• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำมันหอมระเหย ใช้ทาป้องกันยุง

"นำน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากสมุนไพรธรรมชาติมาผสมกับสารธรรมชาติที่ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น สารให้ความชุ่มชื้นและกลิ่นจากธรรมชาติ ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มีสรรพคุณในการป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากยุง และลดอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลง"Ž

สมุนไพรธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ คือ ตะไคร้หอม
น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้ คือ CITRONELLA OIL
ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรใช้ไล่ยุง คือ โลชั่นกันยุง ตะไคร้หอม ความเข้มร้อยละ ๖ โดยปริมาตร
ผลิตโดย องค์การเภสัชกรรม
ระยะเวลาป้องกันยุง (repellent protection time) เฉลี่ย ๓.๑๖ ชั่วโมง
ทะเบียนตำรับที่ได้รับอนุญาต คือ วอส.๔๕๖/๒๕๔๑

วิธีการทดสอบประสิทธิภาพทางชีววิเคราะห์
(ป้องกัน ยุงกัด) ต่อยุงลาย (Aedes aegypti)
๑. ปริมาณสารที่ใช้ ๐.๑ กรัม หรือมิลลิกรัม ต่อพื้นที่ผิวหนัง ๓๐ ตารางเซนติเมตร
๒. อุณหภูมิห้องทดลอง ๒๗-๒๙ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ ๗๐-๘๐ RH*, ความเข้มแสง ๓๐๐-๕๐๐ ลักซ์
๓. ยุงที่ใช้ทดลอง ยุงลาย (Aedes aegypti)
๔. จำนวนคนที่ใช้ทดลอง ๓ คน
๕. ระยะเวลา คิดระยะเวลาป้องกันยุงกัดตั้งแต่เริ่มทาสารป้องกันยุงลงบนผิวหนังจนกระทั่งมียุงกัด ๒ ตัว แล้วหาค่าเฉลี่ย
๖. มาตรฐานเวลา สารป้องกันยุงที่ได้มาตรฐาน จะต้องป้องกันยุงได้ไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง

                                                                        

 
คำเตือน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก ห้ามกิน จึงต้องมีคำเตือน ดังนี้
๑. ห้ามกิน
๒. ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๔ ขวบ
๓. ก่อนใช้ควรลองทาที่ข้อพับแขนดูก่อน ถ้าไม่เกิดอาการแพ้ จึงใช้ทาบริเวณ อื่นได้
๔. ให้ใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้ติดต่อกันเป็นประจำ หรือใช้ปริมาณมาก
๕. อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ บริเวณแผล
๖. ภายหลังการใช้ หากจะหยิบจับอาหาร ควรล้างมือทุกครั้ง
สมุนไพรไทยมีมาตรฐานจริง ใช้ ได้สารพัดประโยชน์ ป้องกันโรคติดต่อจากแมลงได้
 
ตะไคร้หอม (CITRONELLA)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Cymbopogon nardus Rendle
วงศ์ POACEAE (GRAMINEAE)
ชื่อท้องถิ่น ตะไคร้แดง จะไคมะขูด ตะไครมะขูด

ลักษณะพืช
พืชล้มลุก อายุหลายปี มีเหง้า ลำต้นตั้งตรง สูง ๒ เมตร ออกเป็นกอ ใบเกลี้ยง รูปยาวแคบ กว้าง ๕-๒๐ มิลลิเมตร ยาวได้ถึง ๑ เมตร มีกลิ่นหอม ตรงรอยต่อระหว่างใบกับกาบ มีแผ่นรูปไข่ ปลายตัด ยื่นออกมา ยาวประมาณ ๒ มิลลิเมตร มีขนกาบหุ้มติดทน กาบล่างสุดเกยซ้อนกัน เมื่อแห้งจะม้วนขึ้น ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ยาวได้ถึง ๘๐ เซนติเมตร มีใบประดับ ลักษณะคล้ายกาบ ยาวประมาณ ๒๕ มิลลิเมตร รองรับอยู่ ช่อดอกแยกเป็นหลายแขนง แต่ละแขนงมีช่อย่อย ๔-๕ ช่อ ผลแห้งไม่แตก ตะไคร้หอมมีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายกับตะไคร้กอ ต่างกันที่กลิ่น ต้นและใบยาวกว่าตะไคร้กอมาก แผ่นใบกว้างยาวและนิ่ม กว่าเล็กน้อย
การปลูก ใช้หน่อหรือเหง้า ชอบขึ้นในดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง ชอบแดดมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบและกาบใบ
สรรพคุณยาไทย ต้นแก้ริดสีดวงในปาก (คือปากแตกระแหง เป็นแผลในปาก) สตรีมีครรภ์กิน ทำให้แท้ง บีบรัดมดลูก ขับลมในลำไส้
ตะไคร้หอมได้ถูกนำมาใช้ไล่แมลงอย่างแพร่หลายนานมาแล้ว โดยละลายน้ำมันตะไคร้หอม ๗ ส่วน ผสมในแอลกอฮอล์ (ร้อยละ ๗๐) ๙๓ ส่วน ฉีดพ่นหรือตำใบสดหมักในแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน ๑:๑ ทาตรงขอบประตูที่ปิดเปิดเสมอ หรือชุบสำลีแขวนเอาไว้หน้าประตูเข้าออก หรือใช้ใบตะไคร้หอม มัดแล้วทุบให้ช้ำวางไว้ตามมุมห้องหรือใต้เตียง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ใบและกาบใบมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมี Geraniol และ Citronellal เป็นส่วนประกอบสำคัญ มีฤทธิ์ในการไล่แมลง

โลชั่นกันยุงตะไคร้หอม
องค์การเภสัชกรรมได้มอบทุนให้แก่ รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกูล วิจัยและพัฒนาตำรับยาทากันยุงน้ำมันตะไคร้หอม โดยใช้ความเข้มข้นร้อยละ ๖ สามารถป้องกันยุงกัดได้นาน ๔-๕ ชั่วโมง โลชั่นกันยุงนี้เป็นการนำสมุนไพรมาพัฒนาเป็นตำรับป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยลดมลพิษในอากาศ และยังช่วยลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ
ส่วนประกอบ น้ำมันตะไคร้หอมร้อยละ ๖ โดยปริมาตร
สรรพคุณ ป้องกันยุงกัดได้ประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง
วิธีใช้ ใช้ทาแขน ขา บริเวณที่เปิดโล่ง
ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้กับทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ขวบ ไม่ควรทาบริเวณใบหน้าหรือผิวหนังที่อ่อนนุ่ม
ขนาดบรรจุ ๓๐ มิลลิลิตร

 

ข้อมูลสื่อ

312-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 312
เมษายน 2548
ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา