• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝ้า...ปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจ

ฝ้า...ปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจ

เมื่อเริ่มเป็นสาว ปัญหาผิว พรรณที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นส่วนมากคือเรื่องสิว ครั้นพออายุย่างเข้าเลข ๓  ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องฝ้า ที่ทำให้ใบหน้ามีร่องรอย ด่างดำ หมองคล้ำ บางคนปล่อย ให้ฝ้าลุกลามขยายเต็มใบหน้า เพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ในขณะที่อีกหลายคนดิ้นรนรักษาทุกวิธี เพื่อให้ร่องรอยที่น่าเกลียดเลือนหายไปจากใบหน้า

ฝ้าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ และจะป้องกันไม่ให้เป็นฝ้าได้อย่างไร เหล่านี้คือคำถามที่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งต้องการคำตอบที่ชัดเจน

ลักษณะของฝ้า
ฝ้ามีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลหรือ ดำ ซึ่งขอบเขตของปื้นอาจไม่ชัดเจน  นัก คืออาจมีสีเข้มแล้วขอบๆ อาจมีสีจางลง เป็นได้ทั่วใบหน้า เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก จมูก ฝ้าเป็นปัญหาผิวพรรณที่พบได้บ่อยในคนเอเชียที่มีผิวคล้ำ

ฝ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้หญิงจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า ฝ้าเกิด จากอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ย่างเข้าสู่วัยทอง ซึ่งเป็นวัยที่หมดฮอร์โมน ทำให้ผิวพรรณมีปัญหา แต่ความจริงแล้วฝ้าเกิดจากการที่เซลล์ เมลาโนไซต์ ซึ่งอยู่ในหนังกำพร้าชั้นล่างสุดของผิวหนัง ผลิตเมลานินหรือเม็ดสีออกมามากเกินจำเป็น โดยมีสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุดังต่อไปนี้ เป็นตัวกระตุ้น คือ
๑. การตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผิวหนังคล้ำขึ้นหรือเป็นฝ้า ซึ่งพบได้บ่อย บางครั้งเมื่อคลอดบุตรแล้ว แม้ฝ้าจะจางลงบ้างแต่ก็อาจจะไม่หาย ขาด
๒. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยากันชัก หรือยารักษาโรคหัวใจบางชนิด
๓. เรื่องของพันธุกรรม เป็นเรื่องที่อาจจะไม่เคยอยู่ในความคิดของคนส่วนใหญ่มาก่อน แต่ทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่ามีผลแน่นอน ใครที่มีปู่ ย่า ตา ยาย เป็นฝ้ามาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเป็นฝ้าได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่มีผิวสีคล้ำ หรือมีเซลล์สีค่อนข้างมาก
๔. การแพ้น้ำหอมหรือเครื่องสำอาง สารที่ให้ความหอมบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับแสงแดด แล้วทำให้เกิดรอยคล้ำได้ เช่น สบู่หอม หรือน้ำยาหลังโกนหนวด เป็นต้น
๕. แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้า เพราะการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้โดนแสงแดดเลย เป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก สังเกตได้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นฝ้าบริเวณที่ถูกแสงแดดสม่ำเสมอ  เช่น จมูก แก้ม หน้าผาก และฝ้าจะเข้มขึ้นถ้าไปตากแดดเป็นเวลานาน

โดยทั่วไปฝ้าจะมี ๒ ลักษณะ คือ ฝ้าตื้น ซึ่งเกิดจากเมลานินมีการกระจายตัวมากเป็นพิเศษบริเวณหนังกำพร้า ฝ้าตื้นมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาล มีขอบเขตชัดเจน ส่วนฝ้าลึก เกิดจาก   เมลานินกระจายตัวลึกลงไปยังชั้นหนังแท้ ปื้นที่เกิดขึ้นจึงมีสีเข้มกว่าเป็นสีเทาคล้ำ ไม่มีขอบเขตชัดเจน ซึ่งฝ้าลึกจะรักษาให้หายยาก อย่างไรก็ตาม ส่วนมากของคนที่เป็นฝ้าก็จะมีลักษณะทั้ง ๒ อย่าง รวมกัน และไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ต้องพบกับปัญหาเรื่องฝ้า ผู้ชายเองก็เป็นฝ้าได้เช่นกัน

ฝ้ารักษาหายขาดหรือไม่
แพทย์ผิวหนังบางส่วนคิดว่าฝ้าไม่ใช่โรค แต่เป็นกลไกการป้องกันตัวเองตามธรรมชาติ นั่นคือเมื่อคนเราอยู่ในที่มีแสงแดดจัด เซลล์ผิวหนังก็จะผลิตเมลานินขึ้นมาเพื่อป้องกันแสงแดด

จะว่าไปแล้วก็เหมือนธรรมชาติจัดสรร ที่คนผิวสีคล้ำมักจะอยู่ในที่มีแสงแดดจัด อย่างเช่น พวกนิโกร ในขณะที่คนผิวขาวก็จะอยู่ในแถบที่มีแสงแดดน้อย เพราะฉะนั้นคนผิวขาวจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องฝ้า แต่คนกลุ่มนี้จะเจอกับปัญหามะเร็งผิวหนังค่อนข้าง มาก ในขณะที่คนมีผิวสีจะไม่เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง แต่ก็มีปัญหาเรื่องฝ้า
โดยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน การจะทำลายเม็ดสีทั้งหมดในร่างกาย สามารถทำได้ไม่ยาก แต่นั่นหมายถึงว่าร่างกาย ก็จะไม่มีเกราะป้องกันตัวเองตามธรรมชาติ และจะมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว อย่างเช่น กรณีของนักร้องชื่อดัง ไมเคิล แจ๊คสัน ที่เปลี่ยนตัวเองจากคนผิวดำมาเป็นผิวขาว (เผือก) ผลคือ ผิวหนังอ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานโรค และไม่สามารถจะโดนแดดได้เลย (ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีนี้กับคนไข้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ)

วิธีการที่แพทย์ผิวหนังใช้รักษาคนไข้ที่เป็นฝ้า ก็คือการควบคุม ให้เซลล์สีทำงานลดลงด้วยยา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นยาทาภายนอกที่ สามารถทำให้ฝ้าจางลงได้ในระดับหนึ่ง แล้วก็อาจจะกลับมาเป็นใหม่ได้ อีก หากถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ความร้อน หรือแสงไฟที่สว่างมากๆ

ดังนั้นอาจพูดได้ว่า ฝ้าไม่สามารถรักษาให้หายขาดร้อยเปอร์เซ็นต์

การรักษาฝ้าในทางการแพทย์
ดังที่กล่าวแล้วว่าฝ้าไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นปัญหาเรื่อง ความสวยงาม ดังนั้นผู้หญิงส่วนใหญ่จึงใช้วิธีซื้อครีมที่เขาโฆษณาสรรพคุณว่ารักษาฝ้าได้มารักษาตัวเอง เรียกว่าลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานกว่าจะหาย โดยให้ความสำคัญกับครีมยี่ห้อ ต่างๆ เป็นหลัก แต่ถ้าไปพบแพทย์ผิวหนัง การรักษาโดยแพทย์คือ
๑. การซักประวัติ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมของคนไข้แต่ละคน  จะไม่เหมือนกัน เพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง แต่ละคนควรจะระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง
๒. คำแนะนำที่สำคัญคือ ให้หลีกเลี่ยงแสงแดดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๓. การแนะนำให้งดยาบางชนิดที่มีผลต่อฮอร์โมน และมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเมลานิน
๔. ยามาตรฐานที่แพทย์ผิวหนังใช้รักษาฝ้า มีอยู่ ๓-๔ ประเภท ตัวยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือยากลุ่มไฮโดรควิโนน ซึ่งเป็นสารควบคุมที่ อย. ไม่อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอาง โดยแพทย์จะใช้สาร ตัวนี้ในระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงหยุด (ไม่อย่างนั้นอาจมีผลข้างเคียงอย่างอื่นได้)

ส่วนตัวยาอื่นๆ ที่ใช้เสริมในการรักษาก็คือกรดวิตามินเอ ยาทาสตีรอยด์บางชนิด (สตีรอยด์ทำให้ผิวขาวขึ้น) และเอเอชเอ (AHA) ซึ่งแพทย์จะดูแลอย่างระมัดระวัง โดยเมื่อใช้ยาต่างๆ ไประยะเวลาหนึ่ง คือ ๓ เดือน ๖ เดือน ก็จะค่อยๆ ลดยาลงทีละ ตัวๆ จนเหลือน้อยที่สุดที่จะควบคุมเม็ดสีได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาอย่าง น้อย ๓ เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผล ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มของฝ้า ว่ามากน้อยเพียงใด รวมถึงการปฏิบัติตัวของคนไข้ด้วยว่าหลบเลี่ยงแสงแดดได้ดีแค่ไหน

ฝ้าเมื่อเป็นแล้วต้องดูแลรักษาอย่าง สม่ำเสมอ ร่องรอยหมองคล้ำจึงจะค่อยๆ จางลง ฝ้าไม่ใช่โรคที่เป็นเองแล้วจะหาย ได้เองเหมือนอาการเจ็บป่วยบางอย่าง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ฝ้าก็จะลุกลามขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ

สำหรับผู้ที่คิดว่าฝ้าเป็นปัญหาความงามที่ทำให้รู้สึกกังวลมาก การรักษาโดยแพทย์จะช่วยให้ฝ้าจางลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว ร่วมกับการป้องกันตนเองจากแสงแดดอย่างเหมาะสม ซึ่ง ไม่ใช่การให้ยากันแดดเพียงอย่างเดียว ส่วนบรรดาไวเทนนิ่งทั้งหลาย เช่น  กรดวิตามินซี กรดโคจิก สารสกัดจาก ชะเอมเทศ (licorice) สารอาร์บูติน (arbutin) หรือสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ทั้งหลายที่มีวางเกลื่อน เมืองนั้น ก็อาจจะช่วยเสริมการรักษาฝ้าได้บ้าง ส่วนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารดังกล่าว รวมถึงการตอบสนองของผิวต่อสารต่างๆ ในแต่ละคน และความสม่ำเสมอในการใช้ครีมเหล่านั้นด้วย

ฝ้า...ป้องกันง่ายกว่ารักษา
การเกิดฝ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงของ ร่างกายที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน เป็น การสะสม (การถูกแดดมากๆ หรือเป็น เวลานานๆ) มาตั้งแต่วัยเด็ก ในช่วงอายุ ๒๐-๓๐ ปี ถ้าถ่ายรูปไว้เราอาจจะไม่เห็นจุดดำอะไรบนใบหน้า แต่ถ้าไปส่อง ดูด้วยแสงบางชนิด (เช่น วู้ดแลมป์) จะ เห็นว่าผิวหน้าเริ่มมีจุดดำเต็มไปหมดแล้ว
นั่นหมายถึงผิว หนังได้ถูกกระตุ้นให้สร้างเกราะป้องกันตัว มาตั้งแต่วัยเด็ก จน ถึงวัยหนึ่งจึงสามารถเห็นเป็นฝ้าได้ แต่ไม่ ใช่เพราะไปตากแดดมาแค่วันสองวันแล้ว ทำให้เป็นฝ้า แต่ฝ้าจะ เข้มขึ้นเมื่อถูกแดด

ความจริงข้างต้น นี้เป็นคำตอบสำหรับผู้ ที่สงสัยว่า ตัวเองไม่ได้ถูกแดดเลย หรือไม่ได้ทำงานกลางแจ้งเลย ณ ปัจจุบันแล้วทำไมถึงเป็น ฝ้าได้ เพราะส่วนใหญ่อาจจำไม่ได้ว่าก่อนหน้านั้นได้ถูกแสงแดดสะสมมามากน้อยแค่ไหน เพราะ ฉะนั้น ตราบใดที่ร่างกายยังมีเซลล์สีอยู่ และถูกกระตุ้นด้วย เหตุปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะแสงแดดก็จะทำให้ฝ้ามีสีเข้มขึ้น

ดังนั้น การป้อง กันที่จะไม่ให้เป็นฝ้า ก็จะต้องป้องกันตั้งแต่ วัยเด็ก โดยไม่ไปตาก แดดนานๆ หากต้อง ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ก็ควรใส่เสื้อแขนยาว สวมหมวกหรือกางร่ม ตามแต่สถานการณ์
ส่วนการใช้ครีม กันแดด ควรใช้เฉพาะ จุดที่ไม่สามารถป้องกัน ได้จริงๆ คือบริเวณใบหน้า และครีมกัน แดดที่ใช้ควรเป็นแบบ ที่มีส่วนผสมทั้งสารเคมีที่กันแดดได้ ร่วม กับส่วนผสมกายภาพ คือแป้ง (physical sunscreen) เพราะ จะมีคุณสมบัติช่วยสะท้อนแสงแดดออก ไปจากผิว โดยสังเกตที่ส่วนผสมซึ่งจะมีสาร ไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) และซิงก์ออกไซด์ (zinc oxide) เป็นหลัก

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน

 นพ.ประวิตร พิศาลบุตร

  .....สมุนไพรกับการรักษาฝ้า.....
 รศ.พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน/หน่วยโรคผิวหนัง โรงพยาบาลรามาธิบดี

"ในทางการแพทย์ยาที่ใช้หลายอย่างก็มาจากพืช แต่ในทางการแพทย์ได้คัดกรองตัวที่เป็นสารออกฤทธิ์ออกมา คือทำการศึกษาจนทราบได้ว่าสารตัวนี้แหละ (สารบริสุทธิ์) ที่ออกฤทธิ์ แล้วเราก็คัดกรอง ออกมาใช้ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพและการรักษาจะเชื่อถือได้มากกว่า

สมุนไพรต่างๆ ที่บอกว่ารักษาฝ้าได้ น่าจะเป็นความจริง แต่สัดส่วนที่ได้ผลไม่น่าจะสูงกว่าร้อยละ ๒๐-๓๐ แต่สารเคมีที่นำมาทำเป็นยาแล้วประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ ๕๐-๗๐ เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้สมุนไพร และถามว่าจะเป็นอันตรายอะไรไหม ก็ต้องใช้วิจารณญาณด้วย ถ้าหากสมุนไพรนั้นมีลักษณะเป็นใบไม้ ดอก รากไม้ น่าจะปลอดภัยกว่าที่เป็นสารสกัดออกมาเป็นเม็ดและสรรพคุณของพืชนั้นๆ ถ้าคิดว่าเกินจริงหรือเหลือเชื่อ ก็อาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เช่น ที่โฆษณาว่าสามารถรักษาฝ้าให้หายขาด มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

ส่วนสมุนไพรบางอย่าง เช่น ชะเอมเทศ ใบหม่อน หรือพวกขมิ้น ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระจะเป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังและกระตุ้นการสร้างเมลานิน เพราะฉะนั้นการใช้สมุนไพรกลุ่มนี้อาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง

การที่คนทั่วไปจะซื้อครีมทาฝ้ามารักษาเอง กรณีนี้ถ้าผู้ใช้พิจารณา ดูแล้วว่าราคาไม่แพงมาก และไม่โฆษณาเกินจริงก็อาจจะลองใช้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินตัวเองด้วย เช่น ถ้าใช้ไป ๒-๓ เดือนแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรจะหยุด และอยากแนะนำว่าให้ใช้ในรูปของยาทาจะปลอดภัยกว่ายากิน ซึ่งอาจมีผลกับตับหรือไตได้

ส่วนใหญ่พอพูดว่าสมุนไพร คนจะคิดว่าไม่มีอันตราย แล้วคิดว่ายาคือสารเคมี แต่สมุนไพรไม่ใช่ จริงๆ แล้วสมุนไพรก็คือสารเคมี และพืชเองก็ทำให้เกิดผื่นแพ้และระคายเคืองได้เช่นกัน

ข้อควรระวังคือ การรักษาตัวเองแล้วเกิดผื่นแพ้ ในปัจจุบันผิวหนังบริเวณนั้นจะคล้ำขึ้น ซึ่งถ้าทิ้งไว้นานก็อาจจะรักษายาก และทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนขึ้น ในปัจจุบันเครื่องสำอางต่างๆ จะมีคำว่าไวเทนนิ่งอยู่ เสมอ อยากเรียนว่าอย่าหลงไปเป็นเหยื่อโฆษณาที่กล่าวอ้างสรรพคุณว่าทำให้หน้าขาวใส ลดริ้วรอยอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะสารที่มีฤทธิ์ทำให้ผิวขาวส่วนใหญ่จะถูกควบคุม เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นยาคือเกิด การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น สารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ หรือสารคอร์ติโคสตีรอยด์ เป็นต้น อาจจะมีสารบางกลุ่มที่มีฤทธิ์อ่อน  เช่น retinol, arbutin, licorice หรือเอเอชเอ ในความเข้มข้นต่ำที่ อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางได้ ดังนั้น โอกาสที่จะได้ผลน่าจะต่ำกว่าการใช้ยาจากแพทย์ผิวหนังที่มีความรู้ที่ถูกต้อง

และสำหรับราคาของเครื่องสำอางไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเครื่องสำอางราคาแพงจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเสมอไป"

 

ข้อมูลสื่อ

288-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
เรื่องน่ารู้
ธารดาว ทองแก้ว