• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอเรื้อรัง

ไอเรื้อรัง

แผนจีนจะมีสาเหตุจากภายนอกและภายในอวัยวะผิดปกติกระทบต่อปอด ทำให้พลังปอดขึ้น ลงไม่สะดวก เกิดเป็นอาการไอ

ไอจะมีอาการแสดง มีไอไม่มีเสมหะ มีเสมหะไม่มีเสียง ไอมีทั้งเสียงและเสมหะ ไอจะเกี่ยวข้อง กับปอดทั้งนั้น

สาเหตุ
จากภายนอก ก่อนเกิดจะมีสาเหตุ เช่น อากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งจะต้องแยกอีกว่า กระทบต่อลม ร้อน ลมเย็น หรือความแห้ง ที่เป็น มากคือกระทบต่ออากาศเย็น ถ้าเทียบกับแผนปัจจุบันก็คือการติดเชื้อโรค แต่คนที่จะเป็นหรือติดเชื้อ ง่ายก็คือพวกที่ภูมิต้านทานของร่างกายไม่แข็งแรง หรือปอดไม่แข็งแรง การเกิดโรคจะเกิดรวดเร็ว เป็นแล้วหายเร็ว ถ้ารักษาด้วยแผนจีนก็ต้องแยกว่า เป็นแบบร้อน เย็น แห้ง แล้วจึงรักษาได้ถูกต้อง

จากภายใน การเจ็บป่วยของ อวัยวะภายในอื่นๆ กระทบต่อปอด การเกิดโรคจะค่อยๆ เกิด เป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ส่วนมากจะเกิดกับคนที่ร่างกายอ่อนแอ
สาเหตุที่เกิดจะมาจาก

1.อารมณ์ที่ผิดปกตินานๆ ตับระบายไม่ได้ (อารมณ์จะกระทบ ต่อตับ) พลังย้อนขึ้น ก็ทำให้เกิดการไอ
2. กินอาหารไม่เหมาะสม กินของเย็นๆ มันๆ หวานๆ ดิบๆ ย่อยยาก ก็จะเกิดเสมหะมากทำให้ เกิดการไอ
3. โรคของตัวปอดเอง

การวิเคราะห์แบบแผนจีน ต้องดูว่าผู้ป่วยไอมากเวลาไหน กลางวันหรือกลางคืน ลักษณะการไอเสียงหนักหรือไม่ ไอคันๆ คอ ไอแห้งๆ ไอมีเสมหะไหม เสมหะข้นเหลืองหรือใสๆ (ร้อนหรือเย็น)

ไอแห้งๆ ที่เกิดตอนกลางคืนมักจะเกิดจากยินพร่อง

ไอเสมหะมากๆ ใสๆ ตอนกลางคืนมักจะเกิดจากความเย็น

เสมหะข้นๆ มักจะเกิดจากความชื้นสะสมภายใน

การรักษาต้องแยกก่อนว่าเป็น ไอแบบไหนแล้วจึงจะทำการรักษา

การแยกและวิเคราะห์โรคที่เกิดจาก สาเหตุภายนอกจะแบ่งเป็น

- ไอจากความร้อน ไอเจ็บคอ เสียงแหบ เสมหะเหลืองข้น ไอ จนเหงื่อออกร่วมกับน้ำมูกเหลืองๆ หิวน้ำ ปวดศีรษะ (พวกโรคติดเชื้อ ไข้หวัด) ลิ้นมีฝ้าเหลืองเหนียว
ยาที่ใช้รักษา (ขับร้อน) ซึ่ง-เหยิน ซวนเย่ จี๋หง เหลียนเชียว ป๋อเฮ่อ จิ๋เกิบ หลูเกิน เป็นต้น
- ไอจากความเย็น ไอจะเสียงหนักๆ คันๆ คอ เสมหะใส เสมหะขาว ร่วมกับอาการแน่นจมูก น้ำลายใสๆ ปวดศีรษะ กลัวหนาว เป็นไข้ไม่มีเหงื่อ ลิ้นมีฝ้าขาวบาง
ยาที่ใช้รักษา (อุ่น) จิ๋เกิบ จิงจี้ ไป่ปู้ ไป่เฉียบ กานเฉ่า ซูเย่ เป็นต้น
- ไอจากความแห้งปาก คอแห้งๆ ไอต่อเนื่อง คอแห้งๆ เจ็บคอ ร่วมฝีปากจมูกแห้ง ไม่มีเสมหะ หรือเสมหะน้อย ไอไม่ออก เหนียวๆ บางครั้งมีเลือดปนยาที่ใช้รักษา (เพิ่มความชุ่มชื้น) ซวนเย่ ซึ่งเหยิน ซาเซียม จี๋ผี หลี่ผี เซี่ยงเปีย เป็นต้น
การแยกและวิเคราะห์โรคที่เกิดจาก สาเหตุภายในจะแบ่งเป็น
-
จากความชื้นภายใน จะเป็นซ้ำๆ เป็นแล้วเป็นอีก เสมหะมากขึ้น เหนียวๆ ข้นๆ สีขาวหรือ เทาๆ จะมีมากตอนเช้า หรือหลังกินอาหารยิ่งมาก โดยเฉพาะหลังกินอาหารหวานมัน หรือดื่มเหล้ามาก ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก คลื่นไส้ ถ่ายอุจจาระเหลว ลิ้นมีฝ้าขาวมัน
ยาที่ใช้รักษา (เสริมม้าม ขับความชื้น ขับเสมหะ) ปั้นเซีย จี๋หง เฉินผี ไป่ฝู่หลิง กามเฉ่า เป็นต้น
เกี่ยวข้องกับไฟตับ (มี อาการไอจนหน้าแดง คอแห้ง ขาก ยาก เหนียวข้น ปวดบริเวณชายโครงทั้ง ๒ ข้าง คอขม คอแห้ง มักจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ถ้าอารมณ์ไม่ดียิ่งเป็นมาก
ยาที่ใช้รักษา (สงบไฟตับทำให้พลังของปอดเคลื่อนดี) ตี้กู่ผี ซอนไป่ผี กามเฉ่า ติ่งลีจื่อ ชิงไต้ เป็นต้น
ยินของปอดพร่อง ไอแห้งๆ เสมหะน้อยเหนียว บางครั้งมีเลือดออก เสียงแหบคอแห้ง ช่วงบ่ายตัวเย็นจะร้อนแก้มแดง ฝ่ามือ ฝ่าเท้าร้อน เหงื่อออกกลางคืน การเกิดโรคจะเกิดแบบช้าๆ นับวันยิ่ง ผอมลงเรื่อยๆ จิตใจซึมเศร้า
ยาที่ใช้รักษา (เสริมยินกระจายเสมหะ ลดอาการไอ) ซาเซียม ม่ายตง ตงซวนเย่ เทียนฟาเผิ่น อี้จู้ เป็นต้น
- พลังปอดพร่องอ่อนแอ ไอค่อยๆ ไม่มีแรงไอ หายใจสั้น ไม่เต็มปอด เสมหะใสๆ ขาวๆ อ่อนเพลียไม่อยากพูด หน้าขาวซีด กลัวลม เหงื่อออกเอง เวลาเป็นหวัดยิ่งไอมาก
ยาที่ใช้รักษา (เสริมพลังเสริมปอด) หวงฉี หวงฟง ไป่จู๋ ตันเซิบ อู่เวยจื่อ ซอนไป่ผี จี๋หว่าน เป็นต้น

การไอถ้าตอนแรกรักษาไม่หาย แล้วไอนานๆ จะกระทบอวัยวะภายใน การรักษาแบบแพทย์แผนจีนจำเป็นต้องแยกชนิดออกมา แล้วให้การรักษาตามขั้นตอน อาการไอก็จะหายไป และเราก็ต้องระวังเรื่องอาหารด้วย เช่น แบบร้อนแบบแห้ง เราต้องหยุดของร้อน ของทอด แบบเย็น หลีกเลี่ยงของที่มีคุณสมบัติเย็น
 

ข้อมูลสื่อ

287-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 287
มีนาคม 2546
แพทย์แผนจีน
สุณีรัตน์ วัณนาวิบูล