• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คัดเค้า: ความหอมอย่างไทย จากป่าไทย

"ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานเย็น" คำพังเพยโบราณของชาวไทยภาคกลางข้างบนนี้ คนไทยสมัยก่อนได้ยินได้ฟังและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
 

                                         

แต่คนไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ใช้ประโยชน์จากคำพังเพยบทนี้กันแล้ว เพราะไม่รู้ความหมายที่ซ่อนอยู่ว่าจะนำไปใช้เปรียบเทียบกับอะไร รวมทั้งไม่รู้จักและไม่เคยเห็นดอกคัดเค้าอีกด้วย ต่างจากดอกโสนที่ยังคุ้นเคยกันพอสมควร

ความจริงดอกคัดเค้าเป็นดอกไม้ไทยที่ได้รับความนิยม และรู้จักกันิอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยในอดีตมาจนถึงช่วงไม่กี่สิบปีมานี่เองที่รู้จักกันน้อยลง ยังจำได้ว่าสักราว ๓๐ ปีก่อน มีเพลงลูกทุ่งลูกทุ่งยอดนิยมเพลงหนึ่งชื่อเพลง "แสบหัวใจ" ยังนำดอกคัดเค้ามาเปรียบเทียบกับสตรีที่งดงาม ดังเนื้อเพลงซึ่งมีว่า "โอ้แม่ดอกคัดเค้า น้องจะเอาคนไหนบอกมา..." เป็นต้น แสดงว่าเมื่อราว ๓๐ ปีก่อน คนไทยก็ยังรู้จักดอกคัดเค้ากันดีอยู่

วรรณคดีในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมนำดอกคัดเค้ามาบรรยายฉากชมป่ากันมาก ดังจะพบได้ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) และเรื่องอื่นๆของสุนทรภู่ เช่น เรื่องสิงหไกรภพ ซึ่งบรรยายฉากในป่าว่า

"ลิงลมหลงเล่นลางลิงโลด
เหมหงส์โหดหันหาหิงหาดเหียง
คัดเค้าทั้งกางเขนเป็นคู่เคียง
อีแอ่นเอียงโอนอ่อนออกอื้ออึง"


น่าสังเกตว่าในวรรณคดีไทยสมัยก่อน จะมีบทบรรยายที่เรียกว่า "ชมป่า" หมายถึงบรรยายสภาพความงดงามของป่า ซึ่งประกอบด้วยพรรณไม้ต่างๆ และสัตว์ป่านานาชนิด นอกจากนี้ก็มีบท "ชมสวน" ซึ่งเป็นการบรรยายความงามของสวน ในบริเวณตัวเมืองหรือที่อยู่อาศัย (เช่น อุทยานในเขตพระราชวัง) พรรณพืชที่บรรยายในบท "ชมป่า" กับ "ชมสวน" มักจะเป็นคนละชนิดกัน เพราะบท "ชมป่า" จะกล่าวบรรยายถึงพืชพันธุ์ที่ขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ส่วนบท "ชมสวน" จะเป็นการบรรยายถึงพืชพันธุ์ที่คนสมัยนั้นนิยมนำมาปลูกกันในสวน ซึ่งอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยหรือเป็นสถานที่ในเมือง เป็นพืชที่ตั้งใจนำมาปลูกโดยเฉพาะไม่ใช่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หากมองตามที่กล่าวนี้ คัดเค้าจะอยู่ใบท "ชมป่า" ทั้งสิ้น จึงสรุปว่าสมัยก่อนคนไทนไม่นำคัดเค้ามาปลูกในสวน แต่รู้จักคุ้นเคยคัดเค้าในสภาพที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่า

คัดเค้า : ไม้เถาหอมเชื้อชาติสยาม

คัดเค้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oxyceros horridus Lour. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae เป็นไม้เถาเนื้อแข็งตามธรรมชาติ เลื้อพาดพันต้นไม้ยืนต้นที่อยู่ใกล้ หากไม่มีที่เลื้อยพันก็จะเป็นไม้กึ่งเลื้อยกึ่งยืนต้น คล้ายนมแมว ศัพท์เฉพาะเรียกว่าไม้รอเลื้อย ตามลำต้นมีข้อ ซึ่งมีใบงอกออกเป็นคู่ๆ และมีหนามแหลมโค้ง ออกจากโคนใบคล้ายเขาควาย ข้อละหนึ่งคู่ เป็นเอกลักษณ์ของคัดเค้าที่จดจำได้ง่าย
ใบ ออกตามข้อเป็นคู่อยู่ตรงข้ามกัน เป็นใบเดี่ยวรูปยาวรี ปลายใบและโคใบเรียวแหลม กลว้าง ๔-๕ เซนติเมตร ยาว ๖-๑๒ เซนติเมตร ใบรูปร่างคล้ายใบมะม่วง สีเขียวสด
ดอก ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอกย่อยประมาณ ๑๒ ดอก ดอกย่อยมีลักษณะคล้ายดอกเข็ม  แต่กลีบดอกกว้างกว่า โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายดอกแยกเป็นกลีบดอกสีขาว ๕ กลีบ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕-๒ เซนติเมตร แต่ะดอกมีเกสรตัวผู้ ๕ อัน  ดอกมีกลิ่นหอมมาก โดยเฉพาะช่วงเย็นและตอนกลางคืน
ผล เป็นพวงลักษณะกลมรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๑.๕ เซนติเมตร ปลายผลแหลม เมื่อผลแก่มีสีดำ ภายในแต่ละผลมีเมล็ดหลายเมล็ด
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของคัดเค้าอยู่ในประเทศไทย ดังจะเห็นจากชื่อชนิด (species) ของคัดเค้าคือ SIAMENSIS แสดงว่าพบในสยามหรือใประเทศไทยนั่นเอง จะพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ใน่าเบญจพรรณภาคต่างๆ และตามที่รกร้างว่างเปล่า คนไทยคุ้นเคยกับคัดเค้ามานาน ดังคำบรรยายในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖ กล่าวถึงคัดเค้าว่า "คัดเค้า เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่ง ดอกหอม ต้นมีหนาม"
ปกติคัดเค้าออกดอกในฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม แต่บางฉบับกล่าวว่า ออกดอกช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน-พฤษภาคมด้วย

ชื่อของคัดเค้า คือ คัดเค้า คัดค้าว (ภาคกลาง) เค็ดเค้า (ภาคเหนือ) หนามลิดเค้า (เชียงใหม่) คัดเค้าเครือ (โคราช) คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ) พญาเท้าเอว (กาญจนบุรี) ภาษาอังกฤษ เรียกว่า SIAMESE RANDIA

ประโยชน์ของคัดเค้า

คัดเค้ามีประโยชน์ทางสมุนไพรแทบทุกส่วนของต้น แพทย์แผนไทยระบุสรรพคุณของดอกคัดเค้า ดังนี้
ราก : รสเย็น ฝาดเล็กน้อย แก้ไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน
ใบ : รักษาโรคโลหิตซ่าน แก้ไข้
ต้น : บำรุงโลหิต
เปลือกต้น : แก้เสมหะและโลหิตซ่าน แก้เลือดออกตามทวารทั้ง ๙
เถา : รสฝาด แก้เสมหะ และโลหิต แก้ไข้
ดอก : รักษาโลหิตในกองกำเดา
ผล : เป็นยาขับประจำเดือน ฟอกโลหิต บำรุงโลหิต
หนาม : แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ ลดไข้ ลดความร้อน แก้พิษไข้กาฬ
แก่น : ฝนน้ำดื่ม แก้ไข้

เด็กๆ ชอบนำผลคัดเค้ามาเล่นเป็นลูกกระสุนเครื่องยิงที่เรียกว่า อีโบ๊ะ หรืออีโพละ ส่วนผู้ใหญ่นิยมนำคัดเค้ามาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน ส่วนใหญ่ให้เลื้อยตามรั้วบ้าน เพราะนอกจากจะมีเถาแข็งแรง ใบงดงาม ดอกหอมแรง แล้วยังมีหนามใช้แทนรั้วลวดหนามได้เป็นอย่างดี  

ข้อมูลสื่อ

319-028
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
พฤศจิกายน 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร