• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การนอนหลับ ในมุมมองแพทย์แผนจีน

การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะการพักผ่อนเป็น พื้นฐานของการผ่อนคลาย ทางแพทย์แผนจีนถือว่าการนอนหลับเป็นการถ่วงความสมดุลกับการทำงานอย่างหนึ่ง
สำหรับคนบางคนพบว่า การนอนหลับกลับเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ บางคนนอนหลับมากเกินไป บ้างก็นอนไม่พอ นอนแล้วก็ยังรู้สึกว่ายังอยากนอน ลองมาดูว่าแพทย์แผนจีนมีทัศนะการมองปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
สาเหตุของการนอนไม่หลับ ได้แก่
๑. เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์ ทำให้เกิดอารมณ์โกรธหรือโมโหอารมณ์โมโหทำให้ความคิดหรือสมองแปรปรวน
๒. เมื่อกระเพาะอาหารไม่ย่อย มีอาหารตกค้างอยู่มาก เนื่องจากขณะนอนหลับระบบการย่อยจะทำงานน้อยลง เพื่อการพักและฟื้นฟู การกินอาหารในปริมาณที่มากเกินไป หรือกินดึกเกินไป จะทำให้การย่อยไม่สมบูรณ์ แพทย์แผนจีนเรียกการนอนไม่หลับแบบนี้ว่า “กระเพาะอาหารไม่คล่อง มีการตกค้างของอาหารเป็นเหตุ”
๓. เมื่อมีความวิตกกังวล ครุ่นคิด จิตใจหมกหมุ่นเกินไป อารมณ์วิตกกังวลเกินไปจะกระทบกระเทือน ม้าม(ควบคุมระบบการย่อย) เลือดและพลังจะลดลง การย่อยดูดซึมจะไม่สมบูรณ์
๔. การทำงานของหัวใจและไต ถดถอย เนื่องจากภาวะยินพร่อง ทำให้ไฟหัวใจแกร่ง เกิดการเสียสมดุล ขาดการควบคุมซึ่งกันและกัน
๕. ภาวะพร่องของหัวใจและถุงน้ำดี มักมีอาการแสดงออกไปทางด้านฝันมาก หวาดกลัว ไม่กล้าเข้านอนคนเดียว
๖. ภาวะจิตประสาท พวกนี้จะนอนไม่หลับทั้งคืน บางครั้งร้องไห้ สลับกับหัวเราะ
แพทย์แผนจีนได้เชื่อมโยงอาการของการนอนไม่หลับสัมพันธ์กับอวัยวะภายในจั้งฟู่ ซึ่งถ้าได้ซักประวัติและตรวจร่างกายจะสามารถแยกแยะสาเหตุของโรคได้

ความฝันบ่งบอกสุขภาพ
แพทย์แผนจีนได้ให้ทัศนะ เกี่ยวกับการฝันของคนอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ หัวใจเป็นที่พักของสติ ความรู้สึกนึกคิด ในตอนกลางคืนสติและความรู้สึกนึกคิดจะกลับเข้าสู่ หัวใจเพื่อการเลี้ยงบำรุงจากเลือดของหัวใจ จะทำให้เกิดการนอนหลับ แต่ถ้าภาวะของจิตใจว้าวุ่น แปรปรวนมาก สติและความรู้สึกนึกคิดจะไม่กลับมาพักและรับการบำรุงเลี้ยง ทำให้ระบบประสาทตื่นตัวอยู่ มีการฝันเกิดขึ้น ผลที่ตามมาจากการที่ ไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงของเลือดจากหัวใจ ทำให้ขาดความสดชื่น พลังสติปัญญาอ่อนล้า รู้สึกอ่อนเปลี้ย

ลักษณะเนื้อหาของการฝันก็พอจะบ่งบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะภายในได้ด้วย กล่าวคือ 
- คนที่พลังของหัวใจอ่อนแอ มักจะฝันเกี่ยวกับเรื่องเศร้าโศก ฝันเป็นความทุกข์โศก 
- คนที่ไฟหัวใจแกร่ง มักจะ ฝันเกี่ยวกับเรื่องตื่นเต้น ผจญภัยสนุกสนาน 
- คนที่ตับ ถุงน้ำดีพร่อง มักจะฝันเกี่ยวกับเรื่องน่ากลัว 
- คนที่ไฟตับแกร่ง อารมณ์ โมโหง่าย มักจะฝันเกี่ยวกับสิ่งเลวร้าย ฝันร้ายบ่อยๆ 
- คนที่ไตพร่อง มักฝันเกี่ยวกับทางเพศ ซึ่งอาจจะมีอาการฝันเปียกร่วมด้วย 
- คนที่ม้ามพร่อง มักฝันถึงการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือทัศนะคติทางด้านลบ 
- ภาวะของร่างกายสิ่งแวดล้อม มีผลต่อการฝัน เช่น ถ้ากินอาหารเสียอิ่มแป้ แล้วนอนหลับ อาจทำให้ฝันว่ากินมากดื่มมาก 
- ถ้าท้องหิวมากแล้วนอนหลับ อาจทำให้ฝันว่าอดอยาก หิวโหย 
- ถ้าห่มผ้าบางเกินไป ในขณะนอนหลับ และมีอากาศหนาวเย็น อาจทำให้ฝันว่าตกน้ำ หรืออยู่ท่ามกลางน้ำแข็งหิมะได้

ในทางตรงข้าม คนบางคนเอาแต่ง่วงนอน ไม่สนใจว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน คิดอยากจะนอนอย่างเดียว อาการ “คิดแต่จะนอนหลับ” เช่นนี้ แพทย์แผนจีนถือว่าเป็นความผิดปกติ มักเกี่ยวข้องกับโรคของอวัยวะภายในคือ ม้าม ไต หรือหัวใจ เป็นเหตุ
คนที่มีพลังของม้ามพร่อง ทำให้การย่อยดูดซึมไม่ดี มีความชื้นสะสมมาก คิดแต่อยากจะนอนหลับ
ถ้าเป็นจากสาเหตุของไตพร่อง อาการอยากนอนจะรุนแรงที่สุด มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง การได้ยิน เสียงลดลงหรือหูตึง มีเสียงในหู ความจำเสื่อม ปัสสาวะน้อย เต้านมบวม เอว-หัวเข่าปวดเมื่อยไม่มีแรง ริมฝีปาก-เล็บเป็นสีม่วง อ่อนแรง ทั้งตัว คิดแต่จะนอนหลับอย่างเดียว
สรุป แพทย์แผนจีนมีมุมมองเกี่ยวกับการนอนหลับว่าเป็นวิธีการสร้างสมดุลกับการทำงาน การนอนไม่หลับร่วมกับมีอาการอื่นร่วมด้วย จะบ่งบอกความผิดปกติของอวัยวะภายใน

ความผิดปกติของการนอนหลับที่มากเกินไป มักเกี่ยวข้องกับม้าม หัวใจ ไต ที่สูญเสียพลังจากการอ่อนล้าอย่างเรื้อรัง เมื่อนำมาพิจารณาอาการร่วมและตรวจร่างกายก็สามารถนำไปสู่การวินิจฉัย และรักษาโรคได้เช่นกัน

ความจริงเรื่องการนอนหลับเป็นสิ่งลึกลับอีกเรื่องหนึ่งที่มีการศึกษากันอย่างลึกซึ้ง ในทางแพทย์แผนปัจจุบัน ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ต่อความเร้นลับทั้งหมด แนวคิดของแพทย์แผนจีนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความสมบูรณ์ต่อการศึกษาในเรื่องนี้

ข้อห้าม ๑๐ ประการ เกี่ยวกับการนอนหลับ

การรักษาอาการนอนไม่หลับ นอกจากการใช้ยาเพื่อ แก้ไขสาเหตุของโรคแล้ว ยังมีหลักปฏิบัติที่เป็นข้อห้าม ด้งนี้
๑. ห้ามนอนหงายโดยที่มือทั้ง ๒ ข้างวางอยู่ที่ หน้าอก (จะทำให้หายใจได้ไม่เต็มปอด)
๒. ก่อนนอนห้ามครุ่นคิดกังวล จิตใจต้องสงบ
๓. ห้ามมีอารมณ์โกรธหรือโมโหก่อนนอน
๔. ห้ามให้ท้องอิ่มเกินขณะเข้านอน
๕. ห้ามดื่มเหล้า กาแฟ ก่อนนอน
๖. ห้ามพูดคุยมากเกินไปก่อนนอน
๗. ห้ามอ้าปากขณะนอนหลับ
๘. ห้ามคลุมโปงขณะนอนหลับ
๙. ห้ามนอนที่กลางแจ้งมีลมพัดแรง
๑๐. ห้ามครุ่นคิดทางกามารมณ์ขณะกำลังจะนอนหลับ

ข้อมูลสื่อ

231-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 231
กรกฎาคม 2541
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล