• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้อักเสบ ใช่แก้อักเสบ (ครอบจักรวาล) แต่คือ ยาฆ่าเชื้อ (แบคทีเรีย)

ยาแก้อักเสบ ใช่แก้อักเสบ (ครอบจักรวาล) แต่คือ ยาฆ่าเชื้อ (แบคทีเรีย)


ดิฉันมีข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องยาแก้อักเสบ ขอเรียนถามคุณหมอ ดังนี้ค่ะ

๑. ทำไมแต่ละครั้งที่ไปหาหมอ ถึงได้ยาแก้อักเสบมาไม่เหมือนกัน สังเกตดูว่าคนละชื่อกันเลย เช่น แอมพิซิลลินหรืออะม็อกซีซิลลิน

๒. ตามความเป็นจริงแล้วยาแก้อักเสบแต่ละตัวกินแทนกันได้ไหมคะ หรือว่าเป็นโรคนี้ต้องกินยาแก้อักเสบตัวนี้ ถ้าเป็นโรคอื่นต้องกินยาแก้อักเสบตัวอื่น

๓. ถ้าสมมุติว่ามียาแก้อักเสบอยู่ที่บ้าน เช่น แอมพิซิลลิน แล้วเราเจ็บคอเป็นทอนซิลอักเสบ จะเอายาแอมพิซิลลินมากินได้ไหม หรือต้องซื้อยาตัวอื่นคะ

๔. ดิฉันเคยเห็นคนแถวบ้านเป็นแผลมีหนองที่นิ้วเท้า (เกิดจากเล็บขบ) แล้วเขานำยาแก้อักเสบมาถอดแคปซูลออก แล้วโรยยาใส่ที่แผลเลย ไม่ทราบว่าการทำแบบนั้นจะได้ผลดีหรือจะเป็นอันตรายอย่างไรหรือเปล่าคะ

๕. ยาแก้อักเสบตัวไหนที่ดีที่สุดหรือรักษาได้ครอบคลุมมากที่สุด และยาตัวไหนที่ทำให้แพ้ได้ง่ายบ้างคะ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ซื้อมากินค่ะ

ขอความกรุณาช่วยอธิบายแล้วแนะนำด้วยนะคะ
นภัส/กรุงเทพฯ


ก่อนจะตอบปัญหาเกี่ยวกับยา

แก้อักเสบที่ถามมา  ผมขออธิบายเกี่ยวกับภาษาที่ใช้กันสักนิดจะได้เกิดความกระจ่างและเข้าใจถึงสรรพคุณ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มนี้ คำว่า "ยาแก้อักเสบ" ที่คุณใช้เรียกในที่นี้ เข้าใจว่าหมายถึงกลุ่มยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย จึงมีประโยชน์ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เช่น ทอนซิลอักเสบหูอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ฝี พุพอง แผล อักเสบเป็นหนอง เป็นต้น เนื่องจากคำว่า "ยาปฏิชีวนะ" เป็นภาษาแพทย์ซึ่งฟังดูเป็นวิชาการ ที่อาจเข้าใจยากสักหน่อย เมื่อมียากลุ่มนี้ออกมาใช้ในสมัยก่อน (๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว) แพทย์จึงแปลงชื่อยาเป็นภาษาชาวบ้านว่า "ยาแก้อักเสบ" เมื่อกินยานี้เข้าไปทำลายหรือฆ่าเชื้อ แบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อ อาการอักเสบ (อาการปวดบวม แดง ร้อนที่อวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น ฝี แผลอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ที่เห็นจากภายนอกได้ชัดเจน) ก็จะทุเลาลงไป

ชื่อนี้จึงคุ้นหูคุ้นปากชาวบ้านเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้เข้าใจว่า ยากลุ่มนี้มีสรรพคุณในการลดการอักเสบ พอมีอาการอะไรนิดหน่อย เช่น ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด ท้องเดิน เป็นไข้ เป็นต้น ก็นึกว่ามีการอักเสบเกิดขึ้น ก็จะหาซื้อหรือร้อง ขอให้แพทย์สั่งจ่าย "ยาแก้อักเสบ" (ซึ่งก็คือ ยาปฏิชีวนะ) มารักษา ความจริงแล้ว อาการอักเสบอาจมีสาเหตุได้มากมาย ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสมอไป เช่น อาการไอหรือเจ็บคออาจเกิดจากการระคายเคืองจากฝุ่น ควันบุหรี่ การแพ้อากาศหรือฝุ่นละออง การติดเชื้อไวรัส อาการเป็นไข้ หรือท้องเดิน ก็อาจเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นต้น หากเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ (ด้วยเข้าใจผิดว่าช่วยแก้อักเสบ) ก็ไม่มีประโยชน์ ถือเป็นการใช้ยาฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น และยังเสี่ยงต่อผลข้างเคียง การแพ้ยา และก่อปัญหาเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาได้

ยาปฏิชีวนะจะมีประโยชน์เฉพาะต่อโรคติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า เพื่อป้องกันมิให้เข้าใจสับสน ซึ่งนำมาสู่การใช้ยาผิดๆ ควรเรียกยากลุ่มนี้ตามภาษาแพทย์ คือ "ยาปฏิชีวนะ" กันไปเลย หรือจะแปลงเป็นภาษาชาวบ้านก็น่าจะเรียกว่า "ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย" ให้ตรงความหมายไปเลยจะดีกว่า ก็ขอฝากช่วยกันทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และบอกกล่าวแก่ผู้คนรอบ ข้างกันต่อไปด้วยครับ

ส่วนคำถามของคุณ ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้

๑. ที่ให้ยาปฏิชีวนะแตกต่างกันก็เพราะการเจ็บป่วย (เรียกให้จำเพาะเจาะจง ก็คือ "การติดเชื้อแบคทีเรีย") แต่ละครั้งเกิดจากสาเหตุ (เชื้อแบคทีเรีย) ต่างกัน หรือถึงแม้จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกัน แต่แพทย์ต่างคนอาจเลือกใช้ยาปฏิชีวนะต่างชนิด หรือแพทย์คนเดิมอาจเลือกใช้ยาปฏิชีวนะต่างชนิดในแต่ละครั้งก็ได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งๆ มักจะมียาปฏิชีวนะให้เลือกใช้ได้มากกว่า ๑ ชนิด ขึ้นไป เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง อาจเลือกใช้เพนวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซินก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความนิยมของแพทย์ หรือไม่ก็อาจขึ้นกับว่ามียาตัวใดอยู่ในตู้ยาขณะนั้นๆ นอกจากนี้ ตัวยาชนิดเดียวกัน อาจมียี่ห้อและรูปแบบของยาแตกต่างกัน ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาต่างชนิดกันก็ได้ ตรงนี้ก็ต้องเรียนรู้ว่า ยายี่ห้อต่างๆ มีชื่อสามัญทางยา (ชื่อแท้) ว่าอะไร แล้วให้จดจำชื่อสามัญทางยาเป็นสำคัญ

๒. และ ๓. คำตอบเหมือนกัน คือ ขึ้นกับว่ายาชนิดนั้นๆ มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดใด ยาปฏิชีวนะ ๑ ชนิดย่อมสามารถรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่า ๑ โรค และโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ๑โรค ก็อาจมียาปฏิชีวนะใช้รักษาได้มากกว่า ๑ ชนิด (ดูตัวอย่างในตาราง)



 

๔. ไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้นครับ เพราะอาจใช้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นแพ้ยาที่โรยได้ พบอยู่บ่อยๆ ว่าชาวบ้านจะนำเพนิซิลลิน หรือไม่ก็ซัลฟามาทาหรือโรยแผล วันแรกๆ ก็ ดูแห้งดี แต่วันต่อมากลับมีอาการเห่อ แดง คัน และเกาจนเป็นหนองเฟะ หรือไม่ก็พบว่าผงยาที่โรยนั้นเกาะกันเป็นแผ่นปกคลุมแผลไว้ ดูจากภายนอกนึกว่าแผลแห้ง แต่ข้างใต้แผลนั้นกลับมีหนองขังอยู่ ถ้าเป็นแผลที่ผิวหนัง ขอแนะนำให้ทำความสะอาดแผลด้วยการใช้น้ำสุกหรือน้ำเกลือชะเอาคราบหนองออก แล้วใส่น้ำผึ้ง (ทาลงบนแผล) ใช้ผ้ากอซปิด ทำวันละ ๒ ครั้ง เพียงไม่กี่วันจะดีขึ้น ส่วนแผลที่เกิดจากเล็บขบ ถ้าจะได้ผล อาจต้องให้หมอขริบเอาเล็บ ที่ขบออกไป

๕. ในโลกนี้ไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดที่ดีที่สุด หรือรักษาได้ครอบจักรวาลที่สุด ยาแต่ละตัวมีขอบเขตในการรักษาโรคแตกต่างกันไปครับ การใช้ยาปฏิชีวนะต้องใช้ให้ถูกโรค (ถูกกับเชื้อ) ถูกขนาด และถูกระยะ (ครบวัน) ถ้าใช้ผิดโรคก็ไม่ได้ผล ถ้าผิดขนาดก็อาจไม่ได้ผล (ขนาดน้อยไป) หรือเป็นอันตราย (ขนาดมากเกินไป) ถ้าไม่ครบระยะ โรคอาจกำเริบ และเชื้ออาจดื้อยาตามมา

ยาปฏิชีวนะทุกตัวอาจทำให้แพ้ได้ ทำให้เกิดอาการลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด หรืออาจหนักหน่วงถึงขั้นเป็นลมช็อกได้ ยาปฏิชีวนะกลุ่มที่แพ้ได้ง่ายก็มีกลุ่มเพนิซิลลิน (เช่น เพนวี แอมพิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน) กลุ่มซัลฟา (เช่น โคไตรม็อกซาโซล) ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ และผู้ที่มีประวัติ ภูมิแพ้ก็ต้องใช้ยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนจะใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะมีวิธีการใช้และข้อควรระวังในการใช้มากกว่ายาแก้ไข้ (พาราเซตามอล) และยา แก้แพ้ (คลอร์เฟนิรามีน) มากมาย ข้อสำคัญอย่าใช้พร่ำเพรื่อ ไม่ใช่เป็นหวัดนิด ไอหน่อย หรือตัวร้อน ท้องเสีย ก็หยิบฉวยยาปฏิชีวนะกินตะพึดตะพือไป ด้วยเข้าใจว่าเป็น  "ยาแก้อักเสบ" ดังที่เกริ่นไว้แต่ต้น

ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบแบบครอบจักรวาล แต่เป็น "ยาฆ่าเชื้อ" (แบคทีเรีย) ถ้าใช้ไม่เป็นหรือใช้พร่ำเพรื่อ ในอนาคตเชื้ออาจฆ่าเราได้ เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิดอาจดื้อยาปฏิชีวนะสารพัด จนไม่อาจหายาปฏิชีวนะตัวใดในโลกมารักษาได้ ในขณะนี้วงการแพทย์ทั่วโลกพากันห่วงใยว่า ถ้าสักวันหากมีการระบาดของเชื้อดื้อยา มนุษย์ก็จะประสบภัยอันมหันต์ ก่อนใช้ "ยาแก้อักเสบ" (ยาปฏิชีวนะ) ก็ขอให้คิดสักนิด

ข้อมูลสื่อ

252-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 252
เมษายน 2543
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ