• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลำดวน : สัญลักษณ์แห่งไม้ใกล้ฝั่ง

                                                                         
                                                                                 
"ยามไร้เด็ดดอกหญ้า           แซมผม พระเอย
หอมบ่หอมทัดดม                ดั่งบ้า
สุกรมลำดวนชม                   เชยกลิ่น พระเอย
หอมกลิ่นเรียมโอ้อ้า             กลิ่นแก้ว ติดใจ"

โคลงสี่สุภาพที่ยกมาขึ้นต้นบทความตอนนี้ เป็นสำนวนที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่คนไทยที่อ่านวรรณคดีไทย ตั้งแต่อดีตจน ถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะบาทแรกคือ "ยามไร้เด็ดดอกหญ้า แซมผม" กลายเป็นคำเปรียบเทียบที่ลึกซึ้งกินใจมาเนิ่นนาน เพราะมาจากวรรณคดีไทย เรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หรือกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว

น่าสังเกตว่า คนไทยสมัยก่อนนิยมใช้ดอกไม้แซมผม ซึ่งจุดประสงค์หลักนอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังเพื่อใช้ดมกลิ่นหอมด้วย เพราะในโคลงบทนี้บอกอย่างชัดเจนว่า ดอกหญ้านั้น "หอมบ่หอมทัดดม ดั่งบ้า" จากนั้นก็เปรียบกับดอกไม้หอม ๓ ชนิด คือ สุกรม ลำดวน และแก้ว แสดงว่าสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คนไทยนิยมนำดอกสุกรม ลำดวน และแก้วมาแซมผมกันมาก เพราะนอกจากงดงาม มีกลิ่นหอมแล้ว คงนิยมปลูกหรือหาได้ง่ายอีกด้วย

ลำดวน : ไม้ไทยแท้ที่ขึ้นชื่อในวรรณคดี
ลำดวนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Melo-dorum fruticosum Lour. อยู่ในวงศ์ ANNONA-CEAE เช่นเดียวกับนมแมว จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะรูปทรงของดอก ลำดวนเป็นไม้พุ่มขนาดย่อมสูงประมาณ ๔-๕ เมตร ลำต้นตรง ผิวเปลือกขรุขระเป็นสะเก็ด เรือนยอดเป็นรูปกรวยค่อนข้างทึบ ใบเป็นชนิดเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปยาวรีปลายหอก แกมรูปขอบขนาน ยาว ๘-๑๒ เซนติเมตร กว้าง ๒-๓ เซนติเมตร ด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบสีนวล ดอกรูปร่างคล้ายดอกนมแมว เป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ กลีบสีเหลืองนวล กลีบหนา และมีขนนุ่มปกคลุม มี ๖ กลีบ ชั้นนอก ๓ กลีบ แผ่แยกออกจากกัน ชั้นใน ๓ กลีบ ปลายหุ้มเข้าหากัน มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่กลางดอก ลำดวนมีดอกได้ตลอดปี แต่มีมากช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ดอกมีกลิ่นหอม ความหอมจะมีมากตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงตอนเช้า
ผลสุกของลำดวนมีสีดำ กินได้ รสหวานอมเปรี้ยว

ดอกลำดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและแซมผม สาวไทยสมัยก่อนนิยมชื่อลำดวนกันทั่วไป โดยเฉพาะในภาคกลาง เฉพาะภาคเหนือเรียกลำดวนว่า หอมนวล

ลำดวนมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทย พบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วประเทศ ขึ้นอยู่เป็น กลุ่มๆ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ พบมากจนกลายเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน

นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ลำดวนยังเป็นสัญลักษณ์ของ ผู้สูงอายุอีกด้วย มีเรื่องเล่ากันว่า สมเด็จย่าเสด็จฯ เยี่ยมชาวจังหวัดศรีสะเกษ ทรงทอดพระเนตรเห็นดงต้นลำดวนออกดอกงดงามและส่งกลิ่นหอม ทรงพอพระทัย จากนั้นลำดวน จึงกลายเป็นดอกไม้เครื่องหมายของคนสูงอายุในประเทศไทย ทำนองเดียวกับดอกมะลิเป็นเครื่องหมายของแม่นั่นเอง

เนื่องจากลำดวนพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย และคนไทยนิยมชมชอบดอกลำ-ดวนเป็นพิเศษมาตั้งแต่อดีต จึงพบว่าวรรณคดีไทยส่วนใหญ่จะมีบทบรรยายเกี่ยวกับลำดวนเอาไว้แทบทุกเรื่อง เช่น ลิลิตพระลอที่ยกมาข้างต้น ซึ่งเป็นความไพเราะในรูปแบบโคลงสี่สุภาพของยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ผู้เขียนจะลองยกเอาความไพเราะในรูปแบบกลอนแปดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ราว ๒๐๐ ปีมาแล้ว) มาเปรียบเทียบดูบ้าง ว่ากล่าวถึงลำดวนเอาไว้อย่างไร

"เหมือนกลิ่นปรางนางปนสุคนธ์รื่น
คิดถึงคืนเคียงน้องประคองสม
ถอนสะอื้นยืนเด็ดลำดวนดม
พี่นึกชมต่างนางไปกลางไพร


ที่ยกมานี้เป็นสำนวนของสุนทรภู่ในนิราศเมืองแกลง แสดงให้เห็นถึงกลิ่นของดอกลำดวนที่ใช้แทนกลิ่นแก้มและน้ำหอมได้ยาม อยู่ในป่าห่างไกลคนรัก เสียดายที่คอลัมน์นี้มีเนื้อที่จำกัด เพราะยังมีสำนวนไพเราะอีกมากมายเกี่ยวกับลำดวนจากวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น อิเหนา กาพย์เห่เรือ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นต้น หากท่านผู้อ่านมีโอกาสก็ควรไปหาอ่านดูเอง ก็จะ ทราบถึงความผูกพันระหว่างคนไทยในอดีตกับลำดวนได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์ของลำดวน
ลำดวนมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร โดยแพทย์แผนไทยจะนำดอกลำดวนแห้งมาใช้เป็นยา มีสรรพคุณ ชูกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลมวิงเวียน แก้ไข้ ใช้ผสมยาหอม แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ

พิจารณาดูสรรพคุณของดอกลำดวน (แห้ง) แล้วก็เห็นว่าเป็น โรคของคนสูงอายุนั่นเอง นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมของตัวยาที่เรียกว่า พิกัดเกสรทั้งเก้า อันประกอบด้วย ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา ดอกกระดังงา ดอกลำเจียก และดอกลำดวน
คนไทยสมัยปัจจุบันหันมานิยมปลูกต้นไม้ดอกหอมที่ปรากฏ ชื่อในวรรณคดีไทยกันมากขึ้น ลำดวนจึงได้รับการสนใจเพิ่มขึ้นด้วย ในสวนสาธารณะหลายแห่งมีต้นลำดวนปลูกร่วมกับไม้ดอกหอมไทยชนิดอื่นๆ ตามแหล่งขายพันธุ์ไม้ดอกยืนต้นก็หาซื้อพันธุ์ลำดวนได้ไม่ยาก การปลูกลำดวนก็ทำได้ง่าย เพียงมีที่ว่างและเวลาเอาใจใส่บ้าง ลำดวนก็จะเติบโตงดงามอยู่เป็นเพื่อนของท่านไปจนกระทั่งถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง และต่อเนื่องไปถึงรุ่นลูกหลานด้วย

ข้อมูลสื่อ

311-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร