• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การผึกโยคะดีจริงหรือ?

การฝึกโยคะดีจริงหรือ?

สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกมุมโลก คือการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีสุขภาพดี และ ร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อพูดถึงการมีร่างกายที่แข็งแรงก็มักจะตาม ด้วยคำแนะนำให้มีการออกกำลังกายอย่าง เพียงพอและเป็นประจำ คำว่าการออก กำลังกายเรามักจะนึกถึงการไปเล่นกีฬาต่างๆ เช่น เทนนิส ว่ายน้ำ ฟุตบอล หรือ ในปัจจุบันจะรวมถึงการมีกิจกรรมเคลื่อน ไหวร่างกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่า ปกติ เช่น การเดินเร็ว วิ่งเหยาะ หรือการ จงใจทำงานบ้าน งานสวน เพื่อให้ได้เหงื่อ เป็นต้น ผลดีของการออกกำลังกาย มีคนศึกษาไว้อย่างมากมาย แล้วการฝึกโยคะ มีดีอย่างไร ทำไมในปัจจุบันนี้จึงเฟื่องฟู ในหมู่คนดูแลสุขภาพ ในมุมมองของดิฉันคิดว่าการฝึกโยคะ คงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นร่างกายได้ดี แต่ระบบหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระดับชีวเคมีต่างๆ ในเลือดคงจะสู้การออกกำลังกาย แบบแอโรบิกไม่ได้ จนกระทั่งได้รับการทาบทามจากครูกวี ผู้ซึ่งมีบทบาท อย่างมากในการเผยแพร่โยคะเพื่อสุขภาพ ขอให้ทีมงานวิจัยของเราพิสูจน์ ว่า ผลของการฝึกโยคะต่อร่างกายของผู้ฝึกเป็นอย่างไร ก็ใช้เวลากว่า ๒-๓ เดือน ในการทำความเข้าใจก่อนเริ่มโครงการ ยิ่งอ่านตำรามากๆ ก็ ยิ่งเห็นว่าโยคะมีหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ และสรุปกันในทีมงานวิจัยว่า เราจะดูผลของโยคะต่อสมรรถภาพทางกาย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง ในระดับเลือด รวมทั้งผลต่อสุขภาพและบริโภคนิสัยของผู้ฝึก

อาสาสมัครผู้ให้ข้อมูล
โดยปกติแล้วการทำวิจัยแต่ละเรื่อง ปัญหาด่านแรกที่พวกเราจะเจอแน่นอนคือจะไปเก็บข้อมูลที่ไหน โดยเฉพาะในวงการที่พวกเราไม่คุ้นเคยก็คงจะยากที่จะไปขุดคุ้ยหาความจริงได้ สำหรับศาสตร์ทาง ด้านโยคะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลและมีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การอธิบายผลดีของโยคะอย่างชัดแจ้งตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ยังมีน้อย สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับผลการฝึกโยคะที่เราได้ศึกษา สำเร็จได้ในครั้งนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนเงินทุนดำเนินการจากสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และความอนุเคราะห์จากครูกวี คงภักดีพงษ์ ที่ให้โอกาสทีมงานในการเก็บข้อมูลในผู้อบรม โครงการผู้นำโยคะ รุ่นที่ ๑ มีระยะเวลาในการฝึก ๓ เดือน โดยทำการฝึกทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ ฝึกวันละชั่วโมงครึ่ง ทฤษฎี ๑ ชั่วโมง สำหรับวันเสาร์ทีมงานของเราก็สลับหน้ากันไปให้ความรู้ด้านโภชนาการกับชีวิตประจำวัน ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนการฝึกโยคะเบื้องต้น เราได้รับแจ้งจากครูกวีว่ามีจำนวนผู้เข้าอบรมประมาณ ๔๐ คน มาจากหลายๆ องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนจริงๆ แล้วเราอยากได้มากกว่านี้เพื่อให้ได้ผลออกมาพอจะบอกอะไรได้ ดังนั้น ทีมงานวิจัยของพวกเรา ๓ คน ซึ่งสนใจขอเข้าร่วมฝึกครั้งนี้ด้วยคืออาจารย์อรพินท์ บรรจง อาจารย์โสภา ธมโชติพงศ์ และ รศ.ดร.กัลยา กิจบุญชู ท่านสุดท้ายนี้เป็นทั้งหัวหน้าทีมงานวิจัย และผู้ซึ่งเคยเขียนประสบการณ์ตรงจากการฝึกโยคะลงในหมอชาวบ้าน  ฉบับที่ ๒๘๒ เดือนตุลาคม ๒๕๔๕ มาแล้ว สำหรับตัวดิฉันขอสังเกต อยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันการลำเอียงของข้อมูล แต่จริงๆ แล้วก็ไม่กล้าเข้าร่วมโครงการ เพราะหนึ่งในสัญญาหลังการฝึกครั้งนี้คือ ฝึกเพื่อเป็นครูโยคะต่อไป ซึ่งดิฉันไม่มั่นใจว่าจะทำได้

ในวันเปิดตัวโครงการมีการชี้แจงกระบวนการเก็บข้อมูลและเซ็นสัญญาการยินยอมให้ทำการศึกษาเนื่องจากมีการเจาะเลือด ทดสอบสมรรถภาพ กรอกแบบสอบถามสุขภาพ และบริโภคนิสัย ทั้งก่อนการอบรม และหลังการอบรม เมื่อเก็บแบบสอบถามเบื้องต้นมาดูรวมทั้งหมดที่ยินยอมให้เก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นจนเสร็จมีจำนวน ๓๐ คน เป็นชาย ๕ คน และหญิง ๒๕ คน อยู่ในช่วงวัยทำงานระหว่าง ๓๕-๕๕ ปี ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ฝึกอบรมกลุ่มนี้มีประสบการณ์การฝึกโยคะมาค่อนข้างมาก เปรียบเสมือนนักกีฬาที่เชี่ยวชาญมาบ้างแล้ว การให้โปรแกรมการฝึกต้องหนักมากจึงจะพอเพียงสำหรับให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เราก็เตรียมใจไว้ว่าอาจจะวัดแล้วไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง

ผลการฝึกโยคะต่อสมรรถภาพร่างกาย
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนต่อการฝึกโยคะคือ ความอ่อนตัว วิธีวัดโดย การนั่งก้มงอตัวไปข้างหน้า บางคนเริ่มต้นวัดได้ติดลบ คือ ไม่สามารถ ก้มแตะปลายเท้าได้ แต่เมื่อวัดครั้งหลังสามารถก้มได้มากขึ้นกว่าเดิม ค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น คือ ๖ เซนติเมตร ความเปลี่ยนแปลงด้านความแข็งแรงกล้ามเนื้อท้องและหลัง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เราใช้การวัดหลายๆ ท่าเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ผู้ฝึกโยคะสามารถ ทำท่าลุก-นั่ง ได้จำนวนครั้งที่มากขึ้นในเวลาที่เท่าเดิม หรือท่านอนหงายเกร็งตัวใช้ทั้งกล้ามเนื้อท้องและหลัง ลุกขึ้นนั่งใน ท่าที่กำหนดก็มีจำนวนคนที่ทำได้ในเกณฑ์ ที่ดีมีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

สิ่งที่น่าประหลาดใจแก่ทีมงานวิจัย คือผลการฝึกโยคะทำให้ชีพจรลดลง ในขณะที่ความดันเลือดเพิ่มขึ้น โดยปกติแล้ว การออกกำลังกายมีผลทำให้การทำงานของ ระบบหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้นคือ ทำให้ ทั้งชีพจรและความดันขณะพักลดลง ในการวัดความดันและชีพจร เราทำหลังจาก การฝึกโยคะจนครบ แล้วนอนในท่าศพ ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นภาวะที่ร่างกายกลับเข้าสู่ขณะพัก จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่การฝึกโยคะอาจจะมีอะไรที่ไม่ธรรมดา แม้จะวัดขณะอยู่ในท่าศพ ร่างกายภายนอก ไม่ได้เคลื่อนไหว แต่อวัยวะภายในยังได้รับผลจากการฝึกโยคะ จึงทำให้มีความดันเลือดสูงขึ้น จึงน่าจะเป็นข้อควรระวังในการฝึกโยคะในท่าวิปริตกรณีที่ส่งผลทำ ให้ความดันเลือดสูงขึ้นและอาจเป็นอัน-ตรายสำหรับผู้ที่มีปัญหาความดันเลือดสูง
การทดสอบสมรรถภาพด้านอื่นๆ ได้แก่ แรงบีบมือ ความจุปอด มีแนวโน้ม จะทำได้มากขึ้นอย่างชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงด้านสัดส่วนร่างกาย
มีการชั่งน้ำหนัก วัดความหนาผิวหนัง ๔ จุด วัดรอบเอว และรอบสะโพก พบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ฝึกโยคะ เพราะหลายๆ โครงการที่ดิฉันเคย ทำเกี่ยวกับการเน้นการออกกำลังกายเพื่อ ลดสัดส่วนร่างกายมีไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จ คืออาจจะเพิ่มความแข็งแรง ของร่างกายได้ แต่สัดส่วนร่างกายไม่เปลี่ยน อันเนื่องมาจากการไม่สามารถควบคุมการบริโภคได้ ดังนั้น ส่วนสำคัญ ที่ทำให้สัดส่วนลดลงของงานวิจัยนี้น่าจะมาจากการปรับเปลี่ยนนิสัยการบริโภค กลุ่มผู้ฝึกอบรมได้ปรับการบริโภคอาหารมาเป็นแบบ กินอย่างมีสติŽ และใช้เวลา เคี้ยวที่นานมากขึ้น จึงสามารถลดปริมาณ อาหารที่กินได้ มีบางคนบอกว่าในช่วงการ ฝึกอบรมได้ลดมื้ออาหารลงจาก ๓ มื้อ เป็น ๒ มื้อ เนื่องจากกว่าจะฟันฝ่าการจราจรเข้าไปถึงสถานที่ฝึกซึ่งอยู่ที่ มศว. ประสานมิตร ก็กินอาหารไม่ทัน เพราะข้อห้ามของการฝึกโยคะคือต้องฝึกเวลาท้องว่าง ดังนั้นบางครั้งอาจงดอาหารมื้อนั้นไปเลย

ผลการตรวจเลือด
คณะผู้วิจัยได้ตรวจระดับโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และน้ำตาลในเลือด พบว่าระดับโคเลสเตอรอลและน้ำตาลลดลงอย่างชัดเจน แต่ไตรกลีเซอไรด์ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยน นิสัยการบริโภคจากนิยมบริโภคเนื้อสัตว์มาเป็นผักและผลไม้แทน มีการระมัดระวังการกินอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น การฝึกท่าอาสนะเพียง อย่างเดียวมีส่วนช่วยให้สมรรถภาพทางกายแข็งแรงได้ แต่จำเป็นต้อง มีวิถีชีวิตแบบโยคะด้วย คือ มีการกินผักผลไม้เป็นหลัก จึงจะส่งผลให้ระดับชีวเคมีในเลือดเปลี่ยนแปลง ปัจจัยเสริมอันหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ฝึกโยคะกลุ่มนี้ได้กินอาหารสุขภาพมากยิ่งขึ้นคือ หลังฝึกจะได้กินอาหาร จากคุณปรีชา ก้อนทอง และคุณวริชฌิตา ปลั่งสำราญ ซึ่งเป็นผู้ฝึกอบรมในรุ่นนี้ด้วย มีความมานะบากบั่นหอบอาหารสุขภาพจากร้านเบิกม่านแถวพุทธมณฑลสาย ๔ มาให้

ผลต่อสุขภาพ
จากแบบสอบถามเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทั่วไปใช้ความรู้สึกของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าเป็นหรือไม่ เช่น มีการปวดเมื่อยตามตัว เป็นหวัด ท้องผูก ท้องอืด เป็นต้น คำตอบที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นน้อยลง คือ ท้องอืด แต่อาการอื่นๆ ไม่เห็นเด่นชัด อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวม แล้วผู้ฝึกโยคะประเมินตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

งานวิจัยครั้งนี้มีส่วนช่วยให้ผู้ฝึกเกิดความมั่นใจในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น สำหรับตัวดิฉันเอง สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้ไม่ใช่แต่เพียงผลงานวิจัย แต่เป็นความประทับใจและได้เรียนรู้กระบวนการที่ทำให้โครงการเผยแพร่ ความรู้นั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะเป็นย่างก้าวที่ช้าๆ แต่ก็มีผลสำเร็จที่แน่นอน ไม่เหมือนหลายๆ โครงการซึ่งทุ่มเงินสร้างกระแสความ ยิ่งใหญ่แต่ก็หายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ปัจจัยที่อยากจะสรุปถึงความ สำเร็จในโครงการนี้มี ๓ ประการคือ
ประการที่ ๑ คือ ครูผู้ให้ความรู้ที่มีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ
ประการที่ ๒ คือ ผู้เรียนซึ่งมีความตั้งใจอย่างจริงจังและเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ
ประการที่ ๓ คือ คำมั่นสัญญาที่จะไปเป็นผู้นำโยคะ ซึ่งจะเป็นการขยายแนวร่วม ในการฝึกโยคะเพื่อรักษาสุขภาพต่อไป

ข้อมูลสื่อ

288-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
เรื่องน่ารู้
อจ.วิยะดา ทัศนสุวรรณ