• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อัจฉริยะ

การเรียนหนังสือเป็นเพียงมิติหนึ่งของชีวิต  การทำงานการปรับตัวไม่มีในตำรา  

      “วันนี้มีอะไรฮากันอีกแล้ว” นี่คือคำพูดของป้าคนหนึ่งที่พูดกับหมอฤดี  ถึงหลานชายของตน  นั่นคือน้องอัจ
      น้องอัจมักเป็นเหยื่อถูกป้าทั้งหลายนินทาด้วยความรักและความเอ็นดูเสมอๆ  เพราะเป็นเด็กช่างพูด  และกล้าแสดงความคิดเห็น  คุณแม่ของน้องอัจมักเล่าเรื่องต่างๆ ของน้องอัจให้พวกเราฟังเสมอ ทุกคนที่ได้ฟังต่างรู้สึกว่าเรื่องราวของเด็กคนนี้  ช่างน่ารัก  น่าขบขัน  แต่สรุปว่าหนุ่มน้อยคนนี้ไม่ธรรมดา 
     คุณลุงคนหนึ่งบอกว่าอย่าเรียกอัจเลย  เรียกว่า  “อัจฉริยะ”  ดีกว่า  เพราะวันหนึ่ง  น้องอัจกลับไปเล่าให้คุณแม่ฟังว่า   วันนี้ครูแอ๋วสอนเลขผิด  น้องอัจรีบยกมือบอกครูทันที  
     ครูแอ๋วหันมาแล้วบอกน้องอัจว่า “ขึ้นมาชี้ว่าผิดตรงไหน”
     น้องอัจรีบวิ่งตัวปลิวเอานิ้วเล็กๆ จิ้มไปที่กระดานเขย่งสุดตัว  แล้วตอบว่า  “ตรงนี้ครับ”  ครูแอ๋วมองตามปลายนิ้วน้องอัจ  แล้วบอกว่า  “จริงด้วยครูลอกโจทย์ขาดไปหนึ่งตัวขอบใจน้องอัจมาก”  แล้วคุณครูก็บอกให้เด็กทั้งห้องปรบมือให้น้องอัจ  แล้วบอกว่า “นี่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กทั้งหลายจำไว้” 
     คุณแม่เล่าต่อว่า  เวลาเพื่อนๆ มีอะไรถามคุณครู  ครูก็บอกให้ไปถามน้องอัจ   น้องอัจจึงได้ช่วยตอบคำถามต่างๆ ของเพื่อนๆ  ขณะเล่าคุณแม่ก็ยิ้มแก้มตุ่ยด้วยความยินดี  ดูท่าทางจะหลงลูกชายไม่น้อย 
     เมื่อน้องอัจโตขึ้นสามารถสอบผ่านเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการสอบแข่งขันสูงได้  
     น้องอัจเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑  คุณแม่ได้ขอร้องให้น้องอัจไปสอบเทียบ กศน. จะได้จบเร็วขึ้น  เพื่อเตรียมตัวเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย  น้องอัจไม่เต็มใจ  แต่ด้วยความรักคุณแม่จึงถือดินสอกับยางลบเข้าห้องสอบ   ผลปรากฏว่าน้องอัจสามารถสอบผ่านทุกวิชาในเทอมต้น 
     หลังจากสอบเสร็จแล้ว  น้องอัจกลับมาเล่าให้คุณแม่ฟังว่า “คุณแม่ครับ  มีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งในห้อง  เทอมนี้นะเขาสอบเทียบ  ม.๖ ได้แล้ว”  
     คุณแม่รู้สึกว่า “โอ้โหอะไรกัน  ทำไม่เร่งเด็กกันถึงเพียงนี้”  
     น้องอัจบอกว่า  “น้องอัจอยากสอบเทียบ  ม.๖ บ้าง”   
     คุณแม่ใจหนึ่งรู้สึกดีใจ  แต่อีกใจหนึ่ง  รู้สึกว่าคงไม่ใช่สิ่งที่ดี  ที่ลูกจะสอบเทียบตั้งแต่  ม.๑  แต่น้องอัจก็คะยั้นคะยอ  ให้คุณแม่ไปซื้อแนวข้อสอบพร้อมกับใบสมัครเรียน กศน. เรียนต่อที่โรงเรียนใกล้ๆ บ้าน  ในปีนั้นน้องอัจสอบเทียบได้ทั้ง  ม.๓ และ  ม.๖  แต่สิ่งที่น้องอัจพบ  คือเพื่อนน้องอัจทั้งห้องทำแบบนี้เหมือนกัน เพราะเป็นเด็กห้องคิง 
     คุณแม่รู้สึกกังวลใจจึงมาปรึกษาหมอ  ป้าหมอก็แนะนำให้คุณแม่หาค่ายกิจกรรมต่างๆ ที่น้องอัจสนใจ  ซึ่งไม่ใช่วิชาการ  แต่ไม่ว่าคุณแม่จะถามเรื่องอะไร  ก็ดูน้องอัจสนใจไปหมด  แล้วน้องอัจก็ได้ไปค่ายกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเดินป่า  ค่ายดูดาว  หรือค่ายภาษาอังกฤษ 
     น้องอัจยังคงเรียนอยู่ห้องคิง  และได้คะแนนระดับแนวหน้าของห้อง  พอขึ้น  ม.๔ น้องอัจก็สอบเอนทรานซ์ด้วยท่าทีที่เหมือนไปสอบเล่น  เมื่อสอบเสร็จก็ไม่ได้สนใจติดตามผลว่าสอบได้คณะอะไร   ผลปรากฏว่าน้องอัจสามารถสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์   ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  แต่น้องอัจไม่ได้ตัดสินใจจะเข้าเรียนที่นั่น  เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าหากเข้าไปเรียนคะแนนจะต้องแย่แน่นอน  ดังนั้น จึงตัดสินใจจะเอนทรานซ์ใหม่ตอน  ม.๕
     พอขึ้น ม.๕ น้องอัจเตรียมตัวเอนทรานซ์อย่างขยันขันแข็ง  เริ่มเข้าสู่ระบบกวดวิชา  เพื่อนฝูงชักชวนไปกวดวิชาที่นั่นที่นี่  ช่วงนั้นทุกคนในบ้านต่างชุลมุนไปกับการกวดวิชาของน้องอัจ  และเพียงแต่ทำวิชาสุดท้ายเสร็จน้องอัจก็ประกาศว่าติดคณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาฯ  แน่นอน
      คุณแม่ได้แต่ยิ้มและปรามว่ารอให้ทบวงเขาแจ้งผลก่อน  “ถ้าลูกทำได้บางทีเพื่อนๆ ก็ทำได้ อาจจะต้องมีการแข่งขันกับเพื่อนๆ” แต่ท่าทางน้องอัจไม่สนใจ ทำตัวสบายๆ ไม่ทุกข์ร้อน 
      เมื่อมหาวิทยาลัยเปิด น้องอัจเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตามที่คาดไว้  น้องอัจเพลิดเพลินกับการเป็นเฟรชชี่ จนคุณแม่ต้องมากระซิบข้างหูว่า  “ลูก คนที่สอบเข้าได้แต่เรียนไม่จบมีนะ แต่เขาไม่ได้กลับมาบอกใคร” น้องอัจเงียบและหันมามองคุณแม่  และมีท่าทีเปลี่ยนไป  หันมาให้ความสนใจกับการเรียนอย่างสม่ำเสมอ  จนในที่สุดน้องอัจก็จบภายใน ๔ ปี  ด้วยเกรดเฉลี่ยปานกลาง  
      คุณแม่เล่าให้ป้าหมอฟังว่า “หนูรู้สึกโล่งใจมากที่ลูกเรียนจบ แอบดูทางรูกุญแจ เห็นลูกวางตำราเรียนบนโต๊ะแล้วกระโดดรอบๆ  พร้อมร้องว่า  ยากจังโว้ยๆ แต่น้องอัจก็ผ่านทุกวิชา” 
     เมื่อเรียนจบน้องอัจบอกคุณแม่ว่าจะขอเรียนปริญญาโทด้านบริหาร  โดยจะเรียนแผนที่เปิดรับน้อย  ถ้าเป็นแผนเอ เปิดรับแค่ ๑๐  คน ส่วนแผนบี เปิดรับ ๑๐๐ คน  ผลการสอบปรากฏว่ามีผู้มาสอบ ๑๐๐ คน  แต่มีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์แค่ ๙ คนเท่านั้น ซึ่งมีน้องอัจรวมอยู่ด้วย 
     น้องอัจงงมากว่าทำไมโหดอย่างนี้  ก็มาบ่นๆ กับคุณแม่  คุณแม่ก็ได้แต่บอกว่า “ลูกต้องเตรียมสอบสัมภาษณ์ด้วยการฝึกตอบคำถาม ต้องฝึกกิริยามารยาท มีเวลาสั้นๆ เพียง ๑ สัปดาห์เท่านั้น”  แล้วคุณแม่ก็ส่งน้องอัจไปอบรมที่สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพแห่งหนึ่ง  แต่ดูน้องอัจไม่สนใจและไม่เห็นความสำคัญ  เพราะคิดว่าน่าจะเน้นเรื่องความรู้ความสามารถมากกว่า  น้องอัจไปสัมภาษณ์ผลปรากฏว่าสอบไม่ผ่าน  เป็นความล้มเหลวทางการเรียนครั้งแรกในชีวิต 
      คุณแม่พลอยทุกข์ใจไปกับน้องอัจด้วย  จึงวิ่งมาหาป้าหมอเพื่อปรับทุกข์ว่า “น้องอัจสอบไม่ได้เขาให้ผ่านแค่ ๓ คนเอง  น้องอัจก็ซึมไปเลยพานนอนไม่หลับ  หนูเองก็ไม่รู้ว่าจะช่วยลูกอย่างไร ” 
     ป้าหมอยิ้มและบอกว่า “ดีแล้ว โชคดีมากที่ไม่ผ่านสัมภาษณ์  เพราะนี่เป็นบทเรียนบทที่ ๑ ของน้องอัจที่ไม่มีในตำราเรียน ชีวิตข้างหน้ายังมีความผิดหวังรออยู่อีกมาก ถ้าคุณแม่อยากจะช่วยลูก  ต้องอธิบายให้ลูกฟังว่า  เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น  และให้เวลาน้องอัจในการปรับความเข้าใจ”   หลังจากน้องอัจได้ยินคำปลอบประโลมจากแม่  ที่ได้รับจากป้าหมอแล้ว  น้องอัจก็ลุกขึ้นคว้าใบปริญญาบัตรไปถ่ายรูปเพื่อสมัครงาน 
     น้องอัจผ่านการสัมภาษณ์ทุกแห่ง  โดยได้เลือกบริษัทแห่งหนึ่งที่คิดว่างานท้าทายความสามารถ น้องอัจใช้เวลา ๑ ปีกับการทำงานที่ไม่มีในบทเรียน  น้องอัจพัฒนาตัวเองและรู้จักคนมากขึ้น  มีความอดทนในการทำงาน  และรู้จักแสดงน้ำใจกับเพื่อนฝูง  
     ต่อมาน้องอัจกลับไปสมัครเรียนปริญญาโทที่เดิม  ปรากฏว่าคราวนี้น้องอัจสอบผ่านทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์  น้องอัจสรุปกับคุณแม่สั้นๆ ว่า  “เมื่อก่อนน้องอัจปลื้มกับคำที่ใครเรียกว่า อัจฉริยะ  แต่เดี๋ยวนี้อัจรู้แล้วว่า  คนฉลาดถ้าไม่ขยัน  ไม่มีความสม่ำเสมอโอกาสประสบความสำเร็จต่ำกว่าคนขยันและคนสม่ำเสมอ”  
     แม่ยิ้มพลางบอกว่า  “แม่เห็นด้วยลูก” เมื่อคุณแม่นำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง  ป้าหมอยิ้มและบอกว่าน้องอัจมีวุฒิภาวะสมวัยแล้ว 
 ชีวิตไม่ใช่สูตรสำเร็จ  การเรียนหนังสือเป็นเพียงมิติหนึ่งของชีวิต  การทำงาน  การปรับตัวในสังคมไม่มีในตำรา  เด็กอาจจะเรียนรู้บางอย่างจากครอบครัว  จากโรงเรียน  แต่ปัญหาจริงๆ คอยอยู่  ยิ่งเด็กมีประสบการณ์มาก  ยิ่งได้กำไร  เพราะเวลามีปัญหาสามารถแยกแยะผิดถูกได้ชัดว่า  จะเลือกเดินทางไหนที่เหมาะสม  โดยพ่อแม่ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะถูกหลอกและไม่ทันคน  แต่ถ้าลูกไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง  ย่อมดีกว่าการที่พ่อแม่คอยชี้ทาง  คอยบอกว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้  เพราะบางครั้งในขณะที่เด็กมีปัญหา  คุณอาจจะไม่อยู่ข้างลูก  
     เรามาให้เขารู้ปัญหาและเริ่มแก้ด้วยตัวเอง   เพื่อให้เด็กมีความแข็งแกร่ง  และพร้อมที่แก้ปัญหา  ที่ต้องเจอแน่ๆ ในอนาคต  
 
   

ข้อมูลสื่อ

323-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
ป้าหมอ