• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชีวิตเป็นสุขได้แม้ไตวาย (๑)

 
เมื่อได้เห็นชื่อเรื่อง"ชีวิตเป็นสุขได้ แม้ไตวาย"นี้ ผู้อ่านอาจสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ทุกวันนี้ใครได้ยินคำว่า ‘โรคไต ’ ก็เหมาเอาว่าเท่ากับ ‘โรคตาย’ เลยทีเดียว ทั้งๆ ที่โรคไตนั้นมีมากมายหลายชนิด 
บางชนิดไม่ต้องให้การรักษาด้วยยา เพียงแต่รู้จักและเข้าใจอาการของโรค ไม่ไปทำอะไรที่เป็นการซ้ำเติมให้อาการของโรคมากขึ้น โรคก็หายได้ 
บางชนิดต้องได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จึงจะไม่กลายเป็นโรคไตวาย 
บางชนิดแม้จะได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด โดยคนไข้ให้ความร่วมมือและดูแลตนเองเป็นอย่างดี ก็ยังเกิดภาวะไตวายในที่สุดได้ ดังนั้น จะเห็นว่าโรคไตมีมากมาย มิใช่มีแต่โรคไตวายเท่านั้น และบางโรคอาการที่เกิดขึ้นก็เหมือนกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงจำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม 
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเคยสอบถามความรู้สึกของคนไข้โรคไต ส่วนใหญ่จะบอกว่า ความรู้สึกที่ "แย่" ที่สุดคือตอนที่ได้รับการแจ้งว่าเป็นโรคไต เป็นความรู้สึกที่ว้าวุ่น สับสน อยากตาย กลัวตาย เครียด ฯลฯ ประดังกันเข้ามาจนแทบจะรับไม่ได้ ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ก็เกิดความรู้สึกระส่ำระสายไปตามๆ กัน ถ้าเช่นนั้น ชื่อเรื่องนี้จะเป็นไปได้อย่างไร เหลือเชื่อ หรือเพราะผู้เขียนเป็นหมอก็พูดได้ ไม่มาเป็นคนไข้บ้างจะได้รู้ว่าทำไม่ได้ทั้งๆ ที่พยายามแล้ว
ชื่อเรื่องนี้ผู้เขียนมิได้เป็นผู้ตั้งขึ้น แต่คนไข้คนหนึ่งเป็นผู้ตั้ง ผู้เขียนได้มีโอกาสดูแลเธอในบางครั้งแม้จะมิใช่เจ้าของไข้โดยตรง  แต่เราก็ได้มีโอกาสคุยกันในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะการดูแลรักษาใจยามเจ็บป่วย และผู้เขียนได้ขอให้เธอช่วยเขียนเรื่องของเธอเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น เธอก็ได้ทำให้ด้วยความเต็มใจ ผู้เขียนได้ใช้เรื่องของเธอในการเรียนการสอนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และในการให้ความรู้กับคนไข้เสมอมา ทุกคนได้รับประโยชน์มาก จึงเห็นว่าหากได้นำเสนอสิ่งที่เธอเขียนให้แพร่หลาย ก็จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง อีกทั้งเธอเองก็อนุญาตให้ทำอยู่แล้ว ต่อไปนี้เป็นเรื่องของคนไข้นิรนามท่านนั้น

“ข้าพเจ้าเป็นโรคไตวายเรื้อรัง และได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) มาตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๙  รวมเวลาที่ข้าพเจ้าต้องได้รับการฟอกเลือดประมาณ ๙ ปีครึ่ง และต้องเข้ารับการผ่าตัดทำเส้นเพื่อเอาไว้ฟอกเลือดมาประมาณ๙-๑๐ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดทำเส้นแบบใช้ท่อพลาสติกต่อหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดง (cannula),  การต่อเส้นเลือดดำเข้ากับหลอดเลือดแดง (A-V fistula)  และได้รับการผ่าตัดทำเส้นแบบใส่ท่อพลาสติกไว้ในหลอดเลือด (double lumen catheter)  ประเภท subclavian catheter คือ ทำที่เส้นที่คอด้านขวาพร้อมทั้งต่อหลอดเลือดดำเข้ากับหลอดเลือดแดงเตรียมไว้ที่ข้อพับแขนซ้าย
ปัจจุบันอายุ ๓๘ ปี ก่อนหน้านี้รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๒๖ ป่วยหนักถึงกับต้องตัดขาขวา (ใต้หัวเข่า) ไปข้างหนึ่ง เรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มเข้าทำงานธนาคารได้ไม่ถึง ๒ ปี ตอนนั้นมีทั้งคุณพ่อ คุณแม่ รวมทั้งพี่ๆ ตลอดจนญาติและเพื่อนๆ คอยให้กำลังใจ เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๕ คน
โชคดีหน่อยที่คุณพ่อปลดเกษียณแล้ว และคุณพ่อมีสุขภาพแข็งแรงแต่คุณแม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งขณะนั้นอาการป่วยของคุณแม่ยังไม่รุนแรง คุณแม่มาเฝ้าไข้อยู่ทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งๆ ที่ก็มีพยาบาลพิเศษคอยดูแลอยู่แล้ว ทำให้เป็นห่วงสุขภาพของคุณแม่มาก
ก่อนที่จะถูกตัดขา ขณะทำงานอยู่ที่ธนาคารไม่รู้ตัวว่าถูกลวดเย็บกระดาษตำที่ขาขวา มารู้ต่อเมื่อกลับถึงที่บ้านแล้ว (คงจะเป็นอาการชาจากโรคเบาหวาน) 
ตอนแรกๆ ก็ยังเดินกะเผลกไปทำงาน ต่อมามีอาการอักเสบที่แผลและไข้ขึ้น 
ลืมบอกไปว่าเคยเป็นโรคติดเชื้อที่น่องข้างขวา  ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “ไฟลามทุ่ง” รักษาแผนโบราณก็ไม่หายจนต้องไปรักษาแผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แผลลึกมากถึงขนาดต้องตัดผิวหนังที่โคนขาขวาไปปิดที่แผล
คุณหมอท่านหนึ่งสงสัยว่าทำไมแผลหายยาก ท่านถามว่า “เป็นโรคเบาหวานหรือเปล่า” ได้ตอบคุณหมอว่า “ไม่ทราบค่ะ” แต่คุณหมอก็ไม่ได้ตรวจเลือดดูเบาหวาน
คงจะเป็นวิบากกรรม เพราะถูกลวดเย็บกระดาษตำและมีอาการอักเสบนั้น นอนซมทั้งวัน ถ้าไม่ถึงที่สุดแล้วจะไม่ยอมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเด็ดขาด คุณพ่อคุณแม่ก็เลยหมดปัญญา คนข้างบ้านให้เอาน้ำมนต์มาทาที่ขาทุกวัน แต่อาการไม่ดีขึ้น หมดแรงที่จะพูดเพราะกินอาหารไม่ค่อยได้ 
ปกติเป็นคนพูดจาสนุกสนานร่าเริง เมื่อหมดแรงที่จะพูด พี่ชายพูดติดตลกว่าพูดอะไรมาสักคำ หรือด่าเขาก็ได้
เมื่ออดทนถึงที่สุดแล้วก็ต้องยอมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล อนิจจา! สายไปเสียแล้ว ต้องถูกตัดขา คือเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ผู้อ่านอ่านแล้วควรนำมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจตัวเอง เมื่อมีอาการผิดปกติทางร่างกายควรรีบมาพบแพทย์
หลังจากถูกตัดขาใหม่ๆ ทำใจไม่ได้ ขณะที่มีญาติและเพื่อนๆ มาเยี่ยมก็สดชื่นดี เมื่อพวกเขากลับไปหมดแล้วก็เข้าสู่สภาพเดิม 
ช่วงแรกๆ ที่ป่วย มีสภาพจิตใจที่อ่อนแอมาก เอาแต่ใจตัวเอง ใจน้อย หงุดหงิด ชอบมองโลกและบุคคลในแง่ร้าย ขณะนั้นนึกน้อยใจว่าโลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมต่อเราเลย ทำไมต้องเป็นเรา คนอื่นทำไมไม่เป็น 
กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ได้ระบายความในใจออกมาเป็นบทกลอน (ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าเศร้าโศกถึงเพียงนี้ยังมีกะจิตกะใจแต่งกลอนขึ้นมาได้อย่างไร) แต่งกลอนขึ้นมาด้วยแรงบีบคั้นทางจิตใจและแต่งไว้หลายบท เคยระบายความในใจออกมาทั้งน้ำตา แต่ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เกรงว่าคุณพ่อจะมาอ่านเจอเข้า เพราะขณะนั้นถึงแม้ว่าตัวเองจะป่วย แต่ก็สงสารคุณพ่อ เพราะคุณแม่ก็กำลังป่วยด้วย มีอยู่บทหนึ่งยังจำได้ขึ้นใจก็คือ

     “ไม่หลงเหลืออะไรในชีวิต
     ใครจะคิดไยดีคนอย่างฉัน
     ไร้คุณค่าไร้ราคาสารพัน
     มนุษย์ทุกวัน (นี้) ต้องการผลตอบแทน”

ทั้งคุณแม่และตัวเองต้องฉีดอินซูลิน ซึ่งคุณพ่อเป็นคนฉีดให้บ้าง ฉีดเองบ้าง และต้องไปตรวจเช็กภาวะน้ำตาลในเลือดทุกเดือน (ปัจจุบันระดับน้ำตาลในเลือดปกติ)
ปีพ.ศ.๒๕๒๙ เริ่มมีอาการของโรคไต คือหายใจไม่สะดวก การหายใจจะเป็นช่วงสั้นๆ เหมือนหายใจไม่เต็มปอด และจะมีเสียงดังวี้ดๆ อยู่ข้างใน (ซึ่งเป็นอาการของน้ำท่วมปอด) คิดเอาเองว่าเจาะเอาน้ำออกแล้วก็คงจะหาย  และมาทราบภายหลังจากคุณหมอว่า คนเป็นโรคเบาหวานเมื่ออายุยังน้อย มักจะมีโรคไตแทรกได้ง่าย ตอนนั้นไม่ทราบอะไรเลย เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องโรคไตและวิธีการบำบัดรักษาไม่ค่อยมีทางสื่อสารมวลชน หรืออาจจะมีบ้างแต่ไม่ได้สนใจ จึงคิดว่าเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ไม่ว่าใครจะเอ่ยว่ามียาดีที่ไหน คุณพ่อก็ไปแสวงหามาให้ ทั้งขึ้นรถลงเรือ ก่อนจะกินยาก็ให้ท่องคาถาทำตามจนสามารถท่องคาถาที่ยากๆ ได้ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทำให้เลือดเสียลงทุกวัน ใครมาเห็นสภาพในตอนนั้นก็คิดว่าไม่รอดแน่
ต่อมาแพทย์ผู้รักษาให้ทำการล้างหน้าท้อง คือเอาของเสียออกซึ่งต้องไปทำในห้องไอซียู และเข้า-ออกห้องไอซียู เพื่อให้แพทย์ทำการล้างหน้าท้องถึง ๒ ครั้ง ทำครั้งแรกก็กลับมาพักฟื้นที่บ้าน อาการก็ไม่ดีขึ้น ต้องไปทำอีกเป็นครั้งที่๒ ภายหลังจึงค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยแพทย์บอกว่าควรทำเส้นเอาไว้สำหรับฟอกเลือด แต่ตัวเองไม่ยอม ไม่ใช่เพราะกลัวการผ่าตัด แต่กลัวจะมีแผลเป็นมากกว่า ต่อมามีอาการแน่นมากขึ้นถึงกับประกาศออกมาว่า “หนูยอมแล้ว” ตอนนั้น ยอมรับว่าสู้เพื่อคุณพ่อ คุณแม่ แต่คุณแม่มาเสียชีวิตเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๓๐
เคยมีความคิดว่าถ้าขาดคุณพ่อไปอีกคนคงอยู่ไม่ได้ เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนที่รู้ใจ และเข้าใจลูกมากที่สุด  ถึงกับคิดจะฆ่าตัวตาย  คิดไว้หลายวิธี และจะมีเลือกวิธีที่ทรมานน้อยที่สุด แต่อย่าให้บอกเลย เดี๋ยวจะกลายเป็นดาบสองคม
เนื่องจากเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เมื่อเริ่มได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมใหม่ๆ กว่าจะทำใจได้บ้างก็ประมาณ ๑-๒ ปี ยิ่งถ้ามีใครเตือนเรื่องอาหารการกิน จะทำให้อารมณ์เสียและกินประชดประชัน จนต้องถูกหามเข้าห้องไอซียูบ่อยมาก จะเรียกว่าเป็นลูกค้าขาประจำของห้องไอซียูก็ว่าได้ เพราะเวลาเข้าห้องไอซียูแต่ละครั้งพยาบาลจะพูดว่า “อ้าว! คุณ…มาอีกแล้ว” 
รอดตายอย่างหวุดหวิดมาหลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ คือมีอาการอ่อนเพลียมาก กินอาหารไม่ค่อยได้ และคลื่นไส้อาเจียน ก็เลยนั่งซบไหล่คุณพ่อแล้วหลับไปเลย ดีว่าคุณพ่อเป็นคนช่างสังเกต พอหลับคอตก คุณพ่อก็ดันศีรษะขึ้น คุณพ่อเห็นว่าไม่ใช่ลมธรรมดาเป็นแน่ เพราะลิ้นจุกปาก คุณพ่อก็เลยเรียกพี่สาวคนที่๒ ให้มาคอยดู คุณพ่อจะได้เตรียมตัวพาส่งโรงพยาบาล ปรากฏว่าพอพี่สาวประคองนอนลง มีอาการชักแบบหายใจไม่ออก คือหายใจเฮือกใหญ่ๆ อยู่๒ครั้ง แล้วก็หยุดหายใจ พี่สาวเห็นท่าไม่ดี เลยใช้วิทยายุทธ์ที่เพิ่งจะดูจากรายการโทรทัศน์ ทำการปั๊มหัวใจทันที พี่สาวเล่าว่า “เอามือขวาประคองหัว มือซ้ายปั๊มหัวใจ” ปั๊มอยู่ ๒-๓ ครั้ง ก็หายใจได้ตามปกติ คุณพ่อจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล ชะตายังไม่ถึงขาด ระหว่างนั่งรถจึงไม่มีอาการอะไร คุณพ่อก็คอยพูดว่าใกล้จะถึงโรงพยาบาลแล้วลูก แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึงโรงพยาบาลขณะที่นอนอยู่บนเตียงรถเข็นคนไข้ มีอาการเหมือนวูบๆ จึงบอกกับคุณพ่อว่า “หนูจะเป็นอีกแล้ว” ทั้งๆ ที่ตอนชักอยู่ที่บ้านไม่มีอาการเช่นนี้เลย พูดจบก็หลับไปเลย (ช็อก) มารู้ตัวอีกทีก็นอนอยู่ในห้องไอซียูแล้ว และเพิ่งมานึกได้ขณะเขียนหนังสือนี้เองว่า ระยะแรกๆ นอกจากจะกินอาหารไม่ค่อยได้แล้ว ยังมีอาการท้องผูกอย่างมากด้วย คุณพ่อต้องทำหน้าที่สวนอุจจาระให้บ่อยมาก คงเป็นเพราะช่วงนั้นไม่ค่อยได้กินผักหรืออาหารที่มีกากเลย ปัจจุบันกินผัก (บ้าง) และโปรตีนประเภทถั่ว ข้าวโพด ซึ่งจะช่วยในระบบขับถ่าย ถ้าวันไหนไม่ถ่ายอุจจาระ จะกินยาระบาย 
กินยาระบายสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เมื่อกินได้ถ่ายสะดวกก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องระบบขับถ่ายสำคัญมาก ถ้าถ่ายไม่สะดวกก็จะกินอาหารไม่ลง เพราะจะอึดอัดในท้อง และจะทำให้อารมณ์หงุดหงิด จิตใจเศร้าหมอง
ตอนแรกๆ เรื่องอาหารการกินถูกคุมเข้มมาก จนบางครั้งไม่เป็นตัวของตัวเอง ไอ้นี่ก็กินไม่ได้ ไอ้โน่นก็กินไม่ได้ และกินอาหารรสจืดมาก เมื่อถึงเวลากินอาหาร แค่นึกถึงรสชาติก็อาเจียนทุกครั้งแล้ว
ตอนนั้นผิวก็ดำ เปอร์เซ็นต์เลือดก็น้อย (ประมาณ ๑๙-๒๒) ต้องให้ยาฮอร์โมนกระตุ้นเลือดเพื่อเพิ่มปริมาณเลือด แต่แพทย์ได้บอกว่า ยาตัวนี้ฉีดอย่างเดียวไม่ได้ผล ต้องมีวัตถุดิบคืออาหารประเภทโปรตีน ซึ่งจะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์เข้าไป ยาตัวนี้จึงมีประสิทธิภาพในการทำงาน และเริ่มกินอาหารที่มีรสชาติขึ้น เพราะจะทำให้กินอาหารได้ เมื่อลองกินผัก ถั่วต่างๆ ข้าวโพด และอาหารบางชนิด แต่จะกินพอประมาณ (ความพอดีของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จะต้องสังเกตอาการของตัวเอง) ถ้าสงสัยอาหารชนิดใดที่วันนี้เรากินเข้าไป จะขอให้แพทย์และพยาบาลเจาะเลือดตรวจ เพื่อขอดูค่าของโพแทสเซียม เพราะโพแทสเซียมเป็นตัวการสำคัญมาก ถ้ามากไปจะทำให้หัวใจทำงานหนักถึงกับหยุดเต้นได้ ผู้ป่วยโรคไตทุกคนจะรู้ดีว่าโพแทสเซียมมาจากผักและผลไม้ แต่ในผักจะมีน้อยกว่าผลไม้ คนไข้บางคนกลัวจนเกินเหตุถึงกับเป็นโรคขาดอาหาร ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่าจะให้คนไข้ประมาทจนเกินเหตุเช่นกัน ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์เลือดไม่ต่ำกว่า ๓๐
ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๕ คุณพ่อเริ่มป่วยด้วยโรคร้าย คือมะเร็ง ตอนนั้นต้องเริ่มทำใจอย่างหนัก ไม่ทำความหนักใจหรือแสดงความอ่อนแอให้คุณพ่อเห็น ปรนนิบัติคุณพ่อเท่าที่จะทำได้ เดิมทีชอบอ่านหนังสือธรรมะ แต่อ่านผ่านๆ ไป ไม่ได้เก็บคิดพิจารณาตามความเป็นจริง (อ่านโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาตามเหตุและผล)  พอคุณพ่อป่วยก็เริ่มศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง คุยธรรมะให้คุณพ่อฟัง เพื่อคุณพ่อจะได้ไม่ห่วง ลืมบอกไปว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ได้สวดมนต์และทำสมาธิมานานแล้ว ซึ่งตอนนั้นไม่ได้สนในเรื่องการทำสมาธิเลย คิดว่ามีคุณพ่อเป็นที่พึ่งก็พอแล้ว อีกอย่างคิดว่าตนเองจะต้องตายก่อนคุณพ่อแน่นอน และแล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คุณพ่อเสียชีวิตปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕
คงจะเป็นเพราะความบังเอิญหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทำให้ได้ศึกษาเรื่องการทำสมาธิ จากการฟังทางวิทยุ และประกอบกับเป็นคนชอบอ่านหนังสือและฟังเทปธรรมะ ซึ่งการเทศน์สมัยนี้ฟังง่าย ไม่น่าเบื่อเหมือนสมัยก่อน ข้าพเจ้าสมัครเป็นสมาชิกของมูลนิธิเผยแผ่ธรรมะต่างๆ และจะได้รับวารสารจากมูลนิธิเสมอๆ ทำให้ตัดสินใจที่จะทำสมาธิด้วยตนเอง (เริ่มทำตอนช่วงคุณพ่อป่วย) และอธิษฐานจิตขอยึดเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ตอนแรกๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษา กลัวการทำสมาธิมาก มีคนพูดให้เข้าหูว่า “ทำสมาธิแล้วระวังเป็นบ้านะ” แต่ที่ตัดสินใจทำสมาธิ ก็เนื่องจากมีความคิดว่าเราทำความดี ไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย เรานั่งเพื่อให้จิตสงบ ให้เกิดปัญญา ไม่ได้นั่งเพื่อให้เห็นสวรรค์วิมานอะไร เราได้อธิษฐานจิตมอบกายถวายชีวิตให้กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว
หลังจากนั่งทำสมาธิ (ในห้องนอนทุกคืน) ได้ไม่กี่เดือน โดยภาวนาหายใจเข้า-พุท หายใจออก-โธ  แล้ว ทำให้เข้าใจคำว่า “สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี” นั้นเป็นเช่นไร ถึงแม้การทำสมาธิจะเหมือนกับ “หินทับหญ้า” ก็ตาม แต่ก็สามารถรู้เท่าทันกิเลสที่จรเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ และระงับอารมณ์ได้เร็วขึ้น
ปัจจุบันมองโลกและบุคคลในแง่ดีขึ้น เวลามีอะไรมาสะกิดใจ หรือมีคำพูดและการกระทำที่ไม่พอใจ มักจะเพ่งเล็งมาที่ตัวเองก่อน คือมองจากตัวเอง พยายามไม่เพ่งโทษคนอื่น อย่างคำพูดที่ว่า “อุตส่าห์เรียนเป็นวักเป็นเวนไม่น่าเลยน่ะ”  “โถ! ตัวพรุนไปหมดเลย ไม่มีที่ว่างเลย”  “ผิวไม่สวยเลยนะ”  “มีเงินก็เอาไว้รักษาตัวหมด”  คำพูดคำหลังนี้ คุณพ่อเคยให้กำลังใจโดยบอกว่า “เราใช้ในปัจจัยสี่ไม่เป็นไรหรอกลูก” 
มักจะเตือนสติตัวเองอยู่เสมอพยายามที่จะสำรวมกาย วาจา ใจ ให้มากที่สุด โดยนึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า “หว่านพืชไว้เช่นไร ก็จะได้รับผลเช่นนั้น” คงจะเป็นวิบากกรรมของตนเอง
เมื่อคิดว่าตนเองโชคดีที่ป่วย ผู้อ่านอ่านแล้วอาจจะคิดว่าเป็นประเภท “องุ่นเปรี้ยว” คือคิดว่าการป่วยทำให้ได้มีโอกาสและเวลาศึกษาธรรมะได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุด 
คนเราต้องอยู่อย่างมีความหวัง ผู้ที่อยู่อย่างหมดความหวังคือผู้ที่ขุดหลุมฝังตัวเอง ไม่ได้หวังว่าจะหายป่วย (โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ยิ่งคนเป็นโรคเบาหวานด้วยแล้ว ความปลอดภัยมีน้อยที่จะเปลี่ยนไต) แต่หวังที่จะเห็นความก้าวหน้าและความสำเร็จของญาติผู้น้อง ซึ่งได้ส่งเสียให้เรียนจากชั้น ปวช. จนจบชั้น ปวส. และได้ทำงานแล้ว และจะส่งเสียให้เรียนอีกคนหนึ่ง และต้องการทดสอบความอดทนของตนเอง 
ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเสมือนเป็นสิ่งท้าทาย เป็นเกมให้เราต้องแก้ไข ไม่ใช่คำตอบคือแค่ผิดหรือถูก แต่จะเป็นคำตอบที่ต้องใช้สติ ปัญญา ความสามารถ ความอดทน เข้มแข็ง ที่จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ 
ทุกวันจะมีปัญหาหรือข้อสอบให้ต้องแก้ ปัญหานี้จบปัญหานั้นเกิดต่อ ทุกปัญหามักจะมีทางออกเสมอ ขอเพียงมีสติเป็นตัวกำกับเท่านั้น
        

ข้อมูลสื่อ

323-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
บทความพิเศษ
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์