• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรที่ทำเป็นยา(จริงๆ)

มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขานกันมากคือ “สมุนไพร” มีการผลิตวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย หลายระดับราคา บางตำรับก็นำส่วน ต่างๆ เช่น ใบ ราก ผล เปลือก มาผสมใช้ตามวิธีทางแผนโบราณ (crude drug) เช่น ลูกกลอน ยาดอง ยาหม้อ ยาผง บางตำรับก็ทำเป็นยาเม็ด แคปซูล ยาน้ำ คล้ายๆยาแผนปัจจุบัน ราคาจำหน่ายก็แตกต่างกันมาก จึงเป็นปัญหาว่า “จะเลือกซื้อใช้อย่างไรดี” ผมขอตอบคำถามนี้แยกเป็น ๒ ส่วนคือ

๑. สำหรับสมุนไพรที่นำมาใช้ตามวิธีทางแผนโบราณนั้น กรณีใช้ crude drug ก็มักใช้ตามความเชื่อ ที่สืบทอดกันมา บางตำรับก็ขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ ซึ่ง อย.ควบคุมอยู่ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือพิษภัยจากสารปนเปื้อน เช่น สารหนู เชื้อรา และยาบางชนิด ได้แก่ ยา สตีรอยด์ ซึ่งผู้ผลิตนำไปผสม
๒. ส่วนสมุนไพรที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็น “ยาสมุนไพร” จริงๆนั้น ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ต้องมีขั้นตอนในการผลิตครบถ้วน ดังต่อไปนี้
(๑) การตั้งสูตรตำรับ (formulation) สรรพคุณในการรักษาโรคต้องมีตำราอ้างอิงได้ รูปแบบยา สามารถออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ากินเป็นเม็ด หรือแคปซูล หรือยาน้ำ หรือใช้ภายนอก (เป็นครีม ขี้ผึ้ง หรือโลชั่น)
(๒) กระบวนการผลิต (manufacturing process) เหมือนยา ใช้อุปกรณ์การผลิตทางวิทยาศาสตร์ไม่ทำให้สารออกฤทธิ์สูญสลายไป
(๓) การควบคุมคุณภาพ (quality control) ประกอบด้วย
- การวิเคราะห์วัตถุดิบ เพื่อหาปริมาณสารออกฤทธิ์ ตรวจสารปนเปื้อน เช่น สารหนู เชื้อรา
- การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เหมือนกับยาทุกประการ
- การฉายรังสี ยาสมุนไพรที่ใช้กินเพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ได้แก่ เชื้อรา, เชื้อแบคทีเรีย
- การตรวจเชื้อ หลังจากฉายรังสีแล้วเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนจริงๆก่อนการบรรจุ
- การตรวจความสามารถ ในการทำลายเชื้อ สำหรับสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการทำลายเชื้อ
(๔) การวิจัยผลการรักษาในผู้ป่วย (clinical research) ทุกตำรับ
“สมุนไพร” ที่นำมาทำเป็นยาจริงๆ จึงต้องอาศัยผู้ผลิตที่มีความพร้อมและราคาจำหน่ายไม่ต่ำจนเกินไป หากจะแนะนำก็คงเป็น “องค์การเภสัชกรรม กระทรวง สาธารณสุข” เพราะมีทั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนา” และ “ฝ่ายการผลิต”

ผมเคยแนะนำ “สมุนไพรที่ทำเป็นยา” ไปครั้งหนึ่งแล้วรวม ๗ ตำรับ (หาอ่านได้ในหมอชาวบ้านฉบับที่ ๑๘๖ ตุลาคม ๒๕๓๗ ) คือมะขามแขก, มะแว้ง, ขมิ้นชัน, กระเทียม, ไพล, ว่านหางจระเข้ และพญายอ ฉบับนี้จึงขอแนะนำอีก ๗ ตำรับ ซึ่งคุณสามารถหาซื้อใช้ได้อย่างมั่นใจ จากร้านขายยาองค์การเภสัชกรรมและร้านขายยาทั่วไป

ข้อมูลสื่อ

231-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 231
กรกฎาคม 2541
ภก.นิพล ธนธัญญา