เมื่อกระทรวงสาธารณสุขซื้อยาแพง จะด้วยเหตุใดๆก็ตาม แต่ด้วยเหตุของเศรษฐกิจในยุคนี้ จึงอยากเชิญชวนให้มาซื้อยาไม่แพงกันเถอะ สำหรับสถานที่จำหน่ายยาที่ควรจะใช้บริการ ให้สังเกตดังนี้
๑. ร้ายขายยานั้นต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยิ่งเป็นร้านที่อยู่ในโครงการร้านขายยาตัวอย่างยิ่งดีและควรเป็นร้านที่มีเภสัชกร(ตัวจริง) อยู่ประจำตลอดเวลา
๒. สถานที่จำหน่ายยาที่มิได้มุ่งหากำไร แต่ช่วยส่งเสริมแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง ได้แก่ ร้านขององค์การเภสัชกรรม ร้านของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
๓. ร้านขายยาที่ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้าได้ แสดงว่าราคายาจะเท่ากันทุกครั้งที่ซื้อ และยังช่วยเสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้องอีกด้วย
๔. ร้านขายยาที่พิจารณาดูแล้ว ไม่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เช่น ค่าเช่า ร้าน ค่าเช่าพื้นที่ เป็นต้น
๕. ร้านขายยาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีหลายๆร้าน เพื่อให้มีการแข่งขัน ราคา ผู้บริโภคจะสามารถต่อรองได้
๖. ร้านขายยาที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล(ราชการ)ใหญ่ๆ มักขายถูกกว่าราคาของโรงพยาบาล
๗. ร้านขายยาแบบขายส่ง ทำให้ราคาลดลงกว่าขายปลีก ทีนี้ก็มาถึงส่วนผู้มีอำนาจสั่งซื้อในกระทรวงสาธารณสุข วิธีง่ายๆนิดเดียวที่จะหลีกเลี่ยงยาแพงคือ
๑. อย่าซื้อยาส่งไปให้เขาเพราะ จะไม่ตรงกับความต้องการใช้ แถมเป็นการไม่กระจายงบประมาณอีก
๒. ใช้วิธีสั่งซื้อให้ถูกต้อง อย่าแบ่งซื้อ อย่าฮั๊วยาในการสอบหรือประกวดราคา
๓. ซื้อยาในบัญชียาหลักฯ จากองค์การเภสัชกรรม และอย่าแอบพ่วงยาบริษัทฯ ที่มีราคาแพง เข้าไปด้วยล่ะ
๔. เงินสวัสดิการ รับและเบิกจ่ายตามระเบียบฯกำหนด เพื่อส่วนรวม อย่าคิดว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ยาเข้ากระเป๋าตัวเอง
๕. ไม่รับเงินสวัสดิการ เร็วๆนี้ หวังว่าผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ สอบทุจริตซื้อยาแพงคงจะได้ความ อย่าลืมช่วยกันติดตามด้วย
ข้อแนะนำในการซื้อยา(ไม่แพง)
๑. ซื้อยาใช้เมื่อจำเป็น โภชนาการและพฤติกรรมสุขภาพที่ดีจะลดความจำเป็นในการใช้ยาลงอย่างมากๆ
๒. ซื้อยาใช้ให้ตรงกับอาการหรือโรค
๓. ซื้อยาตามชื่อสามัญทางยา (Generic name) ไม่ซื้อยาโดยใช้ชื่อการค้า (Trade name) เพราะยา ๑ ชื่อสามัญ มีหลายๆชื่อการค้า ราคาแตกต่างกัน จึงสามารถเลือกซื้อในราคาที่เราพอใจได้
๔. ซื้อยาที่มีราคามาตรฐานแน่นอน เช่น ยาขององค์การเภสัชกรรม เพราะผู้ขายไม่สามารถบวกเพิ่มได้ตามชอบใจ และใช้เป็นราคากลางเปรียบเทียบกับการซื้อยาที่อื่นได้
๕. ไม่ซื้อยาตามราคาข้างกล่องหรือข้างขวด ต้องต่อรองราคาลง เพราะราคานั้น ผู้ผลิตได้ให้กำไรแก่ผู้ขายค่อนข้างจะมากทีเดียว
๖. ซื้อยาขวดเปลือยจะถูกกว่าที่มีกล่อง หรือภาชนะบรรจุที่มีการตกแต่ง สวยงาม
๗. หากใช้ยาเป็นประจำ ควรซื้อยาเป็นจำนวนร้อยเม็ดหรือทั้งขวด ราคาจะถูกลง
๘. ยาที่ผลิตได้ในประเทศ จะถูกกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็ ควรสนใจเรื่องคุณภาพยาด้วย(อ่านเรื่อง คุณภาพยาวัดกันด้วยอะไร ในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับ ๒๙๙)
๙. ยาที่ลงทุนโฆษณามากๆ ย่อมราคาแพงกว่ายาที่ไม่ได้โฆษณา
๑๐. พึ่งตนเองอย่างทันสมัย โดยหันมาใช้ยาจากสมุนไพรไทย
๑๑. “ยาชุด” เป็นยาที่ให้กำไรกับผู้ขายมากที่สุด(และเป็นอันตรายที่สุดด้วย)
๑๒. ซื้อ “ยาสูตรผสม” ใช้ อาจจ่ายแพงเกินความจำเป็น
๑๓. ซื้อยาในปริมาณที่พอเพียงกับระยะเวลาในการรักษาโรค ไม่แบ่งซื้อ
- อ่าน 4,716 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้