• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรมหัศจรรย์ สมานแผล ลดการอักเสบ และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

สมุนไพรมหัศจรรย์ สมานแผล ลดการอักเสบ และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย


ใช้รักษาบาดแผลได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยคุณค่าธรรมชาติของสมุนไพรที่มีอย่างครบถ้วนซึ่งทำให้เห็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนกับยาแผนปัจจุบันที่สังเคราะห์สารเคมีได้เฉพาะอย่าง จึงมีผลในการรักษาได้เพียงบางส่วนของพยาธิสภาพเท่านั้น ยาจากสมุนไพรนี้มีสารสำคัญหลายชนิดสามารถช่วยกันออกฤทธิ์ ๔ ขั้นตอน คือ 

 ๑. ช่วยสมานแผลเร่งการสร้างเนื้อเยื่อทำให้แผลหายเร็ว

 ๒. ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองและฆ่าเชื้อรา

 ๓. ลดการอักเสบ

 ๔. ยับยั้งกระบวนการเกิดแผลเป็น (cheloid) แผลที่ผิวหนังจึงหายสนิทโดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้

แพทย์ทั่วโลกได้ทดลองใช้รักษาแผลและรับรองผลทางคลินิกแล้ว เภสัชกรไทยสามารถผลิตในรูปแบบยาครีม ได้มาตรฐาน GMP มีวางจำหน่ายทั่วไป ราคาไม่แพง ใช้รักษาแผลได้อย่างกว้างขวาง คือ แผลติดเชื้อเรื้อรัง (เช่น แผลกดทับ) แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ (เช่น แผลถลอก แผลมีดบาด แผลไฟไหม้) แผลหลังผ่าตัด (เช่น แผลผ่าตัดหลังคลอด แผลผ่าตัดอื่นๆ) แผลที่เป็นริ้วรอยตามผิวหนัง (เช่น ผิวแตกเป็นลายจากความอ้วนหรือการตั้งครรภ์ แผลจากการเป็นสิว) ยาจากสมุนไพรนี้ คือ "ครีมใบบัวบก (Centella cream)

บัวบก-สมุนไพรมหัศจรรย์
บัวบกหรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Centella asiatica (Linn.) Urban ในต่างประเทศจะรู้จักกันในชื่อ Gotu Kola ในตำรายาจีนและยาไทย มักนำใบสดมาต้มกับน้ำดื่มแก้ช้ำใน แก้กระหายและแก้ร้อนใน ส่วนการใช้ยาภายนอกมักนำใบสด ๑ กำมือ นำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ ทาบริเวณแผลบ่อยๆ หรือจะใช้กากมาพอกด้วยก็ได้ แผลจะหายสนิทและลดการเป็นแผลเป็นชนิดนูน (cheloid) 

สารสำคัญที่พบในบัวบก
จัดอยู่ในกลุ่มไตรเทอร์ปินอยด์ ไกลโคไซด์ (Triterpenoid glycosides) ซึ่งประกอบด้วย สารเอเซียติโคไซด์ (asiaticoside) กรดเอเซียติก (asiatic acids) และกรดแมดิแคสซิค (madecassic acids) หรือสารแมดิแคสซอล (madecassol) มีฤทธิ์ในการช่วยสมานแผล เร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็ว และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง ฆ่าเชื้อราและลดการอักเสบ

การทดลองรักษาในคนเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผล
นายแพทย์ไรโอซูเกะ ฟูจิโมริ แผนกโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโค ประเทศญี่ปุ่น พบว่า ขี้ผึ้งใบบัวบก (madecassol ointment) ช่วยเร่งการสมานแผลได้ดีกว่ายาต้านการอักเสบอื่นๆ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ (antibioties) หรือสตีรอยด์ (steroid) ซึ่งมีผลเพียงรักษาตามพยาธิสภาพ แต่ไม่ช่วยเร่งการสมานแผล การทดลองได้เปรียบเทียบกับยาชนิดอื่นๆ ในการรักษาแผลสดที่ผิวหนัง พบว่า บริเวณที่ใช้ midecassol ointment แผลดีขึ้นมากกว่าและหายเกือบเป็นปกติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดล และโรงพยาบาลศิริราช ได้ทำการสกัดสารไตรเทอร์ปินอยด์ ไกลโคไซด์ จากใบแห้งของบัวบก เพื่อเตรียมครีมเข้มข้นร้อยละ ๑ ทดลองกับผู้ป่วยแผลติดเชื้อเรื้อรังจากแผลกดทับ และแผลจากอุบัติเหตุ ๒๒ ราย ขนาดแผลกว้าง ๑-๑๒ เซนติเมตร ยาว ๑-๑๙ เซนเติเมตร ลึก ๐.๕-๓.๗ เซนติเมตร เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ พบว่า ขนาดของแผลลดลงเฉลี่ยร้อยละ ๒๔ ในสัปดาห์แรก ร้อยละ ๓๗ ในสัปดาห์ที่ ๒ และร้อยละ ๔๗ ในสัปดาห์ที่ ๓ อัตราการรักษาในแนวลึกหายเร็วกว่าแนวกว้างและยาวประมาณร้อยละ ๒๐ และ ๑๗ รายหายเป็นปกติ

ส่วนประสิทธิภาพในการรักษาแผลเป็นชนิดนูนของใบบัวบก ศาสตราจารย์ฮูโก วเลสซานดรินี ศัลยแพทย์ชาวชิลี ได้ใช้ madecassol กับผู้ป่วยที่เป็นแผลเป็นหรือคีลอยด์ (cheloid) จำนวน ๔๐ คน เป็นเด็ก ๓๖ ราย และเป็นผู้ใหญ่ ๔ ราย บางรายในเด็กเป็นมานานกว่า ๕ ปี ในผู้ใหญ่บางรายเป็นมานานกว่า ๒๗ ปี การทดลองทำโดยฉีด medecassol เข้ากล้ามเนื้อทุก ๑-๒ วัน ปริมาณ ๒๐-๑๑๐ มิลลิกรัม พบว่า สามารถรักษาอาการได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงอาจกล่าวได้กว่า medecassol อาจใช้ได้ผลดีในรายที่เป็นแผลเป็นมานานแล้ว

เภสัชกรไทยพัฒนาตำรับ "ครีมใบบัวบก" (centella cream) ได้มาตรฐาน GMP
องค์การเภสัชกรรมและบริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ได้ทำสารสกัดจากใบบัวบกด้วยกรรมวิธีที่คงคุณค่าสมุนไพรไว้อย่างครบถ้วน มีการตรวจเอกลักษณ์และปริมาณสารสำคัญ เช่น asiaticoeside ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๐.๔ w/w ควบคุมความชื้นไม่เกินร้อยละ ๖ w/w และตรวจการปลอดเชื้อ E.coli, Ps. acruginosa, Salmonella, s.aurcus, yeast & molds นำผลิตในรูปแบบครีมใช้ทาภายนอกที่มีความเข้มข้นร้อยละ ๗ ปรับความเป็นกรด-ด่างให้เหมาะสมกับผิวหนังเช่นเดียวกับเครื่องสำอางคือ phl ๔.๐-๕.๐ การดูแลรักษาแผลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบให้ผิวสวยดังเดิม จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะคุณค่าจากธรรมชาติของสมุนไพรและเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานระดับสากล สมุนไพรไทย น่าใช้อะไรอย่างนี้! 

ข้อมูลสื่อ

293-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา