• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คำแสดสีสันบนใบหญ้าและผืนผ้า

คำแสดสีสันบนใบหญ้าและผืนผ้า

ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผู้เขียนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินทางและประชุมกับเกษตรกรและ นักพัฒนาเอกชนจากทั่วโลกที่ประเทศ บราซิล หรือจะพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ต้องระบุว่าสถานที่ประชุมและดูงานอยู่ บริเวณต้นแม่น้ำอเมซอน (amazon river) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังเป็นบริเวณป่าฝนเขตร้อน (tropical rainforest) ที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย เหตุที่กลุ่มคนจากทั่วโลกต้อง ดั้นด้นเดินทางไปในป่าลึกขนาดนั้น (ประมาณ ๔,๐๐๐ กิโลเมตร จากปากแม่น้ำ) ก็เพราะเป็นการประชุมเพื่อหาทางอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity con-servation) ในระดับโลก จึงตกลง กันว่าจะใช้บริเวณที่มีความหลาก หลายทางชีวภาพมากที่สุดเป็นสถานที่ประชุม

พื้นที่ป่าในเขตลุ่มน้ำอเมซอน นั้นมิได้มีความหลากหลายเฉพาะ  สิ่งมีชีวิตจำพวกพืชหรือสัตว์เท่านั้น แม้แต่เผ่าพันธุ์มนุษย์ก็มีความหลาก หลายอย่างยิ่งอีกด้วย ประมาณว่าป่าอเมซอนมีชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ไม่ น้อยกว่า ๒๐๐ กลุ่มชนเผ่า แม้ใน ปัจจุบันกลุ่มชนท้องถิ่นดั้งเดิมเหล่านี้ จะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ ประมาณ ๘๐ กลุ่มแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเหลืออยู่อีกกว่า ๑๐๐ กลุ่มซึ่งได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐบาลและเอกชน จนพบว่าพลเมืองของคนท้องถิ่นดั้ง เดิมเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้ว จึงนับเป็นข่าวดีในรอบหลายศตวรรษ เพราะตั้งแต่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาเมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นจำนวนคนท้องถิ่นดั้งเดิมก็ลดน้อยลง เรื่อยๆ (จนหลายชนเผ่าสูญพันธุ์ไป) เพิ่งจะเป็นครั้งแรกที่จำนวนประชากร ของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นข่าวที่น่ายินดีจริงๆ

ในการประชุมครั้งนี้ มีตัวแทน ชนเผ่าท้องถิ่นดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งเข้าร่วม ประชุมด้วย นับเป็นสีสันและจุดสนใจ ของงาน เพราะแม้จะเป็นผู้ชาย แต่ก็ แต่งกายด้วยชุดดั้งเดิมอันมีเอกลักษณ์ และสีสันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ลูกปัด ขนนกที่ใช้ประดับ ศีรษะ และสีที่ใช้ทาตามแขน ขา และ ใบหน้า ฯลฯ

จนกระทั่งวันหลังๆ ของการประชุม เมื่อได้รู้จักพูดจา (ผ่านล่าม) กันแล้ว ผู้เขียนจึงทราบว่า สีแดง-ส้ม ที่ปรากฏบนเสื้อผ้า หรือใบหน้าของตัวแทนคนท้องถิ่นดั้งเดิมนั้นมาจากพืชที่ผู้เขียนรู้จักดี นั่นคือ สีจากเมล็ดคำแสดนั่นเอง

คำแสด : ความงามจากผลและเมล็ด
คำแสดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง หรือไม้พุ่มขนาดใหญ่ สูงประมาณ  ๓-๕ เมตร คำแสดมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Bixa orellana Linn. อยู่ในวงศ์ Bixaceae ชื่อสามัญคือ Annatto tree คำแสดมีใบคล้ายใบโพธิ์ ก้าน-ใบยาวสีแดง หน้าใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเทาหรือเขียวอมน้ำตาล ใบบางนุ่ม ไม่ผลัดใบ

ดอก ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลาย ยอดของกิ่ง ดอกมีสีขาวหรือชมพู  รูปร่างคล้ายดอกกุหลาบ กลีบดอกมี ชั้นเดียว ปกติออกดอกช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม
ผล มีรูปไข่ ขนาดราว ๒.๕ x ๔ เซนติเมตร ผิวนอกของผลปกคลุม ด้วยขนยาวคล้ายผลเงาะ เมื่อแก่จัดผิวนอกและขนกลายเป็นสีเหลืองหรือ แดงส้ม รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตาม ปลายกิ่งดูสวยงามและติดอยู่ได้นาน
เมล็ด แต่ละผลมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายในประมาณ ๕๐ เมล็ด แต่ละเมล็ดจะห่อหุ้มด้วยผงสีแดงส้ม ซึ่งเกิดจากสารที่ชื่อ bixin และ orellin เป็นหลัก

คำแสดมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบเขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง ต่อมาได้ขยายต่อไปทางเหนือและใต้ เช่น เม็กซิโก กัวเตมาลา และ บราซิล ก่อนถูกนำไปปลูกในเขตร้อน ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบปลูกคำแสดในทุกภาค แต่คาดว่าคำแสดคงเข้ามาในประเทศไทยไม่เกิน ๑๕๐ ปีนี้ เพราะไม่พบเอ่ยถึงในวรรณคดียุคกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น แม้แต่หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ (๑๒๙ ปีมาแล้ว) ก็ไม่ได้กล่าวถึงคำแสดเลย

คำแสดมีชื่อเรียกในประเทศไทยหลายชื่อ เช่น คำแสด คำเงาะ คำไทย (กรุงเทพฯ) คำแชด, คำ (ภาค กลาง) มะกายหยุม คำยงแสด (ภาค เหนือ) ส้มปู้ จำปู้ (สุรินทร์) หมักซิตี (เลย) ชาด (ใต้)

คำว่าชาด ที่ภาคใต้นำมาเรียกชื่อคำแสดนั้น คงเป็นเพราะเมล็ดคำแสดให้สีแดงส้ม ซึ่งคล้ายกับสีของชาด ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันมาก่อน ชาดมีหลายชนิด ส่วนใหญ่ใช้ผสมกับ ยาแผนไทยดั้งเดิม หรือผสมน้ำมันใช้ประทับตรา หรือทาสิ่งของให้สีแดง สีที่ได้จากเมล็ดคำแสดไม่ใช่ชาด แม้ ในภาคใต้จะเรียกชื่อเดียวกันก็ตาม

ประโยชน์ของคำแสด
ในทางสมุนไพร คำแสดใช้รักษาโรคได้หลายอย่าง เช่น
ดอก : รสหวาน บำรุงหนองและเลือดให้บริบูรณ์ แก้แสบร้อนตามผิวหนัง แก้พิษ บำรุงเลือด แก้เลือดจาง แก้บิด แก้ไตพิการ ฯลฯ
เมล็ด : ตัดไข้จับ สมาน แก้ลม
เนื้อหุ้มเมล็ด : เป็นยาระบาย

ส่วนที่ใช้ประโยชน์จากคำแสด มากที่สุดก็คือสีที่ได้จากเนื้อหุ้มเมล็ด นั่นเอง คนท้องถิ่นดั้งเดิมในเขต   อเมซอนใช้ทาตามร่างกายและใบหน้า แสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ย้อมเสื้อผ้า ส่วนคนรุ่นใหม่ในประเทศพัฒนาแล้ว นำสีจากเมล็ดคำแสดมาใช้เป็นการค้า เรียกว่า annatto เป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียกสีที่สกัดได้จาก เนื้อหุ้มเมล็ดคำแสด โดยมีกรรมวิธีสกัดสี ๒ วิธี คือ หมักกับน้ำร้อน  หรือต้มกับน้ำยา sodium carbo-nate และเกลือแกง

สี annatto จากคำแสดใช้ย้อมฝ้ายและไหม และแต่งสีอาหารที่เป็นไขมัน เช่น เนย เนยแข็ง เนย เทียม ฯลฯ หรือเพิ่มความเข้มของไข่ แดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้นำมาใช้เป็นยาขัดพื้น ยาขัดรองเท้า และเครื่องสำอางบางชนิด
เนื่องจากสีจากคำแสด (annatto) เป็นสีจากพืชพันธุ์ธรรมชาติจึงมีสีเฉพาะตัวและไม่เป็นพิษภัยเหมือนสีสังเคราะห์จากสารเคมี แนว โน้มความนิยมจึงเพิ่มขึ้น คนไทยในชนบทที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภท หนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล น่าจะลองใช้ประโยชน์จากสีของคำแสดให้มากขึ้น ทั้งด้านย้อมผ้า ผสมอาหาร ยาสมุนไพร หรือเครื่องสำอางจากธรรมชาติ ฯลฯ เพราะคำแสดปลูกได้ ง่ายในทุกภูมิภาคและคนในชนบทรู้จักคุ้นเคยอยู่แล้ว

เปลือกต้นคำแสดใช้ทำเชือกได้ ดี ส่วนในแง่ไม้ประดับ คำแสดก็ได้รับความนิยมปลูกอยู่ทั่วไป เพราะนอกจากดอกก็ยังมีผลที่เป็นกลุ่มสวยงามกว่าดอกเสียอีก และทนทาน กว่าดอกหลายเท่าอีกด้วย ในประเทศ ไทยส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์ผลสีแดง ในบราซิลมีพันธุ์ผลสีเหลือง ซึ่งเมื่อนำมาปลูกคู่กับพันธุ์ผลสีแดง จะทำให้เกิดความงดงามมากขึ้น

ข้อมูลสื่อ

279-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 279
กรกฎาคม 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร