• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลิ่นหอม บำบัดโรค

กลิ่นหอม บำบัดโรค


ระยะนี้ไปเดินซื้อของ ก็สังเกตเห็นว่า มีร้านที่ขายอุปกรณ์ เตาหอมกับน้ำมันหอมระเหยกันมาก ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเธอเคยใช้น้ำมันหอมระเหย ซึ่งเธอเชื่อว่ามันช่วยบำบัดโรคได้ ด้วยความที่เห็นเราคลุกคลีอยู่กับเรื่องหมอๆ เรื่องโรคๆ (ไม่เกี่ยวกับเชื้อโรค) เธอก็เลยขอร้องให้ช่วย ค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้ให้หน่อย ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก รศ.ดร.วีนา จิรัจฉริยากูล หัวหน้าสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงศาสตร์ในการรักษาโรคด้วยกลิ่นหอมที่เราเรียกว่า อะโรมาเทียราปี

อะโรมาเทียราปี (Aromatherapy) เป็นการแพทย์ทางเลือกของการดูแลรักษาตัวเอง โดยการนำน้ำมันหอมระเหยที่แยกได้จากพืชมาใช้บำบัดรักษาโรคสำหรับ
การสกัดน้ำมันหอมระเหย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ สุขภาพความงามนั้น ถือเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่ได้พบหลักฐานมานมนานแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัยของชาวอียิปต์โบราณ ชาวจีนโบราณ เรื่อยมาจนถึงชาวอาหรับในปลายศตวรรษที่ ๑๐

หลักการใช้น้ำมันหอมระเหย
น้ำมันหอมระเหยใช้หลักจากพืช ถ่ายเทพลังงานให้แก่ร่างกาย ซึ่งกลิ่นหอมนั้นจะช่วยปรับสมดุลของร่างกายและจิตใจ ในทางการแพทย์ คาดว่า มีปฏิกิริยาสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างร่างกายและจิตใจ และถ่ายทอดสู่สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ (limbic system) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลาง

วิธีการใช้น้ำมันหอมระเหย
ให้นำน้ำมันหอมระเหยมาเจือจางด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำผึ้ง (๑๐ หยด ต่อน้ำมันพืช ๓๐ มิลลิลิตร) ใช้ทาภายนอกเป็นน้ำมันสำหรับนวดตัว (massage oil) สูดดม ประคบ อบห้องทำให้บรรยากาศสดชื่น หรือผสมน้ำอาบ

คุณสมบัติในการรักษาของน้ำมันหอมระเหย 

๑. ระคายเคือง
น้ำมันหอมระเหยบางชนิดทำให้ผิวระคายเคือง สังเกตได้จากอาการ ร้อน บวม และแดง เช่น น้ำมันโรสแมรี่, น้ำมันไทม์ ซึ่งจะพบในยาทาแก้ปวดข้อ และปวดปลายประสาท น้ำมันหอมระเหยบางชนิดระคายเคืองผิวมาก ทำให้เกิดตุ่มพอง เช่น น้ำมันหอมระเหยจากมัสตาด

๒. ขับเสมหะ
น้ำมันหอมระเหยบางชนิดจะ  มีฤทธิ์ขับเสมหะ สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากน้ำมันหอมระเหยทำให้เส้น ประสาทที่ท้องเกิดระคายเคือง และเกิดปฏิกิริยาขับเสมหะ อีกส่วนหนึ่ง เป็นผลโดยตรงต่อเยื่อบุหลอดลม ข้อดีของน้ำมันหอมระเหยคือมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคด้วย เช่น น้ำมันเทียนแกลบ, น้ำมันโป๊ยกั๊ก และน้ำมันไทม์ 

๓. ยับยั้งน้ำคัดหลั่ง (จำพวกน้ำมูก)
น้ำมันหอมระเหยที่ยับยั้งน้ำคัดหลั่ง อาจเนื่องจากไประคายเคืองที่เยื่อบุ ทำให้บวม เช่น น้ำมันยูคาลิปตัสและน้ำมันมินต์

๔. ขับปัสสาวะ 
น้ำมันหอมระเหยทำให้เยื่อผิวที่ไตระคายเคือง ทำให้เกิดการขับปัสสาวะ เช่น น้ำมันจูนิเปอร์และน้ำมันผักชีฝรั่ง 

๕. ขับลม แก้ปวดท้อง และขับน้ำดี
น้ำมันหอมระเหยบางชนิดคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบบนระบบทางเดินอาหาร ขับลม ขับน้ำดี และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เช่น น้ำมันชาโมไมล์, น้ำมันมินต์, น้ำมันโป๊ยกั๊ก, น้ำมันเทียนตากบ และน้ำมันจากเหง้าขมิ้น

๖. แก้อักเสบ 

น้ำมันหอมระเหยช่วยระงับอาการอักเสบ ใช้ทาผิวหนังอักเสบ แผลไฟไหม้ และบาดแผล ใช้ภายนอกเป็นยาขี้ผึ้ง เช่น น้ำมันชาโมไมล์

๗. ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ 
น้ำมันหอมระเหยบางชนิดยับยั้งการเจริญและฆ่าเชื้อแบคทีเรียภายนอก ใช้รักษาอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ ใช้เป็นยากวาดคอ กลั้วคอ รักษาหลอดลมอักเสบ เช่น น้ำมันไทม์, น้ำมันกานพลู, น้ำมันเบอร์กาม็อท

๘. กล่อมประสาท 
น้ำมันหอมระเหยเป็นยากล่อมประสาท อาจใช้ในรูปยาทา และผสมน้ำอาบ เช่น น้ำมันเมลิสสา, น้ำมันโรสแมรี่, น้ำมันลาเวนเดอร์ และน้ำมันวาลาเรียน

๙. แต่งกลิ่นและรส

เช่น น้ำมันโป๊ยกั๊ก, น้ำมันเทียนแกลบ, น้ำมันตะไคร้, น้ำมันมินต์ และน้ำมันกุหลาบ

๑๐. เครื่องเทศ
น้ำมันหอมระเหยใช้เป็นเครื่องเทศในรูปอะโรมา* และเอสเซนต์** ช่วยเจริญอาหารและกระตุ้นน้ำย่อย

ข้อควรระวัง

๑. ห้ามใช้กับหญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วยความดันเลือดสูง ผู้ป่วยโรคลมชัก และก่อนอาบแดด

๒. การอบห้องด้วยน้ำมันหอมระเหย กลิ่นจะอยู่นาน ๒-๓ ชั่วโมง หากเปลี่ยนกลิ่นบ่อยๆโดยไม่พัก จะทำให้ผู้นั่งอยู่ในห้องปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน

๓. ควรใช้น้ำมันหอมระเหย ๓ หยด/วัน ห้ามใช้เกิน ๓ ครั้ง/วัน

๔. การผสมน้ำมันหอมระเหยในอ่างอาบน้ำ ให้ใช้ ๖-๘ หยด

๕. หากใช้น้ำมันหอมระเหยโดยไม่เจือจาง และได้รับน้ำมันหอมระเหยทางปากจะมีผลโดยตรง ต่อระบบย่อยอาหาร น้ำมันหอมระเหยจะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร ทำให้อวัยวะระคายเคือง กระตุ้นน้ำย่อย การหายใจ การไหลเวียนเลือด และการย่อยอาหาร เป็นการออกฤทธิ์แบบเดียวกับเครื่องเทศ

๖. เนื่องจากประสิทธิภาพของอะโรมาเทียราปียังพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ หากบำบัดด้วยวิธีนี้ในระยะแรกแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าจะเป็นโรครุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย

* อะโรมา (aroma) เป็นสารแต่งรสที่สังเคราะห์ขึ้นหรือสกัดจากพืช
**เอสเซนส์ (essence) หมายถึงน้ำมัน-หอมระเหยในแอลกอฮอล์เข้มข้น

ข้อมูลสื่อ

248-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 248
ธันวาคม 2542
บทความพิเศษ
รศ.ดร.วีนา จิรัจฉริยากูล