• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไซนัสอักเสบในเด็ก

ไซนัสอักเสบในเด็ก


ไซนัสอักเสบในเด็กมักจะเกิดจากการที่เป็นหวัดเรื้อรังนานๆ มีน้ำมูกตลอดเวลาไม่ยอมหาย เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม หรือเป็นหวัดร่างกายจะขับน้ำมูกออกมา หากสั่งน้ำมูกออกมาไม่ได้ และสูดน้ำมูกเอาไว้บ่อยๆ ทำให้น้ำมูกหรือของเหลวเหล่านั้นแทนที่จะถูกขับทิ้ง มันจะย้อนกลับเข้าไปกองอยู่ในโพรงไซนัส คือ ภายในช่องว่างแถวๆ บริเวณเหนือแก้มไปทางสันจมูก แล้วน้ำมูกจะหมักหมมรวมกับเชื้อโรคที่อยู่ในช่องดังกล่าว ทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้น เด็กๆที่เป็นหวัดเรื้อรังเป็นเดือน มีน้ำมูกตลอดเวลาไม่ยอมหาย แรกๆ น้ำมูกก็จะใสต่อมาจะเริ่มมีสีเหลือง แล้วก็เริ่มมีสีเขียว ในบางรายจะเขียวมากมีกลิ่นเหม็นคาวหรือเหม็นมากจนรู้สึกได้ (บางรายลมหายใจออกมาก็มีกลิ่น) ส่วนมากแล้วเด็กจะมีอาการตามมา ก็คือ ไข้สูง ปวดหัว แน่นจมูกเวลานอน ซึ่งเป็นอาการที่ทรมานมากสำหรับตัวน้อยๆ ของเรา คราวนี้ก็คงต้องไปหาแพทย์

ในขั้นต้นแพทย์ก็คงจะสอบถามอาการก่อนและเพื่อการแน่ใจ ก็จะสั่งให้เอ็กซเรย์ เพื่อดูว่าอาการอักเสบในช่องไซนัสนั้น ลุกลามไปถึงไหนแล้ว เมื่อแพทย์ทราบจากผลเอ็กซเรย์แน่ชัดว่าเป็นไซนัสอักเสบแน่นอน แพทย์ก็จะให้ยาพวกยาปฏิชีวนะ เพื่อลดอาการอักเสบจากการติดเชื้อ และยาละลายเสมหะ (ซึ่งมีส่วนช่วยให้น้ำมูกละลายออกมา) และอาจจะมียาแก้แน่นจมูกมาด้วย ในบางรายที่มีของเหลวคั่งอยู่มากหมอก็อาจจะให้พวกยาพ่น ซึ่งออกฤทธิ์ในการขยายหลอดลมและช่วยให้ของเหลวถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น หากเป็นเด็กโตที่เข้าใจความแล้วและพูดรู้เรื่อง หมอก็จะแนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ที่เตรียมในโรงพยาบาลโดยวิธีการหยอดล้างที่หมอจะแนะนำซึ่งจะต้องมีท่านอนที่เฉพาะอีกเช่นกันโดยพยาบาลมักจะอธิบายและสาธิตให้คุณพ่อคุณแม่ดูก่อนที่จะกลับไปทำเองที่บ้าน น้ำเกลือดังกล่าวที่หยอดลงไปก็เพื่อเป็นการล้างสิ่งหมักหมม หรือหนองที่อยู่ในช่องไซนัสออก โดยของเหลวที่คั่งอยู่เมื่อโดนน้ำเกลือก็จะอ่อนตัวแล้วจะไหลออกมาจากช่องไซนัสแล้วไหลลงไปทางช่องคอ โดยให้ล้างวันละ 2 ครั้ง คือ เช้า, เย็น

สำหรับยาปฏิชีวนะที่แพทย์ให้รับประทานนั้นจะต้องใช้เวลาในการรับประทานติดต่อกันนานกว่าการเป็นหวัด เจ็บคอธรรมดา คือ จะต้องรับประทานต่อเนื่องไปนานประมาณ 2-3 อาทิตย์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปราบเชื้อโรคให้ราบคราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นครั้งแรก ถ้าไม่ปราบให้ราบคราบแล้วจะกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง ซึ่งไม่เป็นสิ่งดีเลย สำหรับยาลดน้ำมูกนั้น ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบจะไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากยาลดน้ำมูกยิ่งจะทำให้น้ำมูกและของเหลวในช่องไซนัสเหนียวข้นและไหลออกมาได้ยาก วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ของเหลวในช่องไซนัสอ่อนตัวและไหลออกมา (โดยการจามหรือสั่งออกมาเป็นน้ำมูก) วิธีง่ายๆ ก็คือ การสูดหายในไอน้ำอุ่น (ค่อนข้างร้อน) บ่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในช่องไซนัสนั้นมีขนเล็กๆ ที่เรียกว่า Cilia ซึ่งช่วยในการโบกพัดเอาสิ่งแปลกปลอมหรือของเหลวให้ออกมาจากช่องไซนัส  ขนเล็กๆ เหล่านี้จะโบกพัดได้ดีในอากาศที่มีความชื้นสูงๆ เช่น ตามชายทะเล (แต่ในสระว่ายน้ำจะไม่ดีเพราะมีไอของคลอรีนจากน้ำในสระ ซึ่งจะทำลายเยื่อบุจมูกและ Cilia ดังกล่าว)

ดังนั้นการป้องกันไซนัสอักเสบในเด็ก คือ สอนให้เด็กสั่งน้ำมูกให้เป็น หมั่นให้เด็กออกกำลังกาย ให้วิ่งเล่นในที่อากาศบริสุทธิ์ ส่วนห้องแอร์ต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า หรือในโรงภาพยนตร์ไม่เป็นสิ่งดีเลย เนื่องจากสถานที่เหล่านั้นไม่เคยได้รับแสงแดด แล้วห้องนอนก็อย่ามัวแต่ปิดเพราะกลัวฝุ่นจากภายนอก ฝุ่นจากฝ้าเพดาน และจากที่นอนของเราเองนั่นแหละที่เป็นอันตรายที่สุด ขยันซักผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนทุกอาทิตย์ก็ยิ่งดี เปิดห้องให้อากาศถ่ายเท ให้แสงแดดส่องเข้าไปบ้าง โดยเฉพาะหากมีสมาชิกคนใดเจ็บป่วย ก็ยิ่งสมควรที่จะต้องเปิดห้องให้อากาศถ่ายเทแทน ที่จะเก็บเอาเชื้อโรคไว้

ข้อมูลสื่อ

242-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 242
มิถุนายน 2542
ภกญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง