• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๙ คำถามกับโรคต้อหิน

๙ คำถามกับโรคต้อหิน


ต้อ เป็นความผิดปกติที่เกิดกับดวงตาของคนเรา มีหลายชนิดด้วยกัน อาทิ ต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น สำหรับต้อหินถือเป็นโรคร้ายแรง แต่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ

๑. ต้อหินคืออะไร
ต้อหิน คือ โรคของเส้นประสาทตา คนเป็นโรคนี้จะมีความเสื่อมของเส้นประสาทตา ทำให้ตามัวลงอย่างช้าๆและถาวร เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้มองเห็นเหมือนเดิม

๒. ทำไมจึงเรียกว่าโรคต้อหิน
คนที่ตาบอกจากโรคต้อหินจะเป็นแบบบอดตาใส คือ ดูไม่ออกว่ามีต้ออะไร แต่เมื่อคลำตาแล้ว พบว่า ตาของผู้ป่วยแข็งมากเหมือนหินเลย ก็เลยเรียกว่า เป็นต้อหิน
คนที่เป็นโรคนี้จะพบว่า ความดันตาสูงเกินปกติ โดยที่ค่าปกติของคนทั่วไปจะเท่ากับ ๑๐-๒๒ มิลลิเมตรปรอท ซึ่งความดันตาที่สูงเกินปกตินี้จะกดเส้นประสาทตา ทำให้มีการเสื่อมหรือตายลงของเส้นประสาทตา ทำให้การมองเห็นค่อยๆมัวลง และบอดในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการรักษา

๓. ต้อหินเกิดได้อย่างไร
ต้อหินเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ เช่น

๑. เกิดจากการใช้ยาหยอดตา ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ผสมอยู่ เช่น บางคนเป็นต้อลม ต้อเนื้อหรือคันตา บางทีไปซื้อยามาใช้เอง ถ้าเป็นยาที่มีสเตียรอยด์ผสมอยู่ เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเกิดเป็นต้อหินได้

๒. อุบัติเหตุต่อตา เช่น ตีแบด หรือตีเทนนิสแล้วลูกแบดหรือลูกเทนนิสกระแทกใส่ตา ทำให้เกิดแผลขึ้นภายในลูกตา บริเวณรูระบายของน้ำภายในลูกตา ซึ่งจะทำให้น้ำภายในลูกตาระบายออกสู่ภายนอกไม่ได้ ก่อให้เกิดความดันตาสูงขึ้นทำให้เกิดเป็นต้อหินได้

๓. ผู้ป่วยมีภาวะอักเสบภายในลูกตา หรือที่ทางจักษุแพทย์เรียกว่า ม่านตาอักเสบ ซึ่งโรคนี้ช่วงที่มีการอักเสบ จะมีปฏิกิริยาภายในน้ำหน้าเลนส์ตา ทำให้มีโปรตีนหรือเม็ดเลือดขาวลอยไปอุดรูระบายของน้ำภายในลูกตา ก่อให้เกิดการตันของรูระบายน้ำภายในลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้ บางครั้งภาวะต้อหินที่เกิดจากม่านตาอักเสบ อาจเกิดจากยาที่ใช้ในการรักษาเสียเอง เนื่องจากโรคม่านตาอักเสบนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุและยาที่เป็นหลักใหญ่ ของการรักษากลุ่มโรคม่านตาอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ มักเป็นยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์  ดังนั้นการรักษาโดยการใช้สเตียรอยด์ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้เกิดความดันตาสูงขึ้นได้

๔. เกิดจากจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและไม่เคยได้รับการตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์เลย ในบั้นปลายจะเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งในระยะท้ายๆ ของโรคนี้จะมีหลอดเลือดเกิดใหม่ที่ม่านตา และทำให้เกิดการตันของรูระบายน้ำภายในลูกตา กรณีนี้เรียกว่า ภาวะต้อหินชนิดที่มีเส้นเลือดใหม่บริเวณม่านตา ซึ่งจะรักษายากสุดในต้อหินทั้งหมด ในบางคนอาจรักษาได้แค่บรรเทาอาการปวดเท่านั้น แต่สายตาไม่สามารถรักษาได้ ดังนั้นจึงอยากจะขอแนะนำให้ผู้อ่านที่เป็นเบาหวานไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจว่ามีเบาหวานขึ้นบนจอตาหรือไม่

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งปัจจุบันอาจพบได้บ้างแต่ไม่มากนัก ก็คือ เกิดจากสาเหตุต้อกระจกที่สุกแล้วทำให้เลนส์ตาที่สุกเกิดการบวมน้ำขึ้นไปอุดรูระบายน้ำภายในลูกตา ภาวะนี้ก่อให้เกิดต้อหินมุมเปิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดตามาก ตาแดง และเมื่อตรวจจะพบต้อกระจกที่สุกแล้วเกิดบวมน้ำขึ้น วิธีการรักษาในภาวะแบบนี้ คือ การลดความดันตาลง และทำการผ่าตัดต้อกระจกที่สุกแล้วออก

ส่วนสาเหตุสุดท้ายซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของต้อหิน ก็คือ เกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งจะพบว่ากลุ่มคนที่มีประวัติเหล่านี้ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคต้อหิน คือ

๑. ประวัติครอบครัว ถ้ามีประวัติพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคต้อหินมากว่าคนอื่นๆ ทั่วไป

๒. อายุที่มากขึ้น พบว่า โรคนี้มีอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นตามอายุ ในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป มีโอกาสพบต้อหินร้อยละ ๑.๕ ส่วนอายุมากกว่า ๕๐ ปีขึ้นไป มีโอกาสพบต้อหินร้อยละ ๓

๓. เชื้อชาติ พบโอกาสเกิดโรคต้อหินในคนผิวดำจะมากกว่าในคนผิวขาวประมาณ ๓ เท่า

๔. สายตา พบว่า สายตาสั้นจะมีโอกาสเกิดต้อหินชนิดมุมเปิดสูง ส่วนสายตายาวจะมีโอกาสเกิดต้อหินชนิดมุมปิดสูง

๕. ค่าความดันตา พบว่า คนที่มีความดันตาเกิน ๒๒ มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินมากกว่าคนที่มีความดันตาต่ำกว่า ๒๒ มิลลิเมตรปรอท

๔. ต้อหินชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ มีกี่ชนิด
ต้อหินที่ไม่ทราบสาเหตุนี้ที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน แบ่งออกเป็นหลายชนิดขึ้นกับวิธีการแบ่ง เช่น จักษุแพทย์บางคนแบ่งออกเป็น ต้อหินชนิดความดันตาต่ำกับต้อหินชนิดความดันตาสูง ถึงตอนนี้ขออธิบายถึงต้อหินชนิดความดันตาต่ำหน่อยนะครับ โรคต้อหินชนิดความดันตาต่ำนี้ภาษาอังกฤษจะเรียกเป็น low tension glaucoma หรือ normal tension glaucoma ในสมัยก่อน การวินิจฉัยโรคต้อหินจะคิดว่าเป็นจากความดันตาที่สูงอย่างเดียว แต่ในระยะหลังจะพบว่า มีผู้ป่วยบางคนมีทุกอย่างเหมือนโรคต้อหิน เพียงแต่ความดันตาไม่เคยสูงเกิน ๒๒ มิลลิเมตรปรอท สักครั้งเดียว วัดกี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่สูง โรคนี้พบมากในแถบประเทศญี่ปุ่น ยังไม่มีคำอธิบายสาเหตุการเกิด และการรักษาจะค่อนข้างยากกว่าต้อหินชนิดความดันตาสูง ซึ่งเราจะพอคำนวณได้ว่าจะลดความดันตาผู้ป่วย ให้ลงมาอยู่ระดับใดจึงจะปลอดภัยต่อผู้ป่วย แต่โรคนี้บางครั้งวัดความดันได้แค่ ๑๐ มิลลิเมตรปรอทเอง แต่ผู้ป่วยก็มีการถูกทำลายของเส้นประสาทตาต่อไปเรื่อยๆ

ต่อมาคือ โรคต้อหินชนิดที่ความดันตาสูง ก็คือ ความดันตาสูงเกิน ๒๒ มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ต้อหินมุมตาเปิดกับต้อหินมุมตาปิด คำว่าเปิดหรือปิดจักษุแพทย์จะใช้เลนส์พิเศษดูว่า เห็นรูระบายน้ำภายในลูกตาหรือไม่ ถ้าเห็นก็เรียกว่าเป็นมุมตาเปิด ถ้าไม่เห็นก็เรียกว่ามุมตาปิด ที่ต้องแบ่งเป็นมุมตาเปิดหรือปิด เพราะว่ามุมตาเปิดเราอาจจะรักษาโดยการใช้ยาได้ อาจจะเป็นยาหยอดหรือยากิน ส่วนต้อหินชนิดมุมตาปิด เรามักจะใช้วิธีอื่นร่วมกับการใช้ยา เช่น การผ่าตัด หรือ เลเซอร์ ขึ้นกับว่ามุมตาปิดมากน้อยแค่ไหน และปิดแน่นแค่ไหน บางกรณีมุมตาปิดมาไม่นานเราอาจจะใช้เลเซอร์ยิงเพื่อให้มุมตาเปิดกว้างยิ่งขึ้นได้

๕.วัยไหนที่ควรระวังเรื่องต้อหิน
จากการที่โรคต้อหินมีอุบัติการณ์สูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น จึงขอแนะนำให้คนที่อายุเกิน ๔๐ ปี เข้ารับการตรวจตา เพื่อตรวจเชคสุขภาพ ซึ่งในคนที่อายุเข้าเลข ๔ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางตาเกิดขึ้น ซึ่งบางคนยังไม่ทราบ คือการอ่านหนังสือตัวเล็กๆ คนที่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป จะเริ่มมีภาวะที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “สายตายาว” นั้นคือ ไม่สามารถอ่านหนังสือตัวเล็กๆได้อาจต้องยื่นมือออกมา เพื่อให้มีระยะอ่านที่ไกลขึ้น ภาวะแบบนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “สายตายาว” แต่ไม่ใช่สายตายาวที่แท้จริง แต่เกิดจากเลนส์ตาของคนที่อายุเกิน ๔๐ ปี จะมีความแข็งของเลนส์ตา ทำให้ไม่สามารถโปร่งออก เมื่อมองตัวหนังสือเล็กๆ ในระยะใกล้ๆได้ เลนส์ตาเราก็เหมือนกับเลนส์ของกล้องถ่ายรูป ที่ต้องซูมเข้า ซูมออก ตลอดเวลา เพื่อให้เรามองภาพได้ชัดตลอดเวลา

๖. อาการของต้อหิน และมีอาการอย่างไรควรปรึกษาแพทย์
อาการของต้อหินขึ้นกับชนิดของโรคต้อหิน

๑. ถ้าเป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

- ปวดตาอย่างมากเป็นภาวะที่ปวดจนไม่สามารถทนอยู่บ้านได้

- ตามัวลงมาก เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ

- ตาแดงมาก กรณีนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางจักษุวิทยา จำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วยอย่างรีบด่วน ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานสายตาอาจไม่กลับคืนสู่ปกติ

๒. ต้อหินที่ไม่ใช่มุมปิดเฉียบพลัน จะมีอาการไม่ค่อยมาก อาจมีปวดหัวข้างเดียว ทำให้แพทย์อาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นไมเกรน หรือมีปวดตานิดหน่อย แต่ก็มีส่วนใหญ่ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่จะไม่มีอาการใดๆเลย แต่ตรวจเจอโดยไม่พบจักษุแพทย์ด้วย เรื่องอื่นๆในกลุ่มนี้จะทำให้ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไร แต่พอระยะท้ายๆ ของโรคที่ต้อหินเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยระยะนี้จะมาพบด้วย อาการตามัว ซึ่งก็จะมัวอย่างมาก และไม่มีทางรักษาให้เห็นดีแบบเดิมได้ การรักษาได้แต่เพียง ประคับประคอง สายตาที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด ให้อยู่กับผู้ป่วยไปตลอด

๗ . แพทย์มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร

แพทย์จะมีวิธีการตรวจวินิจฉัยดังนี้

๑ . วัดสายตาทีละข้างที่ระยะ ๖ เมตร ถ้าคนสายตาปกติจะอ่านได้ถึงบรรทัดที่มีเส้นใต้ขีดเอาไว้ คือ บรรทัดที่๗

๒ . ถ้าอ่านได้ไม่ถึงบรรทัดที่๗ ขั้นตอนต่อไป คือ จะให้อ่านผ่านแผ่นพลาสติกสีดำที่มีรูเล็กๆตรงกลางอยู่ ๑ รู ถ้าอ่านผ่านรูเล็กๆนี้แล้วเห็นชัดขึ้นอ่านได้มากบรรทัดขึ้นแสดงว่าที่อ่านไม่ชัดสามารถทำให้ชัดขึ้นได้โดยการใช้แว่นนั่น คือ ที่อ่านไม่ชัดแสดงว่าอาจมีปัญหาทางด้านสายตาเช่น สายตาสั้นหรือสายตายาวร่วมด้วย

๓ . ขั้นตอนต่อมาก็จะทำการวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ว่าสายตาที่สั้นหรือยาวเท่ากับเท่าไร

๔ . หลังจากนั้นก็จะมาตรวจด้วย slit lamp ซึ่งเป็นเหมือนกล้องขยายที่ใช้ส่องเพื่อขยายดูตาผู้ป่วย เครื่องมือนี้จะใช้ตรวจวัดความดันตาผู้ป่วยด้วยถ้าผู้ป่วยมีความดันตาสูงเกิน22มิลลิเมตรปรอทจักษุแพทย์ก็จะใช้เลนส์พิเศษเพื่อดูมุมตาว่าเป็นมุมตาเปิดหรือมุมตาปิดและใช้เลนส์พิเศษส่องเข้าไปดูเส้นประสาทตาว่ามีลักษณะของโรคต้อหินหรือไม่

๕ . หลังจากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาตรวจดูลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ในกรรีที่สงสัยว่าผู้ป่วยคนนี้จะมีโรคต้อหินหลังจากนั้นจักษุแพทย์จะนำ (๑)ค่าความดันตาของผู้ป่วย (๒)ลักษณะของเส้นประสาทตา (๓)ลักษณะของลานสายตามาประกอบกันเพื่อพิจารณาดูว่าผู้ป่วยเป็นหรือไม่เป็นโรคต้อหิน

๘. การรักษาโรคต้อหินแพทย์จะทำอย่างไร
แพทย์จะประเมินว่า

๑. ผู้ป่วยเป็นโรคต้อหินแบบไหนต้อหินมุมเปิดหรือต้อหินมุมปิด

๒. ระดับความดันตาของผู้ป่วยว่าสูงมากน้อยเพียงใด

๓. เส้นประสาทตาของผู้ป่วยถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหนเหลืออยู่ประมาณเท่าไร

๔. ลานสายตาของผู้ป่วยแคบมากน้อยแค่ไหน

ถ้าผู้ป่วยมีความดันลูกตาสูงเช่นสูงกว่า ๓๐ มิลลิเมตรปรอทมีเส้นประสาทตาถูกทำลายไปมากแล้ว และลานสายตาของผู้ป่วยแคบมาก อย่างนี้ต้องพิจารณาผ่าตัดเพื่อลดความดันตาลงมาเนื่องจากการใช้ยากินและยาหยอดมักจะลดความดันตาลงได้ไม่มาก แต่ทั้งนี้ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจก่อนว่า การผ่าตัดต้อหินจะทำให้ความดันตาลดลง ทำให้เส้นประสาทตาไม่ถูกทำลายลงอีก หรืออาจะถูกทำลายได้แต่ช้าลง ทั้งนี้และทั้งนั้นจะไม่ทำให้สายตาดีขึ้น จะไม่ทำให้มองเห็นชัดขึ้นบางทีผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อกระจกบอกหลังผ่าตัดเห็นชัดขึ้น ส่วนผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อหินบอกมัวเหมือนเดิม คำตอบก็คือเป็นคนละต้อกัน

ตอนนี้อยากจะให้ความรู้เกี่ยวกับทางตาคือการมองเห็นของคนเราจะประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก คือ
อันดับแรก กระจกจะทำหน้าที่รวมแสงให้เข้าสู่เลนส์ตา
อันดับสอง เลนส์ตามีหน้าที่ปรับโฟกัสให้ภาพชัดตลอดเวลา
อันดับสาม จอประสาทตาทำหน้าที่รับสัญญาณภาพและสัญญาณภาพทั้งหมดจะถูกรวมสู่สมองผ่านเส้นประสาทตา

ปัจจุบันมีวิธีการอยู่อย่างเดียวคือการลดความดันตาลง ไม่ว่าจะเป็นยาหยอดตายากินหรือผ่าตัดในปัจจุบันมียาหยอดตาเพื่อควบคุมต้อหินออกมาใหม่ๆหลายตัวถึงตอนนี้อยากจะแนะนำเรื่องการใช้ยาหยอดตาหน่อยครับ ยาหยอดตาที่ใช้คุมต้อหินมักจะมีหลายอย่างถ้าหยอกสองเวลาเช้า-เย็น ควรห่างกัน ๑๒ ชั่วโมง เช่น หยอดตอนแปดโมงเช้า และหยอดอีกครั้งตอนสองทุ่ม ถ้าหยอด ๓ เวลาก็เอา ๓ หาร ๒๔ แต่บางคนอาจจะไม่สะดวกก็อนุโลมได้ว่า ไม่ต้องตรงเป๊ะๆแต่อยากขอเน้นว่าไม่ควรให้ยาหมดหรือหยุดหยอดโดยเด็ดขาด เพราะช่วงที่ไม่ได้มีการหยอดตาจะมีการสูงขึ้นของความดันตา จะทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลายเพิ่มขึ้นช่วงนี้เอง อีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ป่วยบางคนหยอดแล้วกลัวความดันตาไม่ลด บางทีหยอดถึง ๓-๔ หยดซึ่งถ้าหยอดแล้วเข้าตา หยอดแฃ้วรู้สึกแสบๆตาก็แสดงว่าหยอดเข้าตาแล้วไม่ต้องหยอดเพิ่มหรือบางคนหยอดแล้วมียาหยอดตาไหลออกนอกตา เลยหยอดใหม่ ขอแนะนำว่าเวลาหยอดตาต้องมีน้ำยาไหลออกนอกตาแน่นอนครับ เพราะความจุของขอบตาเราจะประมาณ ๓๐ ไมโครลิตร ส่วนยาหยอดตาที่ผลิตขึ้นเขาจผลิตให้ฝาจุกขวดบีบออกมาได้ ๕๐ ไมโครลิตร เพราะฉะนั้นเวลาหยอดจะมีส่วนเกินแล้วล้นออกมาเป็นปกติ

๙. วิธีป้องกันและข้อสังเกตเกี่ยวกับต้อหินในระยะแรก
แม้ว่าต้อหินจะเป็นโรคที่เงียบมาก คือ ในระยะแรกๆ จะไม่มีอาการใดๆ เลย อาจมีอาการเพียงแต่ปวดตาบางครั้ง ซึ่งในปัจจุบันก็มีสิ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นสาเหตุของการปวดตาได้มากมาย เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ หรือใช้สายตามากๆ ดังนั้น ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคต้อหินนี้มักจะวินิจฉัยได้ เมื่อมีอาการมากแล้ว ข้อแนะนำ คือ ควรไปเชคตากับจักษุแพทย์เพื่อหาว่า มีโรคตาใดๆ หรือไม่ เมื่ออายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ประมาณปีละ ๑ ครั้ง ในคนที่อาจจะเป็นโรคต้อหิน ในระยะเริ่มแรกก็จะมีอาการปวดตา อาจเป็นข้างเดียวหรือ ๒ ข้างก็ได้ และอาจเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ แต่บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ เลย
 

ข้อมูลสื่อ

294-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 294
ตุลาคม 2547
โรคน่ารู้
นพ.เจริญชัย จิวจินดา