• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาโรคยปรมา ลาภา "ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง"

อาโรคยปรมา ลาภา "ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง"

คำกล่าวนี้ทุกคนคงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกาย ใจ หรือจิตวิญญาณ โดยเฉพาะผู้อ่าน "หมอชาวบ้าน" และหลายคนก็คงทราบกันแล้วว่า เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ ๒ สาเหตุ

๑. เชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย เช่น บิด อหิวาตกโรค วัณโรค เป็นต้น

๒. การใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง รวมทั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ ตราบใดที่ภูมิต้านทานของเรายังดีอยู่ ก็ยังไม่ปรากฏอาการอะไร แต่เมื่อภูมิต้านทานของเราตกต่ำเมื่อไร ร่างกายจะเสียสมดุล ระบบอวัยวะต่างๆ แปรปรวน เมื่อนั้นแหละโรคภัยไข้เจ็บก็จะถามหาทันที

ในปีหน้าผู้เขียนอายุเกือบจะครบ ๕๐ ปีแล้ว จำได้ว่าสมัยเป็นเด็กโรคที่เป็นบ่อย คือ หวัด แล้วก็แพ้อากาศ ถ้าอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น จากร้อนมาเย็น หรือเย็นมาร้อน น้ำมูกจะไหลทันที มากที่สุดก็จะมีไข้ เจ็บคอ ไอมีเสมหะ สมัยนั้นคุณแม่ซึ่งเป็นพยาบาลยังมีชีวิตอยู่ เป็นผู้หายามาให้กิน ถ้าเป็นมากต้องไปหาหมอ ก็จะหายภายใน ๑ สัปดาห์ พอโตเป็นสาวปรากฏว่าอาการหวัดเหมือนเดิมทุกอย่าง รักษาตัวก็เหมือนเดิม แต่กลับหายภายใน ๒ สัปดาห์ และเมื่อถึงวัยทำงานกลับยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะนอกจากหวัดแล้วยังมีโรคเครียดเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ โรค ซึ่งเพิ่งจะมาเป็นและค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ เมื่อประมาณ ๓-๔ ปีมานี้เอง

ทำไม และเพราะอะไรใช่ไหมคะ...ผู้เขียนศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเอาจริงเอาจังค่ะ ก่อนหน้านั้นก็สนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอยู่บ้าง แต่อ่านหนังสือธรรมะเมื่อเวลาเป็นทุกข์เท่านั้น หลังจากได้ค้นพบว่าที่ตนเองเครียด ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่น มักจะบังคับให้สภาพการณ์และคนรอบข้างเป็นไปตามใจตนเอง โดยหารู้ไม่ว่าใจนี่แหละเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อสภาพจิตใจเครียดก็ย่อมส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้า เพลีย และตึงเครียดไปด้วย มากที่สุดจนส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อที่มดลูก เมื่อได้ทบทวนชีวิตตนเองอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงได้ลงมือปฏิวัติตนเอง ดูแลกาย ใจ จิตวิญญาณของตนเองอย่างจริงจัง สม่ำเสมอมากขึ้น ด้วยข้อวัตรปฏิบัติดังนี้

๑. ตื่นนอนตี ๔ เปิดวิทยุฟังธรรมะ และเจริญสติ (สติปัฏฐาน ๔) เดินจงกรม นั่งสมาธิ ไปด้วยจนถึง ๖ โมงเช้า และก่อนเข้านอนก็จะเดินจงกรม นั่งสมาธิอีก ๑ ชั่วโมง พยายามนอนไม่เกิน ๔ ทุ่ม หรือกว่านิดหน่อย ถ้าเป็นไปได้

๒. เล่นโยคะ ประมาณ ๓๐-๔๐ นาที ถ้าวันไหนมีเวลาน้อยก็เลือกเล่นเป็นบางท่า

๓. สวดมนต์ทุกเช้า และก่อนนอน พร้อมทั้งแผ่เมตตาให้ตนเองและทุกคน โดยเฉพาะถ้ามีผู้ที่เราไม่ชอบ หรือเขาไม่ชอบเรา ให้แผ่ให้มากๆ ทุกวัน ความรู้สึกที่มีต่อผู้นั้นจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด

๔. เดินเล่น (เจริญสติไปด้วย) เวลาเช้า-เย็น บริเวณสนามหญ้าด้วยเท้าเปล่า เพื่อรับพลังชีวิต คือ อากาศบริสุทธิ์ ดิน และแสงอาทิตย์อ่อนๆ (ข้อนี้ถ้าวันไหนหรือช่วงไหนไม่ได้ปฏิบัติ พลังชีวิตจะตกต่ำ สังเกตเลยว่าสุขภาพจะไม่ค่อยแข็งแรง เช่น อาจเป็นหวัด แต่ก็จะหายเร็วกว่าผู้คนทั่วๆ ไป

๕. อ่านหนังสือธรรมะและหนังสือสุขภาพ  หรือพ็อกเก็ตบุ๊กที่ให้สาระข้อคิดดีๆ ทุกวัน

๖. ดื่มน้ำปัสสาวะ (ของตนเอง) เวลาตื่นนอนเช้า ๑ แก้ว โดยไม่ดื่มช่วงต้นและช่วงปลาย

๗. กินอาหารมังสวิรัติ เพื่อปฏิบัติศีลข้อ ๑ อย่างละเอียด (ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ด้วยจึงจะดี) เพื่อสุขภาพด้วยเพราะในเนื้อสัตว์จะมีสารพิษตกค้างปริมาณมาก และจะส่งผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจ คือ จิตใจจะอ่อนโยน มีเมตตามากขึ้น (ข้อนี้บางท่านที่มีโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อกินมังสวิรัติอย่างถูกต้อง คือ เน้นข้าวกล้อง ถั่ว งา ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ กอปรกับฝึกใจให้มองทุกอย่างในแง่บวกแล้ว ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บทุเลาลงไปเยอะ)

๘. เห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้อะไรไม่ถูกใจ ให้หยุดทำหยุดพูด หยุดคิด ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ

๙. ทำดีท็อกซ์ หรือล้างพิษด้วยการสวนกาแฟทางทวารประมาณสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง ถ้าช่วงไหนไม่สบาย หรือรู้ตัวว่ากินอาหารตามใจมากไปหน่อย เช่น ขนมหวาน อาหารรสจัด แป้งขัดขาว ก็จะทำดีท็อกซ์บ่อยขึ้น

๑๐. พยายามอ่านใจ อ่านกิเลสตนเองตลอดเวลา ถ้ารู้ว่าคิดเป็นอกุศลเมื่อไร ให้เลิกคิด เลิกพูด เลิกทำทันที (ถ้าหยุดไม่ได้ให้รู้เท่าทันก็ยังดีกว่าไม่รู้ตัวเลย)

๑๑. คบกัลยาณมิตร คือ ออกพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือหาความรู้ ที่เป็นไปในการพัฒนาตนเอง ลดละกิเลสอยู่เป็นประจำ (อาจจะเป็นบุคคล หรือหนังสือก็ได้)

๑๒. ช่วยงานอาสาสมัคร งานการกุศล โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นการฝึกการเป็น "ผู้ให้" อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดปีติ เกิดความสุขใจมากกว่าเป็น "ผู้รับ" หลายเท่า

๑๓. แบ่งพื้นที่ในบ้านสำหรับปลูกต้นไม้ที่ตนเองชอบ หรือปลูกผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน เช่น ใบกะเพรา ชะอม ใบยอ ชะพลู อ่อมแป้น เป็นต้น หรืออัญชัน ซึ่งนำมาชุบแป้งทอดกินได้

ที่สรุปมาทั้งหมด ผู้เขียนกำลังปฏิบัติอยู่ บางข้อบางวันก็ได้คะแนนเต็ม หรือเกือบเต็ม แต่บางข้อบางวันก็สอบตกเหมือนกัน ฉะนั้นจึงอยากให้กำลังใจผู้อ่านที่กำลังฝึกฝนอยู่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" ถ้าไม่เริ่มก้าวที่ ๑ ก็จะไม่มีก้าวต่อๆ ไป และเป้าหมายก็จะยิ่งห่างไกลออกทุกที ปัจจุบันผู้เขียนมีครอบครัวแล้ว มีลูกชายวัย ๑๙ ปี และ ๑๔ ปี สามีทำงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ตัวผู้เขียนเองลาออกจากงานประจำตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ มาทำธุรกิจขายตรงอยู่จนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๑ ปัจจุบันไม่ได้ทำงานเหล่านี้แล้ว ใช้ชีวิตปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นประจำ ทำงานอาสาสมัครให้ชมรมแห่งหนึ่ง ผลลัพธ์จากการใช้ชีวิตในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๒ ปัจจุบัน มีสุขภาพกาย ใจ และจิตวิญาณดีขึ้นมาก เพราะงานที่ผู้เขียนทำอยู่ คือการ "ให้" ที่ไม่หวังผลตอบแทน แต่เป็นการสะสมบุญกุศล และลดความเห็นแก่ตัวลง จึงมีความสุขมากกว่าสมัยก่อนๆ ที่ทำงานเพื่อหวังเงิน ลาภยศ สรรเสริญ ดังนั้น ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกนี้สามารถเป็น "ผู้ให้" แทนการเป็น "ผู้รับ" โลกเราก็จะมีแต่ความสุขและสันติภาพ

ข้อมูลสื่อ

293-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
สุดาทิพย์ อิงวัฒนาพานิช