• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องของคนขี้ลืม

เรื่องของคนขี้ลืม


อาการหลงลืมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของคนเรา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาถ้าหากว่านานๆจะเป็นสักครั้งหนึ่ง แต่ถ้าลืมบ่อยๆเป็นประจำสม่ำเสมอ โปรดทราบไว้ด้วยว่าสมองของคุณเริ่มจะเสื่อมแล้ว ใครที่ไม่อยากให้สมองแก่ก่อนวัย เป็นคนขี้หลงขี้ลืม ปาๆเป๋อๆซึ่งเป็นบุคลิกที่ไม่ดี เป็นคนที่ไม่มีเสน่ห์ ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องหมั่นฝึกฝนใช้สมองให้มาก สมองคนเราก็เหมือนมีด ยิ่งลับยิ่งคม แม้ร่างกายจะเสื่อมไปตามวัย แต่มันก็พร้อมที่จะใช้การได้ดีตามสภาพ ถ้ามีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา

ความจำเกี่ยวข้องกับสมอง
ความจำจะเกี่ยวกับเรื่องสมองเป็นหลัก ซึ่งกระบวนการจำมีตั้งแต่การรับเข้า เหมือนกับเวลาคุยแล้วมีเครื่องบันทึกเทป เพราะฉะนั้นเครื่องรับเข้าจะต้องดีก่อน แล้วจึงจะมีการบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องลงไปในสมอง จากนั้นก็จะต้องมีการเรียกข้อมูลออกมาใช้ ถ้ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้นในขั้นตอนใด ก็ทำให้กระบวนการจดจำเสียไปได้ บางคนช่องรับเข้าไม่ดี อย่างเช่น กำลังมีคนพูดให้เราฟัง แต่เราเหม่อไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือสภาพแวดล้อมชวนให้สนใจเรื่องอื่นๆ ก็จะจับใจความสำคัญไม่ได้หมด หรือ อย่างเด็กสมัยใหม่ที่เวลาทำการบ้าน หรืออ่านหนังสือ ส่วนใหญ่จะเปิดวิทยุฟังเพลง หรือเปิดโทรทัศน์ไปด้วย ตรงนี้เท่ากับเครื่องรับเปิดรับไม่เต็มร้อย เพราะฉะนั้นผลที่ออกมาก็ไม่สมบูรณ์เต็มร้อยเช่นกัน

จากนั้นก็เป็นเรื่องของการบันทึกข้อมูลลงไปในสมอง ซึ่งการบันทึกลงไปจะเกี่ยวกับการเข้าใจหลักการ แล้วโยงใยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ แล้วก็เรื่องของการระลึกได้ หลังจากจดจำ(ใส่เทป) แล้ว การหยิบขึ้นมาใช้บ่อยๆ และระลึกถึงบ่อยๆ จะทำให้ความจำของคนเราดี อย่างเช่น เจ้านายสั่งว่าวันมะรืนต้องส่งงาน พอกลับมาแล้วมานั่งนึกที่โต๊ะทำงาน หรือในระหว่างที่เดินทางกลับบ้าน เราก็ระลึกถึงขึ้นมา หรือวันรุ่งขึ้นเราระลึกว่า ต้องทำสิ่งนั้น สิ่งนี้นะ ถ้าหมั่นระลึกบ่อยๆแบบนี้ ความจำเรื่องนั้นก็จะดี แต่หลายๆคนจะไม่ได้ระลึกหรือทำอย่างนั้น พอฟังคำสั่งจากเจ้านายมาปุ๊บ บางทีก็ผ่านหูขวาออกหูซ้าย แล้วไม่ได้เก็บมาคิดต่ออีกเลย พอเจ้านายทวงถาม เอ้า! ลืมไปแล้ว (อย่างนี้ก็มีเยอะ)

จิตใจ คือ ต้นเหตุสำคัญของการขี้ลืม
อาการหลงๆลืมๆ แม้จะเกิดจากสาเหตุทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากเรื่องจิตใจ เป็นหลักนั่นคือ เรื่องของความเครียด ความวิตกกังวล และความฟุ้งซ่าน จะทำให้คนเราขาดสมาธิ ความคิดแตกกระจาย ส่วนสาเหตุทางร่างกาย มักจะเกิดจากการที่สมองเสื่อมจากวัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดจากการป่วยทางสมอง หรือแม้ไม่ใช่โรคที่สมองเสื่อมโดยตรง แต่เป็นโรคที่กระทบกระเทือนสมอง ทำให้เซลล์สมองตาย เช่น เกิดอุบัติเหตุมีเลือดคั่งในสมอง ถึงแม้ว่าจะเอาเลือดออกไปแล้ว แต่ในช่วงที่เลือดกดสมอง จะทำให้สมองบางส่วนตายไป หรือนักมวยที่ชกบ่อยๆ ในบั้นปลายของชีวิต สมองของคนเหล่านี้จะแย่ เพราะเซลล์สมองถูกกระทบกระเทือนอยู่ตลอด อีกพวกหนึ่ง คือ ผู้ที่ป่วยทางกายทั่วไปในภาวะที่ร่างกายคนเราไม่แข็งแรง ไม่ปกติ ช่วงนั้นผู้ป่วยจะจำรายละเอียดของเรื่องต่างๆไม่ ค่อยได้ เพราะจิตใจมัวแต่กังวลอยู่กับความทุกข์ ความเจ็บปวด พลังในการจดจำจึงมีน้อย

อาการขี้ลืมที่ผิดปกติ
อย่างที่บอก อาการขี้ลืมเกิดขึ้นได้ในคนปกติธรรมดาทุกคน แต่ถ้าลืมบ่อยเป็นประจำสม่ำเสมออย่างนี้อาการน่าเป็นห่วง ตัววัดที่ชัดเจนตัวหนึ่ง คือ ดูที่ความสามารถในการดำรงชีวิต หรือความสามารถในการทำหน้าที่ว่าบกพร่องขนาดไหน ถ้าหากลืมแล้วทำให้การงานเสียหาย คงต้องพิจารณาตัวเองอย่างเร่งด่วน

ไม่ควรอ่านหนังสือ ฟังเพลง และดูโทรทัศน์พร้อมกัน
พฤติกรรมอย่างนี้ทำกันบ่อย และเป็นกันมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นทั้งหลายที่เวลาท่องตำรับตำรา ดูหนังสือสอบ แทนที่จะไปหามุมสงบเงียบๆอ่าน ก็จะชอบเปิดเพลงฟัง หรือเปิดโทรทัศน์ไปด้วย พอผู้ใหญ่ทักท้วงว่าเดี๋ยวไม่มีสมาธิ เขาก็จะบอกว่าสามารถแยกประสาทเป็นส่วนๆได้ แต่โดยหลักการแล้ว ความจำของคนเราขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการเอาใจใส่เป็นสำคัญ การที่เราอ่านหนังสือไปด้วย ฟังเพลงไปด้วย แน่นอนว่าเราได้ยิน เสียงเพลง เห็นตัวหนังสือ แต่มันเป็นการแบ่งจิตใจ แบ่งสมาธิไป ๒ ส่วน ซึ่งในความเป็นจริง เวลาที่คนเราอ่านหนังสือ แล้วถึงตอนที่ต้องทำความเข้าใจอย่างเต็มที่ หรือทำแบบฝึกหัด แล้วกำลังสนุกจดจ่อกับโจทย์อย่างเต็มที่ เราจะไม่ได้ยินเสียงเพลง ตรงนี้บางทีหลายคนอาจไม่รู้ตัวเอง แต่พอเราเริ่มคลายจากโจทย์หรือความสนใจเสียงเพลง จะผ่านเข้ามาให้ได้ยิน ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจขึ้น
ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ แล้วจัดสรรเวลาให้เป็นเรื่องเป็นราว จะอ่านหนังสือหรือทำอะไรก็ทำสิ่งนั้นอย่างเดียว จิตใจจะมีสมาธิกับสิ่งที่ทำมากกว่า

ฝึกแก้ปัญหาเพื่อเป็นการลับสมอง
สมองก็เหมือนอวัยวะอื่นๆในร่างกายที่ไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่ (ยกเว้นเม็ดเลือด) เสื่อมแล้วก็เสื่อมเลย แต่ถ้ามีการฝึกฝนอยู่เสมอ มันจะแก่ช้ากว่าร่างกาย ซึ่งโดยความรู้ในทางการแพทย์จะบอกว่า สมองของคนเรามีจำนวนเหลือเฟือ และเราก็ไม่ได้ใช้มันทั้งหมดหรอก อย่างเช่น ถ้ามีสมองอยู่ ๑๐๐ ส่วน เราอาจจะใช้สมองแค่ ๒๐ ส่วนเท่านั้นเอง หรือพอเราพัฒนาการใช้สมองเป็น ๓๐-๔๐ ส่วน และแม้สมองจะตายไปเหลือร้อยละ ๖๐-๗๐ คนเราก็ยังฉลาดขึ้นได้เรื่อยๆ เพราะเท่าที่มีอยู่เราจะใช้กันไม่หมด คนที่มีลักษณะหรืออุปนิสัยเรื่อยๆเฉื่อยๆ ไม่ค่อยสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว มีสิทธิ์จะเป็นโรคสมองฝ่อได้มาก เพราะขบวนการของสมองไม่ได้ใช้ ไม่เหมือนกับคนที่ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของสมอง เมื่อใช้บ่อย (คิด-พูด-อ่าน) เซลล์สมองซึ่งมีเส้นใยเป็นขา เป็นแขน ก็จะเชื่อมต่อกัน ยิ่งใช้บ่อยก็จะเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย ทำให้คิดอะไรเป็นระบบ มีหลักการ มีเหตุผล แต่หากไม่ค่อยได้ใช้ เส้นใยเหล่านี้จะหดลง ไม่ต่อกัน ความจำก็จะไม่เป็นระบบ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา แล้วรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ก็นับเป็นการลับสมองที่ดีมากอย่างหนึ่ง

อาหารบำรุงสมอง
ใครที่อยากความจำดี สมองปลอดโปร่ง แจ่มใส ต้องพยายามดูแลเรื่องอาหารการกินให้ครบทั้ง ๕ หมู่ กินให้ได้ทั้งสัดส่วนและคุณภาพ เพียงเท่านี้ก็มีผลต่อการบำรุงสมอง ไม่ต้องกินวิตามินเสริม (เพิ่มรายจ่าย โดยใช่เหตุ) ถึงเวลากินก็ต้องกิน กินแล้วค่อยทำงานต่อ ไม่ใช่ทำงานมาก คิดมาก ไม่ได้พักผ่อนนอนหลับ ใช้สมองอยู่ตลอดเวลา พอถึงคราวที่ต้องจำอะไรสำคัญๆ สมองจะล้า สิ่งเหล่านี้กระทบต่อความจำแน่นอน นอกนั้นก็เป็นเรื่องการออกกำลังกาย และอากาศที่ดี ซึ่งมีผลต่อสมองในระยะยาว

ฝึกสมาธิช่วยให้ความจำดี
คนที่ฟุ้งซ่าน วิตกกังวลจน ลืมโน่นลืมนี่อยู่เสมอ อย่าเพิ่งท้อใจว่าทำไมเราถึงขี้ลืม อาการดังกล่าวแก้ไขได้ โดยเฉพาะเรื่องของสมาธิ ที่จะช่วยในเรื่องของความจำทุก ขั้นตอน ตั้งแต่การรับข้อมูลเข้า ซึ่งถ้ามีสมาธิดี มีความตั้งใจ จะฟังได้รายละเอียดมาก ขั้นตอนการจดจำ ถ้าหากไม่มีเรื่องอื่นๆมารบกวน การ ระลึกได้ก็สามารถจะใช้จิตของเราไปค้นหาความจำอันนั้นได้ตลอดทาง การฝึกสมาธิ นอกจากจะช่วยในเรื่องของความจำแล้ว ยังช่วยในเรื่องอื่นๆอีกมากมายในชีวิตได้ด้วย มีดยิ่งลับยิ่งคม ฉันใด เช่นเดียวกัน ถ้าอยากให้สมองดี ความจำดี ก็ต้องหมั่นคิดวิเคราะห์ หัดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นประจำ ส่วนคนที่ชอบลืมบ่อยๆ (แต่ยังไม่ถึงขั้นสมองฝ่อ) เทคนิควิธีการที่ควรใช้ คือ การจด ซึ่งจะช่วยในเรื่องความจำได้เช่นกัน

ข้อมูลสื่อ

249-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 249
มกราคม 2543
บทความพิเศษ
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล