• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไวรัสตับอักเสบในทรรศนะแพทย์แผนจีน

ไวรัสตับอักเสบในทรรศนะแพทย์แผนจีน

ตำราแพทย์จีนโบราณ ไม่มีเรื่องของตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เพราะไม่สามารถแยกแยะสาเหตุว่าการอักเสบของตับมาจากเชื้อไวรัสชนิดใด นอกจากนี้ การเกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคตับ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับตัวตับโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น การปวดแน่นชายโครง ภาวะตับอุดกั้น ตับร้อนทำให้หงุดหงิด ถุงน้ำดี ตับร้อนชื้น ก็จะถูกเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันไปหมด โรคที่เกี่ยวกับตับจึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอาการ "ปวดชายโครง" "อารมณ์อุดกั้น"  "ภาวะร้อนชื้น"  "ภาวะก้อนของตับ" "ภาวะดีซ่าน"

หน้าที่ของตับตามทรรศนะแพทย์แผนจีน

๑. ตับเก็บเลือด และควบคุมปริมาณเลือด
๒. ตับทำหน้าที่ระบายและปรับการไหลเวียนและพลัง
๓. ตับควบคุมอารมณ์และจิตใจ
๔. ตับขับเคลื่อนการไหลเวียนเลือด และพลัง และการลำเลียงน้ำในร่างกาย
๕. ตับเปิดทวารที่ตา

หน้าที่ของตับที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคตับอักเสบ คือ ภาวะการอุดกั้นของตับ ทำให้การไหลเวียนเลือดและพลังติดขัด ทำให้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และจิตใจ รวมถึงการทำงานของระบบม้ามและกระเพาะอาหาร (ไม้ข่มดิน-ตับแกร่งข่มม้าม) หรือในทางกลับกัน การหงุดหงิด จิตใจหดหู่ เครียด โมโห จะมีผลต่อการทำงานของตับโดยตรง เกิดพลังและเลือดอุดกั้น (สารพิษในร่างกายมาก ตับทำหน้าที่ขับพิษได้น้อยลง ตับทำหน้าที่มากขึ้น) ระบบการย่อยอาหารที่สะสมความร้อนชื้นมากจะมีผลต่อความร้อนชื้นของระบบตับ-ถุงน้ำดีได้ การที่เกิดความร้อนชื้น หรือพลังอุดกั้นจากอารมณ์นานๆ จะทำให้เกิดก้อนหรือการอักเสบภายในตับได้ เพราะเกิดความร้อนและการไหลเวียนติดขัดเกิดเลือดคั่งค้าง

การแบ่งไวรัสตับอักเสบตามทรรศนะแพทย์แผนจีน

๑. ชนิดเฉียบพลัน - แบบมีภาวะดีซ่าน คือมีตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง
   - แบบไม่มีภาวะดีซ่าน คือมีอาการปวดชายโครง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เป็นหลัก

๒. ชนิดเรื้อรัง คือ มีอาการคลื่นไส้ ปวดชายโครง ท้องอืดแน่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด มีก้อน (กลุ่มเฉียบพลันไม่มีอาการกับกลุ่มเรื้อรัง มีการรักษาคล้ายคลึงกัน)

สาเหตุของการเกิดโรคตับอักเสบ

  • ชนิดเฉียบพลันมีภาวะดีซ่าน  มักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ จิตใจ ที่อุดกั้นทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อตับ อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ (การปนเปื้อน) ทำให้พลังตับอุดกั้น การย่อยดูดซึมอาหารไม่ดี ตับ ถุงน้ำดีกระทบความร้อนชื้นและพิษ เกิดการอุดกั้นทำให้น้ำดีทะลักเข้าสู่ระบบเลือด เกิดภาวะดีซ่าน
  • ชนิดเฉียบพลันไม่มีดีซ่าน มักเกิดจากความร้อนชื้นสะสม ทำให้มีการอุดกั้นเป็นหลัก ส่วนสาเหตุที่เกิดจากม้ามพร่องทำให้ความชื้นอุดกั้นมักเป็นส่วนน้อย
  • ชนิดเรื้อรัง มักเกิดจากโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลันที่เชื้อไม่ถูกกำจัดออกจากร่างกาย (ความร้อนชื้นตกค้าง) หรือเกิดเลือดและพลังอุดกั้น ทำให้ตับและม้ามเสียสมดุล ตับอุดกั้นเกิดความร้อน เลือดคั่งค้าง ม้ามทำงานน้อยลง เกิดความชื้น นานเข้าในที่สุดเกิดเลือดพร่อง ยินพร่อง พลังพร่อง


การแยกประเภทตับอักเสบ

๑. ตับอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะดีซ่าน

๑.๑ ดีซ่านแบบหยาง : ตัวเหลือง ตาเหลือง สีเหลืองสดใส ตัวร้อน กระหายน้ำ ปวดแน่นชายโครงข้างขวา คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อุจจาระแห้ง ปัสสาวะเข้ม ฝ้าบนลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว หรือลื่นและเร็ว

หลักการรักษา ขับร้อน-ขับพิษ ระบายการอุดกั้นของตับสลายดีซ่าน
ตำรับยา อิน เฉินเฮาทัง

๑.๒ ดีซ่านแบบยิน  : สีเหลืองขุ่นมัว อ่อนเพลีย ไม่มีชีวิตชีวา กลัวหนาว เบื่ออาหาร ท้องแน่น อุจจาระเหลว ตัวลิ้นซีด ฝ้าเหนียว ชีพจรลึกช้า

หลักการรักษา บำรุงกระเพาะอาหารม้าม ให้ความอบอุ่นสลายความเย็นชื้น
ตำรับยา อิน-เฉิน อู่ หลิง ซ่าน

๑.๓ ดีซ่านแบบเฉียบพลัน : ตาเหลือง ตัวเหลือง สีเหลืองค่อนแดง มีไข้สูง กระหายน้ำ แน่นหน้าอก ปวดชายโครง เอะอะโวยวาย เป็นลมหมดสติ ชักกระตุก เลือดกำเดาออก รายที่เป็นมากมีอาการบวมหรือท้องมาน ลิ้นแดงฝ้าเหนียว ชีพจรตึงเร็ว หรือตึงลื่น (อาการหมดสติเกิดจากพิษเข้าสู่เยื่อหุ้มหัวใจ เข้าเส้นตับ เกิดลมเคลื่อนไหวภายใน)

หลักการรักษา ขับพิษ-ขับร้อน ทำให้เลือดเย็น ระบายชื้นเปิดทวาร
ตำรับยา ซี-หนิว-ตี้-หวง-ทัง

๒. ตับอักเสบเฉียบพลันที่ไม่มีภาวะดีซ่านและชนิดเรื้อรัง

๒.๑ ภาวะตับร้อนพลังอุดกั้น : เริ่มต้นอาการหงุดหงิด ร้อนรุ่มภายใน หรือครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดแน่นท้อง ชายโครง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ตัวลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงใหญ่

หลักการรักษา ขับร้อน-ขับพิษ ระบายตับสลายเลือดอุดกั้น
ตำรับยา เจี๋ย ตู๋ ซู กาน จือ ท่ง ฮว่า อี ทาง

๒.๒ ตับม้ามไม่สมดุล : อาการปวดชายโครง เบื่ออาหาร ปวดแน่นหลังกินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ฝ้าเหนียว ชีพจรตึง

หลักการรักษา เสริมม้าม ระบายตับ
ตำรับยา เซี่ยว-โหยว-ซ่าน

๒.๓ ม้ามอ่อนแอพลังพร่อง : อาการใจสั่น หายใจสั้น อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก แน่นท้อง ปวดชายโครง เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว ใบหน้าขาวซีด ปวดแน่นชายโครง ลิ้นซีดมีรอยฟันหยัก ฝ้าขาวเหนียว ชีพจรตึง, เล็ก ไม่มีกำลัง

หลักการรักษา บำรุงพลังเสริมม้าม ระบายตับสลายการอุดกั้นของเลือด
ตำรับยา ปู่ ชี่ เจี้ยน ผี ฮว่า อี ทาง

๒.๔ ยินพร่อง : อาการใจสั่น หายใจสั่น อ่อนเพลียไม่มีแรง นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ปวดเมื่อยเอว เวียนศีรษะ น้ำกามเคลื่อน เบื่ออาหาร ปวดชายโครงแบบตื้อๆ ตัวลิ้นแดง ชีพจรตึงเล็กเร็ว

หลักการรักษา บำรุงยินเสริมม้าม ระบายตับสลายการอุดกั้นของเลือด
ตำรับยา จือ ยิน เจี้ยน ผี ซู กาน ฮว่า อี ทาง

สรุป ไวรัสตับอักเสบตามทรรศนะแพทย์แผนจีน ไม่ได้แยกแยะว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใด เป็นไวรัสชนิดเอ ไวรัสชนิดบี ไม่ใช่เอหรือบี หรือไวรัสชนิดซี เป็นต้น แต่มีความหมายครอบคลุมถึงภาวะดีซ่าน ภาวะเจ็บชายโครง ก้อนของตับ (ภาวะเลือดอุดกั้น) ภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี ซึ่งโดยทั่วไปโรคของตับจะมีปัญหาระบบการย่อยอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องอืด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

โรคตับเกี่ยวข้องกับอารมณ์ จิตใจที่หงุดหงิด โมโห โกรธเครียดเรื้อรัง เกี่ยวข้องกับอาหารการกินที่สะสมไม่ย่อย เกิดความร้อน หรือได้รับเชื้อที่ไม่สะอาด เกิดจากการทำลายตับอย่างเรื้อรัง จนทำให้พลังการไหลเวียนและเลือดไม่คล่องตัว เกิดการสะสมพิษในร่างกาย โรคของตับรวมถึงไวรัสตับอกักเสบ การรักษาจะเน้นที่การขับพิษ-ขับร้อน ระบายตับ เสริมม้าม ทำลายการอุดกั้น (สลายการอุดกั้นของเลือด) ถ้ามีดีซ่านก็จะขับระบายดีซ่านเพิ่ม

ข้อคิดในการรักษาหรือดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นพาหะ ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดก้อนในตับ ไม่ว่าจะเป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับ มีความจำเป็นต้องดูแลรักษาระบบม้าม (การย่อยอาหาร) ให้ดี เพราะม้ามจะเป็นตัวสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เป็นที่สะสมความชื้น-ความร้อนที่จะทำให้พิษคั่งค้างในร่างกายได้ การขับความร้อนชื้นจำเป็นต้องทำให้มีการเสริมม้ามควบคู่กับการขับพิษ ขับความชื้น รวมทั้งระบายของเสียอุจจาระ ปัสสาวะให้พอเหมาะกัน นอกจากนี้ ยังต้องใช้การควบคุมอารมณ์ ทำจิตใจให้เบิกบาน ฝึกจิตสมาธิ เสริมภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ เพื่อไม่ให้ทำลายตับ (ลดสารพิษจากการแปรปรวนทางอารมณ์ที่ไปทำให้ตับทำงานหนักขึ้น หรือทำลายตับ) ถ้าหากมีการอุดกั้นของพลัง ทำให้เกิดอาการปวดเสียดแน่น (เพราะพลังเคลื่อนไหวไม่สะดวก) หรือมีเลือดคั่งค้าง ก็ต้องมีการระบายตับ ทำลายการอุดกั้น ยาระบายตับของแพทย์แผนจีน เน้นนำยาเข้าตับและทำให้ตับสามารถทำหน้าที่ขับสารพิษได้ดีขึ้น ทำให้หงุดหงิดน้อยลง ต้องระวังการใช้ยาบำรุงตับที่เกินความจำเป็น เพราะจะทำให้เกิดภาวะร้อนในร่างกายแล้ว ยังทำให้ตับทำงานหนักมากขึ้น เกิดการอักเสบและเสียหายมากขึ้น แพทย์แผนจีนจึงต้องให้การวินิจฉัยแยกแยะโรคในแต่ละราย และจัดยาให้สอดคล้องตามสิ่งตรวจพบ เมื่อภูมิคุ้มกันทางกายและจิตใจดี มีการขจัดพิษและเสริมการทำงานของตับได้ดี บางครั้งเชื้อร้ายอาจหมดจากร่างกายได้ หรือถ้ายังอยู่กับร่างกาย ก็ยากที่จะก่อโรคกับร่างกายได้ เรียกว่า อยู่ด้วยกันอย่างสันติ โดยไม่ก่อปัญหากับเรา

ข้อมูลสื่อ

293-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล