• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัณโรค กลับมาเยือนไทยอีกแล้วหรือ

เพราะเหตุใดวัณโรคจึงกลับมา
ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น ตอนนี้ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา วัณโรคที่ครั้งหนึ่งเกือบจะควบคุมได้ เนื่องจากแพทย์ค้นพบระบบยาที่มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเวลา ๖ เดือน แต่เมื่อมีการระบาดของไวรัสเอดส์ จำนวนผู้ป่วยวัณโรคกลับเพิ่มขึ้น จนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า วัณโรคเป็นสภาวะวิกฤติของโลกแล้วในขณะนี้

การที่มีการระบาดของไวรัสเอดส์ แล้ว ทำให้มีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นนั้นอธิบายได้ดังนี้ ประชากรในประเทศไทยส่วนใหญ่เคยได้รับเชื้อวัณโรคมาแล้ว แต่ไม่ป่วยเป็นวัณโรค เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ปกติ สามารถควบคุมเชื้อวัณโรคที่เข้าสู่ร่างกายครั้งแรกให้อยู่อย่างสงบนิ่ง จึงไม่ป่วยเป็นโรค แต่เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกไวรัสเอดส์ทำลายลงเรื่อยๆ จนถึงระดับหนึ่งที่มิอาจควบคุมเชื้อวัณโรคให้อยู่อย่างสงบนิ่งได้ เชื้อวัณโรคจะปะทุแบ่งตัวเพิ่มจำนวน อย่างรวดเร็วจนสามารถทำลายเนื้อปอด และทำให้ป่วยเป็น วัณโรคขึ้นมาได้

นอกจากนี้ประชากรที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อวัณโรคมาก่อน เมื่อมาติดเชื้อไวรัสเอดส์ และอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค จะรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจ จึงป่วยเป็นวัณโรคได้ง่าย และถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสเอดส์ยังควบคุมไม่ได้ ผู้ป่วยวัณโรคต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน

                                                                 

แนวโน้มในอนาคตของวัณโรค
แนวโน้มในอนาคตของวัณโรค จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นแน่นอน จากการคาดคะเนขององค์การอนามัยโลกในช่วง ๑๐ ปี จากปี ๒๕๓๓ ถึงปี ๒๕๔๒ มีประชากรทั่วโลกป่วยเป็นวัณโรคเกิดขึ้นใหม่ประมาณ ๘๘ ล้านคน และในจำนวนนี้มี ๘ ล้านคนเป็นวัณโรคอันเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์ และคาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิต ประมาณ ๓๐ ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่เกิดขึ้นใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังจะเห็น ได้จากในปี ๒๕๓๓ มีผู้ป่วย วัณโรคเกิดขึ้น ๗.๕ ล้านคน (๑๔๓ คนต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน) ในปี ๒๕๓๘ เพิ่มเป็น ๘.๘ ล้านคน(๑๕๒ คนต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน) และในปี ๒๕๔๓ จะเพิ่มเป็น ๑๐.๒ ล้านคน (๑๖๓ คน ต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน) ส่วนมาก ผู้ป่วยวัณโรคที่เกิดใหม่ และที่เป็นผู้ป่วยเก่าจะอาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ย่อมจะต้องมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งที่เกิดใหม่ และที่เป็นอยู่เก่าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือวัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อทางลมหายใจ ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่ประชากรที่อยู่กันอย่างแออัด ยิ่งมีผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์มากเพียงใด โอกาสที่จะมีผู้ป่วยวัณโรคย่อมเพิ่มขึ้นมากเพียงนั้น

ลักษณะและอาการของผู้ป่วยวัณโรค
ลักษณะอาการของผู้ป่วยวัณโรคนั้นคล้ายๆกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังทั่วๆไป จะสังเกตได้ยากในผู้ป่วยที่เป็นใหม่ๆ เพราะโรคนี้เกิดขึ้นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทันรู้สึกตัว อาการเริ่มต้น ประกอบด้วย มีไข้ต่ำๆตอนบ่ายๆ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ไอแห้งๆในระยะแรก ต่อมาจึงไอมีเสมหะ และบางครั้งอาจจะไอมีเลือดปนเสมหะ บางครั้ง ถ้ามีแผลโพลงในเนื้อปอด อาจจะไอเป็นเลือดสดๆเป็นจำนวนตั้งแต่ครึ่งแก้วน้ำจนถึง ๑ กระโถนขนาดกลาง เมื่อไอมาก อาการที่ตามมาคือ เจ็บชายโครงทั้งสองข้าง อ่อนเพลียลงเรื่อยๆ เบื่ออาหาร เมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้รับการรักษา อาการทุกอย่างจะเป็นมากขึ้น น้ำหนักลดลงมากจนบางครั้งเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ในสมัยก่อนเรียกว่า “โรคผอมแห้ง”

เนื่องจากเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ระยะเวลาที่เริ่มเป็นจนมีอาการหนัก มักจะใช้เวลานาน อาจจะหลายเดือน อาจจะเป็นปี บางคนเที่ยวดึก สูบบุหรี่จัด เมื่อมีอาการไอก็เข้าใจว่าเป็นผลมาจากบุหรี่ ก็เลยไม่สนใจที่จะไปรับการตรวจ สำหรับคนที่ติดเหล้ามาก จะดื่มเหล้าตลอดวัน อาการมึนเมาจะบดบังอาการเริ่มแรกของวัณโรคได้ ต่อเมื่อมีอาการมากจึงไปพบแพทย์ ทำให้ยากต่อการรักษา เนื้อปอดถูกทำลายไปมาก เนื้อปอดที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้มีอาการหอบ เหนื่อย จนไม่สามารถจะเดินได้ ซึ่งนับว่าเป็นอาการที่เข้าขั้นรุนแรง

ผู้หญิงที่เป็นวัณโรครุนแรงมาก อาจจะมีประจำเดือนคลาดเคลื่อน หรือขาดหายไป
วัณโรคของอวัยวะอื่น เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง กระดูก ลูกอัณฑะ กระเพาะปัสสาวะ หรือไต จะมีอาการเกี่ยวกับระบบนั้นๆ
ส่วนวัณโรคต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองจะโตจนคลำได้ชัดเจน บางรายเป็นฝีแตกออกมารอบๆคอ
วัณโรคกล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงแหบ

                                                                     

สาเหตุของการป่วยเป็นวัณโรค
วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโครแบคทีเรี่ยม ทูเบอร์คูโลซิส วัณโรคมักเป็นที่ปอดมากกว่าอวัยวะอื่น เนื่องจากการติดเชื้อติดต่อทางระบบหายใจ ผู้ป่วยวัณโรคปอดเมื่อไอหรือจามแรงๆ เชื้อวัณโรคจะปนเปื้อนมากับละอองเสมหะ ล่องลอยอยู่ในอากาศ เมื่อมีผู้สูดหายใจเอาละอองเสมหะเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคที่ปนเปื้อนมากับละอองเสมหะขนาดเล็ก ๑-๓ ไมครอน จะเข้าสู่หลอดลมส่วนปลายจนไปถึง ถุงลมเล็กๆในเนื้อปอด เชื้อวัณโรคจะเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดเป็นแผลในเนื้อปอด และทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้ ถ้าผู้ที่รับเชื้อครั้งแรกเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานน้อย เช่น เด็ก ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์

ผู้ที่ได้รับเชื้อวัณโรคครั้งแรกส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานมากพอที่จะทำให้เชื้อโรคถูกทำลาย หรืออาจจะมีเชื้อโรคเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย และอยู่อย่างสงบนิ่งในเนื้อปอดโดยไม่ทำให้ผู้นั้นป่วย เป็นวัณโรคได้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอลง เช่น ได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ ทำให้เกิดป่วยเป็นวัณโรคขึ้นได้ทันที

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
โชคดีที่การวินิจฉัยวัณโรคปอดไม่ซับซ้อน สิ่งจำเป็นที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้คือ ประวัติความเจ็บป่วย อาการและการตรวจร่างกาย สามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ในระดับหนึ่ง ภาพถ่ายรังสีทรวงอกเป็นวิธีที่สะดวก และรวดเร็วไม่สิ้นเปลือง แต่ไม่มีลักษณะเฉพาะที่พอบอกได้ว่าเป็นวัณโรคแน่นอน คงบอกได้เพียงแต่ว่าน่าจะเป็นวัณโรค จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อวัณโรคในเสมหะผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค

ผู้ป่วยส่วนมากที่มีอาการไอเรื้อรังเกิน ๒ สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ภาพถ่ายรังสีทรวงอกที่บ่งว่าน่าจะเป็นวัณโรค มักจะตรวจเสมหะพบเชื้อวัณโรคมากกว่าร้อยละ ๖๐ การวินิจฉัย วัณโรคปอดที่แน่นอนจะต้องพบ เชื้อวัณโรคจากเสมหะ โดยการย้อมสีเสมหะ และตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือจากการนำเสมหะไปเพาะหาเชื้อวัณโรค แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าตรวจเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรค แต่ภาพถ่ายรังสีทรวงอกพบลักษณะแผลในเนื้อปอด และอาการบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นวัณโรค โดยไม่พบสาเหตุที่จะทำให้เป็นโรคอื่น ก็น่าจะให้การ วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอดได้ และจะได้รีบทำการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย

การเริ่มต้นการรักษาที่รวดเร็ว จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ เนื่องจากโรคไม่ลุกลามมาก เมื่อรักษาหายก็ไม่เกิดแผลเป็นในเนื้อปอด การรักษาผู้ป่วยที่เนื้อปอดถูกทำลายมากๆ ถึงแม้เชื้อวัณโรคจะตายหมด แต่ผู้ป่วยจะยังหอบเหนื่อย เนื่องจากมีเนื้อปอดไม่เพียงพอต่อการทำงานตามปกติ

วิธีการบำบัดรักษาและยาที่ใช้รักษา
ในปัจจุบันนี้มียาที่มีประสิทธิภาพมากในการรักษาวัณโรค แต่การรักษาต้องใช้ยามากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปจึงจะสามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้ เนื่องจากเชื้อวัณโรคมีคุณสมบัติพิเศษไม่เหมือนเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ถ้ารักษาด้วยยาไม่พอเพียงทั้งขนาด และชนิดของยา ตลอดจนระยะเวลาที่น้อยเกินไป การรักษาจะไม่ประสบผลสำเร็จ

ได้มีแพทย์ทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หาวิธีการรักษาวัณโรคอย่างกว้างขวางและ นานหลายสิบปีเพื่อจะหาทั้ง ยา และวิธีการที่จะนำมารักษาวัณโรคให้ได้ผลดีที่สุด และระยะเวลาสั้นที่สุด จนได้พบว่าการรักษาวัณโรคต้องใช้ยา ๔ ชนิด คือยาไรแฟมพิซิน, ไอโซไนอาซิด, ไพราซินาไมด์ และอีแทมบูทอล ใน ๒ เดือนแรก และติดตามด้วยยาอีก ๒ ชนิด คือ ยาไรแฟมพิซิน และไอโซไนอาซิด ในระยะ ๔ เดือน หลัง รวมระยะเวลาทั้งหมด ๖ เดือน สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อวัณโรคในเสมหะ

สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรค แต่มีอาการ และภาพถ่ายรังสีทรวงอกบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นวัณโรค ให้กินยา ๔ เดือน โดยใน ๒ เดือนแรกให้กินยา ๓ ชนิด คือยาไรแฟมพิซิน, ไอโซไนอาซิด และไพราซินาไมด์ และในระยะ ๒ เดือนหลังกินยา ๒ ชนิด คือ ยาไรแฟมพิซินและไอโซไนอาซิด

การรักษาที่ผิดไปจากนี้จะทำให้ผลการรักษาไม่ประสบความสำเร็จ เชื้อวัณโรคจะดื้อยา เช่น ผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ กินยาไม่ครบจำนวนทั้งขนาดและชนิดของยา หยุดการรักษาก่อนกำหนด ผู้ป่วยที่มีเชื้อ วัณโรคดื้อยาถือเสมือนว่าตายทั้งเป็น เนื่องจากไม่มียาที่จะรักษาได้ ถึงแม้จะมียาใหม่ๆที่พบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อวัณโรคดื้อยาได้ แต่ราคาแพงและมีผลแทรกซ้อนมาก ทั้งๆที่ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคต่ำมาก เมื่อโรคไม่หาย ผู้ป่วยจึงต้องทนทรมาน มีชีวิตอยู่ต่อไปกับเชื้อวัณโรคดื้อยาที่มีอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะทำลายเนื้อปอดและจะมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อผู้อยู่ใกล้ชิด ทำให้เป็นที่รังเกียจของสังคม แม้แต่ญาติสนิทก็ไม่อยากเข้าใกล้ เสียทั้งกำลังใจและกำลังกาย บางคนถึงกับฆ่าตัวตายไปก็มี

จะดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างไร
ผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นวัณโรค เมื่อได้รับการวินิจฉัย รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกวิธี ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน ๑-๒ สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ไม่มียารักษา ผู้ป่วยส่วนมากจะถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้กินอาหารที่มีประโยชน์ ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ และได้รับอากาศที่บริสุทธิ์

ตั้งแต่ค้นพบยารักษาวัณโรค การรักษาวัณโรค ไม่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลอีกต่อไป ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนจากการแพ้ยา มีอาการไอเป็นเลือดหรือหอบเหนื่อย จากการที่เนื้อปอดถูกทำลายมาก และผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคดื้อยา ในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล คำแนะนำที่ผู้ป่วยจะได้รับจากแพทย์ พยาบาล และนักสุขศึกษา คือ ต้องตั้งใจรักษา ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ วัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายขาด ผลการรักษาจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ตัวผู้ป่วยเอง ถ้ามีปัญหาต้องมาพบแพทย์ นอกจากนี้จะต้องชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่ต้องเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาต้องให้คำแนะนำ ตักเตือนซ้ำๆ ทั้งผู้ป่วยและญาติว่า โอกาสที่จะหายจากวัณโรคยังมี ประการสำคัญญาติต้องช่วยดูแล ผู้ป่วยให้ผู้ป่วยกินยาครบทุกเม็ด และทุกวันจนครบตามกำหนด

จะป้องกันตนเองได้อย่างไร
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การบำรุงรักษา ร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าจัด เนื่องจากทั้งบุหรี่ และเหล้าเป็นสิ่งส่งเสริมให้รับเชื้อวัณโรค และป่วยเป็นวัณโรคง่ายกว่าผู้ไม่ดื่มเหล้าและไม่สูบบุหรี่
ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ประพฤติตัวเสี่ยงต่อ การติดเชื้อไวรัสเอดส์ เมื่อใด ที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์ โอกาสเป็นวัณโรคมีมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ ไวรัสเอดส์ถึง ๓๐ เท่า และถ้าเป็นทั้งวัณโรคและติดเชื้อไวรัสเอดส์ การรักษาจะยุ่งยากมาก โอกาสได้ผลดีไม่ถึงร้อยละ ๕๐
วัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายขาด มียาที่มีประสิทธิภาพ สามารถที่จะรักษาให้หายได้ภายใน ๖ เดือน จึงไม่เป็นโรคที่น่ารังเกียจ ที่จะปิดบังซ่อนเร้นอีกต่อไป

ฉะนั้น ถ้าสงสัยว่าตนเองจะเป็นวัณโรคโดยมีอาการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรจะไปพบแพทย์ ตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอก และตรวจเสมหะ ถ้าป่วยเป็นวัณโรคจะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และการรักษาที่รวดเร็วจะทำให้การหายจาก วัณโรคสมบูรณ์แบบที่สุด คือ จะไม่มีรอยแผลเหลือไว้ในภาพถ่ายรังสีทรวงอก จะไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าทำงาน หรือไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ประวัติความเป็นมาของวัณโรคในประเทศไทย

วัณโรคได้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไร ไม่มีผู้ใดทราบแน่นอน ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า วัณโรคเกิดมีขึ้นในประเทศไทยในยุคใดสมัยใด เข้าใจว่าวัณโรคมีระบาดในหมู่คนไทยตลอดมาทุกยุคทุกสมัยแต่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัณโรคว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่สร้างความทุกข์ยากให้แก่มวลมนุษย์โลกมาเป็นเวลาหลายพันปี จนได้ชื่อว่าเป็น “มัจจุราชเงียบ” ผู้ใดที่เป็นโรคนี้มักจะเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากไม่มียาที่จะรักษาโรคนี้ได้ ผู้ป่วยต้องอาศัยภูมิต้านทานของร่างกายตามธรรมชาติต่อสู้กับโรค ผู้ที่หายป่วยจากวัณโรคได้นับว่าเป็นผู้ที่โชคดีที่สุด วัณโรคเป็นโรคเรื้อรัง ระบาดแพร่หลายในหมู่คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จึงนับว่าเป็นโรคที่น่ากลัวและสังคมรังเกียจมากในสมัยนั้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ประมาณ ๑๑๖ ปีมาแล้ว นายแพทย์โรเบิร์ต ค็อก ซึ่งเป็นชาวเยอรมันได้ค้นพบเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของการป่วยเป็นวัณโรค ทำให้ทราบว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อวัณโรคที่มีชื่อว่า “ไมโครแบคทีเรี่ยม ทูเบอร์คูโลซิส” ถึงแม้จะพบสาเหตุแต่ก็ไม่มียาที่จะรักษาโรคนี้ได้ในสมัยนั้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงเป็นผู้ริเริ่มชักชวนรัฐบาลและประชาชนทำการต่อต้านและปราบปรามวัณโรคในประเทศไทย โดยได้ทรงนิพนธ์บทความเกี่ยวกับวัณโรคขึ้นบทความหนึ่งให้ชื่อว่า “โรคทูเบอร์คูโลซิส” และได้โปรดเกล้าให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ซึ่งนับเป็นเอกสารสุขศึกษาเกี่ยวกับวัณโรคฉบับแรกในประเทศไทย ในบทความดังกล่าวพระองค์ได้เน้นถึงสาเหตุของโรค อาการ วิธีกำจัดโรค รวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายออกไปสู่บุคคลอื่น ข้อแนะนำต่างๆเหล่านั้นยังคงทันสมัยและยังใช้ปฏิบัติกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้มีการก่อตั้งสมาคมกองการปราบวัณโรค หรือสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปัจจุบันเป็นสถาบันอาสาสมัครที่ เริ่มงานวัณโรคเป็นครั้งแรกก่อนที่ทางราชการจะตั้งโรงพยาบาลวัณโรคกลาง หรือโรงพยาบาลโรคทรวงอกปัจจุบัน อยู่กับกรมควบคุมโรคติดต่อสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่รับผู้ป่วย วัณโรคไว้รักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ แพทย์ในสหรัฐอเมริกาได้ ค้นพบยาสเตรปโตไมซิน ซึ่งเป็นยาตัวแรกที่สามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้ การพัฒนาค้นคว้ายาชนิดอื่นๆก็ติดตามมา จนในที่สุดวัณโรคซึ่งครั้งหนึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ก็กลับเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ภายใน ๖ เดือน

ข้อมูลสื่อ

234-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 234
ตุลาคม 2541
บทความพิเศษ
พญ.จุรี ปุณโณทก