• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทองจำเป็นไหม?

การใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทองจำเป็นไหม?

เรื่องของผู้หญิงวัยทองกับเรื่องการใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยนี้ เพื่อบำบัดอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น กำลังเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองฝ่าย
คือ ควรใช้ และไม่ควรใช้

ฝ่ายที่ตัดสินใจเลือกใช้ ฮอร์โมน ส่วนใหญ่มีเหตุผลสำคัญนอกเหนือจากการรักษาคือ"ไม่อยาก เหี่ยวเร็ว" (แม้ว่าจะต้องแก่ตามธรรมชาติอยู่แล้วก็ตาม) แล้วเชื่อว่า
ฮอร์โมนจะช่วยชะลอความชราให้ช้าลงอีกหน่อย ส่วนอีกฝ่ายทั้งที่ไม่อยากแก่เหมือนกัน แต่ก็กลัวว่าถ้ากินฮอร์โมนแล้วจะทำให้เป็นมะเร็ง

แล้วแนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร

ก่อนจะไปฟังคำตอบจากศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการวิจัยการป้องกันและเฝ้าระวังโรคกระดูกพรุนในคนไทย ตอบคำถามในประเด็นเหล่านี้ เรามาทำความเข้าใจถึงความสำคัญ และบทบาทของฮอร์โมนที่มีต่อผู้หญิงกันก่อน

ฮอร์โมนสำคัญอย่างไร
ฮอร์โมน เป็นสารเคมีที่หลั่ง ออกมาจากต่อมไร้ท่อ* ซึ่งเป็นต่อมขนาดเล็ก (รูปร่างแปลกๆ) ที่กระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

แต่ก่อนนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าร่างกายสร้างฮอร์โมนได้ประมาณ ๔๐ ชนิด แต่ในปัจจุบันพบว่าร่างกายสร้างฮอร์โมนได้มากกว่า ๑๐๐ ชนิด และยังคงพบเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยอยู่เรื่อยๆ

ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญคือ ทำหน้าที่ควบคุมและรักษาสภาวะสมดุลภายในร่างกายให้คงที่ เช่น รักษาระดับเกลือแร่และน้ำภายในร่างกาย รักษาระดับน้ำตาลในเลือด และรักษาระดับเกลือในเหงื่อให้เหมาะสมกับสภาวะของร่างกายในขณะนั้น

ฮอร์โมนบางประเภทอาจส่งผล ต่อร่างกายในระยะยาว เช่น ฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย และการเจริญพันธุ์ฮอร์โมนบางชนิด ส่งผลชั่วคราวเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น ฮอร์โมนที่กำกับรอบประจำเดือน ในผู้หญิง หรือฮอร์โมนที่อาจมีผล อย่างรวดเร็ว เช่น ฮอร์โมนที่ร่างกาย สร้างขึ้นเมื่อเจ็บป่วย บาดเจ็บ หรือเมื่อสมองรับรู้ถึงอันตราย นอกจากนี้ ฮอร์โมนยังมีบทบาทอีกมากมายใน ส่วนที่เกี่ยวกับจิตใจ เช่น ความกลัวความโกรธ ความสุข และความเศร้า

ฮอร์โมนแห่งความเป็นหญิง
ฮอร์โมนสำคัญที่มีบทบาทต่อความเป็นผู้หญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

เอสโตรเจน
เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ ตั้งแต่ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยมีประจำเดือน เอสโตรเจนจะทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบอวัยวะเพศ หรือระบบสืบพันธุ์ให้เจริญเติบโตเต็มที่ เช่น ทำให้เต้านมขยายตัวขึ้น ทำให้มีการสะสมของไขมันตามลำตัวในลักษณะที่แตกต่างจากผู้ชาย (ในผู้หญิงไขมันจะสะสมตามแขน ขา และสะโพกค่อนข้างมากกว่าผู้ชาย) หน้าที่ของเอสโตรเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น และ รับการเปลี่ยนแปลง เตรียมพร้อมที่จะรับการฝังตัวของไข่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างขึ้นจากรังไข่หลังไข่ตก เมื่อได้รับการ ปฏิสนธิจากสเปิร์มของเพศชาย

ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสม ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลง ทำ ให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกสร้างไว้หลุด ลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนทุกๆ เดือน เป็นวงจรไปเรื่อยๆ ในชีวิตผู้หญิง ๑ คน จะมีประจำเดือน เกิดขึ้นรวมแล้วประมาณ ๔๐๐ รอบ ซึ่งหากกลไกดังกล่าวทำงานผิดพลาด หรือระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนไม่อยู่ในภาวะสมดุล ก็จะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมีประจำเดือนเกิดขึ้น

นอกจากหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงยังทำให้ร่างกาย และเนื้อเยื่อต่างๆ มีความแข็งแรง แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ เช่น มีการขยายของหน้าอก มากขึ้น มีการสร้างมูกในช่องคลอดมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีฮอร์โมน ผู้หญิงก็จะดูเต่งตึง สดใส มีน้ำมี นวล เซลล์ต่างๆ จะเสื่อมสภาพช้าลง กระดูกก็ยังคงสภาพที่ค่อนข้างแข็งแรง

ปัจจุบันเด็กผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น (รวมทั้งเด็กไทย) นั่นคือ ประมาณ ๙ ปีขึ้นไป ทั้งนี้อาจมีเหตุปัจจัยความเจริญในด้านต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และสภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้หญิงก็จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้าลง

ภาวะหมดประจำเดือน
การหมดประจำเดือนเกิดขึ้นได้ ๒ กรณี คือ หนึ่ง หมดไปเองตามธรรมชาติ สอง เกิดจากการผ่าตัด เอารังไข่ออกเพื่อรักษาโรค ซึ่งจะทำ ให้เกิดอาการผิดปกติเร็วกว่าผู้หญิงที่หมดประจำเดือนตามธรรมชาติ

อาการที่บ่งบอกว่าได้ย่างเข้าสู่ วัยทองแล้ว ในผู้หญิงอาจจะแสดงอาการล่วงหน้าประมาณ ๓-๔ ปี (ก่อนที่รังไข่จะหยุดทำงาน หยุดผลิต ฮอร์โมน) นั่นคือ ประจำเดือนจะเริ่ม มาผิดปกติ เช่น จะมาเดือนละ ๒ ถึง ๓ ครั้ง หรือประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้าง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่ารังไข่ทำงานน้อยลง ถ้าประจำเดือน ไม่มา ๖ เดือน บางครั้งอาจจะกลับ มาใหม่ได้ แต่ถ้าประจำเดือนหยุดไปนานถึง ๑ ปี ก็แสดงว่ารังไข่หยุด ทำงานแล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยผู้หญิงไทยจะหมดประจำเดือน เมื่ออายุประมาณ ๔๘-๕๐ ปี

อาการเมื่อขาดฮอร์โมน
เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในชีวิตผู้หญิง ทำให้เกิดอาการต่างๆ (ที่น่ารำคาญ) เสี่ยงต่อการเจ็บ ป่วยและเป็นโรคเพิ่มขึ้น
หลังหมดประจำ เดือนใหม่ๆ ประมาณ ๖ เดือนถึง ๑ ปี ผู้หญิงส่วนใหญ่จะ ได้เจอะเจอกับสภาวะ "เลือดจะไป ลมจะมา" นั่นคือ เกิดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายทำงานผิดปกติ เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน นี่ล่ะ! คือคำตอบที่บอกให้ทราบว่าทำไมขณะที่ผู้อื่นหนาว แต่ตัวเรากลับรู้สึกร้อนผ่าว สมัยก่อนมีความเชื่อกันว่า ผู้หญิงที่คลอดลูกแล้วไม่ได้อยู่ไฟ หรือคลอด ลูกแล้วไปอาบน้ำ ไปสระผม เมื่อแก่ ตัวเข้าจะมีอาการวูบวาบ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว แต่ความรู้ทางการแพทย์ ที่ทันสมัยตอบคำถามนี้ว่าไม่ได้เกี่ยวกับการไม่ได้อยู่ไฟ อาการดังกล่าวเป็นอาการของการขาดฮอร์โมนเพศหญิง

บางคนอาจจะรู้สึกใจสั่น นอนไม่หลับ อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ผิว พรรณแห้ง หรือปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดเวลาจามหรือไอ มีอาการปัสสาวะแสบๆ ขัดๆ ช่องคลอดแห้ง เพราะท่อปัสสาวะและหูรูดสูญเสีย การทำงานตามปกติ อันเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในระยะยาว (อาจจะ ๕ ปี ๑๐ ปี ถึงจะแสดงอาการ) เมื่อหมดฮอร์โมนเพศ ภาวะเสี่ยงที่น่ากลัวสำหรับผู้หญิงวัยนี้คือ โรคกระดูกผุ หรือกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคสมองเสื่อมหรือ อัลไซเมอร์

โรคกระดูกผุ หรือกระดูกพรุน เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวที่จะป้องกันการสลายกระดูก ในช่วงปีแรกของการหมดประจำเดือน จะเกิดการสูญเสียมวล กระดูกไปเร็วมาก อาจจะถึงร้อยละ ๕ ต่อปี เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่มีพื้นฐาน (ต้นทุน) ของกระดูกที่ไม่แข็งแรง เมื่อหมดประจำเดือน อาจเกิดภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนได้ง่าย
โรคกระดูกพรุนมักจะไม่แสดงในระยะเริ่มแรก ความน่ากลัวของโรคนี้คือ กระดูกจะเปราะ หักง่าย แม้เพียงอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น หกล้ม หรือเอามือยันพื้น ซึ่งนอกจากเรื่องกระดูกเปราะแล้ว ยังมีผลทำ ให้รากฟันเสียง่ายอีกด้วย

โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิง เนื้อเยื่อภายในร่างกายที่เคยนุ่ม ยืดหยุ่นได้ดี ก็จะแข็งตัวขึ้น รวมถึงหลอดเลือดเล็กๆ น้อยๆ มากมาย ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจมีการแข็งตัวได้ง่าย ขึ้น เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก จน เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ภาวะดังกล่าวนี้ อาจเกิดขึ้นได้ หลังหมดประจำเดือน ๑๐ ปีขึ้นไป ซึ่งตามปกติโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันจะเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงวัยทอง จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิงที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์

โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ในระยะหลังๆ มีการศึกษาพบว่าการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจมีผลกับสมอง ที่ทำให้ผู้หญิงวัยทองจำนวนไม่น้อยมีอาการเกี่ยวกับความจำ เช่น อะไรที่เคยจำได้กลับจำไม่ได้ โดยเฉพาะความจำระยะสั้นที่จำไม่ได้ ว่าวางสิ่งของไว้ตรงไหน หาอะไรไม่เจอ

ฮอร์โมนเพศ นอกจากจะมีความสำคัญมากในการควบคุมความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ฮอร์โมนเพศยังทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือ ต่อต้านความชราด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อหมดฮอร์โมนจึงมีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายหลายระบบ รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันโรค จึงทำให้ผู้หญิงวัยทองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น
แต่มีข้อที่น่าสังเกตประการ หนึ่ง คือ อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน แล้วในแต่ละคนก็มีอาการแตกต่างกัน บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย และบางคนก็ไม่มีอาการผิดปกติอะไรเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องของกรรมพันธุ์ การออกกำลังกาย ภาวะโภชนาการ และสิ่งแวดล้อม

เสริมฮอร์โมนทดแทนดีไหม
เรื่องการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมในวัยหมดประจำเดือนนี้ ยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่หลายประเด็น
ประการแรก คือ คนทั่วไปมักจะคิดกันว่า เมื่อหมดประจำเดือน ผู้หญิงทุกคนจะต้องกินฮอร์โมนเสริม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะผู้หญิงวัยทองบางคนก็ไม่จำเป็นต้องกินฮอร์โมนทดแทนเลย สำหรับคนที่สุขภาพแข็งแรงมาก ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนของคนในครอบครัว ไม่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด (ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน มีไขมันสูง) หรือไม่มีสามี

ประการที่สอง คือ ความรู้ที่บอกเล่ากันปากต่อปากว่า กินฮอร์โมนแล้วจะทำให้ผิวพรรณเต่งตึงและเป็นสาวขึ้น ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ก่อน อื่นก็ต้องไม่ลืมว่า ไม่มีใครสามารถหยุดอายุและหยุดยั้งเวลาในโลกนี้ได้ เพราะยังไงความแก่ชราก็ต้องมาถึง อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าคนเราจะใช้ ชีวิตในวัยนี้อย่างไรให้มีคุณภาพ
การใช้ฮอร์โมนเสริม (ในบาง คน) อาจจะช่วยชะลอความแก่ได้ บ้าง ในแง่ที่จะทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกายเกิดขึ้นช้าลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สาว ขึ้น จนดูเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เช่น ทรวงอกอาจจะไม่หย่อนยานเร็วเกินไป ผิวพรรณถึงแม้จะเหี่ยวย่นอยู่แล้ว แต่ฮอร์โมนจะช่วยไม่ให้เหี่ยวย่นเร็วไปมากกว่านั้น

ประการที่สาม คือ การที่ญาติพี่ น้อง หรือเพื่อนๆ แนะนำบอกต่อให้ซื้อฮอร์โมนมาใช้เอง ทั้งที่ยังไม่หมด ประจำเดือน เป็นการกินเพื่อป้องกัน โรคกระดูกพรุนเอาไว้ก่อน รวมทั้งกินเพื่อยืดอายุการมีรอบเดือนให้ยาว นานออกไป หรือผู้ที่หมดประจำเดือนแล้วซื้อฮอร์โมนมากินเอง (ด้วยความไม่รู้ว่าอาจจะมีโทษ) กรณี อย่างนี้ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง เพราะ จะว่าไปแล้วการใช้ฮอร์โมนทดแทนก็เหมือนกับการใช้ยารักษาโรค ที่ เปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ  ห้ามซื้อฮอร์โมนมาใช้เองโดยเด็ดขาด  และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะแพทย์จะต้องทำการตรวจร่างกายและซักประวัติอย่างละเอียด เช่นถามว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีใครเป็นโรคกระดูกพรุนบ้าง มีคน ในครอบครัวหลังโกงหรือกระดูกหักง่ายหรือเปล่า กิจวัตรประจำวันของคนคนนั้นทำอะไรบ้าง เพราะในคนที่ทำกิจกรรมอยู่เสมอ ทำโน่นทำนี่ทั้งวัน ออกกำลังกายอยู่เสมอ มักจะ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องกระดูกผุหรือ กระดูกพรุน ส่วนคนที่นั่งกินนอน  กิน สบายมากเกินไป หรือไม่ได้ออก กำลังกายเลย บุคคลกลุ่มนี้จะมีความ เสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ ง่าย

จากนั้นแพทย์ก็จะดูว่าผู้หญิงคนนั้นหมดฮอร์โมนเร็วหรือเปล่า อายุที่หมดประจำเดือนเร็วมากไหม เพราะในคนที่หมดประจำเดือนเร็ว หรือว่าหมดประจำเดือนเนื่องจาก  การผ่าตัดเอามดลูกหรือรังไข่ออก คนเหล่านี้ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกพรุนได้ง่าย

ส่วนผู้ที่หมดประจำเดือนช้า และมีสุขภาพแข็งแรง มักจะไม่มีปัญหาอะไร แล้วรูปร่างทรวดทรงก็บอกได้เหมือนกัน เช่น คนรูปร่างผอมบางมักเป็นคนที่มีฮอร์โมนในร่างกายน้อย จึงมีปัญหาเรื่องกระดูก พรุนได้ง่าย เคยสังเกตไหมว่า คนแก่หลังโกงที่เราพบเห็นส่วนใหญ่จะเป็นคนผอม และเราจะไม่เคยเจอคน อ้วนหลังโกงเลย เพราะในกรณีของคนอ้วนหรือผู้ที่มีไขมันมาก ร่างกาย ของผู้หญิงคนนั้นจะสามารถสร้างฮอร์โมนจากไขมันขึ้นมาทดแทนได้ในบางส่วน

สิ่งที่แพทย์จะต้องพิจารณาต่อมาคือ ผู้หญิงที่ต้องกินฮอร์โมนมีโรคอะไรที่เป็นข้อห้ามหรือไม่ เช่น  มีโรคเกี่ยวกับเนื้องอกที่มันจะโตขึ้นมาได้หลังจากใช้ฮอร์โมนหรือเปล่า เช่น เนื้องอกของมดลูก หรือเนื้อ งอกของเต้านม สิ่งต่างๆ เหล่านี้แพทย์จะนำมาพิจารณาดูว่าคนไข้ควรจะกินฮอร์โมนหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาดูว่า เมื่อให้ฮอร์โมนไปแล้ว คนไข้สามารถกินต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะถ้ากินไม่ต่อเนื่องก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมาย 

ฮอร์โมนจำเป็นสำหรับใคร
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การให้ ฮอร์โมนทดแทนมีประโยชน์กับผู้หญิงบางกลุ่ม แต่ไม่ใช่กับทุกคน และผู้หญิงที่จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทน คือ ผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และมีอาการเนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรุนแรง เช่น รู้สึกร้อนมาก เหงื่อออก หน้าแดง (วันละหลายสิบครั้ง) อารมณ์หงุดหงิดแปรปรวน นอนไม่หลับ อ่อนเพลียมากจนทำงานไม่ค่อยไหว มีอาการปากแห้ง ตาแห้ง ผิวแห้ง ทางเดินปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ดราดตลอด (ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถปรับตัวได้ภายใน ๓-๖ เดือน ก็ไม่จำเป็นต้องกินฮอร์โมน แล้วอาการจะหายไปเอง) 

อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมน ทดแทนก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นเพียงแค่วิธีการหนึ่ง ในการดูแล สุขภาพของผู้หญิงวัยทอง สิ่งที่สำคัญคือวิถีการดำเนินชีวิตที่จะต้อง มีการออกกำลังกายชนิดแบกรับน้ำหนัก เพื่อทำให้กระดูกแข็งแรง รวม ทั้งการออกกำลังแบบแอโรบิก เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับปอดและหัวใจ การกินอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ อาหารที่มีแคลเซียมและกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ และเครื่อง ดื่มที่มีกาเฟอีน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ด้วยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ผู้หญิงวัยทองทุกคนผ่านช่วงวิกฤติแห่งวัยไปได้อย่างไม่มีปัญหา
ข้อมูลโดย :
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน

l หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

l หัวหน้าโครงการวิจัยการป้องกันและ เฝ้าระวังโรคกระดูกพรุนในคนไทย มหาวิทยาลัยมหิดล

* ในร่างกายของคนเราประกอบด้วยต่อม ๒ ชนิด คือ ต่อมมีท่อ และต่อมไร้ท่อ
 ๑. ต่อมมีท่อ (exocrine) ซึ่งเมื่อมีการสร้างสารเคมีแล้ว จะส่งไปตามท่อที่เชื่อมอยู่กับต่อมนี้ไปสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย หรือออกสู่ภายนอกร่างกาย เช่น ต่อมน้ำลาย และต่อมเหงื่อ
 ๒. ต่อมไร้ท่อ (endocrine) จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน แล้วส่งไปยังหลอดเลือดโดยตรง เพื่อไปยังอวัยวะเป้าหมายทั่วร่างกาย เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต และอัณฑะ

"วัยทอง" กับทรรศนะของแพทย์**
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์(สูติ-นรีแพทย์, นักเขียน)

แนวคิดการให้ฮอร์โมนทดแทนมาจากการแพทย์ตะวันตก ซึ่งคนตะวันตกจะมีวิถีชีวิตต่างจากคนไทยหลายประการ เช่น กินอาหารที่มีไขมันมาก ไม่ค่อยได้รับแสงแดด จึงไม่ได้รับวิตามินดี แต่ได้รับแคลเซียมจากอาหาร จึงต้องกินฮอร์โมนเติมเข้าไปเพื่อป้องกันโรคกระดูกบาง

สำหรับวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งกินอาหารที่ได้จากธรรมชาติ พืช ผัก ผลไม้ (ยกเว้นคนที่กินอาหารแบบตะวันตก) และออกกำลังกายเป็นประจำ ทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อและออกแรง ได้รับแสงแดดในเวลาเช้า-เย็นสม่ำเสมอ และได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องกินฮอร์โมนเสริม

แต่ถ้ากลัวกระดูกจะบางก็ไปตรวจความหนาแน่นของกระดูก เพื่อหาทางป้องกัน แต่ถ้ากระดูกบางแล้ว คง จะใช้วิธีธรรมชาติไม่ไหว ต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นกระดูกจะหักเสียก่อน จึงจำเป็นต้องเสริมฮอร์โมนเพื่อสร้างความหนาแน่นของกระดูก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับฮอร์โมน แคลเซียม และวิตามินดีแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักด้วย ไม่ใช่หวังพึ่งฮอร์โมนหรือยาเพียงอย่างเดียว เมื่อกระดูกหนาขึ้นแล้วจะเลิกใช้ฮอร์โมน หรือใช้ต่อ ค่อยปรึกษาหมออีกครั้ง

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน
(หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)
สมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ได้อยู่ถึงอายุ ๗๐-๘๐ ปี จะมีบ้างก็เป็นส่วนน้อย ตามสถิติเมื่อประมาณ ๕๐ ปีก่อน ผู้หญิงไทยมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๕๐ ปี ช่วงหลังอายุขัยสูงขึ้น ปัจจุบันผู้หญิงไทยอายุเฉลี่ยประมาณ ๗๐ ปีแล้ว เพราะฉะนั้น โรคภัยไข้เจ็บที่แต่ก่อนไม่มีโอกาสแสดงออก เพราะ ว่าเสียชีวิตไปก่อน ก็เริ่มแสดงอาการให้เห็นชัดเจนขึ้น เช่น โรคกระดูกพรุน หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่ อุบัติการณ์ก็จะเกิดค่อนข้างน้อย แต่พอหมดประจำเดือน อุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยทองจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ในผู้หญิง
ที่ผมสนใจเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงเพราะผมสนใจเรื่องกระดูกพรุน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงอย่างหนึ่งก็คือ การขาดฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อไม่ มีฮอร์โมนเพศหญิง ก็จะไม่มีตัวไปช่วยยับยั้งกระบวนการ สลายกระดูก ทำให้เกิดกระบวนการสลายกระดูกเร็วมาก โดยเฉพาะในช่วง ๕ ปีแรกหลังหมดประจำเดือน
ข้อสงสัยที่ว่าเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงทุกคนจะต้องได้รับฮอร์โมนชดเชยเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคกระดูกพรุนหรือไม่
ขณะนี้มีคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า "ไม่ควรใช้"จากการ วิจัยขนาดใหญ่ที่เรียกชื่อโครงการว่า "Women is Health Initiatives" ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า การใช้ฮอร์โมน เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นระยะเวลาเฉลี่ย ๕.๒ ปี ไม่ สามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่กลับทำให้เกิดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙ เกิดโรคหลอดเลือด สมองอุดตันเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๑ เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเพิ่มขึ้น ๒ เท่า และเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๖ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม ที่ไม่ได้รับฮอร์โมน แต่ข้อดีที่เกิดจากการได้รับฮอร์โมนคือ อุบัติการณ์ของ โรคกระดูกสะโพกหักลดลงร้อยละ ๓๔ และอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดลงร้อยละ ๓๗ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบข้อดีกับข้อเสียแล้วพบว่ามีข้อเสียจากการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงในระยะยาวมากกว่า และข้อสำคัญคือ ไม่สามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้ National Institute of Health ของสหรัฐอเมริกาจึงขอให้หยุดการศึกษานี้ก่อนกำหนด และสรุปว่าไม่ควรใช้ฮอร์โมนเพศหญิงในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีวัยหมดประจำเดือน และในการป้องกันโรคกระดูกพรุน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน และไปใช้วิธีอื่นซึ่งมีผลข้าง เคียงน้อยกว่าแทน ผลงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารการ แพทย์ชื่อ Journal of American Medical Association ฉบับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๕

มีเรื่องหนึ่งที่เรามองข้ามกัน  เวลาที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน บางทีเป็นจุดเริ่มต้นที่สามีจะมีปัญหา นอกใจภรรยา เพราะภรรยาจะรู้สึกเจ็บ เวลามีเพศสัมพันธ์ จึงมักไม่ต้องการให้สามีมีเพศสัมพันธ์ด้วย (ในผู้ชายจะไม่เหมือนผู้หญิง เพราะผู้ชายไม่ ได้ขาดฮอร์โมนเพศอย่างฉับพลันทันที) ผู้ชายบางคนจึงไปมีสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่น ตรงนี้ก็ต้องคุยกันด้วยว่ามีปัญหาเรื่องนี้ด้วยหรือเปล่า ถ้ามีปัญหานี้เพียงอย่างเดียว แพทย์อาจจะใช้ฮอร์โมนเฉพาะที่ก็ได้ เช่น เหน็บหรือทาที่ช่องคลอดแค่นี้ก็พอ
ฮอร์โมนเพศหญิงจะออกฤทธิ์ที่หลายอวัยวะ เช่น ออก ฤทธิ์ที่เต้านม ผนังมดลูก สมอง กระดูก หัวใจ หลอดเลือด และระบบทางเดินปัสสาวะ ในระยะประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาฮอร์โมนเพศหญิงที่เป็นอนุพันธ์ของฮอร์โมน เพศที่ออกฤทธิ์เฉพาะบางอวัยวะ โดยไม่ออกฤทธิ์ที่อวัยวะอื่น เช่น มีอยู่ตัวหนึ่งที่จะออกฤทธิ์ที่กระดูก โดยที่ไม่ออกฤทธิ์ที่เต้านม และไม่ออกฤทธิ์ที่ระบบทางเดินปัสสาวะหรืออวัยวะเพศ ขณะนี้กำลังมีการศึกษาว่า นอกจากจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนแล้ว อนุพันธ์ของฮอร์โมนเพศหญิงตัวนี้จะช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้หรือไม่ โดยไม่ทำให้อุบัติการณ์และมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

ระยะเวลาในการใช้ฮอร์โมนนานเท่าไร...ข้อนี้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ว่าใช้เพราะอะไร ผู้หญิงที่ไม่มีอาการอะไรเลย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเสริม แต่ในรายที่มีอาการผิดปกติ จนไปรบกวนคนรอบข้าง เช่น หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว เป็นต้น กลุ่มนี้ควรจะกินฮอร์โมนในช่วงสั้น ประมาณสัก ๓ ปีก็หยุดได้ ซึ่งข้อมูลเท่าที่มีในเรื่องมะเร็งเต้านมถ้าใช้ไม่เกิน ๔ ปี อุบัติการณ์หรือความเสี่ยงไม่ได้สูงขึ้น

ที่สำคัญคือว่า ฮอร์โมนไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องกลัว เพราะผู้หญิงบางคนจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพื่อบรรเทาอาการทุกข์ทรมานแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น แต่ว่าการใช้นั้นต้องอยู่ในความดูแลและดุลยพินิจของแพทย์ และตัวผู้ป่วยเองร่วมด้วย ผู้ป่วยต้องซักถามข้อมูลจากแพทย์ให้เข้าใจว่าทำไม ตัวเองต้องได้รับฮอร์โมน แล้วมาชั่งน้ำหนักความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หรือประโยชน์ที่จะได้รับ

อย่างกรณีของผู้ที่หมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร จริงๆ แล้วเป็นข้อบ่งชี้อันหนึ่งว่าควรได้รับฮอร์โมนชดเชย อย่างน้อยก็ต้องได้รับฮอร์โมนไปจนถึงวัยที่ผู้หญิงจะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ คืออายุประมาณ ๕๐ ปี

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะสร้างเสริม สุขภาพ ไม่ใช่ได้เฉพาะเรื่องของโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือกระดูก แต่ได้ทั้งกล้ามเนื้อ จิตใจ ได้ทุกอย่าง และช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลายโรค

ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ควรจะเริ่มดูแลตัวเอง เพราะร่างกายเดินทางมาถึงวัยที่จะเสื่อมไปตามธรรมชาติ เราจึงต้องคอยประคับประคองไว้ การใช้ร่างกาย โดยไม่บันยะบันยังมันก็จะเสื่อมเร็ว แต่ถ้าเราคอยดูแล เราก็จะเข้าสู่วัยสูงอายุโดยที่ยังรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ได้
** อ่านเรื่องวัยทองเพิ่มเติมได้ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๒๖๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

ข้อมูลสื่อ

280-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 280
สิงหาคม 2545
เรื่องน่ารู้
กองบรรณาธิการ