อัญชันสีสันสำหรับเส้นผมและดวงตา
ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาแห่งความชุ่มชื่น และการเกิดขึ้นใหม่ของสรรพชีวิต ในบริเวณเขตมรสุม เมืองร้อนอย่างประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ต้องอาศัย น้ำเพื่อแพร่พันธุ์ เช่น กบ เขียด อึ่ง คางคก หรือปลา เป็นต้น หรือ พืชประเภทล้มลุกที่มีหัวฝังอยู่ในดินช่วงฤดูแล้ง แล้วผลิใบใหม่ในฤดูฝน บ้างก็ทิ้งเมล็ดหล่นอยู่บนผิวดิน เมื่อได้ความชุ่มชื่นจากฝนพอเพียงก็งอกรากใบแล้วออกดอก ผล ทิ้งเมล็ดไว้รอฤดูฝนปีต่อไป เป็นวงจรชีวิตตามธรรมชาติ ที่ผ่าน การปรับตัวและคัดเลือกให้เหมาะสม มานานนับล้านปี
เดือนกันยายนซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนจึงเป็นเดือนที่เขียวชอุ่ม ไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ทั้งยืนต้นและล้มลุก นอกจากนั้นยังสดใสไปด้วย ดอกไม้นานาชนิด โดยเฉพาะดอกไม้ จากพืชล้มลุกที่เริ่มงอกงามเมื่อต้นฝนแล้วออกดอกตอนช่วงปลาย ฝนเพื่อติดผลและให้เมล็ดแก่ทันฤดูแล้งที่ใกล้จะมาถึง ดังนั้น เดือน กันยายนจึงมีดอกไม้จากพืชตาม ธรรมชาติมากมาย ทั้งดอกไม้ที่คน ปลูก และดอกหญ้าตามเรือกสวน ไร่นาหรือริมถนนหนทาง
แนวรั้วของบ้านทรงไทยที่ผู้เขียนไปพักค้างคืนอยู่เสมอนั้น ปกติก็เป็นลวดหนามธรรมดาไม่น่าสนใจหรือสวยงามแต่อย่างใด ยกเว้นในฤดูฝนที่มีพืชจำพวกเถาเลื้อยขึ้นปกคลุมจนเขียวขจี และออกดอกให้ชื่นชมในช่วงปลายฝน ในบรรดาพืชบนแนวรั้วที่มองเห็นจากบ้านเรือนไทยมาหลายฤดูฝนจนกระทั่งคุ้นเคยกับสีสันของดอก อันงดงามสดใส นอกจากพวงชมพู แล้ว อีกชนิดหนึ่งที่มีสีตัดกันไปอีกทางโดยเป็นสีน้ำเงินเข้มนั่นคือ ดอกของอัญชัน
อัญชัน : ไม้เถาสามัญที่ไม่ธรรมดา
อัญชันเป็นชื่อของพันธุ์ไม้เถาชนิดหนึ่ง ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Clitoria ternatea Linn. อยู่ในวงศ์ Papilionaceae ซึ่งเป็นวงศ์ ของถั่วประเภท pea ทั้งหลาย เช่น ถั่วลันเตา (sweet pea) มี ลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยมีมือสำหรับเกาะ (tendril) สามารถเลื้อย ไปตามต้นไม้ รั้ว หรือซุ้มต่างๆ ได้ดี ใบเป็นชนิดใบรวม บนก้านใบแต่ละก้านมีใบย่อย ระหว่าง ๕-๙ ใบ ดอกคล้ายดอกถั่วทั่วไป (เช่น ถั่วลันเตา ถั่วพู ถั่วฝักยาว) หากเป็นดอกชั้นเดียว กลีบใหญ่ มีลักษณะคล้ายเปลือกหอยเชลล์ (shell) แต่อัญชันต่างจากถั่วอื่นๆ ที่มีดอกซ้อนด้วย ดอกอัญชันซ้อน จะมีหลายกลีบ และดอกใหญ่กว่า ดอกชั้นเดียว
ดอกอัญชันมี ๓ สี คือ สี ขาว สีน้ำเงิน และสีม่วง พันธุ์ดอก สีม่วงนั้นบางตำราว่าเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ดอกสีขาวกับพันธุ์ดอกสีน้ำเงิน ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าถูกต้อง เพราะเคยเห็นอัญชันดอกขาวบางต้น มีกลีบสีขาวลายน้ำเงิน แสดงว่าเป็นพันธุ์ผสมระหว่างดอกขาวกับดอกน้ำเงิน แต่ข่มกันไม่ลงจึงแสดงออกมาทั้ง ๒ สี ไม่กลายเป็นสีม่วงอย่างที่บอกในบางตำรา
อัญชันที่พบในประเทศไทย มีทั้งพันธุ์บ้านที่ผ่านการคัดเลือกให้ดอกใหญ่ ดก สีเข้ม เป็นต้น กับ พันธุ์ที่ขึ้นเองตามที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นพันธุ์ดอกชั้นเดียว ดอกเล็ก และสีไม่เข้ม คนไทยส่วนใหญ่ นิยมปลูกอัญชันดอกสีน้ำเงินเข้ม กลีบดอกซ้อน ดอกขนาดใหญ่และ ดก เพราะนอกจากสวยงามแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง อีกด้วย
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของอัญชันนั้น บางตำราบอกว่าอยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่บางตำราว่าอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แล้วจึงแพร่มาถึงอินเดีย ส่วนประเทศไทยคงรับมาจากประเทศอินเดียอีกทีหนึ่ง และคงจะรับ มานานแล้ว เพราะพบในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ กล่าวถึงอัญชันว่า"อัญชัน : เปนชื่อเครือเถาวัลอย่างหนึ่ง มันมีดอกเขียวบ้าง ขาวบ้าง ไม่มีกลิ่น"
อัญชันเป็นพืชล้มลุก ตามธรรมชาติจะงอกจากเมล็ดในฤดูฝน ออกดอกเป็นช่อ ช่อละ ๒-๔ ดอก เมื่อดอกผสมเกสรเกิดฝักแบนยาว ประมาณ ๕ เซนติเมตร มีเมล็ดอยู่เป็นข้อๆ ชอบขึ้นกลางแจ้งที่ได้ รับแดดเต็มที่ ปกติอัญชันจะเลื้อย ได้ยาวประมาณ ๗ เมตร เมื่อถึง ฤดูแล้งจะแห้งตายไป แต่หากมีน้ำ พอเพียงและดูแลอย่างเหมาะสม ก็สามารถปลูกและได้ดอกอัญชันตลอดปี
อัญชันมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ ว่า Butterfly pea หรือ Shell creeper ในภาษาไทยเรียกว่า อัญชัน อัญชันบ้าน อังชัน อัญชันเขียว (ภาคกลาง) เอื้องจัน แดงจัน อังจัน (ภาคเหนือ)
ประโยชน์ของอัญชัน
แพทย์แผนไทยใช้อัญชันเป็นยารักษาโรคมาแต่โบราณ เช่น
ราก : รสเย็นจืด บำรุงดวงตา ทำให้ตาสว่าง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ปวดฟัน ทำ ให้ฟันทน
น้ำคั้นจากใบสดและดอกสด : ใช้หยอดตา แก้ตาอักเสบ ฝ้าฟาง ตาแฉะ มืดมัว
น้ำคั้นจากดอก : ใช้ทาคิ้ว ทาหัว เป็นยาปลูกผม (ขน) ทำให้ ผมดกดำเงางาม
สีจากดอกอัญชัน ใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง นิยมใช้ดอกสีน้ำเงินซึ่งมีสาร Anthocyanin ใช้ ทำสีขนม เช่น ขนมดอกอัญชัน ขนมช่อม่วง ทำน้ำดื่มสมุนไพร ได้ น้ำสีม่วงสวย เพราะสีของดอกอัญชันละลายน้ำได้ รวมทั้งสีเปลี่ยน ไปตามความเป็นกรดด่าง คล้าย กระดาษลิตมัสที่ใช้ตรวจสอบความ เป็นกรดด่างของสารละลาย
ดอกอัญชันกินเป็นผักได้ ทั้ง จิ้มน้ำพริกสดๆ หรือชุบแป้งทอด
อัญชันเป็นไม้เถาที่ปลูกง่าย แข็งแรง ทนทาน ขึ้นคลุมรั้วและ ซุ้มต่างๆ ได้ดี จึงนิยมปลูกเป็นไม้ ประดับตามสถานที่ต่างๆ นอกจาก นั้นอัญชันเป็นพืชตระกูลถั่ว จึงปลูก คลุมดินเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ได้ดี ลำต้นและใบสด ใช้เป็นอาหารของแพะ แกะ ได้
ปัจจุบันประชาชนทั่วโลก หันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ มากขึ้น ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เคย ลืมเลือนถูกรื้อฟื้นมาใช้ประโยชน์ จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น อัญชัน ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าสมัยใหม่ เช่น แชมพูสระผม และยานวดผม จากดอกอัญชัน (สีน้ำเงิน) กำลัง ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยและมีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของดอกอัญชันในการรักษาเส้นผมให้ดกดำ ป้องกันผมร่วงและช่วยปลูก ผมให้ดกหนาขึ้นนั้น ไม่ด้อยกว่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผมชื่อดังราคาแพง จากต่างประเทศที่โหมโฆษณาอย่าง หนักทางสื่อต่างๆ (โดยเฉพาะโทรทัศน์) ในทุกวันนี้เลย หากคนไทย หันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น (เช่น อัญชัน) กันให้มากขึ้นแล้ว นอกจากเราจะสามารถทำได้เอง พึ่งตัวเองได้มาก ขึ้นแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ในกระ-แสเชี่ยวกรากของโลกาภิวัตน์ อันรุนแรงและอันตรายยิ่งนี้ด้วย
- อ่าน 32,455 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้