• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระเจี๊ยบทั้งเขียว/แดง แห่งรสชาติและคุณค่า

"ไก่เอ๋ยไก่ เลี้ยงลูกจนใหญ่ ไม่มีนมให้ลูกกิน ลูกร้องเจี๊ยบๆ แม่ก็เรียกมาคุ้ยดิน ทำมาหากิน ตามประสาไก่เอย"

บทดอกสร้อยที่ท่องจำมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาบทนี้จำไม่ได้แล้วว่าเป็นบทประพันธ์ของท่านใด แต่เป็นสิ่งประทับใจจากวัยเด็กอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน ความประทับใจคงเกิดจากการที่ท่านผู้แต่งนำการเลี้ยงลูกของไก่มาเปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูกของคน ทำให้รู้สึกสงสารลูกไก่ที่ไม่มีนมกินเหมือนลูกคน หิวขึ้นมาก็ร้องเจี๊ยบๆ แม่ก็พาไปคุ้ยดินหากินตามประสาไก่ ผิดกับลูกคนที่พอหิวก็ร้องไห้ขึ้นมา แม่ก็จะอุ้มไว้แนบอกและให้ดื่มนมพร้อมความอบอุ่น เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยแม่ก็ป้อนข้าวป้อนน้ำอีกหลายปีจนกว่าจะโตช่วยตัวเองได้อย่างแท้จริง ที่นำบทดอกสร้อยเกี่ยวกับลูกไก่มาขึ้นต้นบทความตอนนี้ ก็เพราะบังเอิญเสียงร้องของลูกไก่ที่คนไทยได้ยินว่า “เจี๊ยบ” นั้น ไปพ้องกับชื่อผักพื้นบ้านของไทยที่ชื่อ “กระเจี๊ยบ” ดังข้อความในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ บรรยายว่า “กระเจี๊ยบ, ผักอย่างหนึ่ง ต้นไม่สู้โต ใบแฉกๆ ลูกกินเปรี้ยว อนึ่งลูกไก่เล็กๆ มันร้องเจียบๆ ว่าลูกกะเจียบ”

จากข้อความดังกล่าวทำให้ทราบว่า เมื่อ ๑๒๕ ปีก่อน(พ.ศ. ๒๔๑๖) ชาวกรุงเทพฯเรียกลูกไก่ว่าลูกกะเจียบ ซึ่งใกล้เคียงกับชาวชนบทภาคกลางปัจจุบันที่เรียกว่า ลูกเจี๊ยบ นอกจากนั้นคำว่า “เจี๊ยบ” ยังนิยมนำไปเรียกเป็นชื่อเล่นของหญิงไทยอีกด้วย ดังจะเห็นดารา นักแสดงหญิงปัจจุบันหลายคนมีชื่อเล่นดังกล่าว รวมทั้งเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยบางเพลงก็กล่าวถึงสาวที่ชื่อ “เจี๊ยบ” ด้วยเช่นเดียวกัน
 
                                                                            

กระเจี๊ยบ : มีทั้งเขียวและแดง

ในสมัย พ.ศ. ๒๔๑๖ คนไทย คงรู้จักกระเจี๊ยบเพียงชนิดเดียวที่ “ลูกกินเปรี้ยว” ซึ่งคงเป็นกระเจี๊ยบเปรี้ยว หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่ากระเจี๊ยบแดงนั่นเอง แต่ในปัจจุบัน ชาวไทยรู้จักกระเจี๊ยบ ๒ ชนิด ทั้งกระเจี๊ยบแดงและกระเจี๊ยบเขียว ซึ่งต่างก็อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Malvaceae พืชในวงศ์นี้ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ นุ่น ทุเรียน ชบา ฝ้าย ฯลฯ เป็นต้น สันนิษฐานว่า กระเจี๊ยบเขียวคงเข้ามาในประเทศไทย หลัง พ.ศ. ๒๔๑๖ เช่นเดียวกับนุ่น เพราะไม่พบชื่อพืชทั้ง ๒ ชนิดในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ส่วนกระเจี๊ยบแดง(เปรี้ยว)คงเข้ามาก่อนหน้านั้นนานแล้ว แต่ก็ไม่มีบันทึกเป็น หลักฐานว่าเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อใด เราลองมาทำความรู้จักกับกระเจี๊ยบทั้ง ๒ ชนิดกันก่อน


กระเจี๊ยบแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus sabdariffa Linn. ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Rozelle หรือ red sorrel เป็นพืชล้มลุกลักษณะเป็นพุ่มแตกกิ่งก้านสาขามาก สูงราว ๑.๒ ถึง ๒.๐ เมตร (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ลำต้นและกิ่งก้านสีม่วงแดง ผิวเกลี้ยงไม่มีขนหรือหนาม ใบเดี่ยวสีแดงอมเขียว ก้านใบแดง ขอบใบหยักเว้าลึก เป็น ๓ แฉก ดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ กลีบ-ดอกสีเหลืองอ่อนหรือชมพู กลางดอกสีแดงเข้ม ผลค่อนข้างกลมผิวเรียบ มีกลีบเลี้ยงหนาสีแดง หุ้ม กลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว กระเจี๊ยบแดง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันตก (West Indies) และแพร่กระจาย ไปปลูกเขตร้อนทั่วโลก ชื่ออื่นๆของกระเจี๊ยบแดงคือ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ส้มพอเหมาะ (ภาคกลาง), ผักเก้งเค้ง ส้มเก้งเค้ง (ภาคเหนือ,) แกงแดง (เชียงใหม่), ส้มตะเลงเครง (ตาก)

กระเจี๊ยบเขียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus (Linn.) Moench. ชื่อ ในภาษาอังกฤษคือ okra หรือ Lady’s Finger เป็นพืชล้มลุกลำต้นตรง สูงราว ๑.๒ ถึง ๒.๔ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านสีเขียว บางครั้งมีจุดประสีม่วง ผิวเปลือกลำต้น มีขนอ่อนปกคลุมเช่นเดียวกับใบและผล ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ มักเว้าเป็น ๓ แฉก ก้านใบยาว ดอกสีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดงเข้ม ดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ ผลยาวเรียว ปลายแหลม ผิวผลเป็นเหลี่ยมตามลำต้น จำนวนพูซึ่งมีราว ๕ ถึง ๘ พู ผลอ่อนสีเขียว เมล็ดอ่อนสีขาว ในผลมีน้ำเมือกข้นเหนียวอยู่มาก

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกระเจี๊ยบเขียว สันนิษฐานว่าอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเข้ามาในประเทศไทยไม่เกิน ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาเมื่อใด ชื่ออื่นๆของกระเจี๊ยบเขียวคือ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือมอญ มะเขือ ทวาย (ภาคกลาง), มะเขือมื่น มะเขือละโว้ มะเขือพม่า (ภาคเหนือ)

กระเจี๊ยบในฐานะผักและอาหาร
กระเจี๊ยบแดง
ใช้ใบและผล อ่อนซึ่งมีรสเปรี้ยวเป็นผักสำหรับแกงส้ม บางแห่งนำผลอ่อนมาดองเป็นผักดอง

ใบและผลอ่อนของกระเจี๊ยบแดงมีวิตามินเอ วิตามินซี กรด ซิตริก และธาตุแคลเซียมสูงมาก จึงนับเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
กลีบเลี้ยงที่หุ้มผลแก่ของกระเจี๊ยบแดงนำมาทำแยม เชื่อม กวน น้ำผลไม้และไวน์ที่รสชาติดี สีแดงสวยสดใส นอกจากนี้ยังใช้แต่งสีและรสชาติของเยลลี่ และไวน์จากผลไม้ชนิดอื่นๆอีกด้วย

เครื่องดื่มจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดง นอกจากมีรสชาติดี มีสี สดสวยแล้ว ยังแก้อาการกระหายน้ำ และทำให้สดชื่น จึงนับเป็นเครื่องดื่มที่น่าส่งเสริมให้ชาวไทยดื่มกันมากขึ้น แทนที่จะเสียเงินทองออกต่างประเทศปีละมากๆ ในการดื่มน้ำอัดลมซึ่งมีโทษมากกว่าประโยชน์เสียอีก

กระเจี๊ยบเขียว ใช้ผลอ่อนเป็น ผักจิ้มโดยต้มให้สุกหรือย่างไฟเสียก่อน นอกจากนั้นยังใช้แกงได้ด้วย ในต่างประเทศใช้ทำสลัดหรือซุป ฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียวมีเมือกลื่น ซึ่งเป็นสารจำพวก pectin และ mucilage ช่วยให้กระเพาะ ไม่ระคายเคือง และอาหารผ่านลำไส้ได้สะดวกขึ้น ผลอ่อนกระเจี๊ยบเป็นผักที่มีคุ ณค่าทางโภชนาการสูงมากชนิดหนึ่ง

ประโยชน์ด้านอื่นๆของกระเจี๊ยบ
กระเจี๊ยบแดง
มีสรรพคุณทางยา หลายอย่าง เช่น เมล็ด แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด
ใบและผล ทำยาแก้ไอ กัดเสมหะ ขับเมือก ขับมันในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับปัสสาวะ ช่วยให้ปัสสาวะใสและคล่องขึ้น ช่วยลดความดันเลือด แก้อาการกระหายน้ำ
เปลือกกระเจี๊ยบแดงมีเส้นใยเหนียวและแข็งแรงมาก ดีกว่าใยปอแก้ว และปอกระเจาเสียอีก ใช้ทำเชือก ทอกระสอบ ทำเปล ถักแห ถักอวนได้ดี

กระเจี๊ยบเขียว
มีสรรพคุณทางยาคือ มีเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร ใช้ผลแก่บดเป็นผงผสมน้ำดื่ม ในอินเดียใช้เป็นยาแก้บิด ไอ หวัด ขัดเบา หนองใน ในมาเลเซียใช้รากแช่น้ำรักษาโรคซิฟิลิส ดอก ใช้ตำพอกฝี
เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวใช้แทนเมล็ดกาแฟได้ เปลือกไม่เหนียวนักใช้ทอกระสอบ เชือก และทำกระดาษได้
กระเจี๊ยบเขียวนับเป็นผัก เศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งสำหรับเกษตรกรไทย เพราะต่างประเทศสั่งซื้อผลกระเจี๊ยบเขียวจากไทยปีละหลายล้านบาท โดยมีบริษัท ทำโครงการปลูกกระเจี๊ยบเขียวครบวงจรร่วมกับเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยสามารถปลูกกระเจี๊ยบเขียวได้ตลอดปี

ไม่นานมานี้มีความเคลื่อนไหวจากทีมที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้กฎหมายเกี่ยวกับการผลิตเหล้าประเภทหมัก(เช่น ไวน์)ให้ประชาชนทำได้เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งคาดว่าในอนาคตไม่ไกลเกษตรกรไทยจะได้พัฒนาเหล้า หมักและไวน์ชนิดต่างๆ มาเป็นสินค้าทดแทนการนำเข้าและส่งออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้อีกด้วย กระเจี๊ยบแดงที่สามารถนำไปผลิต ไวน์อย่างดีได้ก็คงจะเพิ่มบทบาทช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อีกแรงหนึ่ง รวมทั้งการนำไปทำเครื่องมือชนิดอื่นๆ อีกมากมาย

ข้อมูลสื่อ

232-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 232
สิงหาคม 2541
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร