• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง

ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจะเป็นมากในฤดูฝนและฤดูหนาวสาเหตุที่เกิดยังไม่ชัดเจน แต่คนที่สูบบุหรี่จัดจะเป็นมาก

เมื่อเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จะทำให้ผิวหลอดลมและหลอดลมฝอย มีการบวมหนามีการหลั่งเมือกหรือเสมหะออกมามากกว่าปกติ มีผลให้หลอดลม มีลักษณะตีบแคบลงทำให้ลมหายใจเข้า-ออกได้ยากลำบาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการไอและมีเสลดติดต่อกันนานกว่า ๖ เดือนขึ้นไป หรือเป็นอย่างน้อย ปีละ ๓ เดือนติดต่อกัน ๒ ปีขึ้นไป ถ้าเป็นมากๆ จะไอถี่ เสลดจะเป็นสีขาว เหลือง เขียว บางครั้งมีไข้ หรือเลือดปน ถ้าเป็นนานๆ ก็จะเป็นหอบ เหนื่อย ร่วมด้วย หรือร่วมกับถุงลมพอง โรคหัวใจ

การแพทย์แผนปัจจุบัน การรักษามักจะใช้ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม ให้กินระยะ ยาวๆ ถ้าเป็นมากๆ ใช้ยาปฏิชีวนะยาภูมิแพ้ บางครั้งอาจใช้พวกกลุ่ม ยาสตีรอยด์ (steroid) ซึ่งการใช้ยาประเภทนี้นานๆ ก็มักจะมีผลข้างเคียง ที่เราไม่ต้องการเกิดขึ้นมากกว่าผล ที่ได้รับ

เนื่องจากผู้ป่วยประเภทนี้เป็น โรคเรื้อรังเป็นแล้วเป็นอีกซ้ำๆ ซากๆ เวลาไปพบแพทย์ได้ยามากินก็หายหยุดก็เป็นอีก บางคนเป็นมาก ได้รับ ยาแล้วก็ทนผลข้างเคียงของยาไม่ไหว พอนานๆ เข้าก็เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย จึงหันมารักษาแพทย์ทางเลือก
การแพทย์แผนตะวันออก (ใน ที่นี้จะหมายถึงการแพทย์จีน) ก็เป็น อีกทางเลือกหนึ่ง ไม่ว่าการใช้สมุนไพร ฝังเข็ม ก็เน้นหลักการปรับสมดุลของ ร่างกาย ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการรักษาด้วยสมุนไพร การแก้ปัญหาแบบเป็นองค์รวม แก้ปัญหาเป็นระบบ เพราะการทำงานของอวัยวะต่างๆ มี ความสัมพันธ์กันหมด

หลอดลมอักเสบมีความสัมพันธ์ กับการไอ มีเสมหะ หายใจสั้นๆ ไอเป็นอาการของโรคปอด แต่การเกิดของเสมหะไม่จำเป็นต้องเกิดจากปอด และเสมหะข้นๆ หรือขุ่นๆ สีเหลืองเขียว มักจะมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (exogenous pathogenic factor) โดยเฉพาะความร้อน (heat) กระทบที่ปอด (ถ้าเทียบกับแผนปัจจุบันก็หมายถึงเชื้อโรค) ถ้าเสมหะ ใสๆ มัก จะเกิดจากความผิดปกติใน การทำหน้าที่ของม้าม ปอดเพียงแต่ มีหน้าที่เก็บเสมหะและทำให้ไอออก

ถ้ามีการสะสมเสมหะในปอดแล้วถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกก็ จะมีผลทำให้อาการกำเริบ ถ้าหายใจ สั้นๆ หายใจยาก ซึ่งจะเกิดกับรายที่ เป็นนานๆ แสดงว่าหน้าที่ของไตมีการเปลี่ยนแปลง พลังไตไม่พอก็จะมี ผลกระทบต่อพลังปอด ถ้าพูดอย่างง่ายๆ ก็คือ หลอดลมอักเสบเป็นโรค ของปอด แต่มีความสัมพันธ์กับหน้าที่ ของม้ามและไตด้วย ถ้าพลังม้าม ไต พร่องก็จะมีผลทำให้พลังปอดพร่องด้วย ยกเว้นพวกที่มีอาการติดเชื้อร่วมก็เป็นสาเหตุสำคัญ (ปอด ไต ม้าม ในที่นี้ต้องมีหน้าที่และความหมายตาม ทฤษฎีแพทย์จีน ซึ่งอาจจะมีบางส่วน เหมือนและแตกต่างจากแผนปัจจุบัน)

การรักษาโรคหลอดลมอักเสบ จะต้องแยกออกมาว่าเป็นแบบร้อนหรือเย็น หรือมีสภาพพร่องร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ภายในจะชื้นมากอยู่แล้ว
แบบร้อน (heat tupe) มักจะมีไข้ เสมหะชื้น ปากคอแดง ไอมาก 
* มีเสมหะสีเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม ท้องผูก ลิ้นมีฝ้า เหลือง ชีพจรสั่นและเร็ว การรักษาต้องเสริมยาที่ขับความร้อนและความชื้นด้วย เช่น ซวนไป่ผี ตี้กู่ผี หวังฉิน จือหมู่ ชวนเป้ย ซิ่งเหยิน ไป่ปู้ กัวหลัวเหยิน จี๋เกิน สือเกา เป็นต้น
แบบเย็น (cold tupe) มักจะหนาว หายใจลึก ปวดศีรษะ เป็นไข้ ถ้ามีอาการเย็นต้องขับเย็น มีอาการชื้นก็ต้องขับชื้นด้วยตัวอย่างยาที่ใช้คือ หมาหวาง กุ้ยจือ อู่เว่ยจื่อ ไป๋สาว ซี่ซิง ปั้นเสี้ย กานเจียง ข่วนตงฮัว  กานเฉ่า ถ้ามีเสมหะมากให้เพิ่มฝู่หลิง ซูจื่อ โห้วพ่อ เป็นต้น
*  ลิ้นมีฝ้าขาว ไอมีเสมหะสีขาว แน่นหน้าอก แน่นท้อง อึดอัด เบื่ออาหาร บางครั้งเสมหะมาก ชีพจรลอยหรือแน่น การรักษาต้องขับความชื้น ขับเสมหะ นอกจากการใช้ยาแก้อาการแล้วยังต้องอุ่น ร่างกายด้วย ถ้าผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร่อง เราก็ต้องเสริมส่วน ที่พร่องด้วย
แบบพลังพร่อง อาจจะแบ่งคร่าวๆ ตามอาการได้ดังนี้
* ขาดพลังปอด (พลังปอดพร่อง) จะไอบ่อยๆ มีเสมหะ เหงื่อออกเอง รู้สึกหนาว ลิ้นมักจะซีดมีฝ้าขาว ชีพจรอ่อน
* ขาดพลังม้าม จะมีเสมหะมากๆนอกเหนือจากระบบหายใจ ผู้ป่วย มักจะบ่นว่าไม่หิวข้าว ปวดท้อง ถ่ายเหลว ลิ้นมีฝ้าขาวมัน ชีพจรสั่น
* ขาดพลังไต หายใจเข้าสั้น หายใจออกยาว มักไอและมีเสมหะร่วม ด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการแขน-ขาเย็น ขาไม่มีแรง ปวดขา ปัสสาวะ บ่อยหรือขัด
ตัวอย่าง ยาบำรุงที่ต้องเสริมในแบบพร่อง เช่น หวงฉี ตั่งเซิน อู่เว่ยจื่อ จื๋อหว่าน ข่วนตงฮัว ไป๋สู่  ฝู่หลิง จื้อกานเฉ่า เป็นต้น

สรุป การรักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรังจะต้องรักษาอาการร่วมกับการปรับสภาพของร่างกายให้สมดุลเพื่อเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย ดังนั้น จึง ต้องรักษาทั้งปอดและอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง มักจะมีอาการจากหลายระบบร่วมด้วย ถ้ารักษาแต่อาการก็จะเป็นแล้วเป็น อีก ถ้าปรับร่างกายด้วยผู้ป่วยจะดีขึ้นมาก บางรายอาจไม่เป็นอีก

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย ลดมลภาวะ ของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษทั้งหลาย เพื่อเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ร่วมกับการ รักษา ก็จะยิ่งได้ผลดีมากขึ้น

"ผู้ป่วยไม่ควรกินยาตามกัน เนื่องจากพื้นฐานร่างกายของแต่ละคนไม่ เหมือนกัน โรคที่เป็นถึงแม้อาการเหมือนกันก็อาจจะมีสาเหตุที่ไม่เหมือนกันได้ การรักษาที่ตรงกับโรคของตัวเองเท่านั้นจึงจะหาย"

ข้อมูลสื่อ

279-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 279
กรกฎาคม 2545
แพทย์แผนจีน
สุณีรัตน์ วัณนาวิบูล