ชบาความงามและความหมายเหนือใบหู
ในบรรดาดอกไม้มากมายหลายชนิดที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีมาเนิ่นนานนั้น มีอยู่บางชนิดที่มีฐานะพิเศษกว่าดอกไม้อื่นๆ และได้รับการ ปฏิบัติต่างจากที่อยู่ในประเทศอื่นๆ บ้าง ก็ดีกว่า (เช่น ดอกรัก) บ้างก็ตรงข้าม (เช่น ลั่นทม) ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุผลบาง ประการ เช่น ชื่อในภาษาไทย คำว่า รัก นั้นคนชอบ ต้นรักจึงได้รับความนิยม จากคนไทยมากกว่าที่อื่น ส่วนลั่นทม ฟังคล้ายระทม คนไทยจึงถือว่าไม่เป็น มงคล ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นๆ เขานิยมกันมาก เพราะรูปก็งาม กลิ่นก็หอม ชาวลาวถือว่าเป็นต้นไม้ประจำชาติเลยทีเดียว เพราะเขาเรียกว่า จำปา จึงไม่ถูกรังเกียจเหมือนในไทย
ชบาก็เป็นดอกไม้ที่มีฐานะคล้าย กับลั่นทมในประเทศไทย เพราะถือกันมาแต่โบราณกาลว่า เป็นดอกไม้อัปมงคล ทั้งที่มีดอกงดงาม และได้รับการชื่นชมยกย่องจากชนชาติต่างๆ มากมาย เช่น ชาวมาเลเซีย ถือว่าเป็น ดอกไม้ประจำชาติ เป็นต้น เหตุผลที่ คนไทยมีอคติต่อดอกชบา มีสาเหตุต่างจากลั่นทม เพราะไม่ได้เกิดจากชื่อที่มีความหมายไปใกล้กับสิ่งไม่ดี แต่ เกิดจากวัฒนธรรม ประเพณีแต่ครั้งโบราณ ที่คนไทยรับมาจากอินเดีย ทำ ให้ดอกชบาถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ ของความชั่วร้ายอย่างเป็นทางการมาเนิ่นนาน เพิ่งจะเลิกไปเมื่อราวร้อยปีมานี่เอง ความรู้สึกของคนไทยจึงยังฝังอยู่กับอดีตจนถึงปัจจุบัน
ชบา : พืชที่มาพร้อมฐานะพิเศษ
ชบาเป็นพืชยืนต้นประเภทไม้พุ่มเนื้ออ่อนขนาดย่อม สูงประมาณ ๒.๕ เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hi-bicus rosa-sinensis Linn. อยู่ในวงศ์ Malvaceae เช่นเดียวกับฝ้ายและพุดตาน ชื่อชนิดของชบาบอกถึง ลักษณะดอกว่าคล้ายกุหลาบ (rosa) และเกี่ยวกับเมืองจีน (sinensis)
ชบามีใบค่อนข้างมนรี ปลายแหลม ขอบใบเป็นจักเล็กน้อย ใบยาว ประมาณ ๗-๑๐ เซนติเมตร สีเขียวเข้ม เมื่อขยี้ใบจะเป็นเมือกเหนียว
ดอกชบามีทั้งกลีบชั้นเดียวและ ซ้อนหลายชั้น หากเป็นดอกชั้นเดียวปกติมีกลีบดอก ๕ กลีบ มีก้านเกสร ขนาดใหญ่ตรงกลางดอกหนึ่งก้าน กลีบดอกชบามีขนาดใหญ่ และมีหลาย สี เช่น ขาว เหลือง ชมพู แดง แสด ม่วง ฯลฯ
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชบาเชื่อกันว่าอยู่ในประเทศจีน อินเดีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น หมู่เกาะฮาวาย
ชบาคงเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นอย่างน้อยเพราะพบเอ่ยชื่อในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ไทยคงจะรับต้นชบามาจากอินเดีย เพราะชื่อชบาเชื่อว่ามาจากภาษาสันสกฤต ว่า ชปา เมื่อไทยรับชบามาจากอินเดียจึงรับเอาความเชื่อเกี่ยวกับดอกชบามาจากชาวอินเดีย (ที่นับถือศาสนาพราหมณ์) ด้วย ในอินเดียตอนใต้ใช้ดอกชบาบูชาเจ้าแม่ กาลี และใช้ร้อยเป็นพวงมาลัยสวมคอนักโทษประหาร
คนไทยคงรับเอาคติการใช้ดอก ชบาในทางร้ายมาจากชาวอินเดีย แต่ นำมาปรับใช้ให้เข้ากับกฎหมายไทย ดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงโปรดให้รวบรวมชำระ ขึ้นจากกฎหมาย สมัยกรุงศรีอยุธยามี ปรากฏการใช้ดอกชบาใน พระไอยการ ลักษณะผัวเมีย ใช้ดอกชบาในการประจาน "ผู้หญิงอันร้าย" หรือ"ผู้หญิงแพศยา" ตัวอย่างเช่น มาตรา ๖..."ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวประหน้า ทัดดอกชบาแดงทั้ง ๒ หู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะใส่คอ แล้ว ให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่งชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ประจานด้วย ไถนา ๓ วัน..."หรือ มาตรา ๗ "หญิงใดทำชู้นอกใจผัว มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวณีในวันเดียวสองคนขึ้นไป ท่านว่าเป็นหญิงแพศยา...ให้เอาปูนเขียนหน้าหญิงร้ายนั้นเป็นตารางร้อยดอกชบาเป็นมาลัยใส่ศีรษะ ใส่คอ แล้วเอาขึ้นขาหย่างประจาน..." น่าสังเกตว่า ดอกชบาที่ใช้ในมาตรา ๖ นั้น ระบุชัดเจนว่า เป็นดอกชบาแดงส่วนในมาตรา ๗ ไม่บอกสี (อาจจะใช้สีอื่นได้) และไม่ต้องทัด ๒ หู แต่ต้องขึ้นขาหย่างประจานแทนการเทียม แอกไถนา
ดอกชบาใช้ในการลงโทษผู้หญิง ประเภท "ร้าย" หรือ "แพศยา" จึง ทำให้คนไทยไม่นิยมดอกชบา ในวรรณคดีสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตอนต้น แทบจะไม่กล่าวถึงดอกชบาเลย ยกเว้นบทละครเรื่อง พระศรีเมือง และสังข์ทอง ฐานะของดอกชบาในบทละครทั้ง ๒ เรื่องก็ไม่ได้รับการชื่นชมอะไร ตรงข้ามกลับเป็นดอกไม้ ของคนป่าบ้าใบ้ (เงาะป่า) ในเรื่องสังข์ทอง เพราะใช้ล่อเจ้าเงาะเข้าวังให้นางรจนาเลือกคู่เท่านั้น
ฐานะของดอกชบาในที่อื่นๆ (นอกจากไทยและอินเดีย) กลับต่าง กันมากมาย เริ่มจากมาเลเซีย อินโดนีเซียที่นิยมนำดอกชบามาประดับตก แต่งร่างกาย เช่น ทัดหู หรือแซมผมยิ่งชาวเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฮาวาย ตาฮิติ เป็นต้น ชบายิ่ง ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ สาวๆ ชาวเกาะในชุดแต่งกายพื้นเมือง ต้อง มีดอกชบาทัดหูหรือแซมผมเสมอ จน กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของหมู่เกาะเหล่านี้ไปแล้ว จากความนิยมดังกล่าวนี้เอง ทำให้มีผู้พัฒนา ชบาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีดอกงดงามแปลกตายิ่งขึ้นทุกที จนคนไทยรุ่นใหม่ เริ่มหันมานิยมปลูกชบาที่มีดอกงดงาม สดใสเหล่านี้กันมากขึ้น และราคาต้น ชบาพันธ์ใหม่ๆ ก็แพงไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่นๆ เลยทีเดียว
ชื่อที่คนไทยใช้เรียกชบา มีด้วย กันหลายชื่อ เช่น ชบา (ภาคกลาง) ใหม่ (เหนือ) บา หรือชุมบา (ใต้) ส่วนภาษาอังกฤษเรียก shoe flower
ประโยชน์ของชบา
เนื่องจากชบาเข้ามาอยู่กับคนไทยหลายร้อยปีแล้ว คนไทยจึงรู้จักนำเอามาใช้เป็นยาสมุนไพรอย่างหนึ่ง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บรรยายว่า.."ดอกมีสีต่างๆ พันธุ์ที่ สีแดง ดอกและยอดใช้ทำยาได้"
ตำราประมวลสรรพคุณยาไทย และสรรพคุณสมุนไพร กล่าวถึงเฉพาะการใช้รากชบากำหนดให้ใช้พันธุ์ดอกขาวหรือแดง ให้ใช้รากสดๆ ตำให้ละเอียดใช้พอกฝี แก้ฟกบวม ถอนพิษร้อน หากนำไปต้มดื่มช่วยขับน้ำย่อย ทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น
ดอกชบาสามารถนำมาเป็นสีย้อมได้ ให้สีดำ ในอดีตเคยใช้ย้อมผม ย้อมขนตา และทารองเท้า จึงได้ชื่อว่าดอกรองเท้า (หรือ shoe flower ในภาษาอังกฤษ) นอกจากนี้ เปลือกยังทำเชือกหรือทอกระสอบได้ เช่นเดียวกับปอแก้ว ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน
ต้นชบามีความแข็งแรงทนทาน ปลูกง่าย ตายยาก จึงนิยมปลูกเป็นแนวรั้ว เพราะเพียงแต่ตัดลำต้นหรือกิ่งแก่ๆ เป็นท่อนๆ แล้วปักเฉียงๆ ลง ในดิน รดน้ำพอชุ่มก็พอแล้ว ไม่ต้องทำร่มเงาหรือเพาะชำในโรงเรือนให้ยุ่งยาก ตามโรงเรียนในชนบทมักนิยมใช้ชบาหรือพู่ระหงเป็นแนวรั้ว นักเรียนบ้านนอกในอดีตจึงรู้จักชบาเป็นอย่างดี เพราะส่วนใหญ่เคยปลูกชบากันมาแล้ว
ตามบ้านเรือนของคนไทยในอดีต มักจะปลูกชบาเอาไว้ดูดอก เพราะ ปลูกง่าย ดอกดกตลอดปี ปัจจุบันตาม ชนบทยังพบชบาพันธุ์เก่าๆ อยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ดอกซ้อนสีแดงและสีชมพู สำหรับพันธุ์ใหม่ๆ ที่นิยม ในปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่ผสมขึ้นจากต่าง ประเทศ มักนิยมชนิดกลีบดอกชั้นเดียว เน้นที่กลีบดอกขนาดใหญ่ สีสัน สดใสมากมาย ออกดอกง่ายตลอดปี นอกจากนี้ยังมีชบาพันธุ์ใบด่าง ที่มีใบสีเขียวด่างขาว ใช้ปลูกประดับ ได้ดี
ดอกชบาเหมาะสำหรับร้อยเป็นพวงมาลัย เพราะดอกโตและสีสดใส หากไม่ยึดติดกฎหมายในอดีต (ที่ยกเลิกไปนานแล้ว) ชบาก็เป็นดอกไม้ที่ทัดหูได้งดงามที่สุดชนิดหนึ่ง
- อ่าน 59,699 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้