• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับกาเฟอีน

๑ เครื่องดื่มและอาหารชนิดใด ที่มีกาเฟอีน
ชา กาแฟ น้ำอัดลมประเภท น้ำดำ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ ช็อกโกแลตแท่ง ปริมาณกาเฟอีนโดยประมาณในเครื่องดื่มต่างๆนั้นแตกต่างกัน (ให้ดูตารางที่ ๑ หน้า ๑๑)

๒ กาเฟอีนเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาผลของกาเฟอีน ต่อระบบไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อไฟโบรซิสติก ระบบสืบพันธุ์ พฤติกรรมของเด็ก การคลอดทารกที่ผิดปกติและการเกิดมะเร็ง ผลจากการวิจัยเหล่านี้พบว่า การได้รับกาเฟอีนในปริมาณไม่มากเกินไปจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีผลทำให้เกิดอาการใจสั่น รวมถึงไม่มีส่วนทำให้กระดูกเปราะบางด้วย ซึ่งขนาดที่ได้รับไม่ควรเกินวันละ ๓๕๐ มิลลิกรัม และไม่ควรกินเป็นเวลานานติดต่อกัน

๓ กาเฟอีนทำให้เกิดปัญหาต่อการนอนไม่หลับหรือไม่

กาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการ ทำงานของสมองจึงทำให้ไม่ง่วงนอน แต่ผลของกาเฟอีนต่อการนอนหลับยังขึ้นกับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ความไวของผู้นั้นต่อฤทธิ์กาเฟอีน ผู้นั้นดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นประจำหรือไม่ ปริมาณที่ดื่มต่อวัน และ ดื่มใกล้เวลานอนหรือไม่ เป็นต้น สำหรับผู้ที่ดื่มเป็นประจำและไม่ได้ดื่มใกล้เวลานอน กาเฟอีนมักไม่มีผลต่อการนอนหลับ สำหรับผู้ที่ไวต่อฤทธิ์ของกาเฟอีน หรือผู้ที่ไม่ได้ดื่มกาเฟอีนเป็นประจำ หากดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนอาจทำให้นอนไม่หลับ ระยะเวลานอนหลับลดลงและนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นง่ายเมื่อมีสิ่งรบกวน

๔ กาเฟอีนทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่

มีข้อสงสัยมานานแล้วว่ากาเฟอีนอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันได้แน่ชัดว่ากาเฟอีนจะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ไม่ว่าจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) หรือจากการศึกษาอื่นๆ บางรายงานที่พบว่ากาเฟอีนหรือกาแฟทำให้เกิดมะเร็ง ส่วนใหญ่ มักจะละเลยปัจจัยการดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็ง การวิจัยที่มีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงไม่เพียงพอ รวมทั้งละเลยประเด็นผลตกต้างของการดื่มสุรา หรือการสูบบุหรี่ซึ่งยังคง อยู่อีกนาน แม้จะเลิกดื่มสุราหรือเลิกสูบบุหรี่แล้วก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง เหล่านี้และผลตกค้างของการดื่มสุราหรือการสูบบุหรี่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งแทนที่จะเกิดจากกาเฟอีน

                                                            

๕ กาเฟอีนทำให้ความดันเลือดสูงหรือไม่

จากการศึกษาโดยนักวิจัยหลายกลุ่มพบว่า คนที่ไม่ดื่มหรือดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นครั้งคราว กาเฟอีนทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่เป็นการเพิ่มชั่วคราว ส่วนผู้ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นประจำจะไม่มีผลต่อความ ดันเลือด

๖ การดื่มกาแฟเพิ่มโคเลสเตอรอลในเลือดหรือไม่

สารในกาแฟที่ทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นคือ คาเฟสตอล (cafestol) และคาห์วิออล (kahweol) ซึ่งถูกกรองได้โดยกระดาษกรอง ดังนั้นการดื่มกาแฟที่ชงจากกาแฟคั่วบดที่ไม่ผ่านการกรองจะทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นได้ ส่วนการดื่มกาแฟที่ชงจากกาแฟคั่วบดที่ผ่านการกรองหรือชงจากกาแฟผงสำเร็จจะไม่ทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น สารทั้งสองนี้ถูกสกัดออกแล้วจากกระบวนการเตรียมกาแฟให้เป็นผงสำเร็จ

๗ กาเฟอีนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือไม่
กาเฟอีนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบางประเภทเท่านั้น เช่น งานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ งานที่ทำในเวลากลางคืน และเนื่องจากกาเฟอีนไม่มีผลต่อความฉลาด ดังนั้นงานที่ต้องใช้ความคิด เช่น การทำข้อสอบจะไม่ดีขึ้น

๘ การดื่มกาแฟระหว่างตั้งครรภ์ จะเป็นอันตรายหรือไม่
กาเฟอีนที่แม่ได้รับสามารถผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลแก่ทารกได้เช่นเดียวกับผลที่เกิดในผู้ใหญ่ การศึกษาและทดลองในหนูพบว่ากาเฟอีนไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดลูกที่พิการ การแท้งลูก การคลอดลูกก่อนกำหนด หรือคลอดลูกน้ำหนักน้อยกว่าปกติ

๙ กาเฟอีนเป็นอันตรายต่อ เด็กหรือไม่
ถ้าได้รับไม่มากเกินไป กาเฟอีนไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่บางครั้งเด็กอาจได้รับกาเฟอีนโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของทั้งเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มน้ำอัดลมที่มีกาเฟอีนมากเกินไป หรือการกินช็อกโกแลตมากเกินไป ในกรณีเช่นนี้จะเห็นผลที่เกิดจากการกระตุ้นสมองได้ เช่น นอนไม่ หลับ กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

๑๐ การได้รับกาเฟอีนขนาดสูง ระยะยาวมีอาการอย่างไรบ้าง

จะมีอาการกระวนกระวาย ตื่นเต้นง่าย ประสาทไหว หงุดหงิด มือสั่น อุณหภูมิร่างกายสูง นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็ว และใจสั่น อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับกาเฟอีนเกินกว่า ๖๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน

๑๑ พิษเฉียบพลันที่เกิด จากการได้รับกาเฟอีนเกินขนาดมีอะไรบ้าง
กระสับกระส่าย หายใจเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแบบตะคริว หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันเลือดอาจสูงขึ้น มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เกร็งหลังแอ่น ชัก และอาจเสียชีวิตได้พิษเฉียบพลันของกาเฟอีนจะแปรผัน โดยตรงกับขนาดที่ได้รับ ขนาดของกาเฟอีนที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ ต้องมากกว่า ๕,๐๐๐ มิลลิกรัม มักจะเกิดจากการกินยาหรือฉีดสารที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบเข้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็น การพยายามฆ่าตัวตาย

๑๒ การดื่มชา กาแฟ โคคาโคล่า เป๊บซี่-โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง ทำให้ติดหรือไม่

ปกติการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ ไม่ทำให้ติด แต่ถ้าดื่มเป็นปริมาณมากๆ หรือบ่อยๆ อาจจะทำให้ติดในลักษณะของการบริโภคจนเป็นนิสัย

๑๓ ถ้าต้องการลดหรือเลิกการบริโภคกาเฟอีน จะทำได้อย่างไร
๑. ต้องมีความตั้งใจที่จะลดและเลิก

๒. ใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อลดปริ-มาณการบริโภค เช่น
ก. จดบันทึกว่าท่านดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนทุกชนิดรวมแล้ววันละเท่าใด (จำนวนถ้วย กระป๋อง หรือขวด)
ข. พยายามลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนลงทีละน้อย
ค. ควรเปลี่ยนถ้วยกาแฟที่ท่านใช้ประจำให้มีขนาดเล็กลง
ง. ใช้วิธีผสมผงกาแฟที่สกัดกาเฟอีนออกลงรวมกับกาแฟที่กินปกติ โดยเพิ่มอัตราส่วนให้มากขึ้น หรืออาจชงกาแฟให้เจือจางลงทีละน้อย
จ. ดื่มชาสมุนไพรซึ่งไม่มีกาเฟอีนสลับกับชาปกติที่ท่านดื่มอยู่
ฉ. ถ้าท่านรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอน ในขณะทำงานหรือขับรถ ควรหยุดพัก ไปเดินเล่นคุยกับคนอื่น หรือนอนพักสักครู่

๓. บางรายสามารถหยุดการบริโภคได้ทันที

๑๔ ควรจะมีการแจ้งว่ามีกาเฟอีนบนบรรจุภัณฑ์หรือไม่
ควรจะมีการแจ้งว่ามีกาเฟอีนบนภาชนะผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกันในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ซึ่งถ้ามีการเติมกาเฟอีนจากภายนอก เข้าไปในอาหารหรือเครื่องดื่มจะ ต้องแจ้งว่ามีกาเฟอีนบนภาชนะที่บรรจุอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้น สำหรับประเทศไทย มีแต่เครื่องดื่มชูกำลังเท่านั้นที่ต้องแจ้งว่ามีกาเฟอีนและปริมาณกาเฟอีนบนบรรจุภัณฑ์

๑๕ กาเฟอีนมีประโยชน์ในทางการแพทย์หรือไม่

ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง โดยมักใช้เป็นยาเสริมกับตัวยาหลักบางอย่าง เช่น ใช้ผสมกับ ergot ในการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน และผสมในยาแก้หวัดหรือยาแก้แพ้บางตำรับ ในหลายประเทศมีการใช้กาเฟอีนผสมกับยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน แต่ในประเทศไทยสูตรตำรับยาแก้ปวดที่ผสมกาเฟอีนได้เพิกถอนไปแล้ว

ข้อมูลสื่อ

235-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 235
พฤศจิกายน 2541
เรื่องน่ารู้
ชัยชาญ แสงดี