• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องวุ่นๆ แต่ไม่ยากของวิธีใช้ยา

เรื่องวุ่นๆ แต่ไม่ยาก ของ วิธีใช้ยา

"ลูกของดิฉันเป็นไข้หวัดและคอแดง หมอให้ยามา ๔ ขวด ขวดที่ ๑ เป็นยาแก้ไข้ ให้ กินทุก ๔-๖ ชั่วโมง ครั้งละ ๒ ช้อนชา ขวดที่ ๒ เป็นยาลดน้ำมูก ให้กินวันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร ครั้งละ ๑ ช้อนชา ขวดที่ ๓ เป็นยาแก้ไอ ให้กินวันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร ครั้งละ ๑ ช้อนชา ขวดที่ ๔ เป็นยาแก้คออักเสบ ให้ กินวันละ ๓ ครั้ง ทุก ๘ ชั่วโมง เช้าๆ ดิฉันป้อนยาให้ลูก เอาลูกขึ้นรถพาไปส่งโรงเรียน และเอายาไปฝากครูที่โรงเรียนให้ช่วยป้อน"

"คุณแม่ของดิฉันเป็นโรคเบาหวานมาหลายปี กินยาอยู่ ๓ ขนาน ขนานที่ ๑ กินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ขนานที่ ๒ กินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น และขนานที่ ๓ กินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหารคำแรก ดิฉันจัดยาให้คุณแม่ทุกเช้า เรียงใส่กล่องแบ่งเป็นมื้อๆ ให้คุณแม่หยิบยากินเอง แล้วดิฉันก็ไปทำงาน"

นี่เป็นเพียง ๒ ตัวอย่างที่คุณผู้อ่านบางท่านมีประสบการณ์ตรง เรียกว่าเป็นคนไข้และต้อง กินยาเสียเอง ในขณะที่คุณผู้อ่านบางท่านมีประสบการณ์โดยอ้อม กล่าวคือ มีสุขภาพดี ไม่เป็นคนไข้ แต่ก็ต้องเป็นผู้ให้ยาแก่คนใกล้ชิด ไหนๆ ก็ไหนๆ คุณรวมทั้งตัวดิฉันด้วยคงต้องเกี่ยวข้องกับยาไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เรามาเรียนรู้วิธีใช้ยากันดีกว่าไหมคะ เพื่อที่ว่าเราจะใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย

ยา คำสั้นๆ คำเดียวนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ใช้เพื่อรักษาโรคให้หาย บรรเทาอาการเจ็บป่วยไม่สบายที่เป็นอยู่ให้ลดลง และป้องกันร่างกายไม่ให้เกิด ความเจ็บป่วย

ยามีหลายประเภท
ในท้องตลาดมียาจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่เรารู้จักกันในนาม อย. ได้จัดแบ่ง ยาออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษ

ยาสามัญประจำบ้านเป็นยาที่ควรมีไว้ประจำบ้าน เพื่อใช้บรรเทาอาการไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปวดหัว เป็นไข้ ยาเหล่านี้จะมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการไม่สบายตอนกลางคืน ไม่สามารถเดินทางไปหาหมอได้ ก็ใช้ยาสามัญประจำบ้านบรรเทาอาการไปก่อน แต่ก็ต้องพิจารณาดูด้วยว่า ถ้า อาการนั้นไม่ทุเลา และเสี่ยงต่อความเป็นความตาย ก็ ควรรีบพาคนไข้ไปหาหมอนะคะ สำหรับยาประเภทอื่นๆ เป็นยาที่จะได้ใช้เมื่อไปหาหมอและเภสัชกรเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นยาประเภทใด หากใช้ไม่ถูกวิธีแล้วละก็ นอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์ที่ต้องการแล้ว กลับจะได้รับอันตรายที่ไม่ต้องการเพิ่มมาอีกด้วย

วิธีกินยาหลังอาหาร
การกินยาเป็นวิธีใช้ยาที่คุ้นเคยกันมากที่สุด ส่วน ใหญ่จะผูกติดกับมื้ออาหาร และมักเป็นการกินยาหลังอาหาร การเอาเวลากินยาไปผูกกับมื้ออาหาร นับ เป็นอุบายที่ดี ทำให้ไม่ลืมกินยา เพราะคนเราไม่เคย ลืมกินอาหาร (โธ่! ก็ความหิวจะคอยเตือนนี่นา)

สิ่งที่ดิฉันปฏิบัติเมื่อต้องกินยาหลังอาหาร ก็คือ ดิฉันจะกินยาหลังอาหารทันทีที่รวบช้อนส้อม หรือภายในเวลาไม่เกิน ๑๕ นาที คุณผู้อ่านก็ทำแบบ เดียวกับดิฉันใช่ไหมคะ วิธีกินยาแบบนี้ถูกต้องแล้วค่ะ การกินยาแบบนี้มีความสำคัญกับยาบางชนิดมาก เพราะจะช่วยแก้ปัญหาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากยา หรืออาการปวดท้องที่เกิดจากยา ยาพวกนี้ได้แก่ยา อะไรบ้าง ในที่นี้ขอยกมาเป็นตัวอย่างเพียง  ๒-๓ ตัวเท่านั้น ตัวแรกคือ แอสไพริน ที่ใช้ แก้ไข้และต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย นอก จากนี้ก็เป็นยาแก้ปวดข้อ ปวดหลัง เช่น ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน เมฟีนามิก-แอซิด เป็นต้น รวมทั้งยาปฏิชีวนะ เช่น นอร์ฟลอกซาซิ อีริโทรไมซิน เป็นต้น

แต่ถ้าที่ฉลากเขียนไว้ว่า ให้กินหลัง อาหาร ๑ ชั่วโมง ก็แปลว่า กินอาหาร เสร็จแล้ว ๑ ชั่วโมงค่อยกินยา คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องรอ มีเหตุผลค่ะ ดิฉันจะค่อยๆ เล่านะคะ เวลาที่กินยาหลังอาหารทันที ยาและอาหารจะเข้าไปอยู่รวมกันในกระเพาะอาหาร นอน รออยู่ด้วยกัน ทีนี้ยาบางชนิดชอบจับกับอาหาร ยาบางชนิดชอบถูกอาหารจับไว้ ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ไม่ทั้งหมด และอาจไม่มากพอที่จะออกฤทธิ์ ส่วนการที่รอ ๑ ชั่วโมง ก็มีเหตุผลอีก นะคะ อาหารที่กินเข้าไป ปกติแล้วจะไปนอนเล่นอยู่ ในกระเพาะอาหารประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วจึงจะเคลื่อนขบวนออกไปยังลำไส้ เราจึงรู้สึกอิ่มได้เป็น ชั่วโมง ดังนั้น ยาที่กินหลังอาหาร ๑ ชั่วโมงก็รอดจากการถูกอาหารจับไว้ ยาที่กินเข้าไปก็จะถูกดูดซึมได้ทั้งหมด

วิธีกินยาก่อนอาหาร
ด้วยนัยเดียวกันนี้ ยาที่กินก่อนอาหาร ๑ ชั่วโมงก็มีเหตุผลเพื่อที่ จะหลบหลีกไม่ให้ยาได้เจอะเจอกับอาหารนั่นเอง ยาจะได้ถูกดูดซึมได้ทั้งหมด ข้อดีอีกประการหนึ่งของการกินยาก่อนอาหาร ๑ ชั่วโมง ก็คือ เมื่อยังไม่มีอาหารในกระเพาะ ก็จะยังไม่ มีน้ำย่อย ดังนั้น ยาที่กินเข้าไป ก็ไม่ถูกน้ำย่อยทำลาย แต่จะถูกดูด ซึมได้ทั้งหมด ยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เป็นยาปฏิชีวนะใช้แก้คอแดงอักเสบ  เป็นแผลฝีหนอง หรือเป็นโรคติดเชื้อ  เช่น เพนิซิลลิน เซฟาโลสปอริน เป็นต้น นอกจากนี้ยาบางชนิดที่ให้กินก่อนอาหาร ๑ ชั่วโมง ก็เพื่อหวังผลการเคลือบผนังกระเพาะอาหาร เช่น ซูคราลเฟต และยาต้านกรด
สำหรับยาที่ให้กินก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง มีเหตุผลแตกต่าง กันไปแล้วแต่ชนิดของยา เช่น กรณีที่กินยาสำหรับ โรคเบาหวาน โรคนี้มีน้ำ-ตาลในเลือดสูง และต้อง ใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล ให้อยู่ในค่าที่เหมาะสม โดยมากไม่เกิน ๑๒๐มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อกินอาหารระดับน้ำตาลจะสูงขึ้นทันที และต้องการฤทธิ์ของยาทันที แต่เนื่องจาก ยาต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงในการแตกออกจาก เม็ดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด การกินยาล่วงหน้าครึ่งชั่วโมง จึงเป็นการช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ทันกับระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นนั่นเอง

วิธีกินยาหลังอาหารคำแรก
ในตัวอย่างที่คุณลูกจัดยาให้คุณแม่กินข้างต้น มีการให้ยากินหลังอาหารคำแรก อันนี้เป็นการกินยาที่เฉพาะมาก เพราะต้องการให้ยาออกฤทธิ์กับอาหาร ที่กินเข้าไป โดยยาจะทำให้อาหารนั้นไม่ถูกย่อยและไม่ดูดซึม แต่คนไข้สามารถกินอาหารและมีความสุขกับความอร่อยของอาหารได้ หากให้กินก่อนอาหาร แล้วคนไข้ไม่กินอาหารทันที ยาก็จะหมดฤทธิ์ไปก่อน หรือให้กินหลังอาหาร หากคนไข้โอ้เอ้ อาหารก็หมดไปก่อนที่ยาจะเข้าไป ยังมียาอีกประเภทหนึ่งที่ให้กินหลังอาหารคำแรก ยานี้คือยาช่วยย่อยอาหาร ใช้ในคนที่ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ค่อยดี การกินหลังอาหารคำแรกช่วยให้มั่นใจได้ว่า ยาจะทำงานได้โดยมีอาหารเป็นเป้าหมายอยู่

การกินยาทุก ๔-๖ ชั่วโมง, ทุก ๘ ชั่วโมง
แม้ว่าการกินยาตามมื้ออาหารจะช่วยไม่ให้ลืมก็ตาม แต่ยาบางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องให้กินตามมื้ออาหาร เช่น ยาแก้ไข้ การกินยาเพียง ๑-๒ ครั้ง ก็ มักหายไข้ จึงนิยมที่จะให้กินเฉพาะเมื่อมีอาการ   และให้กินห่างกันประมาณ ๔-๖ ชั่วโมง โดยท่าน ต้องพิจารณาว่า หาก   ๔ ชั่วโมงแล้วไข้ยังสูงอยู่ มาก ก็กินยาซ้ำได้ แต่ ถ้าไข้เริ่มลง ก็รอ ๖ ชั่วโมง แล้วค่อยกินยาซ้ำ นอกจากนี้ก็มีการให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดทุก ๘ ชั่วโมง เพื่อให้ได้ระดับยา ที่สม่ำเสมอเพื่อผลการออกฤทธิ์ที่ดีที่สุด ท่านอาจจะ เถียงว่าให้ตามมื้ออาหารก็น่าจะได้ ๘ ชั่วโมงเช่นกัน แต่ขอให้ท่านลองดูดีๆ แล้วจะเห็นว่า ส่วนใหญ่เรากินอาหารเช้าเวลา ๐๗.๐๐ น. อาหารกลางวันเวลา ๑๒.๐๐ น. และอาหารเย็น เวลา ๑๘.๐๐ น. ก็แปล ว่ามีช่วงเวลา ๕ ชั่วโมงระหว่างมื้อเช้าและมื้อกลางวัน มี ๖ ชั่วโมงระหว่างมื้อกลางวันและมื้อเย็น และมี  ๑๓ ชั่วโมงระหว่างมื้อเย็นและมื้อเช้า ดังนั้น ถ้ากินยาตามมื้ออาหารก็จะได้ระดับยาดีพอควรในช่วงที่ตื่น อยู่ แต่ในช่วงที่นอนหลับจะมีช่วงที่ไม่มียาในร่างกาย ทำให้การรักษาไม่ได้ผล

ใช้ช้อนอะไรป้อนยาดี
ขอแถมอีกนิดเรื่องช้อนที่จะใช้ป้อนยา ปกติจะมีช้อนพลาสติกมาให้ในกล่องยาน้ำ ขอให้ใช้ช้อนนั้นในการป้อนยา เพราะจะได้ยาในปริมาณที่ถูกต้อง    ๑ ช้อนเทียบได้เท่ากับ ๕ มิลลิลิตร (ซีซี) สำหรับ ช้อนที่ใช้ชงกาแฟตามบ้านมีขนาดไม่ถึง ๕ มิลลิลิตร และช้อนส้อมที่ใช้ตักอาหารมีขนาดใกล้เคียง ๕ มิลลิลิตร

ดิฉันหวังว่าคุณผู้อ่านที่จำเป็นต้องกินยาคงจะปฏิบัติตามที่เขียนไว้บนฉลากอย่างถูกต้อง เพราะ ได้ทราบเหตุผลแล้วว่าการใช้ยาตรงตามที่ฉลากระบุไว้ จะช่วยให้คุณผู้อ่านหายจากโรคหรือมีอาการบรรเทาลงได้

ข้อมูลสื่อ

288-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
ภกญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์