• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาลาเรีย

เชื้อมาลาเรียสามารถติดต่อ โดยยุงก้นปล่องกัดคนที่เป็นโรคนี้ ดูดเลือดที่มีเชื้อจากคนเข้าไปในตัวยุง แล้วเชื้อมีการเจริญแพร่พันธุ์ในตัวยุง  เมื่อยุงมากัดคนใหม่ก็จะแพร่เชื้อเข้ากระแสเลือดของคนคนนั้น
 
มาลาเรีย 
เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงชนิดหนึ่ง ที่มียุงก้นปล่องซึ่งอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะนำโรค โรคนี้มักเกิดกับประชากรที่อยู่ในเขตป่าเขา หรือผู้ที่เดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา จึงเรียกกันว่า ไข้ป่า ซึ่งเป็นสาเหตุการล้มตายของผู้คนจำนวนมากในสมัยก่อน เนื่องจากขาดการป้องกันและการรักษา ในปัจจุบันโรคนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญของประชากรในเขตป่าเขา แต่มีอัตราตายต่ำลงกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเจริญทางด้านการแพทย์

ชื่อภาษาไทย มาลาเรีย, ไข้ป่า, ไข้จับสั่น
ชื่อภาษาอังกฤษ  Malaria

สาเหตุ เกิดจากเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค
 เชื้อมาลาเรียมีอยู่หลายชนิด แต่ในบ้านเรามีอยู่ ๒ ชนิด ที่สำคัญได้แก่ พลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม (plasmodium falciparum) กับพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (plasmodium vivax) 
ชนิดแรก เป็นสาเหตุของการก่อโรค มาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ ๗๐–๙๐ ของผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมด  มักมีปัญหาดื้อยา และโรคแทรกซ้อนร้ายแรง
ส่วนชนิดหลัง เป็นสาเหตุของการก่อโรค มาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ ๑๐–๓๐ มักไม่มีปัญหาดื้อยา และมีโรคแทรกซ้อนน้อย แต่เชื้อสามารถหลบซ่อนอยู่ในตับได้นาน  แม้ว่าจะให้ยารักษาหายแล้ว ก็อาจกำเริบได้บ่อย (ถ้าไม่ได้ให้ยาฆ่าเชื้อที่อยู่ในตับร่วมกับยาที่ฆ่าเชื้อในเลือด) จึงอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้
เชื้อมาลาเรียสามารถติดต่อ โดยยุงก้นปล่องกัดคนที่เป็นโรคนี้ ดูดเลือดที่มีเชื้อจากคนเข้าไปในตัวยุง แล้วเชื้อมีการเจริญแพร่พันธุ์ในตัวยุง  เมื่อยุงมากัดคนใหม่ก็จะแพร่เชื้อเข้ากระแสเลือดของคนคนนั้น แล้วมีการแบ่งตัว จนก่อให้เกิดโรคมาลาเรีย
โรคนี้ส่วนใหญ่จึงเกิดกับคนที่อยู่หรือเข้าป่า แล้วถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดเอา
ส่วนคนที่อยู่ในเมือง และไม่มีประวัติเข้าป่า บางคนก็อาจติดเชื้อมาลาเรีย จากการได้รับเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อมาลาเรีย หรือได้รับเชื้อที่สนามบินเนื่องจากยุงก้นปล่องอาจติดมากับเครื่องบินโดยบังเอิญ (กรณีหลังนี้มีโอกาสพบได้น้อยมาก)



(ภาพประกอบ : วงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรีย จากตำรา หน้า ๗๒๓)
 
ระยะฟักตัวของโรค มาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม ๙–๑๔ วัน (เฉลี่ย ๑๐ วัน)
มาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ๑๒–๑๗ วัน (เฉลี่ย ๑๕ วัน) บางคนอาจนานถึง ๖–๑๒ เดือน
ถ้าเกิดจากการรับเลือด อาจมีระยะฟักตัวสั้นกว่านี้ ถ้ามีการกินยาป้องกันมาลาเรีย ก็อาจมีระยะฟักตัวยาวกว่านี้

อาการ 
ในระยะ ๒-๓ วันแรกจะมีอาการไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร  ปวดท้อง ท้องเดิน ร่วมด้วยก็ได้
ต่อมาจะมีอาการจับไข้หนาวสั่นมาก ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ เริ่มจากระยะสั่น (จะมีอาการหนาวสั่น ต้องห่มผ้าหนาๆ กินเวลาประมาณ ๒๐–๖๐ นาที) แล้วตามด้วยระยะร้อน (มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ กินเวลาประมาณ ๓-๘ ชั่วโมง) สุดท้ายเป็นระยะเหงื่อออก (จะมีเหงื่อออกชุ่มทั้งตัวไข้จะลดลงเป็นปกติ แต่จะรู้สึกอ่อนเพลียและอยากจะนอนหลับ กินเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)
อาการจับไข้หนาวสั่น อาจเป็นวันละครั้งหรือทุก ๓๖ ชั่วโมง (สำหรับมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม) หรือทุก ๔๘ ชั่วโมง (สำหรับมาลาเรียชนิดไวแวกซ์)
บางคนอาจไม่มีอาการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลาชัดเจนดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ของการเป็นโรคนี้ อาจมีอาการไข้สูงตลอดเวลา หรือจับไข้หนาวสั่นวันละหลายครั้งก็ได้
 
การแยกโรค 
อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งพบในระยะแรกๆ ของไข้มาลาเรีย อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคอุจจาระร่วง (ถ้ามีอาการท้องเดินร่วมด้วย) จึงควรซักถามประวัติการอยู่หรือเข้าไปในเขตป่าเขาที่ยังมีการระบาดของมาลาเรีย ถ้ามีประวัติดังกล่าว ควรคิดถึงไข้มาลาเรียและควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด
นอกจากนี้ อาการไข้สูง หรือมีไข้ตลอดเวลาอาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น
* ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง ตาแดง อาจพบมีการระบาดของไข้เลือดออก ในโรงเรียนหรือในชุมชนของผู้ป่วย
* ไทฟอยด์ จะมีไข้สูงตลอดเวลา ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเดิน
* ไทฟัส จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อาจมีอาการหนาวสั่น  อาจพบรอยแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ตามบริเวณซอกรักแร้ ขาหนีบ ก้น และบริเวณร่มผ้า มักพบในคนที่อยู่ตามไร่ สวน หรือป่าเขา
* เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ฉี่หนู) จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเจ็บกล้ามเนื้อน่อง อาจมีอาการหนาวสั่น ตาแดง ตาเหลือง มักพบในคนที่มีประวัติย่ำน้ำที่ท่วมขังหรือแช่ในน้ำตามห้วยหนอง คลอง บึง
 
ส่วนอาการไข้สูง หนาวสั่นมาก  อาจเป็นอาการของโรคอื่นๆ เช่น
* กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน จะมีไข้สูง หนาวสั่นมาก  ปวดท้อง  ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่น
* ปอดอักเสบ ในระยะ ๒๔ ชั่วโมงแรกอาจจะมีไข้สูง หนาวสั่น ร่วมกับอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ
* ท่อน้ำดีอักเสบ (ascending cholangitis) จะมีไข้สูงหนาวสั่นมาก ปวดท้องมาก ตาเหลือง
* ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก  จะมีไข้สูง หนาวสั่นมาก ตาเหลือง
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยโรคใดโรคหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
 
การวินิจฉัย ในเบื้องต้นอาจวินิจฉัยจากอาการแสดง ได้แก่ อาการจับไข้หนาวสั่น ร่วมกับมีประวัติอยู่ในเขตป่าเขาหรือเคยเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขาที่มีการระบาดของไข้มาลาเรีย ภายใน ๒ เดือนที่ผ่านมา
แพทย์จะยืนยันว่าเป็นมาลาเรีย โดยการตรวจเลือด (ซึ่งมีวิธีการตรวจอยู่หลายวิธี) แล้วพบเชื้อมาลาเรียในร่างกาย ซึ่งสามารถบ่งบอกชนิดของเชื้อ เพื่อวางแผนให้ยารักษาให้ตรงกับเชื้อ

การดูแลตนเอง เมื่อมีไข้และมีประวัติอยู่ในเขตป่าเขา หรือเคยเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขาที่มีการระบาดของมาลาเรีย ภายใน ๒ เดือนที่ผ่านมา ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัย อย่าคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง หรืออาการไข้เล็กน้อย แล้วปล่อยทิ้งไว้หลายวัน เนื่องเพราะถ้าหากเป็นมาลาเรียแล้วได้รับการรักษาล่าช้าไป อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงตายได้
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมาลาเรีย ควรกินยารักษามาลาเรียให้ครบ และกลับไปติดตามผลการรักษากับแพทย์ตามนัด
 
การรักษา
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมาลาเรีย แพทย์จะให้ยารักษามาลาเรีย ตามชนิดที่พบ
สำหรับมาลาเรียชนิดไวแวกซ์  แพทย์จะให้ยาคลอโรควีน (chloroquine) ร่วมกับ ไพรมาควีน (primaquine) ยาชนิดหลังช่วยฆ่าเชื้อมาลาเรียที่หลบอยู่ในตับเพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ
สำหรับมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม มีสูตรยารักษาให้เลือดอยู่หลายสูตร เช่น
 -ควินิน (quinine) ร่วมกับ ดอกซิไซคลีน (doxycycline)
 -เมโฟลควีน (mefloquine) หรือ
 -อาร์ทีซูเนต (artesunate) อาจใช้เดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับเมโฟลควีน
 ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมาลาเรียชนิดรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และติดตามเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด
 
ภาวะแทรกซ้อน 
มักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม หลังจากเริ่มมีอาการเป็นไข้ ๓-๗ วัน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ขาดอาหาร และผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อมาลาเรีย (เช่น คนในเมืองที่เดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา)
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ มาลาเรียขึ้นสมอง (cerebral malaria) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก ซึม สับสน ชักกระตุกทั้งตัว หมดสติ มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ ๒๐ 
นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะไตวายเฉียบพลัน (ปัสสาวะออกน้อย) ภาวะโลหิตจางรุนแรง (ซีด) ภาวะปอดบวมน้ำ (หายใจหอบ) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ใจสั่น เหงื่อออก เป็นลม) ภาวะเลือดออก ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) เป็นต้น
ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตร ทารกเสียชีวิต คลอดก่อนกำหนด  ทารกน้ำหนักน้อย
 
การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของอาการไข้มาลาเรีย มักจะหายขาดได้ภายใน ๑ สัปดาห์ บางคนอาจมีการติดเชื้อมาลาเรียร่วมกันมากกว่า ๑ ชนิด เมื่อรักษาชนิดหนึ่งทุเลาแล้ว อาจมีไข้เพิ่มจากเชื้ออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องให้การรักษาเพิ่มเติม
สำหรับมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ถ้าไม่ได้รับยาฆ่าเชื้อในตับ (ได้แก่ ยาไพรมาควีน) เมื่ออาการทุเลาในช่วงแรกแล้ว ต่อไปอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีก
 สำหรับมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม ถ้าได้รับการรักษาล่าช้า หรือผู้ป่วยมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ก็อาจเป็นรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้
 
การป้องกัน 
เมื่อต้องเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขาที่มีการระบาดของมาลาเรีย ควรป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด โดยการนอนกางมุ้ง ทายาป้องกันยุงกัด
ปัจจุบันไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากไม่ได้ผลมากนัก  แนะนำให้สังเกตดูอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่ามีไข้หรือมีอาการที่สงสัยอาจเป็นไข้มาลาเรีย ภายใน ๑-๒ สัปดาห์ ถึง ๒ เดือน หลังจากเดินทางกลับจากเขตมาลาเรีย ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย
ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องพักแรมในเขตมาลาเรียอยู่นานเกิน ๒ สัปดาห์ ก็ควรพกยารักษามาลาเรียไว้สำรองใช้ในยามที่มีไข้หรือมีอาการที่สงสัยมาลาเรียและไม่สามารถตรวจเลือดได้
    
ความชุก 
โรคนี้พบได้ในคนทุกวัยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คืออยู่ในเขตมาลาเรีย หรือเดินทางเข้าไปในเขตมาลาเรีย มีรายงานผู้ป่วยหลายหมื่นรายในแต่ละปี
พบผู้ป่วยมาลาเรียมากตามจังหวัดชายแดน เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ชุมพร ระนอง สระแก้ว จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี เป็นต้น
  
 

ข้อมูลสื่อ

323-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ