• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“ขอยายไปตายที่บ้านเถอะ”

“ขอยายไปตายที่บ้านเถอะ”


คำคำนี้ผู้อ่านหลายๆ ท่านที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคชรา คงจะเคยได้ยินบ่อย และน่าจะเป็นภาระหนักอึ้งทีเดียว ถ้าคำขอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจากลูกหลาน ผู้ดูแล หรือบางทีแพทย์/พยาบาลก็ตามไม่ได้สนใจในคำบอกกล่าวคำขอร้องของผู้ป่วย ภาพนี้เป็นภาพที่ตัวดิฉันซึ่งเป็นพยาบาลได้อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่เรียนวิชาชีพพยาบาลเลยทีเดียว จนกระทั่งปัจจุบัน ๒๐ กว่าปี เหตุการณ์เช่นนี้ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ น้อยครั้งมากที่คำร้องขอของผู้ป่วยได้รับการตอบสนอง และทุกครั้งที่ผู้ป่วยเหล่านี้ก่อนเสียชีวิตที่ถูกลูกหลานยื้อไว้ แพทย์/พยาบาลช่วยกันใส่สาย ใส่ท่อระโยงระยางเต็มไปหมด ช่วยกันอย่างโกลาหล แต่ก็ไม่วายที่ท่านจะต้องตาย เครื่องมือเหล่านั้นไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย

ท่านที่เคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้คนที่ใกล้จะตายคงจะจำได้ว่าสีหน้าท่าทางเหล่านั้นไม่ได้สวยงามเลย จะเห็นได้เลยว่าสีหน้าบูดเบี้ยว เหยเก ผิดกับผู้สูงอายุหลายรายที่ได้รับการตอบสนอง ปล่อยให้ท่านได้กลับบ้านตามความต้องการ ได้ตายอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานและญาติพี่น้อง สีหน้าจะมีแววอิ่มเอิบ ที่ดิฉันสามารถยืนยันได้ก็เพราะจากประสบการณ์ทำงานการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน ไม่ว่าผู้ป่วยเรื้อรังเหล่านั้นจะตายหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อผู้ป่วยได้กลับไปอยู่ที่บ้าน บางรายที่บอกว่าเหลือเวลาไม่มาก (จากแพทย์วินิจฉัย) ผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ไม่หายจากอาการของโรคที่เป็นอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นกลับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับโรคเรื้อรังอย่างมีความสุข แม้จะตายก็ตายอย่างมีคุณค่า

ตัวดิฉันเองมีคุณตาที่มีที่มีอายุยืนมาก ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ ๑๐๔ ปี ท่านเกิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ดิฉันเรียกว่า พ่อเฒ่า คำว่า “พ่อเฒ่า” เป็นคำภาษาใต้ที่ใช้แทนการเรียกพ่อของแม่ (คุณตา) และในบทความนี้ขอเรียกท่านว่าพ่อเฒ่า เพราะรู้สึกสะดวกใจกว่า

ดิฉันรู้สึกภูมิใจที่สุดที่ได้ดูแลท่านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านมีลูก หลาน เหลน โหลนมากมายเป็นร้อย แต่ตัวดิฉันมีโอกาสใกล้ชิดท่านมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นพยาบาล ต้องขอขอบคุณวิชาชีพนี้อย่างจริงใจ ไม่เสียใจเลยที่เกิดเป็นพยาบาล พ่อเฒ่าเมื่ออายุ ๙๖ ปี มีอาการไม่สบายหนักมาก ไข้สูง เพ้อ ขณะนั้นดิฉันปฏิบัติงานอยู่โรงพยาบาลดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะทำงานได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่ว่าพ่อเฒ่าไม่สบายหนัก หมอบอกให้ทำใจ ครั้งแรกที่ได้ยินตอนนั้นในใจดิฉันคิดอยู่อย่างเดียวว่า “ไม่ พ่อเฒ่าจะต้องไม่ตาย” คิดเห็นแก่ตัวเหมือนลูกหลานและคนอื่นๆทั่วๆไป เมื่อซักถามอาการจากคุณแม่ก็มั่นใจว่า พ่อเฒ่าต้องเป็นโรคปอดบวมแน่ๆ จึงปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลพร้อมทั้งนำยาไปรักษาพ่อเฒ่าด้วยตัวเองและดูแลใกล้ชิด เป็นครั้งแรกที่พ่อเฒ่าใช้ยาแผนปัจจุบัน ปกติท่านจะรักษาตัวเองด้วยยาแผนโบราณ ท่านมีตำรับยาโบราณมากมาย และแล้วท่านก็หายเป้นปกติ มีสุขภาพแข็งแรงดีมาตลอด

จนกระทั่งประมาณวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ขณะนั้นท่านมีอายุ ๑๐๔ ปี กับ ๖ เดือน พ่อเฒ่ามีอาการไข้สูง ซึ่งเป็นช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด พ่อเฒ่ามีอาการทรุดมาก ท่านบอกว่าท่านไม่ไหวแล้ว แต่ระดับความรู้สึกยังดีมาก ไม่มีอาการเพ้อ ท่านสงบ พ่อเฒ่าปฏิบัติศีล ๕ มาตลอด ไม่เคยว่างเว้นการสวดมนต์เลยแม้แต่วันเดียว ทุกๆวันจะมีลูกหลานทั่วสารทิศของพ่อเฒ่า (ซึ่งมีเป็นร้อย) มาเยี่ยมและนอนเฝ้าไม่ต่ำกว่า ๒๐ คนขึ้นไป พ่อเฒ่าถามถึงลูกหลานคนไหนก็จะได้เห็นหน้า เป็นภาพที่ดิฉันเห็นแล้วมองย้อนไปถึงคุณยายท่านหนึ่งนอนป่วยที่โรงพยาบาล ที่บอกว่า “ขอยายไปตายบ้านเถอะ” แต่ท่านไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นภาพที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลย ใบหน้าของคุณยายหมองคล้ำไม่มีความสุข ผิดกับพ่อเฒ่าของดิฉัน ท่านเรียกหาใคร หลานคนไหนก็จะได้พบได้เจอ อยากกินอะไรได้กิน แม้จะกินไม่ได้ก้ตาม พ่อเฒ่าอิ่มแล้วก็นอนหลับด้วยใบหน้าที่ไม่บ่งบอกถึงความทุกข์ทรมานเลย

เมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้ายจริงๆของท่าน คือ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ พ่อเฒ่าได้ถามถึงหลานคนหนึ่งที่ท่านไม่เคยเห้นหน้า คือ น้องสาวของดิฉันซึ่งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มาสามารถมาได้ แต่น้องสาวดิฉันรับรู้มาตลอด และได้ส่งอาหารเสริมเป็นกระป๋องคล้ายนมมาให้พ่อเฒ่า วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. อาหารที่น้องสาวดิฉันส่งมาถึง ดิฉันจึงบอกพ่อเฒ่าและชงให้ท่านดื่ม และบอกท่าว่า “พ่อเฒ่า ติ้งรู้แล้วว่าพ่อเฒ่าไม่บาย ส่งนมมาให้พ่อเฒ่ากินหนา” (ภาษาใต้) พ่อเฒ่ารับรู้ลุกนั่งดื่มจนหมดแก้ว แล้วท่านก็นอนหลับ และท่านก็ไม่ตื่นมาอีกเลย ใบหน้าของท่านอิ่มเอมเหมือนคนนอนหลับอย่างมีความสุข

ดิฉันเขียนเรื่องราวนี้ขึ้นมาเพียงเพื่ออยากให้ท่านผู้อ่านที่ปฏิบัติงาน หรืออาจจะเป็นลูกหลานของผู้สูงอายุที่อาจจะอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตได้หยุดคิดนิดหนึ่ง จากการปฏิบัติงานในหน่วยงานศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลบ้านนาสาร รับผิดชอบงานการดูแลสุขภาพที่บ้าน (home health care) โดยตรง เยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชรา และผู้ป่วยเรื้อรังที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต สิ่งที่ดิฉันเห็นเหมือนกับจะเป็นสัจธรรม ก็คือ คนแก่ที่ได้ไปนอนท่ามกลางลูกหลานที่บ้านเปรียบเทียบกับคนที่นอนพักรักษา (admit) อยู่ในโรงพยาบาล ความก้าวหน้าที่ดีขึ้นของโรคแตกต่างมาก บางท่านหายจากโรคจนเป็นปกติ แม้บางท่านจะจากโลกไป แต่ท่านก็ไปอย่างมีความสุข ท่านได้ตายอย่างมีศักดิ์ศรี ท่ามกลางการห้อมล้อมของลูกหลานอย่างอบอุ่น “แล้วเราจะยื้อยุดฉุดรั้งกันไปทำไม”

ถ้าบทความนี้เป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านก็ขออุทิศกุศลทั้งหมดให้กับพ่อชุม พืชผล (พ่อเฒ่า) ด้วยค่ะ

ข้อมูลสื่อ

294-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 294
ตุลาคม 2547
ราตรี โถวรุ่งเรือง