• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอกซเรย์ มีอะไรบ้าง

 เอกซเรย์ มีอะไรบ้าง


รังสีเอกซ์ค้นพบโดยศาสตราจารย์วิลเฮม คอนราด เรินเก๊นท์ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๘ (ค.ศ. ๑๘๙๕) ที่เมืองเวิสเบิกร์ ประเทศเยอรมนี "รังสีเอกซ์" (X-rays) เป็นคลื่นพลังงานที่มีความสามารถทะลุทะลวงผ่านสารต่างๆได้ ในอัตราที่แตกต่างกันตามแต่ชนิดและความหนาของสารนั้นๆ คลื่นรังสีเอกซ์ได้รับการศึกษา ถึงผลข้างเคียงและอันตรายจากการใช้รังสี และได้พัฒนามาสู่การคิดค้นวิธีการป้องกัน ควบคุม และเข้มงวดในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ โดยให้มีผลกระทบกับผู้คนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น แต่ให้ผลดีทางการวินิจฉัย

การเอกซเรย์นำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างไรบ้าง

๑. ใช้ในการช่วยวินิจฉัย, วางแผน และติดตามผลการรักษา

๒. ใช้ในการรักษา

เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยมีหลายประเภท ดังนี้

๑. เครื่องเอกซเรย์ทั่วๆไป สำหรับถ่ายภาพดูปอด, ช่องท้อง, กระดูก, ไซนัส, กะโหลก ฯลฯ อย่างคร่าวๆ โดยฉายรังสีเอกซ์ผ่านตัวผู้ป่วยไปที่ฟิล์ม

๒. อัลตราซาวนด์ใช้คลื่นเสียงผ่านไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย แล้วสัญญาณส่วนหนึ่งจะสะท้อน กลับมาเพื่อนำไปสร้างภาพ ส่วนมากใช้ตรวจดูการเติบโตและลักษณะของทารกในครรภ์ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของทารกด้วย, ดูช่องท้อง, ช่องเชิงกราน, ตับ, ไต, มดลูก, รังไข่, เต้านม, ต่อมธัยรอยด์, หัวใจ ฯลฯ ข้อดีคือ ไม่มีการใช้รังสีเอกซ์เลย ใช้ได้กับเด็กและหญิงตั้งครรภ์

๓. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ทั้งแบบธรรมดาและความเร็วสูง ใช้รังสีเอกซ์ที่เป็นแถบเล็กๆผ่านส่วนต่างๆของร่างกายที่ต้องการตรวจเป็นแว่นๆไป แล้วให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพ ใช้ตรวจได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง, ปอด, ช่องท้อง, กระดูก, หัวใจและหลอดเลือดหัวใจ สำหรับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Ultrafast CT Scan) ใช้ตรวจดูหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้ดีมาก

๔. เครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า เอ็ม อาร์ ไอ (MRI) ข้อดีคือ ไม่มีการใช้รังสีเอกซ์ ข้อเสียคือ ต้องใช้เวลานอนนิ่งๆ ในเครื่องเป็นเวลานาน ใช้ได้ดีมากในการตรวจดูสมอง, หลอดเลือดไปเลี้ยงสมอง, ไขสันหลัง, ดูหมอนรองกระดูก, เนื้องอกกดทับ  ไขสันหลังและเส้นประสาท, ดูโรคข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ มะเร็งต่อมลูกหมาก มดลูก ฯลฯ

๕. การตรวจทางเอกซเรย์โดยการกลืนสารทึบรังสีทางปากหรือสวนทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูหลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจหาแผล, เนื้องอก, มะเร็ง หรือการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร การตรวจนี้ผู้ป่วยต้องร่วมมือในการเตรียมทางเดินอาหารให้สะอาดมากๆ ผลการตรวจจึงจะดีและแม่นยำ เช่น งดอาหารและน้ำ ๑๒ ชั่วโมงก่อนมาตรวจ

๖. การตรวจทางเอกซเรย์โดยฉีดสารทึบรังสีทางหลอดเลือดดำเพื่อตรวจไต เรียก ไอวีพี (IVP) ใช้สำหรับดูภาวะการทำงานของไต

๗. การตรวจทางเอกซเรย์ ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีพื่อตรวจหลอดเลือดดำ เรียก วีโนแกรม (Venogram) หรือหลอดเลือดแดง เรียก แองจิโอแกรม (Angiogram) ใช้ตรวจดูภาวะหลอดเลือดตีบ, ตัน, โป่งพอง หรือแตก

๘. การตรวจดูถุงน้ำไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในช่องน้ำไขสันหลัง เรียกว่า ไมอีโลแกรม (Myelogram) ตรวจดูการกดทับ, ก้อนหรือความผิดปกติอื่นๆ ของไขสันหลังและเส้นประสาทสันหลัง หลังตรวจด้วยไมอีโลแกรม ต้องนอนราบยกหัวสูง ๑๒-๒๔ ชั่วโมง เพื่อไม่ให้สารทึบรังสีเข้าไปในร่องสมองมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ปวดศีรษะมากหรือชักได้ ปัจจุบันทำน้อยลงมาก เพราะสามารถตรวจด้วย เอ็ม อาร์ ไอ แทนได้ แต่มีราคาแพงกว่า

ข้อควรรู้ก่อนเข้าสู่การตรวจ

๑. ต้องการตรวจดูส่วนไหนของร่างกาย หรือต้องการตรวจหาพยาธิสภาพอะไรที่ทำให้ท่านมีปัญหาทางสุขภาพ

๒. เทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการมีอะไรบ้าง ข้อดี-ข้อเสียเป็นอย่างไรบ้าง

๓. การเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการตรวจมีอะไรบ้าง

๔. รายละเอียดของการตรวจเป็นอย่างไร

๕. ผลแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง ในกรณีหญิงตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์หรือเด็กอย่างไร

๖. ค่าใช้จ่ายในการตรวจเป็นอย่างไรบ้าง

ท่านควรทำความเข้าใจกับขั้นตอนเหล่านี้ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจ เพื่อตอบปัญหาให้ตรงประเด็นให้ได้ผลดีที่สุด เสียค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม และมีการคิดเตรียมป้องกันผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการเอกซเรย์เหล่านี้เป็นการช่วยในการวินิจฉัยโรค หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นแค่เครื่องมือช่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นมนุษย์ที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ว่าเป็นผู้ชำนาญการจริง หัวใจที่สำคัญที่สุดยังคงเป็น ตัวท่านเอง และแพทย์ที่ดูแลท่าน ที่ซักประวัติการเจ็บป่วยและตรวจร่างกายของท่านอย่างละเอียด และต้องการความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ข้อสำคัญ "ถ้าท่านตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์โปรดแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางเอกซเรย์ทุกครั้งก่อนรับการตรวจด้วยวิธีการใดๆทางรังสีวินิจฉัย"

ข้อมูลสื่อ

245-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 245
กันยายน 2542
เรื่องน่ารู้
พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์