• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพช่องปากในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณลำคอและศีรษะ

มีผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณคอและศีรษะมากมายไม่เข้าใจและมีปัญหาเกี่ยวกับทันตแพทย์อยู่เป็นนิจ เหตุใดการรักษาโรคมะเร็งบริเวณคอและศีรษะถึงจะต้องถูกส่งต่อมาทำฟันก่อนทำการรักษาด้วยการฉายรังสี และรังสีแพทย์จะต้องขอให้ทันตแพทย์รับรองว่า ไม่มีฟันผุและโรคเหงือก มิฉะนั้นจะไม่ทำการฉายรังสีให้

ปัจจุบัน อัตราการเกิดโรคมะเร็งในช่องปากและลำคอเพิ่มขึ้นทุกปี การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งบริเวณนี้มีมากกว่าร้อยละ ๕๐ มีทั้งการฉายแสงรังสีร่วมกับการรักษา ทางเคมีบำบัด และ/หรือการผ่าตัด นอกจากรังสีจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเซลล์ปกติอีกด้วย ทำให้ผิวหนังบริเวณใบหน้า ลำคอดำไหม้ รวมถึงทำให้อวัยวะในช่องปากเกิดฟันผุอย่างรวดเร็ว น้ำลายลดน้อยและเหนียวข้น เยื่อบุช่องปากอักเสบ กระดูกตายบางส่วน และผลกระทบเหล่านี้จะเกิดแก่ผู้ป่วย มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอาหาร การปฏิบัติตน และความต้านทานต่อรังสี ที่ได้รับของแต่ละบุคคล ทันตแพทย์จะช่วยทำให้ผู้ป่วยที่ฉายรังสีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นใกล้เคียงกับบุคคลธรรมดา โดยการดูแลและรักษา ก่อน-หลัง และระหว่างการฉายรังสี รายละเอียดการฉายรังสีของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งจะช่วยในการกำหนด ชนิด ขอบข่ายของการรักษาทาง ทันตกรรมให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป

รังสีแพทย์จะเป็นผู้กำหนดการให้รังสีแก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยจะกระจายปริมาณของรังสีครั้งละน้อยๆ หลายครั้งจนครบ โดยผู้ป่วยไม่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ปกติจะฉายรังสี ๕ วัน ติดต่อกันใน ๑ สัปดาห์ และหยุด ๒ วัน เพื่อให้เซลล์ปกติฟื้นตัว เพื่อต่อต้านการฉายรังสีคราวต่อไป การฉายรังสีตรงเป้าหมายจะมีผลต่อเซลล์มะเร็ง แล้วยังมีผลต่อเซลล์ปกติอีกด้วย ทำให้อวัยวะใกล้เคียงเกิดอาการผิดปกติ ชั่วคราวขณะทำการฉายรังสีและทำการรักษา

อวัยวะในช่องปากมีผลกระทบ จากรังสีขณะทำการรักษามาก จะเกิดหลังจากการได้รับรังสีแล้ว ๑๐ วัน ต่อเนื่องจนจบกระบวนการอีกประมาณ ๓-๖ เดือน ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติในสภาพจิต หงุดหงิด เบื่อหน่าย ท้อแท้ พร้อมกับปวดแสบร้อน บริเวณกระพุ้งแก้ม เพดาน พื้นของปาก ลิ้น และลำคอ การรับรสจะเสียไป ลิ้นจะไวรสขมและกรดมากกว่ารสเค็มและหวาน เจ็บคอ ไอ กลืนอาหารแข็งเหนียวลำบาก น้ำลายเหนียวข้นลดน้อยลง อ้าปากได้ยาก กินอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลด ฯลฯ อาการเหล่านี้ เกิดขึ้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่ที่ความ ต้านทานของแต่ละบุคคล ถ้าเกิดแผลบนเหงือก บริเวณกระดูกขากรรไกรล่าง ซึ่งเป็นกระดูก เนื้อแน่น ระหว่างและหลังการฉายรังสีจะติดเชื้อลุกลามถึงกระดูกได้ง่าย และเกิดกระดูกตาย เนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณนี้ บางรายเกิดจากการถอนฟันหลังการฉายรังสี หรือการถูไถของฟันปลอมที่ไม่สมบูรณ์ ฟันจะผุอย่างรวดเร็วภายหลังทำการฉายรังสี เนื่องด้วย น้ำลายมีความเป็นกรดมากขึ้นเพราะ ปริมาณน้ำลายลดลง มีการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงฟัน ความสามารถในการขจัดเชื้อโรคลดลง และยังมีผลต่อฟันโดยตรง โดยเฉพาะ ในเด็ก เซลล์ของกระดูกและฟันไม่เจริญเต็มที่ ควรงดดื่มสุราและสูบ บุหรี่ เพราะจะทำให้ปากแห้งมากขึ้น ฟันจะเริ่มสึกกร่อนยุ่ยบริเวณคอฟันก่อน เนื่องด้วยการลดลงของแคลเซียม อาการเหล่านี้จะเกิดได้ขึ้นอยู่กับปริมาณ เทคนิคของการฉายรังสี สภาพของฟันก่อนตรวจการฉายรังสี และการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก

มีผู้ป่วยมากมายที่เข้าใจและมีสมาธิมุ่งมั่น ต่อสู้กับอาการดังกล่าวขณะทำการฉายรังสี พร้อมกับได้รับกำลังใจจากครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย คณะแพทย์ผู้ร่วมทำการรักษา ทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นมีคุณ- ภาพชีวิตเกือบเหมือนกับบุคคลธรรมดา เนื่องจากได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ ทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดในช่วงระยะ ๒-๓ เดือนแรกเท่านั้น โดยการ รักษาความสะอาดในช่องปากอย่างถูกต้องภายหลังกินอาหารทุกครั้ง แปรงฟันด้วยขนแปรงอ่อนนุ่มอย่างถูกวิธี อมน้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อมฟลูออไรด์เจล ใช้ยาชาเฉพาะที่ จะใช้ยาแก้ปวดเมื่อจำเป็นจริงๆ จิบน้ำบ่อยๆ ใช้น้ำลายเทียม พยายามอ้าปากกว้างบ่อยๆ คาบ จุกก๊อกนาน ๑-๓ นาที หรือนาน มากเท่าใดยิ่งดี กินอาหารอ่อนรสกลางๆ และอาหารที่เป็นประโยชน์ ถ้ามีอาการไอ คอแห้ง และแผลในปาก ใช้ยาที่ทันตแพทย์ รังสีแพทย์สั่งให้ และกลับไปพบทันตแพทย์ ผู้ทำการรักษาเมื่อมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง

มีผู้ป่วยบางรายละเลยและไม่สนใจตามคำแนะนำของรังสีแพทย์ ปฏิเสธการรักษาทางทันตกรรมภายหลังการรักษาทางรังสี มีปัญหาฟันผุ ปวดฟัน อ้าปากไม่ได้ เบ้ากระดูก ละลาย ฯลฯ ซึ่งยากต่อการรักษา พร้อมได้รับความทุกข์ทรมานจากการปวดฟัน แต่ถ้ามีความจำเป็นที่จะถอนฟันออก ทันตแพทย์อาจจะ พิจารณาเป็นรายๆ หลังจากจบ กระบวนการฉายแสงได้ ๖ เดือน ไปแล้ว ผู้ป่วยควรกินยาแก้อักเสบก่อนและหลังถอนฟันในขนาดเต็มพิกัด และกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจบ่อยๆ จนแน่ใจว่าจะไม่เกิด กระดูกตายและหายเป็นปกติ

ทันตแพทย์จะช่วยป้องกันปัญหาหลังจากการฉายรังสีได้โดย
-ก่อนทำการฉายรังสี ทันตแพทย์จะรักษาเหงือกและฟันให้สมบูรณ์ โดยการตรวจ เอกซเรย์ ถอนฟันที่มีปัญหาออก
-ระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ ทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอตลอดเวลา โดยการรักษาอนามัยในช่องปากให้สะอาด ด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง
-หลังจากฉายรังสีครบกำหนดแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจทุก ๔-๖ สัปดาห์เป็นประจำ นาน ๖-๑๒ เดือน เพื่อทันตแพทย์จะได้ช่วยรักษาอาการเสียวฟัน ฟันผุและอาการอื่นๆของเนื้อเยื่อในปาก

แม้ว่าอาการที่เกิดจากการฉาย รังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งบริเวณลำคอ และศีรษะ มักทำให้เกิดอาการผิดปกติบริเวณฟัน ลิ้น เนื้อเยื่อใน ช่องปาก ลำคอ ฯลฯ อาการเหล่านี้จะทุเลาลดน้อยลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของตัวผู้ป่วยเองเป็นหลัก รวมถึงทีมแพทย์ ทันตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมทำการรักษา ถ้าผู้ป่วยมีสภาพจิตที่เข้มแข็ง มีสมาธิกำลังใจ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด การรักษาอนามัยในช่องปากอย่างถูกวิธี จะทำให้มีคุณภาพชีวิตเสมือนบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างมีความสุข

ข้อมูลสื่อ

230-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 230
มิถุนายน 2541
เรื่องน่ารู้
ทพ.พิทักษ์ ไชยเจริญ