NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน ไพร็อกซิแคม ไดโคลฟีแนก เป็นต้น ซึ่งนิยมใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ ปวด เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน รวมทั้ง ใช้แก้ปวดแก้ไข้ทั่วไป หากใช้ติดต่อกันนานๆ มักจะทำให้เกิดแผลเพ็ปติก อาจรุนแรงถึงขั้นเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ) หรือกระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุได้
(๒) การติดเชื้อเฮลิโคแบกเตอร์ไพโลไร (Helicobacter pylori) หรือเอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งสามารถติดต่อทางอาหารการกินเช่นเดียวกับเชื้อบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์
เชื้อนี้สามารถแฝงตัวอยู่ในกระเพาะอาหาร นานนับเป็นแรมปีจนถึงสิบๆ ปี ในที่สุดอาจชักนำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แผลเพ็ปติก หรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้

สาเหตุข้อนี้นับว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งค้นพบใหม่ กลายเป็นว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคติดเชื้อ ไม่ใช่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมล้วนๆ (เช่น กินอาหารผิด กินอาหารไม่ตรงเวลา) และ เปลี่ยนโฉมของการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ดังจะได้กล่าวต่อไป

๒. กลุ่มโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล (non ulcer dyspepsia) กลุ่มนี้ครอบคลุมสาเหตุ หลากหลาย เช่น
กระเพาะอาหารอักเสบ (gastritis) จาก แอลกอฮอล์ กาแฟ ยา (แอสไพริน ยาแก้ปวด ข้อ ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาบำรุงเลือด เป็นต้น)
ภาวะกรดในกระเพาะ ไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร (gastro esophageal  reflux disease, ย่อว่า GERD) ทำให้มีอาการเรอ เปรี้ยว หรือแสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงลำคอ มักเป็นเวลาอยู่ ในท่านอนราบหรือก้มตัว อาจมีสาเหตุจากการกินอาหารมากเกิน มีกรดออกมาก ความอ้วน ภาวะการตั้งครรภ์ การรัด เข็มขัดแน่นเกิน การสูบบุหรี่จัด การใช้ยา เป็นต้น มักเป็นเรื้อรัง

อื่นๆ เช่น ความเครียด อาหาร (เช่น อาหารมัน อาหารรสจัด อาหารหวานจัด อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ย่อยยาก) บางคนอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม (มีพ่อแม่-พี่น้องมีอาการอาหารไม่ย่อยแบบเดียวกัน) หากหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบ ก็อาจทุเลาไปได้
 

อาการ ที่เด่นชัดคือ หิวแสบ อิ่มจุก กล่าวคือ เวลาท้องว่าง (เช่น ใกล้มื้ออาหาร ตอน ดึกๆ ตอนเช้ามืด) จะมีอาการแสบท้อง เวลาอิ่ม ใหม่ๆ (เช่น หลังกินอาหาร) จะมีอาการจุกแน่น ตำแหน่งที่ปวดแสบหรือจุกแน่น จะเป็นตรงบริเวณลิ้นปี่หรือยอดอก (เหนือสะดือ) มักจะเป็น นาน ครั้งละ ๓๐ นาที อาการจะค่อยๆ ทุเลาไปได้ เอง หรืออาจทุเลาหลังกินยาต้านกรด (ยาน้ำขาว) หากไม่รักษา ผู้ป่วยมักจะมีอาการกำเริบ เวลาก่อนหรือหลังมื้ออาหารแทบทุกมื้อและแทบทุกวัน บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

บางคนอาจมีอาการกำเริบเวลากินยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ของมันๆ ของหวานๆ อาหารที่ย่อยยาก หรือกำเริบในช่วงที่กินอาหารผิดเวลาหรือปล่อยให้หิวนานๆ หรือเวลามีความเครียด

การแยกโรค   อาการปวดตรงลิ้นปี่ นอกจากโรคกระเพาะ ยังอาจเกิดจากโรคอื่นที่สำคัญได้แก่
๑. ตับอักเสบ มีอาการอ่อนเพลีย จุกแน่นลิ้นปี่ ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง) อาจมีอาการเบื่ออาหารร่วม ด้วย และอาจมีไข้คล้ายไข้หวัดนำมาก่อน
๒. ตับแข็ง มีอาการ จุกแน่นลิ้นปี่ ดีซ่าน อาจมีประวัติดื่มสุราจัดมานาน
๓. นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงใต้ลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา หลังกิน อาหาร (มันๆ) เป็นบางมื้อบางวัน บางครั้งอาจ ปวดรุนแรงจนแทบเป็นลม นานครั้งละ ๓๐ นาที อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
๔. ไส้ติ่งอักเสบระยะแรกเริ่ม มีอาการปวดรอบๆ สะดือเป็นพักๆ คล้ายท้องเสีย อาจเข้า ห้องน้ำบ่อย แต่ถ่ายไม่ออก หรือถ่ายแบบท้องเสีย ปวดนานหลายชั่วโมง แล้วต่อมาจะย้ายมาปวดตรงท้องน้อยข้างขวา แตะถูกหรือขยับเขยื้อนตัวจะเจ็บ ต้องนอนนิ่งๆ หากไม่รักษาจะปวดรุนแรงขึ้นนานข้ามวันข้ามคืน
๕. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่ และปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่ หรือต้นแขน นานครั้งละ ๒-๕ นาที มักมีอาการกำเริบ เวลาออกแรง เดินขึ้นบันได ทำอะไรรีบร้อน หลังกินข้าว อิ่ม หลังอาบน้ำเย็น มีอารมณ์ เครียด หรือขณะสูบบุหรี่ จะปวดนานๆ ครั้ง เวลามีเหตุกำเริบดังกล่าว บางคนอาจเข้าใจว่าเป็น เพียงโรคกระเพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการ กำเริบหลังกินข้าว ผู้ป่วยอาจมีประวัติสูบบุหรี่  จัด ขาดการออกกำลังกาย อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรืออาจมีอายุมาก (ชายอายุ ๔๕ ปีขึ้นไป, หญิงอายุ  ๕๕ ปีขึ้นไป)
๖. มะเร็งตับ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร  มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนัดลด จุกแน่นท้อง อาจมีคลื่นไส้อาเจียน ดีซ่าน อาเจียน เป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือหน้าตาซีดเซียวร่วมด้วย

การวินิจฉัย  มักจะวินิจฉัยจากอาการหิวแสบ-อิ่มจุก
ถ้ากินยาโรคกระเพาะแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยเป็นโรคอื่น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และอาจทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ
ถ้าหากสงสัยเป็นแผลเพ็ปติก แพทย์จะทำ การเอกซเรย์ โดยให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบเรียม หรือ ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (endoscope) ถ้าพบว่าเป็นแผลจริง แพทย์จะนำเนื้อเยื่อกระเพาะ ไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นการติดเชื้อเอชไพโลไรหรือไม่ ถ้าติดเชื้อนี้จริง จะได้ให้ยาปฏิชีวนะกำจัดให้โรค หายขาดได้

การดูแลตนเอง  
๑. ถ้ามีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หรือมี อาการน่าสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น ปวดรุนแรง ปวดนานเกิน ๖ ชั่วโมง กระเทือน ถูกเจ็บ อาเจียน ถ่ายอุจจาระดำ ตาเหลือง ตัวเหลือง น้ำหนักลด ปวด ร้าวขึ้นคอ ขากรรไกร ไหล่ หรือต้นแขน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
๒. ถ้าเพิ่งมีอาการครั้งแรก และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ (รู้สึกสบายดี) ให้กินยาต้านกรด (antacid) มีลักษณะเป็นยาน้ำสีขาวคล้ายแป้ง) ครั้งละ ๑๕-๓๐ มิลลิลิตร หลังอาหารและก่อนนอน และปฏิบัติตัวดังนี้

* งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต น้ำอัดลม อาหารที่ทำให้กำเริบ (เช่น ของมัน ของหวาน รสจัด) หลีกเลี่ยงยา (เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ)

* กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ และควรกินอาหารมื้อเย็นก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย ๓ ชั่วโมง

* ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่ารีบเร่ง อย่ากินจนอิ่มมากเกินไป

* หลังกินอาหารอิ่ม อย่าล้มตัวลงนอน หรืออยู่ในท่าก้มงอตัว และอย่ารัดเข็มขัดแน่น

* ถ้าน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนัก

* ถ้าเครียด ควรออกกำลังกายเป็นประจำ และหาวิธีผ่อนคลายความเครียด

๓. ถ้ากินยา ๒-๓ วัน รู้สึกทุเลา ขาดยากำเริบ ให้กินยาจนครบ ๒ สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ทุเลาตั้งแต่แรกควรไปพบแพทย์
๔. ในกรณีที่กินยา ๒ สัปดาห์แล้วไม่หายดี ควรไปพบแพทย์ ถ้าหายดี ควรกินยาจนครบ  ๖-๘ สัปดาห์
๕. หากกินยาครบตามข้อ ๓. แล้วต่อมามี อาการกำเริบ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
 

การรักษา
๑. ถ้าเป็นอาการครั้งแรก และมั่นใจว่าไม่ใช่สาเหตุอื่นที่ร้ายแรง แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวดังกล่าวข้างต้น ส่วนยานอกจากยาต้าน กรดแล้ว อาจให้ยาลดการสร้างกรดในกระเพาะ เช่น ไซเมทิดีน (cimetidine), รานิทิดีน (ra-nitidine) ควบคู่ไปด้วย นาน ๖-๘ สัปดาห์
๒. ถ้ามีอาการกำเริบเรื้อรัง หรือสงสัยว่าไม่ใช่โรคกระเพาะ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษ และให้การรักษาตามสาเหตุดังนี้

* ถ้าตรวจพบว่าเป็นแผลเพ็ปติกจากการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ แพทย์จะแนะนำ ให้งดยาดังกล่าว และให้ยาลดการสร้างกรดในกระเพาะ เช่น ไซเมทิดีน, รานิทิดีน, โอเม-พราโซล (omeprazole) นาน ๖-๑๒ สัปดาห์

*ถ้าตรวจพบว่าเป็นแผลเพ็ปติกจากการ ติดเชื้อเอชไพโลไร แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ๒ ชนิด (ได้แก่ อะม็อกซิซิลลิน และ  เมโทรไนดาโซล) กิน ๗ วัน เพื่อ ฆ่าเชื้อดังกล่าว และให้ยาลดการสร้างกรดในกระเพาะ (ได้แก่ โอเมพราโซล) กินนาน ๔-๘ สัปดาห์ วิธีนี้จะช่วยกำจัดเชื้อ ทำให้แผล หาย และไม่เกิดอาการกำเริบเรื้อรัง อีก นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงต่อ การเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจากเชื้อดังกล่าวอีกด้วย

*ถ้าตรวจพบว่ามีสาเหตุจากโรคกระเพาะ ชนิดไม่มีแผลก็จะให้การรักษาแบบข้อที่ ๑ โรค กลุ่มนี้มักจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อ มีเหตุกระตุ้นให้กำเริบ ดังนั้นแพทย์จะเน้นการปฏิบัติตัว ได้แก่ การหลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งที่เป็นเหตุกำเริบ การออกกำลังกาย การผ่อนคลาย ความเครียด

*ถ้าตรวจพบว่ามีสาเหตุอื่นๆ ก็จะให้การ รักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ นิ่วใน ถุงน้ำดี ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โรคหลอดเลือด หัวใจตีบ จะให้ยารักษา หากเป็นมากอาจต้องผ่าตัด เป็นต้น
 

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเป็นโรคแผลเพ็ปติก หากไม่ได้รับการักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นแผลทะลุ เลือดออก (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ) กระเพาะลำไส้ตีบ เป็นต้น และ หากเกิดเชื้อเอชไพโลไร อาจกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารตามมาได้

การดำเนินโรค  
๑. ถ้าเป็นแผลเพ็ปติก หากรักษาอย่างถูกต้อง มักจะหายขาด แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่าง ถูกต้อง อาจเป็นเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นอันตรายได้
๒. ถ้าเป็นโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล มัก จะมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ต้องอาศัยการใช้ยาช่วยให้บรรเทา ยกเว้นว่าสืบทราบเหตุกำเริบได้แน่ชัด และหลีก เลี่ยงได้ ก็อาจจะทุเลาไปได้ แต่ ถ้ามีเหตุกำเริบอีก อาการก็จะกลับมาอีก

การป้องกัน  
๑. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่ จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่สตีรอยด์ที่ใช้แก้ปวดข้อ ปวด เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ และยาอื่นๆ ที่เป็นเหตุกระตุ้นให้โรคกำเริบ
๒. กินอาหารสุก อย่ากินอาหารดิบๆ สุกๆ  หรือมีแมลงวันตอม เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชไพโรไล
๓. ออกกำลังกายเป็นประจำ
๔. กินอาหารให้ตรงเวลา
 

ความชุก
โรคกระเพาะจัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ คนที่นิยมกินยาแก้ปวดข้อปวดเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อเป็นประจำ คน ที่ดื่มสุราจัด ดื่มกาแฟจัด คนที่มีความเครียดบ่อยๆ

ข้อมูลสื่อ

288-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ