• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร” ยาหรืออาหาร...กันแน่

คุณภาพของยาวัดกันที่มาตรฐานการผลิต ซึ่งสามารถแสดงผลโดยการตรวจวิเคราะห์ตั้งแต่น้ำหนักเม็ดยา ความสึกกร่อน เวลาในการกระจายตัว ปริมาณตัวยาสำคัญ ไปจนถึงการตรวจระดับตัวยาในกระแสเลือดเมื่อผู้ป่วยได้รับยานั้นๆ… การเลือกซื้อยาจึงต้องมีข้อมูลลึกๆ

มาคราวนี้ผมได้รู้จักกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะขอเรียกว่า “คนทันสมัยที่สนใจสุขภาพ(ตนเอง)” คนกลุ่มนี้มีปัญหาในการใช้ยาที่นอกเหนือ ไปจากธรรมดา…คือ
๑. รู้สึกไม่ตื่นเต้นกับการใช้ยาทั่วๆไป เพราะไม่มีการโฆษณาสรรพคุณของยาให้เป็นที่รับรู้กันอย่างเปิดเผยเหมือนการโฆษณาขายสินค้าอื่นๆ ถ้าอยากจะรู้จริงๆก็ต้องสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร บางครั้งก็บอก บางครั้งก็ไม่บอก ที่บอกก็ไม่เจาะลึกไม่สะใจ
๒. จะซื้อยาใช้เองก็กล้าๆกลัวๆ หากต้องการได้ยาที่ตรงกับโรคต้องให้ แพทย์ตรวจหรือต้องปรึกษาเภสัชกร รู้สึกยุ่งยากเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เงินของเราแท้ๆ จะซื้อใช้ให้สะใจก็ไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับผู้อื่น
๓. เมื่อใช้แล้วก็ต้องระวังการแพ้ยา พิษของยา และผลข้างเคียงจากยาอีก
๔. บ่อยครั้งที่ใช้ยารักษาโรคแล้วไม่หาย ทำให้ผิดหวัง

คนทันสมัยที่สนใจสุขภาพ (ตนเอง)เล่าให้ผมฟังต่อว่า เดี๋ยวนี้เขาค้นพบ “ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่” ที่ตอบสนองความต้องการของเขาได้… คือ
๑. มีการโฆษณาสรรพคุณได้อย่างตื่นเต้น อึกทึกครึกโครมถึงพวกเขาโดยตรงแบบไม่ต้องรอให้สอบถาม จึงเป็นความหวังใหม่ของพวกเขาที่จะดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ๒. หาซื้อได้ตามสะดวก โดย ไม่ต้องให้ใครมาอนุญาต มาสั่ง มาเตือน เพราะเขาเป็นผู้จ่าย
๓. ไม่ต้องคอยระวังการแพ้พิษภัย รวมทั้งผลข้างเคียง เพราะโฆษณาบอกว่าเป็น “สารอาหาร”
๔. กล่าวอ้างว่ามีผู้ใช้แล้วได้ผลมากมาย เป็นที่ฮือฮา

เมื่อได้ฟังดังนั้นผมจึงรีบสอบถามถึง “ผลิตภัณฑ์ใหม่” เหล่านั้นทันที และก็ได้รับการบรรยายอย่างคล่องแคล่ว มีชีวิตชีวา
พอบรรยายเสร็จก็หันมาทางผมแล้วย้อนถามว่า “มีข้อแนะนำอะไรหรือไม่…อย่างไร” ในฐานะเภสัชกร ผมคิดอยู่ครู่หนึ่ง จึงเอ่ยปากชวนคนกลุ่มนี้เข้าไปในร้านขายยาซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เพื่อจะได้สำรวจ “ผลิตภัณฑ์ใหม่” เหล่านี้ด้วยกัน

เมื่อสังเกตดูข้อความที่ระบุในฉลากข้างกล่องของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แล้ว ก็สังเกตพบว่าฉลากเหล่านี้ ระบุถึงส่วนประกอบ วิธีกิน ผลิตจากที่ไหน ราคา คำเตือน และเครื่องหมาย อย.

ผมย้อนถามคนทันสมัยที่สนใจสุขภาพ(ตนเอง)ว่า “ในฉลากข้างขวดผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ไม่มีการระบุสรรพคุณ ในการรักษาหรือป้องกันโรคเลย พวกคุณไปรู้สรรพคุณมาจากไหน”
เพื่อนผมยิ้มแล้ว ตอบทันทีว่า “ลองสอบถามคนขายสิ”
จากนั้นคนขายก็บรรยายถึงสรรพคุณ พร้อมทั้งนำเอกสารแผ่นพับให้ผมดู ผมรู้สึกตกใจมาก เพราะสาระในเอกสารนั้นระบุถึงสรรพคุณในการรักษาโรค ที่นอกเหนือไปจากฉลากของผลิตภัณฑ์(ที่ยกตัวอย่างมา)มากมาย บ้างก็เป็นเอกสาร บ้างก็เป็นแผ่นพับที่ไม่ระบุผู้เขียน บ้างก็ระบุผู้เขียนที่เป็นแพทย์ เภสัชกร โภชนาการ ทั้งในและต่างประเทศ บางเอกสารเป็นบทความจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร บ้างก็เป็นบทสัมภาษณ์นักธุรกิจชื่อดังที่ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ แล้วได้ผล เอกสารเหล่านี้ลงทุนทำเป็นอย่างดี มีภาพสีสันที่ชวนให้อ่าน นอกจากนี้คนขายยังบอกอีกว่าบางผลิตภัณฑ์เคยมีการออกรายการทางโทรทัศน์ด้วย

เมื่อออกมาจากร้านขายยาแล้ว อาศัยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ผมสรุปให้คนทันสมัยที่สนใจสุขภาพ(ตนเอง)ฟัง…ดังนี้
๑. ผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ใช่ยา (“ยา” ตามพระราชบัญญัติยา หมายถึงสิ่งที่มีผลหรือใช้ใน การป้องกันบำบัด บรรเทาและรักษา โรค) แต่เป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” (ตามพระราชบัญญัติอาหาร หมายถึง สารหรืออาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับผู้บริโภคซึ่งประสงค์จะเสริมอาหาร เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ เท่านั้น) เราจึงเห็นได้ว่าที่ฉลากของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุขจะไม่ระบุสรรพคุณในการรักษาโรค (สรรพคุณในการรักษาโรค จะระบุได้ในฉลากยาเท่านั้น) ส่วนเอกสารอื่นๆนอกเหนือจากฉลาก จะเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติอาหารหรือไม่นั้นต้องให้ อย. เป็นผู้ตรวจหรือ วินิจฉัย
๒. เครื่องหมาย อย. ที่ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ คือ
ฉผทป หมายถึง ฉลากผลิต-ภัณฑ์-เสริมอาหารประเภททั่วไป
ฉผผส หมายถึง ฉลากผลิต-ภัณฑ์-เสริมอาหารที่ผลิตในประเทศ
ฉสผส หมายถึง ฉลากผลิต-ภัณฑ์-เสริมอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
๓. ปกติการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา (เครื่องหมายทะเบียนตำรับยาคือ Reg-No._/_) ตามพระราชบัญญัติยา หากเป็นยาที่มีอยู่เดิมในตำรับยา ก็ต้องแสดงเอกสารอ้างอิงผลในการรักษาโรค ซึ่งเป็นการวิจัยทางคลินิกที่ทำกันมา แล้ว นอกจากนี้ต้องแสดงถึงวิธีการวิเคราะห์ตัวยาที่มีแหล่งอ้างอิงในตำรายา

หากเป็นการขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ เมื่อแสดงเอกสารทางวิชาการที่ระบุสรรพคุณในการรักษาโรคแล้ว จะได้รับ “ทะเบียนยาชั่วคราว” ซึ่งยังไม่สามารถวางจำหน่วยทั่วไปได้ ต้องทำการทดลองทางคลินิก เพื่อศึกษาผลในการรักษา ผลข้างเคียงของยาต่อผู้ป่วยที่เป็นคนไทยใน โรงพยาบาลรัฐบาลเป็นเวลา ๒ ปี แล้วเก็บข้อมูล สรุปผล หากไม่มีปัญหาจึงจะได้รับ “ทะเบียนยา ถาวร” ในระหว่างการทดลองทางคลินิก ค่าใช้จ่ายทั้งหมดบริษัทผู้ผลิตยาใหม่นั้นเป็นผู้จ่าย

จะเห็นได้ว่า สารใดๆกว่าจะได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น “ยา” นั้นมีขั้นตอนควบคุมมากมาย(มากกว่า ขอขึ้นทะเบียนอาหาร)เพื่อให้แน่ใจว่า จะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ คำถามที่เกิดในใจของผมขณะนี้คือ หากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ มี สรรพคุณในการรักษา โรคได้จริง ทำไมจึงไม่ขอขึ้นทะเบียนเป็น “ยา” (แต่คล้ายๆ จะเป็นการเลียนแบบยามากกว่า)

มาถึงตรงนี้คนทันสมัยที่สนใจสุขภาพ(ตนเอง) จะรู้สึกตื่นเต้น กับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นความหวังของตนอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมจึงขอเสนอแนะหลักในการพิจารณาเลือกใช้ดังนี้
๑. ควรหาข้อมูลที่มีแหล่งอ้างอิงถึงสรรพคุณที่เชื่อถือได้
๒. อย่าคาดหวังผลในการรักษาโรคมากเกินไป ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ในการใช้ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ว่ามุ่งหวังให้ร่างกาย ทำงานเป็นปกติเท่านั้น
๓. ต้องให้เวลา(นานๆ)กว่าจะเกิดผลต่อร่างกาย เพราะปริมาณสารสำคัญอาจจะยังไม่แน่นอน
๔. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ หากสามารถทดแทนด้วยอาหารที่มีสารสำคัญนั้นๆ จะเป็นการประหยัดและช่วยชาติได้อย่างมากในยุคภาวะ เศรษฐกิจเช่นนี้
 
                                         

ข้อแนะนำสุดท้ายที่ผมบอกกับ คนทันสมัยที่สนใจสุขภาพ(ตนเอง) ซึ่งน่าจะเป็นความหวังใหม่จริงๆ ก็ คือ กลับมาสนใจเรื่องการบริโภค และมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ถูกต้อง จะดีกว่าไปเสียเงินแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ความรู้ทางสุขภาพต้องทำให้ เกิดปัญญาทางสุขภาพด้วย ส่วน ความทันสมัยต้องทำให้เราพึ่งตนเองได้ด้วย มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหา (ทาง เศรษฐกิจ)ที่คนไทยเราทุกคนกำลังประสบอยู่ จริงไหมครับ…

ตัวอย่างฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
เลซิติน ประกอบด้วย เลซิติน ๑๐๐%
ใน ๑ แคปซูลมีเลซิตินที่สกัดได้จาก ถั่วเหลือง ๑,๒๐๐ มิลลิกรัม ไม่มีสาร กันบูด, ไม่มีแป้ง, ไม่มีน้ำตาล, ไม่แต่งสี กลิ่น รส, ไม่มีเกลือ
กินครั้งละ ๑-๒ แคปซูล พร้อมอาหาร
ผลิตที่ประเทศเยอรมัน ราคา ๒.๔๐ บาท/เม็ด

ใยอาหารชนิดแคปซูล
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับผู้ต้องการใยอาหารจากหัวบุก ผลิตภัณฑ์นี้ให้ใยอาหาร ซึ่งช่วยเพิ่มกากในระบบทางเดินอาหาร การได้รับสารอาหารต่างๆนั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลัก ที่หลากชนิดครบทั้ง ๕ หมู่ และเป็น สัดส่วนที่พอเหมาะ
การใช้ ในเด็กและหญิงมีครรภ์ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ การกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์
คำเตือน เพื่อป้องกันภาวะอุดตันของลำไส้ที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ ใยอาหารชนิดแห้ง
ควรกินพร้อมน้ำ ๑-๒ แก้ว วิธีใช้ กินวันละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๒ แคปซูล และดื่มน้ำตาม ๑-๒ แก้ว พร้อมมื้ออาหาร
ผลิตในประเทศไทย ราคา ๕.๓๐ บาท/แคปซูล

ข้อมูลสื่อ

230-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 230
มิถุนายน 2541
ภก.นิพล ธนธัญญา