• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ปวด

การเลี้ยงดูเด็กเป็นงานที่ละเอียดอ่อน เพราะความบอบบางของเด็ก คุณแม่ต้องคอยทะนุถนอมไม่ให้เด็กเป็นอันตราย ในขณะเดียวกันก็เป็นงานหนัก เนื่องจากต้องใช้แรงมากและทำอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยอย่างมาก

ทำอย่างไรถึงจะปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อช่วยผ่อนแรงและป้องกันอาการเจ็บปวดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้นจากการเลี้ยงเด็ก

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของแม่
ขณะตั้งครรภ์ฮอร์โมนบางชนิดมีผลทำให้ข้อหลวม โดยเฉพาะข้อบริเวณกระเบนเหน็บ และข้อบริเวณหัวหน่าว ทำให้สะโพกขยายเพื่อเพิ่มช่องว่างในท้องเมื่อเด็กเจริญเติบโตในครรภ์ นอกจากนี้ แม่จะต้องแบกน้ำหนักของเด็ก เหมือนกับอุ้มของหนักกว่า ๑๐ กิโลกรัมไว้ตลอดเวลา ถ้าแม่ต้องยืนนานจะแอ่นตัวไปทางด้านหลังเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง ทำให้ส่วนโค้งของส่วนหลังมีค่ามากขึ้น (Hyperlordosis) ข้อต่อเล็กๆ บริเวณหลัง (Facet Joints) ถูกกดอยู่นานทำให้ปวดหลังได้
หลังคลอดคุณแม่จะเจ็บแผลอยู่ประมาณ ๒ สัปดาห์ การนั่งยองนานเพื่อทำกิจกรรมในการเลี้ยงลูกจะทำให้เจ็บแผลมากเพราะมีการเพิ่มความดันในช่องท้องมีผลต่อแผลจากการคลอดได้
อาการทางกระดูกและข้อที่พบได้อีกหลังคลอดคืออาการปวดบริเวณข้อมือด้านนิ้วโป้งที่เรียกว่า "baby wrist" หรือ อาการ De Quvervain อาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะค่อยลดลงเมื่อฮอร์โมนกลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลา ๕-๖ เดือน
นอกจากนี้ อาการปวดในคุณแม่หลังคลอดมักจะมีบริเวณบ่า และหลังจากการอยู่ในท่าให้นมลูกนานเกินไป การดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้ท่าทางที่ผิดและการยกของหนักจะช่วยป้องกันมิให้เกิดอาการปวดดังกล่าวได้
                                                                                                                            

การให้นมลูก
การให้นมลูกเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลานาน ดังนั้นคุณแม่ควรอยู่ในท่าที่สบายไม่เกร็งกล้ามเนื้อมากเกินไป
ท่านั่งเป็นท่าที่สบาย ในการให้นมลูก
เก้าอี้ที่ดีสามารถนั่งพิงหลังได้สบาย ไม่ต้องมีที่เท้าแขน เพราะจะให้นมได้สะดวก และเก้าอี้ไม่ควรสูงจนเท้าไม่ถึงพื้น ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นพนักพิงควรมีความสูงระดับศีรษะเพื่อให้คุณแม่ได้พักกล้ามเนื้อคอ หาเบาะหรือหมอนมารองบริเวณข้อศอกเพื่อให้น้ำหนักของตัวเด็กและแขนแม่ตกลงไปที่หมอน (รูปที่ ๑) คุณแม่จะได้ไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณบ่า
สำหรับอาการปวดบริเวณข้อมือนั้นป้องกันได้ด้วยการไม่งอข้อมือเข้าหาตัวมากเกินไปเมื่ออุ้มลูก
                             
                                                                                     

การอาบน้ำลูก
คุณแม่หลังคลอดใหม่ๆ ไม่ควรนั่งยอง
การอาบน้ำลูกในอ่างอาบน้ำที่วางอยู่บนพื้นห้องน้ำจะเป็นความยากลำบากของคุณแม่ ผู้เขียนจึงขอเสนอวิธีการที่ง่ายกว่าและคุณแม่อาบน้ำให้ลูกได้สะดวกกว่า คือวางอ่างอาบน้ำที่มีรูระบาย
น้ำได้บนอ่างล้างหน้าเพื่อที่จะระบายน้ำออกทางอ่างล้างหน้า (รูปที่ ๒) เวลาเติมน้ำอาจใช้สายยางต่อน้ำจากก๊อกเตี้ย ไม่ต้องยกอ่างอาบน้ำพร้อมน้ำ เพราะจะหนักมาก (น้ำ ๑ ลิตรหนักประมาณ ๑ กิโลกรัม) เมื่อวางอ่างแล้วคุณพ่อควรทดสอบความปลอดภัยและความมั่นคง ไม่ให้อ่างตกลงพื้น ลูกจะเป็นอันตรายได้
ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ที่ช่วยคุณแม่ เช่น ที่วางตัวเด็กในอ่างอาบน้ำ จะเป็นโครงเหล็กหุ้มด้วยผ้าขนาดเล็กกว่าอ่างอาบน้ำ เอาไว้ให้เด็กนอนขณะอาบน้ำโดยที่คุณแม่ไม่ต้องใช้มืออุ้ม คุณแม่จะได้ใช้มือทั้ง ๒ ข้างทำความสะอาดตัวลูกได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

การเปลี่ยนผ้าอ้อม
การเปลี่ยนผ้าอ้อมเป็นงานที่ต้องทำบ่อยครั้ง ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบนเตียง หรือพื้นโดยการคุกเข่าข้าง หนึ่งข้างลำตัวเด็ก ไม่ควรวางเด็กบนโต๊ะเตี้ยหรือโซฟาแล้วก้มตัวไปเปลี่ยนผ้าอ้อมจะเป็นการใช้กล้ามเนื้อหลังมากเกินไป (รูปที่ ๓ และ ๔)

เปลเด็ก
เปลเด็กที่ดีควรมีที่กั้นด้านข้างที่เลื่อนขึ้นและลงได้ (รูปที่ ๕) คุณแม่ไม่ต้องโน้มตัวลงไปอุ้มลูกขณะเอาเด็กออกจากเตียง ที่กั้นด้านข้างควรถูกปลดล็อกได้ง่าย ไม่ต้องใช้แรงมากในการกดข้างเตียงลง

การอุ้มเด็ก
เนื่องจากคุณแม่มักจะมีอาการปวดบริเวณกระเบนเหน็บจากการที่ข้อหลวมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การ อุ้มเด็กด้วยสะโพกจะทำให้คุณแม่ต้องเอียงตัวไปด้านตรงข้าม เกิดแรงกดที่ข้อบริเวณกระ-เบนเหน็บเกิดอาการปวดและอักเสบของข้อได้ การอุ้มเด็กควรอุ้ม ทางด้านหน้าใช้มือข้างที่ถนัดช้อนก้นเด็กไว้ ขณะที่อีกมือใช้ประคองศีรษะหรือหลังเด็กไว้ (รูปที่ ๖ และ ๗)
การอุ้มเด็กเป็นระยะเวลานาน แม้เป็นท่าที่ถูกต้องจะทำให้เมื่อยล้าที่ แขน-ขาและหลังได้ ถ้าต้องอุ้มเด็กเป็นระยะเวลานานหรือระยะทางไกล ควรใช้รถเข็นเด็กดีกว่า
เมื่อยกเด็กขึ้นมาอุ้มจากพื้น ควรให้เด็กชิดตัวผู้อุ้มมากที่สุด หลักการเช่นเดียวกับการยกวัตถุ อย่าลืมว่าน้ำหนักเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุ ๘-๙ เดือนที่ยังเดินไม่ได้อาจจะมากถึง ๑๐ กิโลกรัม ผู้เขียนเคยอุ้มลูกจากพื้นขณะที่ตัวเองนั่งอยู่บนโซฟาโดยลูกอยู่ระยะสุดแขนแล้วเกิดอาการปวดหลังส่วนกลางทันที โชคดีที่ไม่เป็นอะไรมากนัก อาการหายไปใน ๒ สัปดาห์ แต่ช่วงเวลานั้นไม่สามารถทำงานหนักหรืออุ้มลูกได้

                                                            

บทบาทของคุณพ่อ
คุณพ่อเป็นผู้ช่วยที่สำคัญที่สุด ควรช่วยอุ้มลูก ชงนม เปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อให้คุณแม่ได้พัก การเตรียมน้ำให้ลูกอาบ และงานที่ต้องใช้แรงควรเป็นหน้าที่ของคุณพ่อ คุณพ่ออาจช่วยนวดเบาๆบริเวณบ่าและหลังของคุณแม่เพื่อช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้า และเพิ่มความสัมพันธ์อันดีของครอบครัว

การเลี้ยงดูเด็กเป็นงานที่หนัก มีโอกาสบาด-เจ็บปวดเมื่อยสูง การเข้าใจและลดปัจจัยเสี่ยง ของการเกิดปัญหากระดูกและกล้ามเนื้อ การปรับสภาพแวดล้อม ทำให้คุณพ่อคุณแม่ปราศจากอาการปวดเมื่อย เมื่อคุณพ่อคุณแม่อารมณ์ดีไม่เจ็บไม่ปวดในการเลี้ยง ลูกจะเป็นเด็กอารมณ์ดี ยิ้มของลูกเป็นกำลังใจให้เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
             
                                                                         
                                                                                                     

ข้อมูลสื่อ

319-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
ธันวาคม 2548
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ