• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันเลือดสูง

ความดันเลือดสูง
*
ชื่อภาษาไทย :  ความดันเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ความดันสูง

* ชื่อภาษาอังกฤษ :  Hyper tension (ไฮเพอร์เทนชั่น), High  blood pressure (ไฮบลัดเพรสเช่อร์)

* สาเหตุ :    โรคนี้แบ่งเป็น ๒ ชนิด ซึ่งมีสาเหตุต่างกัน ดังนี้

๑. ความดันเลือดสูงชนิดปฐมภูมิ (primary hypertension) หมายถึง ความดันเลือดสูงที่ไม่พบโรค หรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุ (ซึ่งเมื่อแก้ไขได้ความดันเลือดสูงก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง)

ความดันเลือดสูงชนิดนี้ พบได้กว่าร้อยละ ๙๐ ของผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูงทั้งหมด ผู้ป่วยพวกนี้จะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ ๒๕-๕๕ ปี แต่จะพบมากในคนอายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสพบได้มากขึ้น

ความดันเลือดสูงชนิดนี้ พบว่าเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ กล่าวคือ ผู้ที่มีสายพันธุ์เดียวกันเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสเป็นความดันเลือดสูงมากกว่าผู้ที่ไม่มีสายพันธุ์ของโรคนี้ประมาณ ๓ เท่า

นอกจากนี้ยังพบว่า ความมีอายุมาก ความอ้วน การกินอาหารเค็มหรือมีโซเดียมสูง (เช่น ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด) การดื่มเหล้าจัดก็อาจเป็นปัจจัยเสริมของการเกิดโรคนี้

๒. ความดันเลือดสูงชนิดทุติยภูมิ (secondary hypertension) หมายถึงความดันเลือดสูงที่ตรวจพบโรคหรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุ เช่น โรคไต (ไตอักเสบ ไตวาย หลอดเลือดไตตีบ) หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว โรคของต่อมไร้ท่อ (เช่น คอพอกเป็นพิษ เนื้องอกต่อมหมวกไต) โรคตะกั่วเป็นพิษ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง การใช้ยา (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านอักเสบที่  ไม่ใช่สตีรอยด์ที่นิยมใช้แก้ปวดข้อ ยาแก้คัดจมูก ที่ผสมอยู่ในยาแก้หวัด ยาลดความอ้วน ยาสตีรอยด์) เป็นต้น

ความดันเลือดสูงชนิดนี้พบได้น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของผู้ที่เป็นความดันเลือดสูงทั้งหมด อายุที่พบมักจะต่ำกว่า ๓๐ ปี หรือมากกว่า ๕๕ ปี

อาการ  ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะไปให้แพทย์ ตรวจรักษาด้วยปัญหาอื่น

ส่วนน้อยอาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ วิงเวียน มักจะเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ๆ พอตอนสายจะทุเลาไปเอง บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆแบบไมเกรนได้
ในรายที่เป็นมานานๆ หรือความดันเลือดสูงมากๆ อาจมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือ-เท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล
เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก บวม หอบเหนื่อย แขน-ขาเป็นอัมพาต เป็นต้น

การวินิจฉัย : เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงไม่สามารถวินิจฉัยจากอาการแสดง การจะบอกว่าเป็นโรคนี้ได้แน่ชัดมีอยู่ทางเดียวคือ การตรวจวัดความดันเลือด ซึ่งจะพบ ว่า ความดันเลือดช่วงบน (systolic blood pressure) มีค่าเท่ากับ ๑๔๐ มิลลิเมตรปรอท หรือมากกว่า หรือความดันเลือดช่วงล่าง (diastolic blood pressure) มีค่าเท่ากับ ๙๐ มิลลิเมตรปรอท หรือมากกว่า

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป จะมีค่าความดันเลือดปกติเมื่อวัดความดันเลือดช่วงบนได้ต่ำกว่า ๑๔๐ มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือด ช่วงล่างต่ำกว่า ๙๐ มิลลิเมตรปรอท (โปรดสังเกตว่าความดันเลือดมีอยู่ ๒ ค่า ทุกครั้งที่วัดความดันเลือดต้องอ่านทั้ง ๒ ค่าเสมอ)

การวินิจฉัยโรคนี้ควรให้แพทย์เป็นผู้กระทำ เพราะมีขั้นตอนหลายขั้นตอน การวินิจฉัยกัน เองอาจมีความคลาดเคลื่อนได้

การรักษา :  โรคนี้จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจรักษา โดยมีขั้นตอน ดังนี้
๑. ในการวินิจฉัย จะมีการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น เพื่อค้นหาสาเหตุและภาวะผิดปกติที่ซ่อนเร้น รวมทั้งประเมินว่ามีโรคแทรก ซ้อนเกิดร่วมด้วยหรือยัง
๒. แนะนำการปฏิบัติ ตัว (ดูหัวข้อ "การดูแลตนเอง" )
๓. ให้ยาลดความดันเลือด (เมื่อจำเป็น) และให้การรักษาอื่นๆ ตามสภาพปัญหาที่พบ  เช่น ควบคุมเบาหวาน ไขมันในเลือด โรคหัวใจ เป็นต้น
๔. นัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ตลอดไป และอาจต้องตรวจเลือดตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่นๆ เป็นครั้งคราว

เป้าหมาย :  จะต้องควบคุมความดันเลือดให้ต่ำกว่า ๑๒๐/๘๐ มิลลิเมตรปรอทเป็นดีที่สุด ถ้ามีผลข้างเคียงจากการใช้ยา อาจอนุโลมให้ควบคุมความดันเลือดให้ต่ำกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท เป็นอย่างน้อย

โรคนี้แม้จะเป็นเรื้อรัง แต่ถ้าดูแลรักษาจนควบคุมความดันเลือดได้ตามเป้าหมายดังกล่าว ก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติได้

การดูแลตนเอง :   การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ถือเป็นหัวใจของการรักษาโรคนี้ควบคู่กับการรักษาของแพทย์ ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่
๑. งดกินอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่ผงชูรส ผงฟู (เช่น ขนมปัง ขนมสาลี่) และสาร กันบูด (เช่น อาหารสำเร็จรูป) ควรกินอาหารที่มีรสจืด อย่าปรุงรสเค็ม
๒. งดบุหรี่ เพราะเป็นปัจจัยทำให้เกิด  ภาวะหลอดเลือดแข็งและตีบร่วมกับความดันเลือดสูง
๓. ลดอาหารมัน อาหารหวาน กินผักและผลไม้ให้มากๆ
๔. ลดน้ำหนัก (ถ้าน้ำหนักเกิน)
๕. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ควรจำกัดปริมาณ เช่น วิสกี้ไม่เกิน วันละ ๖๐ มิลลิลิตร หรือเบียร์ไม่เกิน ๗๒๐ มิลลิลิตร หรือไวน์ไม่เกิน ๓๐๐ มิลลิลิตร
๖. ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก รำมวยจีน เป็นต้น อย่าออกกำลังกายที่ต้องมีการเบ่ง (เช่น ยกน้ำหนัก วิดพื้น)
๗. พักผ่อนให้เพียงพอ และหาวิธีผ่อน คลายความเครียด (วิธีง่ายๆ คือ หมั่นออก กำลังกาย ฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง)
๘. สำหรับสตรีที่กินยาคุมกำเนิด ถ้าเป็น ความดันเลือดสูงควรเลิกกินยานี้ แล้วหันไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นแทน
๙. ติดตามรักษากับแพทย์ (ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน) ตามนัดทุกครั้ง และกินยาตามคำแนะนำของแพทย์เป็นประจำ แม้ว่าจะรู้สึกสบายดีแล้วก็ตาม เพราะความดันเลือดอาจสูงแบบไม่รู้ตัวก็ได้
การปฏิบัติตัวดังกล่าวจะช่วยให้ลดการใช้ยา ลดความดันเลือด และอาจงดยาได้ถ้าเป็นความ ดันเลือดสูงเล็กน้อย

ภาวะแทรกซ้อน :  หากปล่อยปละละเลย หรือรักษาไม่จริงจัง จนความดันเลือดสูงอยู่เรื่อยๆ เป็นแรมปี อาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ทีละน้อยแบบไม่รู้ตัว จนตีบตันส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ สมองเสื่อม หลอดเลือดสมองแตก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย ไตวาย ตามัว ตาบอด เป็นต้น ซึ่งเมื่อเป็นแล้ว จะมีความยุ่งยาก และสิ้นเปลือง เกิดความพิการอย่างถาวร และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ฉับพลัน

ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะเกิดขึ้นอาจใช้เวลานาน ๕-๑๐ ปีหลังเป็นความดันเลือดสูง แต่อาจเกิดเร็วขึ้นถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ (เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย) ร่วมด้วย

บางคนอาจเป็นโรคความดันเลือดสูงแบบไม่มีอาการ (ไม่รู้ตัว) อยู่นานนับสิบปี แล้วอยู่ๆ ก็ต้องหามเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตกะทันหันจากภาวะแทรกซ้อน (เช่น หลอดเลือดสมองแตก หัวใจวาย) โรคนี้จึงมีชื่อว่า "มัจจุราชมืด"  หรือ " นักฆ่าเงียบ (silent killer)"

การดำเนินโรค :  หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวไม่ช้าก็เร็ว (ภายใน ๕-๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี)

แต่ถ้าได้รับการรักษาและดูแลตนเองอย่างถูกต้องจริงจังและต่อเนื่อง จนสามารถควบคุมระดับความดันเลือดได้ดี โอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนก็จะลดลงมาก และอาจมีชีวิตยืนยาว ได้เช่นคนปกติทั่วไป

การป้องกัน :  สำหรับคนทั่วไป อาจป้องกันมิให้เป็นโรคความดันเลือดสูง โดยการปฏิบัติตัวดังนี้
๑. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
๒. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (เช่น เดิน เร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก) นานครั้งละ ๓๐-๔๕ นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓-๕ ครั้ง หรือวันเว้นวัน
๓. ลดปริมาณเกลือโซเดียมที่บริโภค ไม่เกินวันละ ๒.๔ กรัม (เท่ากับเกลือแกงประมาณ ๑ ช้อนชา)
๔. กินผักและผลไม้ให้มากๆ และลดอาหาร พวกไขมันอิ่มตัว
๕. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ในกรณีเลี่ยงไม่ได้ ควรจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์  (ดู "การดูแลตนเอง ข้อ ๕")
๖. แม้ว่ารู้สึกสบายดี ก็ควรตรวจเช็กความ ดันเลือดอย่างน้อย ๒ ปีครั้ง (สำหรับคนอายุ ๑๘-๓๕ ปี) หรือปีละครั้ง (สำหรับคนอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป) ถ้าพบว่าเป็นความเลือดสูงจะได้รักษาเสียแต่เนิ่นๆ

ความชุก :  คนไทยป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูงประมาณร้อยละ ๑๐ หรือทั่วประเทศประมาณ ๖ ล้านคน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคความดันเลือดสูง

๑. นึกว่า คนผอมไม่เป็นความดันเลือดสูง
ความจริง โรคนี้พบได้ทั้งในคนอ้วนและคนผอม (แม้ว่าอาจพบในคนอ้วนได้มากกว่าก็ตาม)     ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคความดันเลือดสูง มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนปกติทั่วไป

๒. นึกว่า โรคนี้จะต้องมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น หรือเหนื่อยง่าย เมื่อไม่มีอาการ ก็นึกว่าไม่เป็นโรคนี้
ความจริง ผู้ที่เป็นความดันเลือดสูงส่วนมากจะไม่มีอาการผิดปกติอะไรให้รู้สึก จะทราบว่าเป็น ความดันเลือดสูงหรือไม่ ก็โดยวิธีตรวจวัดความดันเลือดเป็นระยะๆ โรคนี้จึงได้ชื่อว่า "มัจจุราชมืด" หรือ   " นักฆ่าเงียบ"  (silent killer) เพราะผู้ป่วยจะปล่อยปละละเลย เนื่องจากไม่มีอาการแสดงจน ในที่สุดกลายเป็นโรคหัวใจ โรคอัมพาต หรือหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

๓. นึกว่า เมื่อกินยาแล้วรู้สึกสบายดี ก็เลิกกินยา เลิกหาหมอได้

ความจริง โรคนี้จะเป็นเรื้อรังหรือตลอดชีวิต จำเป็นต้องหมั่นหาหมอและตรวจวัดความดันเลือดเป็นระยะอย่าได้ขาด จะสังเกตจากอาการแสดงไม่ได้ ถ้าไม่วัดความดันเลือดก็ไม่มีทางรู้ว่าควบคุมความดันเลือดได้ดีหรือยัง การหาหมอและคอยควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติอย่างต่อเนื่อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน และมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ

๔.  นึกว่า กินแต่ยาก็สามารถควบคุมโรคนี้ได้

ความจริง ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัว ได้แก่ งดอาหารเค็มและเกลือโซเดียมในอาหารต่างๆ งดเหล้าและบุหรี่ ออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด ลดน้ำหนักตัว (ถ้าอ้วน) กินผักและผลไม้มากๆ จะช่วยในการลดความดันเลือดให้ลงสู่ระดับปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้
 

ข้อมูลสื่อ

287-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 287
มีนาคม 2546
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ