• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขลิบอวัยวะเพศชายในเด็กเล็กจำเป็นแค่ไหน

ขลิบอวัยวะเพศชายในเด็กเล็กจำเป็นแค่ไหน


การขลิบปลายอวัยวะเพศชายหรือที่เรียกว่า Circumcision เป็นการตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายส่วนเกิน (ที่ไม่ต้องการ) ออกจะตัดออกมากน้อยเพียงใดขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ หรือตามข้อบ่งชี้ของศาสนานั้นๆ การขลิบปลายอวัยวะเพศชายมีการทำกันแพร่หลาย เรียกว่าทั่วโลกเลยทีเดียว ในขณะที่การทำ Circumcision ในเด็กหญิงมีการทำในบางประเทศแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และไม่เป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์ซึ่งรายละเอียดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ โดยปกติแล้ว หัวองคชาติจะมีหนังหุ้มปลายหุ้มปิด หนังหุ้มปลาย นี้จะค่อยๆแยกออกจากหัวองคชาติและรูดเปิดออกให้เห็นหัวองคชาติได้หมด เมื่ออายุ ๕ ปี แต่ถ้าในเด็กที่ไม่ปกติ หนังหุ้มปลายจะติดแน่นรูดเปิดออกไม่ได้ เมื่ออายุ ๑๑ ปีขึ้นไป

การดูแลรักษาความสะอาดองคชาติ
เรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงก่อนที่จะคิดถึงเรื่องขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ คือ การรักษาความสะอาดขององคชาติ

๑. กรณีที่หนังหุ้มปลายรูดเปิดได้หมด
เวลาปัสสาวะให้รูดปลายเปิดจน หมดแล้วจึงปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะไม่เลอะติดส่วนหัวขององคชาติมาก เมื่อปัสสาวะเสร็จจึงรูดหนังหุ้มปลาย กลับคลุมส่วนหัวองคชาติไว้ เมื่ออาบน้ำเช้าและเย็นให้รูดปลายเปิด ฟอกสบู่ทำความสะอาดส่วนหัวองคชาติ เมื่อเช็ดตัวก็รูดปลายเปิดซับผิวให้แห้ง แล้วจึงรูดหนังหุ้มปลายกลับคลุมส่วนหัวองคชาติไว้

๒. กรณีที่หนังหุ้มปลายตีบ รูดเปิดให้เห็นส่วนหัวองคชาติไม่ได้
เวลาปัสสาวะให้รูดปลายเปิดเท่าที่จะทำได้แล้วปัสสาวะ เมื่อปัสสาวะเสร็จ ควรล้างน้ำแล้วซับแห้ง จึงรูดปิดคลุมส่วนหัวองคชาติไว้ เมื่ออาบน้ำเช้าและเย็นให้รูดปลายเปิดเท่าที่จะทำได้ แล้วฟอกสบู่ทำความสะอาด เมื่อเช็ดตัวก็รูดปลายเปิดเท่าที่จะทำได้ ซับแห้งแล้วจึงรูดปิด
 
จำเป็นต้องขลิบไหม
คำถามนี้เป็นคำถามโลกแตกจริงๆ เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทางคณะแพทย์ทั่วโลกก็ยังมีความเห็นไม่ลงตัวซักที บางกลุ่มว่าสมควรทำ บางกลุ่มว่าไม่สมควรทำในเด็กชายทุกคน โดยยกข้อดีข้อเสียมาอ้างกันต่างๆ นานา ดังจะได้กล่าวในภายหลัง แต่ที่แน่ๆในกรณีดังต่อไปนี้ จะเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องทำแน่นอน คือ
๑. ปัสสาวะลำบาก พร้อมกับมีอาการโป่งพองของหนังหุ้มปลายขณะที่ปัสสาวะ
๒. ในเด็กที่เป็นสาเหตุทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
๓. มีการอักเสบเรื้อรังของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
๔. จวบจนเข้าวัยรุ่นแล้ว หนังหุ้มยังไม่ยอมเปิดซักที
๕. มีข้อบ่งชี้ทางด้านศาสนา เช่น ศาสนายิว ศาสนาอิสลาม
๖. หนังหุ้มปลายรัดลำองคชาติ ทำให้ปวดและบวม

ข้อดีของการขลิบ
๑. การรักษาความสะอาดทำได้ง่าย หมดห่วงเรื่องความหมักหมมสกปรก
๒. จากรายงานพบว่า การขลิบปลายอวัยวะเพศชายตั้งแต่เด็กสามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งของอวัยวะเพศได้ และยังเชื่อว่าอาจทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกของคู่ครองลดลง
๓. สามารถป้องกันการอักเสบของหนังหุ้มปลาย และปลายอวัยวะเพศชายได้
๔. ในเด็กเล็กที่ขลิบหนังหุ้มปลาย จะเป็นโรคทางเดินปัสสาวะ และไตน้อยกว่าเด็กเล็กที่ไม่ขลิบ
๕. ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลาย ติดเชื้อเกี่ยวกับอวัยวะเพศ เช่น โรคเริมได้มากกว่า

ข้อเสียของการขลิบ
เมื่อมีข้อดี ข้อเสียก็มีเช่นกัน ข้อเสียจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจ จะเกิดจากการผ่าตัดขลิบปลาย ถึงแม้จะเป็นการผ่าตัดเล็กก็ตาม แต่มีโอกาสที่จะเกิดได้เช่นกัน
๑. ตัดหนังมากไป ทำให้มีการตึงรั้งของอวัยวะเพศ โดยเฉพาะเวลาที่มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
๒. การอักเสบของแผลหลังผ่าตัด มีตั้งแต่เล็กน้อย หรือลุกลามใหญ่โต
๓. ท่อปัสสาวะตีบ ทำให้ปัสสาวะลำบาก เนื่องจากมีแผลที่ปลายท่อปัสสาวะหรือมีการอักเสบ เมื่อหายแล้วทำให้ท่อปัสสาวะตีบ ปัสสาวะลำบาก
๔. เกิดการบาดเจ็บต่อปัสสาวะ ทำให้มีรูรั่วจากท่อปัสสาวะ

นอกจากนี้อาจจะมีอาการ บวม เลือดออก เจ็บแผล ซึ่งเป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆ
 
ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่จะตัดสินใจอย่างไร
เรื่องนี้ค่อนข้างปวดหัวไม่น้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้กระทั่งแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากยากที่จะตัดสินใจในสิ่งที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ถ้าท่านถามแพทย์ที่มีแนวโน้ม และเชื่อมั่นในทางใดทางหนึ่ง ก็จะได้รับการแนะนำไปในทางนั้นๆ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นตำรับทางวิชาการ ยังไม่สามารถให้คำแนะนำที่ชัดเจนได้ เช่น The American Academy of Pediatrics ได้แนะนำว่า "การขลิบหนังหุ้มปลายในทารกเพศชาย มีทั้งผลดีและผลเสีย การทำก็ควรจะให้พ่อแม่ได้รับทราบถึงข้อดีและข้อเสีย และให้ความยินยอม" ทั้งๆที่สมัยหนึ่งเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำ ทำให้เด็กอเมริกันสมัยหนึ่งก็ทำกันเป็นส่วนมาก ต่อมาก็ไม่นิยมทำกัน จนปัจจุบันเรียกว่าใครอยากทำก็ทำ ใครไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำเพียงแต่ทราบข้อดีและข้อเสียไว้ก็แล้วกัน ไม่ว่าจะเลือกอย่างไรก็ตาม

สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากเรารับแนวความคิด และข้อมูลวิชาการมาจากตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นคำแนะนำที่ท่านได้รจากแพทย์ก็แล้วแต่แพทย์ท่านใด ได้ข้อมูลและมีแนวคิดกับเรื่องนี้อย่างไรก็จะแนะนำท่านอย่างนั้น ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็เป็นคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง สำหรับท่านที่เป็นชายไทยมุสลิม ก็คงไม่มีปัญหาที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนี้
 
เด็กที่ไม่สมควรขลิบ
เด็กกลุ่มเหล่านี้การจะพิจารณา ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะควรจะได้รับการดูแลปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
๑. มีท่อปัสสาวะเปิดผิดที่ คือ ไม่เปิดที่ปลายอวัยวะเพศชาย
๒. ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือที่เรียกว่า เพศกระเทย นั่นเอง ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
๓. อวัยวะเพศชายไม่โผล่ออกมาจากเหนือหัวเหน่า หรือหลบในนั่นเอง
๔. อวัยวะเพศคดงอ ไม่ตรง

การดูแลหลังขลิบ
๑. ในวันแรกและวันที่สองหลังทำ

  • เลี่ยงไม่ให้แผลถูกน้ำ อันจะทำให้แผลอักเสบติดเชื้อโรค
  • พักอยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนให้เลือดออก
  • ถ้าปวดแผล ให้กินยาพาราเซตามอล บรรเทาอาการปวด

๒. หลังจากพ้น ๑-๒ วันไปแล้ว ทำงานและออกแรงเบาๆได้

๓. งดงานหนัก ๑ สัปดาห์

หลังจากพ้น ๑ สัปดาห์ไปแล้ว ไหมละลายจะหลุดไปเอง และแผลจะติดแข็งแรงพอสมควร

สรรหามาฝาก
การขลิบในทารกในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายในทารกแรกเกิดของอเมริกันมีสถิติไม่เปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าสมาคมหมอเด็ก สมาคมหมอสูติฯ ออกแถลงการณ์คัดค้านว่า ไม่จำเป็นเลย แต่หมอเด็ก หมอสูติ ก็ยังทำกันเป็นว่าเล่น ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็นขนมปังกับเนย คือ ของแถมบนโต๊ะอาหาร ดีกว่าอยู่เปล่าๆ เพราะตัดหรือขลิบปลายหนึ่ง ก็คงจะไม่ต่ำกว่า ๗๕-๑๐๐ เหรียญ จะโทษหมอฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก ถ้าพ่อแม่เขาไม่ยอมให้ขลิบก็ทำไม่ได้ พ่อแม่พวกที่ยอมให้หมอขลิบ ก็มีเหตุผลต่างๆนานาว่า ทำความสะอาดง่าย พ่อเองก็ทำดูดีกว่า ฯลฯ ส่วนพวกคัดค้านก็ว่าไม่มีความจำเป็น ไม่มีความสำคัญทางการแพทย์ ลูกเจ็บตัวเปล่าๆ ตัวพ่อ ไม่ทำเลย กลัวติดเชื้อและเลือดออก ฯลฯ

สรุปได้ความว่า คุณพ่อแหละตัวดี คือ พ่อเคยโดนขลิบมาก่อนหรือเปล่า ถ้าพ่อเคย มักจะยอม ถ้าพ่อไม่เคย ก็ไม่ค่อยยอม ส่วนของไทยเรา คิดว่าไม่ค่อยนิยมทำกันโดยทั่วไป นอกจากความจำเป็นทางศาสนา ลูกหลานไทยเลยไม่ค่อยจะขลิบปลายกันเท่าไร
ข้อมูล : นพ.อำนาจ บาลี

ข้อมูลสื่อ

243-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 243
กรกฎาคม 2542
บทความพิเศษ