• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจาะผิวหนังแฟชั่นที่เสี่ยงอันตราย

เจาะผิวหนังแฟชั่นที่เสี่ยงอันตราย

ว่าที่จริงการเจาะผิวหนังสามารถทำได้ทั่วทั้งร่างกายและการเจาะผิวหนังบางแห่งบางที่ก็เป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันทั่วโลก อย่างเช่น การเจาะหู ส่วนการเจาะผิวหนังในบริเวณอื่น อาจเป็นวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่น เช่น การเจาะบริเวณปีกจมูกของชนชาติเอเชียใต้ หรือการเจาะริมฝีปากของชาวแอฟริกัน

แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเจาะผิวหนังที่วัยรุ่นนิยมเจาะกันอยู่นั้น เป็นการเจาะกันเองระหว่างลูกค้ากับเจ้าของกิจการ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ใช่แพทย์ และอาจไม่มีความรู้ทางการแพทย์เสียด้วย เจาะเจาะ เจาะ เขาเจาะกันตรงไหนบ้าง

เจาะหู มีมานานกว่า ๕,๐๐๐ ปีแล้ว โดยสมัยนั้นมีการเจาะหูของพวกทาส ในพิธีการรับทาสเข้ามารับใช้ในครัวเรือน ต่อมาก็วิวัฒนาการจน กระทั่งเป็นการเจาะหูเพื่อใส่เครื่องประดับต่างหู จนแพร่หลายไปทั่วโลก
การเจาะหูอาจเจาะด้วยเข็มธรรมดา เข็มฉีดยา หรือเจาะด้วยเครื่อง ตำแหน่งที่นิยมเจาะกันแต่ดั้งเดิมคือติ่งหู เพราะเนื้อบริเวณนี้นิ่ม จึงไม่ค่อยเจ็บมากนัก มาถึงยุคนี้ ก็นิยมเจาะหูกันมากกว่าหนึ่งรู บาง รายเจาะเป็นระยะๆ จากติ่งหูตลอดแนวไปถึงหูส่วนบนและติ่งหูด้านใน และมีการตกแต่งใบหูด้วยต่างหูรูปแบบต่างๆ ด้วย

ในทางการแพทย์จะไม่เห็นด้วยกับการเจาะหูผ่านกระดูกอ่อน (บริเวณกระดูกอ่อนของใบหู และปีกจมูก) เพราะถ้าเจาะไม่ถูกวิธีหรือ เครื่องมือไม่สะอาดจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียลามเข้ากระดูกได้ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ใบหูหรือเปลือกจมูกนิ่มจนเสียรูปทรงได้

การดูแลแผลหลังการเจาะหู ควรทำความสะอาดแผลบริเวณที่เจาะด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ แผลจึงจะหายสนิท
ปัญหาที่พบได้บ่อยๆ หลังการเจาะ หูคือการแพ้นิเกิลซึ่งผสมอยู่ในทอง โดยพบมากในเพศหญิง หรือโลหะที่เจือปนใน ทองของต่างหูไปกระตุ้นภูมิแพ้ (ในบาง ราย) บางกรณีเกิดก้อนแข็งบริเวณที่เจาะ เพราะมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไประหว่างเจาะหู
การเจาะจมูก ที่คุ้นตากันมากก็คือการเจาะปีกจมูกของชาวอินเดีย วัยรุ่นจะ นิยมเจาะบริเวณร่องจมูกซึ่งติดกับสันจมูก การเจาะผิวหนังบริเวณนี้จะเกิดปัญหาไม่ ต่างไปจากการเจาะหู แต่การติดเชื้อจะสูง กว่า เพราะช่องจมูกจะมีเชื้อที่รุนแรงอาศัย อยู่ในบางช่วงเวลา และการเจาะต้องผ่าน กระดูกอ่อน ดังนั้นเมื่อเกิดการอักเสบของ กระดูกอ่อนก็จะเกิดการยุบตัวของปีกจมูก ได้ โดยแผลที่เกิดจากการเจาะควรจะหาย สนิทภายใน ๖-๘ สัปดาห์

การเจาะลิ้น เจาะบริเวณกลางลิ้น ซึ่งห่างจากปลายลิ้น ๑ นิ้ว เพื่อมิให้เจาะ ทะลุผ่านหลอดเลือด และการติดเชื้อในช่องปากก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการเจาะผิวหนังบริเวณอื่น แผลที่ลิ้นควรจะหายภายใน ๔-๖ สัปดาห์
การเจาะลิ้นนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาเลือดออกได้แล้ว ยังเกิดอาการเลือดคั่งหลังเจาะได้ด้วย บางกรณีแผลจะบวมมากจนทำให้กินอาหารไม่สะดวกน้ำลายออกมาก และปัญหาที่จะตามมาคือ เครื่องประดับที่ใส่ลิ้นจะกระทบกับฟัน ทำให้ฟันสึก บิ่น หรือหัก และบางรายอาจทำให้รากฟันตายได้ หรือบริเวณ ที่ใส่ตุ้มประดับในช่องปากจะเป็นแหล่งหมักหมมของเศษอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบและมีกลิ่นปากได้
ขณะเดียวกัน การถอดเครื่องประดับ ออกล้าง ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะ อาจหลุดเข้าท่อหายใจได้

การเจาะสะดือ นิยมกันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ การเจาะสะดือนั้นควร ทำในรายที่มีสะดือบุ๋มลงเท่านั้น โดยเจาะ ด้านบนของสะดือ แผลจากการเจาะสะดือ จะหายช้ามาก คือประมาณ ๙-๑๒ เดือน เรียกว่ากว่าแผลจะหาย ก็เสี่ยงกับการติด เชื้อยาวนานนับปี

นอกจากนี้ ยังมีการเจาะที่แปลกๆเช่น เจาะช่องปากทะลุบริเวณแก้ม เจาะบริเวณหัวนม เจาะง่ามนิ้ว เจาะริมฝีปาก เจาะบริเวณผนังกั้นช่องจมูก เหนือริมฝีปากบน เจาะคิ้ว

ใครที่ไม่ควรเจาะผิวหนัง
ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นโรครูมาติก โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือโรคไตอักเสบ เพราะบาดแผลจากผิวหนังอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่ก่ออันตรายซ้ำ เติมให้เกิดขึ้นกับอวัยวะที่เป็นอยู่ก่อนแล้วได้ ที่สำคัญมากที่สุด อาจจะ มีการติดเชื้อเอดส์จากการใช้เครื่องมือร่วมกันได้อีกด้วย

นอกจากนี้ หากเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน บรรดาเครื่องประดับกิ๊บเก๋ทั้งหลายยังอาจเป็นปัญหาในการรักษาได้ เพราะไม่ใช่แพทย์ทุกคนที่จะรู้วิธีการถอดเครื่องประดับแต่ละแบบออกจากผิวหนังแต่ละส่วนของร่างกาย (ได้ทันเวลา) และบางครั้งเครื่องประดับเหล่านี้อาจไปปิดบังอวัยวะภายในบางส่วนเมื่อต้องฉายรังสีเอกซเรย์ หรือเครื่อง ประดับโลหะอาจรบกวนการใช้เครื่องมือรักษาบางชนิดด้วย

เรื่องของแฟชั่นก็เหมือนการเวียนว่ายตายเกิด คือนิยมแล้วก็เลิก เลิกแล้วก็กลับมานิยมใหม่ เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับผู้ที่สร้างกระแสและการโฆษณา ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล
แม้กระแสสังคมจะเป็นสิ่งชี้นำในเรื่องต่างๆ แต่คำตอบสุดท้ายคือ ภูมิต้านทานทางความคิดส่วนบุคคล หรืออีคิวนั่นแหละสำคัญที่สุด ว่าอะไร ควรเลียนแบบ อะไรไม่ควรเลียนแบบ

ข้อมูลสื่อ

279-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 279
กรกฎาคม 2545
เรื่องน่ารู้
รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน