• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กาเฟอีนในขนมเด็ก

กาเฟอีนในขนมเด็ก


กาเฟอีนเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ พบในพืชประมาณ ๖๐ กว่าชนิด แต่ที่สำคัญที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ ชา กาแฟ ผลโกโก้ ผลโคลา โดยพบว่าในใบชามีปริมาณกาเฟอีนมากที่สุด คือ ๒.๗-๔.๑ กรัมต่อปริมาณชา ๑๐๐ กรัม ในเมล็ดกาแฟมีกาเฟอีนรองลงมาคือ ๐.๘-๑.๓ กรัมต่อ ๑๐๐ กรัม เมล็ดโกโก้มีกาเฟอีน ๐.๗-๑.๗ กรัม ต่อ ๑๐๐ กรัม เมล็ดโคลา (ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำอัดลม สีน้ำตาลดำ) มีกาเฟอีน ๑.๐-๒.๒ กรัมต่อ ๑๐๐ กรัม คนส่วนใหญ่ที่กินอาหาร ขนม  เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ที่ผสมด้วยชา กาแฟ ผงโกโก้ อาจไม่ทราบหรือสนใจว่ามีสารกาเฟอีนผสมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันจะเห็นพฤติกรรมการกินของเด็กไทยจะเปลี่ยนไป จากที่เคยกินขนมไทยๆ ที่มีประโยชน์ เช่น ขนมถั่วแปบ ขนมกล้วย กลับเปลี่ยนเป็นช็อกโกแลต เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม ซึ่งจะมีการนำวัตถุดิบธรรมชาติที่มีกาเฟอีนผสมลงไป เช่น เค้กรสกาแฟ รสช็อกโกแลต เป็นต้น อาหาร ขนมหรือเครื่องดื่มที่กล่าวมาเหล่านั้น จะเป็นของโปรดของเด็กๆ สัก ๒-๓ อย่าง หรือทั้งหมดก็เป็นได้ และถ้าของโปรดเหล่านั้นมีกาเฟอีนผสมอยู่ ก็ต้องมีผลเสียต่อสุขภาพของเด็กๆ อย่างแน่นอน เนื่องจากกาเฟอีนเป็นสารที่สามารถออกฤทธิ์ได้ต่อหลายระบบของร่างกาย ที่สำคัญ คือ

  • ระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้ประสาทตื่นตัว รู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ถ้าได้รับกาเฟอีนในปริมาณที่สูงขึ้น (๒๐๐-๕๐๐ มิลลิกรัม/ครั้ง) จะมีผลทำให้ปวดศีรษะ เครียด มือสั่น นอนไม่หลับ กระวนกระวาย
     
  • ระบบการไหลเวียนเลือด ทำให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ๕-๑๐ มิลลิเมตรปรอท แต่ถ้าได้รับกาเฟอีนบ่อยๆ อาจไม่มีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด เพราะจะเกิดการทนต่อฤทธิ์ของกาเฟอีนมากขึ้น แต่ถ้าได้รับกาเฟอีนในปริมาณที่สูงขึ้น จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะบ่อยขึ้น
     
  • ระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีการหลั่งของกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น

เมื่อได้ทราบถึงผลเสียของกาเฟอีนต่อสุขภาพกันแล้ว ลองกลับไปดูของโปรดของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีการเติม ชา กาแฟ ผงโกโก้ลงไป หรือการราดด้านหน้าด้วยช็อกโกแลต ว่าถ้าเด็กๆ กินอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มเหล่านั้นจะได้รับกาเฟอีนเข้าไปมากน้อยเพียงใด ผู้วิจัยได้สำรวจการกินขนมชนิดต่างๆ ในเด็กตั้งแต่อายุ ๖-๑๗ ปี จำนวน ๕๐๐ คน ในเขตกรุงเทพมหานคร ในช่วงอายุ ๖-๑๑ ปี แยกเป็นชาย และหญิงอย่างละ ๑๒๕ คน และในช่วงอายุ ๑๒-๑๗ ปี แยกเป็นชายหญิงอย่างละ ๑๒๕ คนเช่นกัน โดยได้สัมภาษณ์ชนิดของขนมที่มีการปรุงแต่งด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีกาเฟอีนแบ่งเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ คือ เวเฟอร์ คุกกี้ ช็อกโกแลต ลูกอม ไอศกรีม เค้ก และอาหารเช้าที่ผลิตจากธัญพืช การกินขนมที่มีกาเฟอีนในช่วงอายุ ๖-๑๑ ปี อยู่ในช่วง ๑๓๓-๓๙๓ กรัมต่อวัน พบว่า

เด็กอายุ ๗ ขวบ มีการกินขนมชนิดต่างๆ ในปริมาณที่มากที่สุด รวม ๓๙๓ กรัมต่อวัน จะทำให้ได้รับกาเฟอีน ๖๐.๘ มิลลิกรัมต่อวัน (รวมขนมทุกชนิด) และพบว่าชนิดของขนมที่นิยมกินมากที่สุดจะเป็นเวเฟอร์ รองลงไปจะเป็นไอศกรีมและช็อกโกแลต

เด็กอายุ ๘ ขวบ ได้รับกาเฟอีน รวมจากขนมทุกชนิด ๓๒.๖ มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าชนิดของขนมที่นิยมกินมากที่สุด คือ ลูกกวาด รองลงไปจะเป็นเวเฟอร์และช็อกโกแลต

เด็กอายุ ๙ ขวบ ได้รับกาเฟอีนรวมจากขนมทุกชนิด ๒๘.๘ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่นิยมกินมากที่สุด คือ ไอศกรีม ลูกกวาด และคุกกี้

เด็กอายุ ๑๐ ปี ได้รับกาเฟอีนรวมจากขนมทุกชนิด ๑๖.๔ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่นิยมกินมากที่สุด คือ ไอศกรีม ช็อกโกแลต และคุกกี้

เด็กอายุ ๑๑ ปี ได้รับกาเฟอีนรวมจากขนมทุกชนิดรวมกันเป็น ๒๐.๔ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่นิยมกินมากที่สุดจะเป็นช็อกโกแลต ไอศกรีม และเวเฟอร์ 

การกินขนมที่มีกาเฟอีนในช่วงอายุ ๑๒-๑๗ ปี อยู่ที่ ๑๑๙-๒๐๙ กรัมต่อวัน และพบว่าขนมที่เด็กในช่วงอายุนี้นิยมกิน คือ ไอศกรีม

เด็กอายุ ๑๒ ปี ได้รับกาเฟอีนรวมจากขนมทุกชนิด ๒๓ มิลลิกรัมต่อกรัม โดยที่ขนมที่นิยมกินมากที่สุดจะเป็นลูกกวาด อาหารเช้าที่ผลิตจากธัญพืชและคุกกี้

เด็กอายุ ๑๓ ปี ได้รับกาเฟอีนรวมจากขนมทุกชนิดเป็น ๑๔.๙ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่นิยมกินมากที่สุด คือ ช็อกโกแลต ไอศกรีม และเวเฟอร์

เด็กอายุ ๑๔ ปี ได้รับกาเฟอีนรวมจากขนมทุกชนิด ๒๗.๕ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่ชอบกินมากที่สุด คือ ไอศกรีม ลูกกวาดและช็อกโกแลต

เด็กอายุ ๑๕ ปี ได้รับกาเฟอีนจากขนมต่างๆ รวมกันเป็น ๑๘ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่ชอบกินมากที่สุด คือ เวเฟอร์และคุกกี้ ไอศกรีมและลูกกวาด

เด็กอายุ ๑๖ ปี ได้รับกาเฟอีนจากขนมต่างๆ รวมกันเป็น ๑๐.๒ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่ชอบกินมากที่สุด อาหารเช้าที่ผลิตจากธัญพืช ช็อกโกแลต และคุกกี้

เด็กอายุ ๑๗ ปี ได้รับกาเฟอีนจากขนมต่างๆ รวมกันเป็น ๑๔.๙ มิลลิกรัมต่อวัน ขนมที่ชอบกินมากที่สุด คือ เค้ก คุกกี้และช็อกโกแลต

ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณการกินกาเฟอีนที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นค่า acceptable daily intakes (ADI) หรือค่า Provisional tolerable weekly intake (PTWI) แต่มีการแนะนำว่าร่างกายคนเราไม่ควรได้รับกาเฟอีนเกิน ๑๐๐-๓๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน แต่ฤทธิ์ของกาเฟอีนก็ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่สำคัญ คือ ขนาดและความถี่ของกาเฟอีนที่ได้รับ ความไวของแต่ละบุคคลต่อกาเฟอีน พยาธิสภาพของร่างกาย เช่น โรคตับ การได้รับยาอื่นในขณะนั้นก็จะมีผลต่อการกำจัดกาเฟอีน

มีรายงานว่าขนาดของกาเฟอีนที่ทำให้เสียชีวิตได้ในเด็กเล็กประมาณ ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม หมายความว่า ถ้าเด็กหนัก ๑๐ กิโลกรัม ปริมาณกาเฟอีนที่จะทำให้เสียชีวิตคือ ๑,๐๐๐ มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก ถ้าเทียบกับการชงกาแฟสำเร็จรูป ๑ ช้อนชา ต่อน้ำ ๑ ถ้วยกาแฟ (ประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ มิลลิลิตร) จะทำให้ได้กาเฟอีนประมาณ ๙๕ มิลลิกรัม ต้องกินกาแฟ ๑๐-๑๑ แก้ว ติดต่อกัน ในทางปฏิบัติจริงคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ถ้าดูว่าการได้รับกาเฟอีนของเด็กอายุต่างๆ ในช่วง ๖-๑๗ ปี นั้นจะพบว่า การได้รับกาเฟอีนจากขนมกลุ่มต่างๆ ที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ แม้ว่าจะคิดว่าเด็กกินขนมทุกอย่าง (ยังไม่รวมน้ำอัดลมสีน้ำตาลดำ และนมรสกาแฟหรือช็อกโกแลต) การได้รับกาเฟอีนก็ยังไม่มากจนจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ถึงแม้ว่ากาเฟอีนไม่ได้จัดเป็นสารเสพติดตามความหมายของสมาคมจิตแพทย์ แห่งสหรัฐอเมริกา และขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ส่วนใหญ่เห็นว่าผู้กินอาจติดในลักษณะของการกินจนเป็นนิสัย และทุกคนคงทราบดีว่าขนมต่างๆ ที่ทางผู้วิจัยได้ทำการศึกษาระดับของกาเฟอีนและปริมาณการได้รับกาเฟอีนจากขนมต่างๆ เหล่านี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นขนมที่มีทั้งไขมันและน้ำตาลสูงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเค้ก ไอศกรีม คุกกี้ ลูกกวาด เวเฟอร์ และช็อกโกแลต ถ้าเด็กได้กินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงบ่อยๆ และเป็นการกินนอกเวลาอาหาร การที่ขนมเหล่านี้มีพลังงานสูงและมีน้ำตาลสูงก็จะทำให้เด็กรู้สึกอิ่ม จนไม่อยากกินอาหารหลักๆ ที่มีสารอาหารครบถ้วน และจะเป็นประโยชน์กับเด็กมากกว่า ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมตามวัยและมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่เจริญเติบโตตามวัย แต่มีปัญหาของโรคอ้วนเพิ่มเข้ามาด้วย อย่างที่เห็นๆ กัน

ข้อมูลสื่อ

293-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
เรื่องน่ารู้
เนตรนภิส ธนนิเวศน์กุล