ยาปฏิชีวนะ : อาจก่อมหันตภัยถ้าใช้พรํ่าเพรื่อ
"คุณหมอคะ ลูกดิฉันมีอาการไอแค้กๆมาหลายวัน จำเป็นต้องกินยาแก้อักเสบไหมคะ?"
"ผมมีอาการปวดท้อง ท้องเสียมา ๕-๖ ครั้งแล้ว จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อไหมครับ?"
เชื่อว่า ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยคุ้นเคยกับการใช้ "ยาแก้อักเสบ" หรือ "ยาฆ่าเชื้อ" ในการรักษาโรคต่างๆ ที่ใช้กันเกร่อมาก ก็คือ ไข้หวัด คนไข้เวลาไปร้านยาหรือไปหาหมอ มักจะได้ยาชนิดนี้ (ควบกับยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ) ในเด็กเล็ก จะเป็นยาผงใส่ขวดเติมน้ำสุกผสม ส่วนในผู้ใหญ่มักจะเป็นยาชนิดแคปซูล มีสีสันต่างๆ กินวันละ ๒ มื้อบ้าง ๓ มื้อบ้าง หรือ ๔ มื้อบ้าง บางคนเวลามีอาการเป็นไข้ (เข้าใจเอาเองว่าเกิดจากการติดเชื้อ) เจ็บคอ (เข้าใจเอาเองว่ามีอาการคออักเสบ) หรือท้องเดิน (เข้าใจเอาเองว่า ลำไส้อักเสบ) ก็มักจะซื้อยาแก้อักเสบมากิน หรือไม่ก็ขอร้องให้หมอจ่ายยาแก้อักเสบให้ ด้วยเข้าใจว่าเมื่อมีอาการอักเสบเกิดขึ้นก็ต้องใช้ยาแก้อักเสบรักษา หรือไม่ก็คิดว่าอาการเหล่านี้เกิดจากเชื้อโรค จึงต้องกินยาฆ่าเชื้อรักษา
ความจริง ยาที่นิยมเรียกกันว่า "ยาแก้อักเสบ" หรือ "ยาฆ่าเชื้อ" นี้ ทางแพทย์เรียกว่า "ยาปฏิชีวนะ" (antibiotic) หรือ "ยาต้านจุลชีพ" (antimicrobial) ยาปฏิชีวนะมีประโยชน์ในการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เป็นยาที่มีการค้นพบและผลิตขึ้นมาใช้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และ นับว่ามีคุณเอนกอนันต์ต่อมนุษยชาติ ในการควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และลดการตายจากโรคกลุ่มนี้ เช่น ไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย), อหิวาต์, ปอดอักเสบ(ปอดบวม), วัณโรค, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น จึงเกิดความเข้าใจว่า ยากลุ่มนี้เป็นอาวุธ "วิเศษ" ในการกำราบโรคติดเชื้อ ยิ่งมีการแปลชื่อว่า "ยาแก้อักเสบ" และ "ยาฆ่าเชื้อ" ให้เข้าใจง่ายสำหรับชาวบ้าน ก็ยิ่งทำให้เกิดความเชื่อ (ผิดๆ) ว่ายาปฏิชีวนะเป็นยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อได้สารพัด จึงเกิดความโน้มเอียงในการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นอย่างมากมายขึ้น (ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก) อาทิเช่น ไข้หวัด ซึ่งทราบกันดีว่าเกิดจากเชื้อไวรัสและเป็นโรคที่หายได้เองตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ (ยกเว้นเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ในบางครั้งบางคราว) เพียงแต่พักผ่อน กินยาตามอาการ (เช่น ยาแก้ไข้เมื่อตัวร้อน) สัก ๒-๔ วัน ก็จะหายได้เอง
อาการท้องเดินซึ่งส่วนใหญ่มิได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากไวรัสหรืออาหารเป็นพิษ เพียงแต่ทดแทนน้ำกับเกลือแร่ให้พอเพียง ก็จะหายได้เอง อาการเจ็บคอหรืออาการไอ ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเคืองหรือจากเชื้อไวรัส อาการไข้ (ตัวร้อน) โดยไม่มีน้ำมูก ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส กินยาลดไข้บรรเทาและนอนพักผ่อนให้มาก ก็มักจะหายได้เองภายใน ๔-๗ วัน อาการเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ที่ใช้กันเกร่อ ก็อาจเป็นเพราะผู้ใช้มีประสบการณ์ว่าใช้รักษาอาการเหล่านี้ก็เห็นหายดี และไม่เห็นเกิดโทษอะไร หรืออาจคิดว่าใช้ยาปฏิชีวนะเผื่อๆไว้ หากบังเอิญอาการที่เป็นนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ก็เป็นการรักษาได้โดยตรง แต่ถ้าเป็นไวรัสถึงแม้จะไม่มีประโยชน์แต่ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว หรืออาจหวังกินไว้ป้องกันมิให้ เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง (เช่น ไข้หวัด บางคนอาจมีโรคแทรกซ้อนได้)
ความจริงวงการแพทย์ทราบกันดีว่า การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อนั้น นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียหายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ทำให้เชื้อโรคดื้อยา ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเชื้อโรคหลายชนิดดื้อยาสุดๆ แบบที่หายารักษาได้ยากมาก เชื้อเหล่านี้หากใครรับไปก็อาจสิ้นเปลืองมหาศาลในการหายาใหม่ราคาแพงมารักษา หรือไม่ก็อาจหายารักษาไม่ได้เอาเสียเลย (ก็มีหวังตายลูกเดียว) เชื้อดื้อยาเหล่านี้หากแพร่กระจายไป เราทุกคนก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดื้อยาเหล่านี้ได้เท่าๆกัน ดังนั้นวงการแพทย์ทั่วโลกจึงได้เตือนภัยในเรื่องนี้ และตอกย้ำซ้ำซากว่า "ไม่จำเป็นอย่าไปใช้ยาปฏิชีวนะกันเลยครับ!"
ข้ อ ค ว ร รู้ : ย า ป ฏิ ชี ว น ะ
ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะเป็นกลุ่มยากลุ่มใหญ่ที่มียาชนิดต่างๆ มากมายที่ใช้กันบ่อย เช่น
- เพนิซิลลินวี
- แอมพิซิลลิน หรือ อะม็อกซีซิลลิน
- เตตราไซคลีน (มักมียี่ห้อลงท้ายด้วย ไมซิน)
- คลอแรมเฟนิคอล
สรรพคุณ เป็นยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- ฝี หนอง พุพอง
- ไข้หวัดที่มีโรคแทกซ้อน เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลือง หรือข้นเขียวติดต่อกันเกิน ๒๔ ชั่วโมง
- ไซนัสอักเสบ
- ต่อมทอนซิลอักเสบ
- หูอักเสบ
- หลอดลมอักเสบ (ไอมีเสลดเหลืองหรือเขียว)
- ปอดอักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ไข้รากสาดน้อย
- อหิวาต์
- บิด
- วัณโรค
ข้อควรระวังในการใช้ยาชนิดนี้
จะต้องเลือกใช้ชนิดยาให้ถูกกับโรคที่เป็น ใช้ให้ถูกขนาดยา และใช้ให้ครบตามกำหนดระยะเวลา ดังนั้นจึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนจะใช้ยากลุ่มนี้
อันตรายจากการใช้ยาชนิดนี้ผิดๆ
๑. แพ้ยา ทำให้เกิดอาการลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด ถ้ารุนแรง อาจแพ้จนเป็นลม (ช็อก) ตายได้ เนื่องจากยาเป็นสารเคมี ร่างกายจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ยิ่งใช้บ่อยก็ยิ่งมีโอกาสแพ้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีประวัติแพ้อะไรง่ายๆ ควรระมัดระวังในการใช้ยา
๒. ทำลายระบบนิเวศของร่างกาย ร่างกายคนเราจะมีเชื้อจุลินทรีย์อยู่มากมายตามผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร เชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้จะช่วยในการย่อยอาหาร การขับถ่าย ลดการดูดซึมไขมันเข้าร่างกาย สร้างวิตามินบี วิตามินเค สารต้านทานโรค รวมทั้งควบคุมมิให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค (เชื้อโรค)เจริญเติบโตจนทำให้เกิดโรคขึ้นมาเรียกว่า เป็นระบบนิเวศภายในร่างกายที่เกิดความสมดุล แต่ถ้าเรากินยาปฏิชีวนะ ยานี้นอกจากทำลายเชื้อโรคที่ก่อโรคแล้ว ยังทำลายเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย และเมื่อระบบนิเวศถูกทำลายไป เชื้อจุลินทรีย์ที่เคยอยู่อย่างสงบเสงี่ยมก็จะเจริญ ทำให้เกิดโรคขึ้นได้ เช่น ทำให้ท้องเดิน หรือเป็นเชื้อราที่ลิ้น หรือเป็นเชื้อราในช่องคลอด เป็นต้น ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็น อย่ากินยาปฏิชีวนะเข้าไปทำลายระบบนิเวศของร่างกาย
๓. เชื้อดื้อยา การกินยาปฏิชีวนะไม่ครบขนาดหรือครบกำหนดระยะเวลาหรือกินพร่ำเพรื่อ เป็นการชักนำให้เชื้อโรคบางชนิดดื้อยา ต้องหายาปฏิชีวนะตัวใหม่และราคาแพงมาใช้แทนไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันมีเชื้อโรคบางชนิดดื้อยาเกือบทุกชนิด จนแทบหายาใหม่มารักษาไม่ได้ กลายเป็นปัญหาที่วงการแพทย์ทั่วโลกพากันวิตกกังวล
- อ่าน 21,362 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้