• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กวาวเครือ ใช้แล้วอึ๋ม, ดึ๋งดั๋ง จริงหรือ ?

กวาวเครือ ใช้แล้วอึ๋ม, ดึ๋งดั๋ง จริงหรือ ?


เมื่อช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา สมุนไพร "กวาวเครือ" ดูเหมือนจะเป็นสมุนไพรยอดฮิต กลบชื่อเสียงสมุนไพรตัวอื่นๆ เสียหมด เมื่อมีข่าวจากนักวิชาการท่านหนึ่งได้ออกมากล่าวว่ากวาวเครือขาวช่วยให้หน้าอกเพิ่มขนาดได้ กวาวเครือแดงเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ เท่านั้นแหละครับ ข่าวปากต่อปากต่อปาก ก็เพิ่มสรรพคุณขึ้นอีกมากมาย ผลิตภัณฑ์กวาวเครือ ก็ผุดขึ้นมาขายกันเต็มตลาด ไม่ว่าจะเป็นชนิดผง ชนิดแคปซูล ชนิดทา ต่อมานักวิชาการท่านอื่นกล่าวว่า การวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้ตรวจเกี่ยวกับพิษวิทยาอย่างแน่ชัด

สถาบันแพทย์แผนไทยและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและ ยา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมากล่าวเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการกินสมุนไพรกวาวเครือ เรียนรู้จากข่าวฉบับนี้จึงขอนำเรื่องกวาวเครือมารายงานให้ทราบกันครับ ก่อนอื่น ท่านผู้อ่านบางท่านคงสงสัยว่า มีข่าวให้ระมัดระวังแล้วทำไมยังมีสมุนไพรกวาวเครือวางจำหน่ายโดยมีทะเบียน อย. อยู่  ครับ ก็น่าสงสัย เพื่อคลายความสงสัย เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ ที่ อย. ได้อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กวาวเครือไปแล้วนั้น เป็นการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นสูตรตำรับยาแผนโบราณที่เป็นยาผสม ซึ่งจะมีสมุนไพรอื่นๆผสมอีกหลายชนิด และส่วนใหญ่เป็นตัวยาในตำรับยาที่เป็นยาบำรุงร่างกาย หรือยาสำหรับสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยยาดังกล่าวจะต้องวางจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น

ส่วนครีมหรือโลชั่นที่มีการโฆษณานั้น ผู้ผลิตขอจดทะเบียนในรูปของเครื่องสำอาง ตามนิยามของเครื่องสำอาง นั้นคือ ใช้เพื่อทำความสะอาด เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกร่างกาย ไม่ออกฤทธิ์ต่อโครงสร้างร่างกาย เรื่องกวาวเครือที่ทำเป็นเครื่องสำอางนั้น อย. ได้เตือนผู้ผลิต ว่าห้ามโฆษณาเชิญชวนว่า มีสรรพคุณทำให้ขยายทรวงอก เต้านม เป็นการแสดงความมุ่งหมาย ให้เกิดผลต่อสุขภาพ โครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ของร่างกายมนุษย์ ซึ่งเข้าข่ายจัดว่าเป็นยาซึ่งทาง อย. จะไม่อนุญาต และผิดกฎหมาย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยังมีผลิตภัณฑ์กวาวเครือวางจำหน่าย

อันที่จริงสมุนไพรกวาวเครือนั้น ชาวหมอแผนไทยพื้นบ้านของเราเขาใช้มานมนานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เป็นตัวยาสมุนไพรเดี่ยวๆ ต้องใช้ร่วมกับยาสมุนไพรอื่นๆ รศ.ยุทธนา สมิตะสิริ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ค้นคว้าและพบว่า สมุนไพรกวาวเครือมีระบุอยู่ในตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษเชียงใหม่ โรงพิมพ์อุปะติพงศ์ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ กล่าวว่า กวาวเครือมี ๔ ประเภท คือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือมอ กวาวเครือดำ บรรยายสรรพคุณว่า คนอ่อนเพลีย ผอมแห้งแรงน้อย นอนไม่หลับ กินไม่ได้ กินแล้วได้ผล หายอ่อนเพลียและหลับสบาย และอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งมี แวบๆ ว่า ทำให้กระชุ่มกระชวย กระตุ้นเต้านมขยายตัว แต่หลักๆ จะบอกว่าเป็นยาอายุวัฒนะทำให้อายุยืนแข็งแรง  ที่น่าสนใจ คือ ในตำราระบุขนาดว่าควรใช้ขนาดเม็ดเท่าพริกไทย และยังมีข้อห้ามว่า ห้ามคนวัยหนุ่มสาวกิน

อันที่จริงถ้ายังเป็นยาแผนโบราณ และกินกันอย่างแผนโบราณเป็นยาอายุวัฒนะ ซึ่งยาแผนโบราณมีตำรับมากมาย ก็คงไม่เป็นไร แต่ปัจจุบันมีการโหมโฆษณาในเรื่องอึ๋มและดึ๋งดั๋ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง หากใครขาดความรู้ อยากอึ๋มและดึ๋งดั๋งเร็วๆ กินเข้าไปมากๆก็อาจเป็นพิษภัย เพราะเป็นการกินสมุนไพรกวาวเครือเดี่ยวๆ ในอดีตชาวบ้านกินยาแผนโบราณ มักได้รับคำแนะนำจากญาติผู้ใหญ่หรือจากคนรู้จักว่ามีสรรพคุณอย่างนั้นอย่างนี้และเป็นตำรับยา ซึ่งมีตัวยาหลายๆอย่าง ที่ช่วยแก้กันและกัน ตามทัศนะแพทย์แผนไทย การกินก็เพื่อการรักษาโรคหรือเป็นการบำรุงร่างกายทั่วๆไป ปัจจุบันมีการโหมโฆษณาเกี่ยวกับยาสมุนไพรเฉพาะมาก ทำให้วิถีชีวิตการกินสมุนไพรแบบเดิมเปลี่ยนไป นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ต้องระวัง  ยิ่งมีระบบวิธีการขายสินค้าต่างๆมากขึ้น สินค้าจะวิ่งไปถึงผู้บริโภคได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะสินค้าไม่ได้อยู่ตามร้านอย่างเดียว เดินทางเข้าไปถึงที่ทำงาน ที่บ้านของผู้บริโภคเลยทีเดียว บางคนยังไม่ได้เกิดความอยาก ก็ถูกกระตุ้นให้เกิดความอยาก หลายคนคงตั้งข้อสงสัยว่า แล้วที่มีการพูดว่า สมุนไพรกวาวเครือมีสารที่มีสรรพคุณโน้นสรรพคุณนี้นั้นมีจริงหรือ มีที่มาที่ไปอย่างนี้ครับ

ในทางพฤกษเคมี หัวกวาวเครือประกอบด้วยสารที่ทราบสูตรโครงสร้างทางเคมีแล้วไม่ต่ำกว่าสิบชนิด แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ สารหลายชนิดที่จัดอยู่ในกลุ่มของไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) สารนี้เป็นสารจากพืชที่มีฤทธิ์ เช่นเดียวกับเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมลักษณะทางเพศ ตลอดจนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ปกติเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายของผู้หญิงสามารถสังเคราะห์ได้เองจากรังไข่  รก หรือต่อมหมวกไต ยาแผนปัจจุบันได้มีการนำเอาสารในกลุ่มเอสโตรเจนมาใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน แต่ใครจะใช้ต้องมีการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน เพราะ มีรายงานทางการแพทย์ว่า การได้รับเอสโตรเจนติดต่อกันนานๆ มีส่วนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดสูง ในแง่วิชาการแล้วยังไม่มีใครทำวิจัยว่า หากนำสารไฟโตรเอสโตรเจนในกวาวเครือมาใช้ทดแทนเอสโตรเจนนั้นปลอดภัยพอ เพราะในอดีตเคยมีการนำสารจากธรรมชาติมาใช้ทดแทนแล้วพบว่า สารนั้นมีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านมบางชนิดของมนุษย์ นี่จึงเป็นเรื่องที่นักวิชาการ  ต้องถกเถียงและทำวิจัยให้แน่ชัดก่อนยืนยันว่ากินเท่าไรจึงปลอดภัย

สิ่งที่ควรตระหนัก คือ ในตำราหมอโบราณได้ระบุว่า ห้ามคนหนุ่มสาวใช้ แสดงถึงว่าคนสมัยก่อนอาจพบปัญหาของการใช้กวาวเครือเดี่ยวๆ ในคนหนุ่มสาว อาจารย์มยุรี ตันติสิระ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า "เมื่อเปรียบเทียบกวาวเครือกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว มีข้อน่าสังเกตอยู่บางประการ คือ สมุนไพรส่วนใหญ่ที่ใช้โดยการกินเช่น ขิง ข่า กระเทียม หรือขี้เหล็ก เป็นพืชอาหาร ซึ่งโดยปกติเราได้รับเข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว เมื่อนำมาใช้กินเพื่อบำบัดอาการเจ็บ ป่วยเป็นครั้งคราว จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดพิษภัยที่ร้ายแรง แต่กวาวเครือไม่ใช่พืชอาหาร (ปกติ) และเมื่อพิจารณาถึงขนาดใช้ตามระบุไว้ในตำรายาไทยว่า ให้กินเพียงวันละขนาดเท่าเม็ดพริกไทย และห้ามใช้ในคนหนุ่มสาว ประกอบกับข้อมูลทางพฤกษเคมี และผลการศึกษาในสัตว์ทดลองที่บ่งว่า ไฟโตเอสโตรเจนกลุ่มที่พบอยู่ในกวาวเครือน่าจะเป็นสารที่มีทั้งฤทธิ์และพิษแรง และในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่นอน ว่าขนาดที่สามารถเอามาใช้ ได้อย่างปลอดภัยควรจะเป็นเท่าใด"

สำหรับคนที่สนใจจริงๆจังๆเรื่องกวาวเครือ(ไม่ใช่แบบตำรับยาโบราณ) และจะใช้ให้ได้ ก็ควรจะรอผลการทดสอบทางพิษวิทยาให้แน่ชัดก่อน ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันแพทย์แผนไทย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงจะประกาศออกมาในเวลาไม่ช้านี้ ช่วงนี้ออกกำลังกาย กินอาหารให้เหมาะสมกับวัย พักผ่อนให้พอเพียง ฝึกจิตฝึกสมาธิให้จิตใจผ่องใส ถึงเวลาที่เขาประกาศว่าควร ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย คุณอาจจะพบว่าไม่ต้องกินสมุนไพรหรือยาก็กระชุ่มกระชวยเสียแล้ว
ในสังคมที่ข้อมูลข่าวสารวิ่งอย่างรวดเร็วก็มีทั้งแง่ดีและแง่เสีย  ประชาชนจึงจำเป็นต้องรับและเลือกข้อมูลข่าวสารให้ได้อย่างเหมาะสม ในข้อมูลข่าวสารด้านบริโภค  มีการกระตุ้นเร่งเร้าผู้บริโภคให้บริโภคของต่างๆเกินความจำเป็นอย่างมากมายมโหฬาร ตั้งแต่ลืมตาจนเข้านอน บางทีนอนแล้วยังโทรมาปลุกนัดไปร่วมงานแนะนำสินค้าตัวใหม่เข้าให้อี๊ก...โธ่

FDA ห้ามใช้เอสโตรเจนเพื่อขยายขนาดของหน้าอก
ข้อมูลจาก U.S. Food and Drug Administration ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ใดที่จะขยายขนาดทรวงอกได้ อย่างดีก็เป็นเพียงแค่การเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่พยุงเต้านมเท่านั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้มีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนได้เพียงในยาคุมกำเนิดและยาที่ใช้บรรเทากลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะหมดประจำเดือน แต่จะไม่อนุญาตให้มีการใช้เอสโตรเจนเพื่อขยายขนาดของหน้าอก

ทําความรู้จักกับกวาวเครือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pueraria mirifica Airy Shaw et Suvatabandhu
ชื่อพ้อง : Pueraria candollei Grah. Var. mirifica (Airy Shaw & Suvata bandhu) Niyomdham
ชื่อสามัญ : กวาว กวาวหัว กวาวเครือขาว (พายัพ) กวาวเครือ เครือขาว จานเครือ (อีสาน) ตานเครือ ทองเครือ ทองกวาว จอมทอง (ใต้) ตานจอมทอง (ชุมพร) โพ้ต้น (กาญจนบุรี) โพะตะกู

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กวาวเครือเป็นพืชในวงศ์ Papili oneae เดิมใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea superba Roxb. ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วในวงศ์ Leguminosae ขึ้นในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๕๐-๘๐๐ เมตร ในป่าสูงทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นไม้เถาเลื้อย พาดพันต้นไม้ใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ ขนาดกลาง เถายาวประมาณ ๕ เมตร มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ทำหน้าที่สะสมอาหาร ลักษณะค่อนข้างกลม และคอดยาวเป็นตอนๆต่อเนื่องกัน 

จากตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษเชียงใหม่ โรงพิมพ์อุปะติพงศ์ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ กล่าวว่า กวาวเครือมี ๔ ประเภทดังนี้ คือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือดำ และกวาวเครือมอ

สรรพคุณ 
 จากตำราของหลวงอนุสารสุนทร กล่าวว่า กวาวเครือ
 ๑. เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับผู้สูงอายุใช้ได้ทั้งหญิงและชาย (คนหนุ่มสาวห้ามกิน)
 ๒. ทำให้กระชุ่มกระชวย
 ๓. ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นกลับเต่งตึงมีน้ำมีนวล
 ๔. ช่วยเสริมอก กระตุ้นเต้านมขยายตัว (โดยเฉพาะกวาวเครือขาว)
 ๕.  ช่วยให้เส้นผมที่หงอกกลับดำ และเพิ่มปริมาณเส้นผม
 ๖. แก้โรคตาฟาง ต้อกระจก
 ๗. ทำให้ความจำดี
 ๘. ทำให้มีพลัง การเคลื่อนไหวการเดินเหินจะคล่องแคล่ว
 ๙. ช่วยบำรุงไต
 ๑๐. ช่วยให้กินอาหารมีรสชาติอร่อย

ข้อห้าม
กวาวเครือขาวที่ใช้นั้น นอกจากจะมีประโยชน์แล้วก็ย่อมมีโทษได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีข้อห้ามใช้ในตำราแผนโบราณ คือ 
 ๑. ห้ามคนวัยหนุ่มสาวกิน
 ๒. ห้ามกินของดองเปรี้ยว ดองเค็ม และควรอาบน้ำวัน   ละ ๓ ครั้ง
 ๓. ห้ามไม่ให้ตากอากาศเย็นเกินไป

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือ
กวาวเครือขาวในปริมาณสูง (๑๐๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละ ๓ ครั้ง ๑๔ วัน) เมื่อให้กับหนูขาวตัวผู้ จะทำให้จำนวนและเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวของสเปิร์มลดลง นอกจากนี้ยังทำให้อัณฑะ ต่อมลูกหมากของหนูขาวมีน้ำหนักลดลงด้วย การศึกษาฤทธิ์ในการคุมกำเนิดของกวาวขาวในหนูขาวเพศเมีย พบว่า การให้กวาวขาวกับหนูสัปดาห์ละ ๑ กรัมต่อตัว มีฤทธิ์คุมกำเนิดได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กวาวขาวในปริมาณต่ำกว่านี้มีฤทธิ์คุมกำเนิดได้บ้าง นอกจากนี้การศึกษาในหนูถีบจักรพบว่ากลุ่มที่ได้รับกวาวเครือมีการตั้งท้องเพียงร้อยละ ๑๔ ลดลงร้อยละ ๘๖ และทำให้จำนวนตัวอ่อนที่ฝังตัวในมดลูกลดลงด้วย จากการทดลองให้ผงกวาวขาวและเอสโตรเจนแก่แม่หนูที่กำลังให้นมลูก พบว่า มีผลทำให้น้ำหนักของลูกหนูน้อยกว่ากลุ่มควบคุม และยังทำให้ลูกหนูตายด้วย สำหรับผลต่อต่อมน้ำนมพบว่าทั้งกวาวขาวและเอสโตเจนมีผลทำให้น้ำหนักของต่อมน้ำนมน้อยกว่ากลุ่มควบคุม และสังเกตได้ชัดเจนว่าไม่มีน้ำนมไหลออกมาจากต่อมน้ำนมของหนู ทั้งกลุ่มที่ได้รับกวาวเครือและเอสโตรเจน

เมื่อให้นกกระทากินผงป่นของหัวกวาวขาวผสมกับอาหารในปริมาณร้อยละ ๕ และ ๑๐ เป็นเวลา ๑๕, ๓๐ และ ๗๖ วัน พบว่านกกระทากลุ่มที่ได้รับกวาวขาวจะมีแผลบวม เป็นหนองที่บริเวณหัว ใต้ปีก ฝ่าเท้า และข้อต่อ อันเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีนกกระทาตายในระหว่างการทดลอง ซึ่งอาการพิษดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับกวาวขาว การศึกษาผลของไมโรเอสตรอล*ในสตรีที่มีประจำเดือนไม่มาตามปกติ จำนวน ๑๐ คน โดยให้ไมโรเอสตรอลในขนาดวันละ ๑ มิลลิกรัม ๖ ครั้ง และวันละ ๕ มิลลิกรัม ๖ ครั้ง พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนอย่างแรง สามารถทำให้ประจำเดือนมาหลังจากหยุดยา ๗-๑๘ วัน ผู้ที่ได้รับยาส่วนใหญ่มีอาการข้างเคียง ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางราย ( ๔ ใน ๑๐ ราย) มีอาการทรวงอกขยายใหญ่ขึ้น อาการเหล่านี้จะเห็นชัดเจนในขนาด ๕ มิลลิกรัม มากกว่า ๑ มิลลิกรัม

* ไมโรเอสตรอล (miroestrol) เป็นสารที่มีฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน พบในปริมาณร้อยละ ๐.๐๐๒-๐.๐๐๓ ของน้ำหนักหัวแห้ง
อ้างอิง : เอมอร โสมนะพันธุ์, วีณา จิรัจฉริยากูล. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูลสื่อ

244-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 244
สิงหาคม 2542