• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เบญจมาศ : ความงดงาม สำหรับ ดวงตาและหัวใจ

เดือนกุมภาพันธ์สำหรับคนไทยยุคนี้ คงจะถือเป็นเดือนแห่งความรัก เพราะมีวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งนักบุญวาเลนไทน์ (๑๔ กุมภาพันธ์) ซึ่งถือเป็นวันแห่งความรักอยู่ในเดือนนี้ ดูเหมือนคนไทยจะเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์กันจริงจัง และเอิกเกริกใหญ่โตยิ่งขึ้นทุกปี นับตั้งแต่มีผู้ริเริ่มให้ความสำคัญกับวันดังกล่าว ขึ้นเมื่อราวสิบกว่าปีมานี้

การยอมรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และมีมานานแล้ว นับตั้งแต่ไทยเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาตินาน หลายร้อยปีมาแล้ว แต่ในอดีตคนไทยมักจะกลั่นกรองและปรับใช้ให้ เหมาะกับสภาพที่เป็นอยู่โดยไม่ทิ้งของเดิมที่ดีอยู่แล้ว เช่น นำมาเสริมให้หลากหลายและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ศิลปะ ดนตรี อักษรศาสตร์ อาหาร หรือภาษา เป็นต้น ดัง  จะเห็นได้จากคนไทยสามารถรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเอาไว้ได้ตลอดมาการรับวัฒนธรรมวันวาเลนไทน์ก็น่าจะปรับให้เข้ากับวิถีไทยได้ หากคนไทยยังไม่ลืมฐานวัฒนธรรมไทย ที่มีอยู่เดิม

การเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ ของคนไทย นอกจากการจัดงานรื่นเริง การส่งข้อความอวยพร การเยี่ยมเยียน หรือการให้ของขวัญต่างๆ (เช่น ช็อกโกแลต)เป็นต้น แล้วสิ่งที่นิยมมากอย่างหนึ่งคือ การมอบ
ดอกไม้ให้กัน ซึ่งดอกไม้ที่นิยมมากที่สุดคือดอกกุหลาบ โดยเฉพาะดอกกุหลาบสีแดง ซึ่งมีความหมายแทนความรักนั่นเอง กล่าวกันว่าทุกปีชาวสวนจะเตรียมปลูกกุหลาบเอาไว้สำหรับตัดดอกในวันวาเลนไทน์มากเป็นพิเศษ เพราะจะขายได้มากและราคาดีที่สุดในรอบปี นับเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของวันวาเลนไทน์

ความจริงดอกไม้ที่มอบให้กัน เพื่อแสดงความรัก ความปรารถนา ดีนั้น ไม่น่าจะผูกขาดอยู่เฉพาะดอก กุหลาบหรือสีแดงเท่านั้น ดอกไม้ ชนิดอื่นหรือสีอื่นก็น่าจะทำหน้าที่ ได้ดีเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับผู้รับและผู้ให้ เช่น คนเอเชียซึ่งมี   รากเหง้าวัฒนธรรมลึกซึ้งยาวนานเกี่ยวข้องกับดอกไม้ในท้องถิ่นมากมาย ก็ควรปรับเอาดอกไม้ที่มี ความผูกพันกับผู้คนในท้องถิ่นยาวนานมาเป็นตัวแทนความรักความปรารถนาดีในวันวาเลนไทน์ ได้ สำหรับผู้เขียนเองแล้ว หากจะมอบดอกไม้วันวาเลนไทน์ให้   ผู้เป็นที่รักแล้ว ก็จะเริ่มตั้งแต่เพาะปลูกไม้ดอกดังกล่าวด้วยความรัก เอาใจใส่ดูแลด้วยความอาทร ชื่นชมยินดีที่ได้เห็นต้นค่อยๆ เติบโต ผลิกิ่งใบ จนเป็นดอกในที่สุด ดอกไม้ที่มอบให้ผู้เป็นที่รักจึงมิได้มีแต่ความงามของดอกไม้ เท่านั้น แต่ยังบรรจุความรัก ความ เอาใจใส่ ความผูกพัน เป็นต้น   ไปพร้อมกันด้วย ดอกไม้นั้นจะเป็นชนิดพันธุ์อะไรก็อาจเปลี่ยนไปได้ทุกปี แต่สิ่งที่บรรจุอยู่ในดอกไม้ควรจะเหมือนเดิม หรือเพิ่มพูนยิ่งขึ้นตามกาลเวลา อย่างไร ก็ตาม สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๕๔๖ นี้ ผู้เขียนขอส่งดอกไม้วันวาเลนไทน์ถึงผู้อ่านที่รักทุกท่าน ด้วยดอกเบญจมาศ
 

เบญจมาศ : ความงามแห่งจิตวิญญาณตะวันออก
เบญจมาศ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Chrysanthemum morifolium Ramat. อยู่ในวงศ์ Compositae เช่นเดียวกับทานตะวัน บานชื่น ดาวเรือง ดาวกระจาย เป็นต้น เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กสูงประมาณ ๓๐-๙๐ เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาไม่มาก ตามกิ่งก้านและลำต้นมีขนอ่อนปกคลุม ใบยาวรี ขอบใบจัก ใบสีเขียวอ่อนนุ่มมีขนอ่อน ทั้งกิ่งก้านและใบของเบญจมาศมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ดอกออกตรงปลายกิ่ง อาจออกเป็นช่อหรือเป็นดอกเดี่ยวแล้วแต่สายพันธุ์ รูปร่างดอก ทรงกลมคล้ายทานตะวัน หรือบานชื่น มีกลีบเรียวยาวเรียงซ้อนกันโดยรอบหลายชั้น ลักษณะกลีบ ดอกบางสายพันธุ์ยาวมากและบิดม้วน มีชื่อเรียกเฉพาะว่าดอกประเภทแมงมุม (spider) ดอกเบญจมาศมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดโตมาก เส้นผ่าศูนย์กลางดอก มากกว่า ๒๐ เซนติเมตร ไปจนถึง ดอกขนาดเล็กประมาณ ๑ เซนติเมตร มีสีหลากหลาย เช่น เหลือง ขาว ชมพู ม่วง แดง เป็นต้น

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเบญจมาศเชื่อว่าอยู่ในประเทศจีน คนจีนเรียกดอกเบญจมาศว่าเก๊กฮวย (ดอกเก๊ก) และยังมีชื่ออื่นๆ อีก แต่คนไทยคุ้นเคยกับชื่อเก๊กฮวยมากกว่า

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นิยมเบญจมาศมากไม่แพ้ชาวจีน โดยตราจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นรูปดอกเบญจมาศ ๑๖ กลีบ กล่าวกันว่า เบญจมาศเข้าสู่ญี่ปุ่นราวปี พ.ศ. ๑๓๔๐ คือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยเชื่อว่าเบญจมาศมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ คือวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ หากนำดอกเบญจมาศใส่ในถ้วยเหล้าสาเก แล้วดื่มเหล้าสาเกนั้น จะทำให้คงความหนุ่มสาวได้ตลอดกาล ความเชื่อนี้คงสืบเนื่องมาจากจีน เพราะจีนถือว่าเบญจมาศเป็นดอกไม้ประจำเดือน ๙ (ตุลาคม) และฤดูใบไม้ร่วง คนญี่ปุ่นเรียกดอกเบญจมาศว่า คิกุโนะฮานะ แปลว่าดอกไม้ของคิกุ มีตำนานเล่าสืบมาว่า คิกุเป็นหญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน ได้ทำการบวงสรวงถามเทวดาว่าจะได้ครองคู่กับสามีนานกี่ปี เทวดาบอกว่าจะได้อยู่กับสามีนานเท่ากับจำนวนกลีบดอกไม้ที่นำมาบูชาเทวดา คิกุ รักสามีมากอยากจะอยู่ด้วยนานปีที่สุด จึงพยายามแสวงหาดอกไม้ที่ มีกลีบมากที่สุด แต่ก็หาดอกไม้ได้ เพียง ๑๗ กลีบเท่านั้น ด้วยความเฉลียวฉลาด คิกุจึงใช้มีดกรีดกลีบดอกไม้ดังกล่าวออกเป็นฝอยเล็กๆนับไม่ถ้วน จึงทำให้ได้ครองคู่กับสามีได้ชั่วกาลนาน ตำนานดอกเบญจมาศ (คิกุ) ของญี่ปุ่นจึงเป็น ตำนานแห่งความรักโดยแท้เป็นรักที่คงทนยั่งยืน เหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักของชาวตะวันออกเป็นอย่างยิ่ง
 

สำหรับประเทศไทยนั้น เบญจมาศได้มีการนำเข้ามาปลูกนานมาแล้วโดยคนจีน เท่าที่ปรากฏ ในวรรณคดีเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แสดงว่าคนไทยสมัยนั้นคุ้นเคย  กับเบญจมาศดีแล้ว ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ ก็กล่าวถึงเบญจมาศไว้ว่า "เบญมาศ : เปนชื่อต้นไม้ดอกเล็กอย่างหนึ่ง" แสดงว่าคนไทยสมัยนั้นรู้จักเบญจมาศกันแพร่หลายแล้ว
 

น่าสังเกตว่า หนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ เขียนว่า เบญมาศ ซึ่งตรงกับชื่อถนนในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๕ คือ ถนนเบญมาศ หรือถนนเบญมาศ นอก ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนราชดำเนินนอก นั่นเอง ในหนังสือ พรรณพฤกต ของพระยา ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ หลังหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล ๑๑ ปี ก็เขียนว่า เบญมาศเหมือนกัน
 

ในภาษาไทยมีคำว่า เบญ-พัตร (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง) เบญกานี (ต้นไม้และสมุนไพร) รวมทั้ง เบญพาด (เสาตะลุงที่มีไม้พาดถึง กัน) ทำให้สงสัยว่า แต่เดิมคนไทย อาจเรียกว่า เบญมาศ เพราะดอก มีสีเหลือง แต่ต่อมากลายเป็นเบญจมาศไปในช่วงหลังสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง
 

ปัจจุบันเบญจมาศถูกนำไปปลูกทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอบอุ่นที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียง กับประเทศจีนอันเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเบญจมาศ ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปมีการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศออกไปอย่างกว้างขวาง ได้รับการนิยมติดอันดับต้นๆ ของดอกไม้ยอดนิยมเลยทีเดียว ภาษาอังกฤษ เรียกเบญจมาศว่า Chrysanthemum ในสหรัฐอเมริกาเรียกสั้นๆ ว่า mum ก็เข้าใจกันดี

ในอังกฤษถือว่า เบญจมาศ เป็นดอกไม้ประจำเดือนพฤศจิกายน
 

ประโยชน์ของเบญจมาศ
เบญจมาศมีสรรพคุณทางสมุนไพรเป็นที่รู้จักกันมายาวนาน โดยเฉพาะดอกของเบญจมาศบางพันธุ์คือ พันธุ์ดอกสีขาวขนาดเล็ก กลิ่นหอม ที่นำมาตากแห้งแล้วต้มน้ำร้อนดื่มที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อน้ำเก๊กฮวย มีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลังและบำรุงหัวใจ มีกลิ่นหอม เฉพาะตัว นอกจากเบญจมาศดอก สีขาวของจีนแล้ว ดอกเบญจมาศสีเหลืองขนาดเล็กที่เรียกว่า เบญจมาศหนู (Chrysanthemum indicum Linn.) ที่ปลูกในเมืองไทยได้ดี มีกลิ่นหอม ก็นำมาตาก แห้งชงน้ำร้อนเป็นน้ำเก๊กฮวยได้เช่นเดียวกัน สรรพคุณเหมือนกัน คนไทยจึงควรหาเบญจมาศหนู มาปลูกเอาไว้ดูความน่ารักของดอกขนาดเล็กที่เป็นช่อดกและใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรได้ไม่แพ้ดอกเก๊กฮวยสีขาวจากจีน

ประโยชน์ด้านหลักของเบญจมาศในปัจจุบันอยู่ที่การปลูก เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งการปลูก ตัดดอกขาย ซึ่งนิยมปลูกพันธุ์ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีต่างๆ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มียอดซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท นอก จากนี้ยังเป็นไม้ดอกในกระถาง ไม้ดอกตามข้างทาง สวนสาธารณะ หรือสวนหลังบ้าน เป็นต้น

เบญจมาศชอบแสงแดดและ ดินที่ระบายน้ำได้ดี เป็นพืชปลูกง่ายแข็งแรงทนทาน ออกดอกได้ตลอดปี ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการแยกหน่อหรือปักชำ บางครั้งใช้ปลูกด้วยเมล็ดในบางสายพันธุ์

ท่านผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่าเหตุใดผู้เขียนจึงเลือกดอกเบญจมาศเป็นของขวัญในเดือนแห่งความรักปี ๒๕๔๖ นี้ มีคำกล่าวว่าความรัก กับความเข้าใจเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกหากเราจะรักสิ่งใดได้อย่าง แท้จริง เราต้องเข้าใจสิ่งนั้นให้ลึก ซึ้งพอเสียก่อน เมื่อผู้อ่านเข้าใจเบญจมาศมากพอแล้ว ก็คงจะรักเบญจมาศเหมือนที่ผู้เขียนรักอยู่ในขณะนี้และต่อไปในอนาคต

 

ข้อมูลสื่อ

286-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 286
กุมภาพันธ์ 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร