การใช้ยาในเด็กเล็ก
เด็กเล็กมักจะไม่สบายบ่อย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องใช้ยารักษา การใช้ยาแต่ละครั้งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเด็กมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายจากการใช้ยาได้ง่าย การใช้ยาในเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กมากควรใช้เมื่อมีโรคหรือแสดงอาการผิดปกติที่ชัดเจนเท่านัั้น และหากไม่รักษาก็จะมีอันตรายต่อเด็ก ในเด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดหรือคลอดตามปกติเมื่อครบกำหนด เอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยายังไม่มีหรือมีจำนวนน้อย ไตยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ การจับตัวระหว่างยาและโปรตีนในเลือดหรือการผ่านของยาจากเลือดเข้าสู่สมองยังมีข้อบกพร่องอยู่ จึงทำให้้เด็กมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ ควรเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการใช้สูง
เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องให้ยาแก่เด็ก คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านคงทราบนะคะว่าทำได้ยากเพียงใด ขึ้นชื่อว่า "ยา" รสชาติก็ต้องขม พอเด็กได้ยินว่าต้องกินยาก็จะเกิดอาการต่อต้านทันที ดิฉันขอแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับวิธีการให้ยาในเด็ก เผื่อท่านผู้อ่านจะได้นำไปประยุกต์ใช้เองนะคะ
วิธีการให้ยาในเด็กที่สำคัญ มี 3 วิธี คือ
- การให้ยาโดยการฉีด
ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยาในเด็กให้มากที่สุด และใช้เฉพาะในรายที่จำเป็นจริงๆ ควรให้ผู้ชำนาญในการฉีดฉีดยาแก่เด็ก เพราะถ้าผู้ฉีดยาไม่ระมัดระวังหรือไม่รู้ตำแหน่งที่ฉีดยาที่แน่นอน ปลายเข็มอาจไปถูกหรือทำลายเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อแขนขาลีบถึงพิการได้
- การให้ยาโดยการเหน็บ
การเหน็บยามีประโยชน์มากโดยเฉพาะการให้ยาที่บ้าน เช่น ยาแก้อาเจียน ยาแก้หอบ ยาลดไข้ ยานอนหลับ ยากันชัก เป็นต้น การให้ยาวิธีนี้เหมาะสำหรับในเด็กที่กินยาไม่ได้ อาเจียน เป็นลมหมดสติ หรือกินยายากมาก ไม่ควรให้ยาทางทวารหนักในรายที่ท้องเดินหรือมีอุจจาระเต็ม เพราะจะทำให้การดูดซึมยาไม่ดี
- การให้ยาโดยการกิน
- ถ้าเด็กพอกินยาเม็ดได้ ควรให้ยาเม็ด เพราะราคาถูกกว่ายาน้ำ อีกทั้งยังสะดวกในการนำติดตัวไปโรงเรียน
- ยาเม็ดอาจจะบดให้ก่อนกิน ถ้ายามีรสขมหรือเฝื่อน อาจให้ร่วมกับน้ำหวาน น้ำเชื่อม หรือน้ำผึ้งก็ได้
- ไม่ควรให้ยาพร้อมกับอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กปฏิเสธอาหารเหล่านั้นในภายหลัง
- ไม่ควรผสมยากับนมทั้งขวด เพราะเมื่อเด็กดูดนมไม่หมด จะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามขนาดที่ต้องการ
- ควรให้ยาแต่ละครั้งในช้อนเดียว ซึ่งจะเป็นการง่ายในการป้อนยาเด็ก เพราะถ้าให้ยาซ้ำอีกเด็กบางคนจะปฏิเสธ
- ยาที่มีรสจัด เช่น เผ็ดหรือซ่า อาจผสมน้ำเท่าตัวหรือให้ร่วมกับน้ำหวานหรือน้ำเชื่อม
- ไม่ควรให้ยาแก่เด็ก ถ้าเด็กดิ้นมาก และไม่ควรกรอกยาใส่ปากในขณะที่เด็กร้อง เพราะอาจทำให้สำลักได้
- เขียนปริมาณยาที่จะใช้ในแต่ละครั้งและจำนวนครั้งที่จะใช้ให้ชัดเจนที่ฉลากยา และอ่านฉลากก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากเป็นพวกยาปฏิชีวนะ จะต้องรับประทานให้ครบ เพื่อป้องกันการดื้อยา
- การวัดปริมาตรยาต้องใช้ช้อนตวงหรือหลอดหยดมาตรฐาน หากไม่มีก็ให้เทียบกับช้อนมาตรฐานก่อน ปกติช้อนชาหรือช้อนกาแฟที่ใช้อยู่ตามบ้าน จะมีปริมาตรครึ่งหนึ่งของช้อนชามาตรฐาน ช้อนสังกะสีที่ใช้อยู่ตามชนบท จะมีปริมาตรเท่ากับช้อนชามาตรฐาน
ปัจจุบันนี้ มีผู้ผลิตยาสำหรับเด็กออกมาเป็นจำนวนมากให้มีสีและรสต่างๆ กัน เพื่อความอร่อย จนบางครั้งเด็กคิดว่าเป็นขนม อาจนำมาทานเล่นได้ จึงจำเป็นที่ท่านต้องเก็บยาเหล่านี้ไว้ในทีี่ที่เด็กหยิบไม่ถึงนะคะ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่และไม่ควรซื้อยาให้เด็กทานเองโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลในการรักษาและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกน้อยของท่านเองนะคะ...
- อ่าน 11,595 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้