• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะแว้ง : ทั้งต้นและเครือล้วนเชื้อพันธุ์เดิม

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ นับเป็นการกลับมาครบรอบของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ อันส่งผลกระทบให้เกิดการส่งเสริมและฟื้นฟูการปลูกพืชผักสวนครัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีการส่งเสริมอย่างจริงจังในสมัย จอมพลป.พิบูลสงคราม เมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำโครงการ "ผักสวนครัว รั้วกินได้" ซึ่งมีคำขวัญว่า "ปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ ประหยัดรายจ่าย ปลอดภัยสารพิษ" แถมยังมีการแจกกล่องบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชผัก ๑๖ ชนิด รวมทั้งหนังสือคู่มือแนะนำวิธีปลูก จำนวน ๒ ล้านกล่องให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย

คงจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศไทยที่พันธุ์ผักสวนครัวได้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่คนไทยติดตามกันทั้งประเทศนานนับเดือน และคงทำให้คนไทยส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของพันธุ์ผักชนิดต่างๆ ว่ามิใช่เรื่องเล็กหรือมีราคาถูก เพราะเมล็ดพันธุ์ผักบางชนิด เช่น เมล็ดมะเขือเทศ มีราคาถึงกิโลกรัมละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นพันธุ์ลูกผสมประเภทไฮบริด (hybrid) ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง และนำเข้าจากต่างประเทศ

จากความนิยมผักจำพวกมะเขือของคนไทย รวมทั้งความแพงของ เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ ทำให้นึกถึง ผักพื้นบ้านในสกุลมะเขือ (Genus Solanum) บางชนิดในประเทศไทยที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเอง และไม่ต้องการนักผสมพันธุ์มาปรับปรุง และเมล็ดพันธุ์ไม่มีราคา เพราะหาได้เปล่าในธรรมชาติ หรือแม้แต่ไม่ต้องเพาะปลูกก็ขึ้นเองได้ทั่วไป พืชสกุลมะเขือที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมีอยู่หลายชนิด ที่ผู้เขียนจะนำมาเสนอต่อเนื่องหลังจากได้เสนอมะเขือพวงไปแล้ว ในตอนนี้จะเสนอ อีก ๒ ชนิด ที่มีลักษณะร่วมกันหลายประการ รวมทั้งใช้ชื่อต้นร่วมกันด้วย นั่นคือ มะแว้งต้น และมะแว้งเครือ

                                                                         

มะแว้ง : ทั้งต้นและเครือล้วนเชื้อพันธุ์เดิม
มะแว้งเป็นพืชในวงศ์ Solanaceae เช่นเดียวกับมะเขือและพริกชนิดต่างๆนั่นเอง และอยู่ในสกุล (Genus) Solanum เช่นเดียวกับมะเขือพวง มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับมะเขือพวง เช่น ลักษณะผลขนาดเล็กออกรวมเป็นช่อหรือพวง เป็นพืชยืนต้นข้ามปี มีหนามตามกิ่งก้านและลำต้น รูปร่างใบก็คล้ายกัน ต่างกันที่ขนาดเท่านั้น เมื่อพิจารณาพันธุกรรมของมะแว้งทั้งสองชนิด ก็พบว่าเป็นพันธุ์ที่คัดเลือกโดยธรรมชาติอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับมะเขือพวงที่ใกล้พันธุ์ป่า (ธรรมชาติ) มากกว่าพันธุ์บ้าน (มนุษย์ปรับปรุง) แต่มะแว้งมีความเป็นเชื้อพันธุ์ดั้งเดิมตามธรรมชาติมากกว่ามะเขือพวง เพราะมนุษย์ ไม่นิยมกินมะแว้งมากเท่ามะเขือพวง จึงอาจกล่าวได้ว่า มะแว้งที่มนุษย์ ใช้ประโยชน์อยู่นี้เป็นฝีมือของธรรม-ชาติล้วนๆ โดยเฉพาะมะแว้งเครือ

มะแว้งเครือ : มะเขือป่าดั้งเดิม
มะแว้งเครือ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum trilobatum Linn. เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก อาศัยเลื้อยพาดไปตามพื้นดิน หรือค้างต่างๆ เช่น รั้ว และต้นไม้อื่นๆ แต่ไม่มีมือจับเหมือนกับไม้เลื้อยบางชนิด รวมทั้งไม่ใช้วิธีพันรัดรอบ ดังเช่นเถาวัลย์ต่างๆ คงใช้แต่การพาดและอาศัยการแตกกิ่งแขนงด้านข้างจำนวน มาก ประกอบกับหนามแหลม งอคล้ายกรงเล็บเหยี่ยว ช่วยพยุงกิ่งก้าน ให้เลื้อยไปที่สูงได้ น่าสังเกตว่าคน ไทยเรียกมะแว้งชนิดนี้ว่า มะแว้งเครือ ไม่ใช่มะแว้งเถา เพราะความหมายของคำว่า “เครือ” และ “เถา” นั้นแตกต่างกัน ลักษณะของไม้เถานั้นอาศัยการพันรัดพยุงลำต้นขึ้นไปดังเช่นเถาวัลย์ต่างๆ ส่วนไม้เครือจะอาศัยการพาดหรือวางทับไปเฉยๆเท่านั้น จึงต้องอาศัยลักษณะอื่นๆประกอบ เช่น มีกิ่ง ก้านมาก กิ่งก้านแข็งแรงกว่าไม้เถา และมีหนามช่วยเกาะ เป็นต้น ซึ่ง จะพบลักษณะดังกล่าวอย่างครบถ้วนเมื่อพิจารณาถึงส่วนต่างๆของมะแว้งเครือ ลักษณะเด่นของมะแว้งเครือ นอกจากเป็นเครือหรือมีกิ่งก้านเลื้อยพาดพ้นพื้นดินไปได้สูงๆแล้ว ยังมีหนามแหลมทรงเล็บเหยี่ยวที่มากเป็น พิเศษ คือมีตั้งแต่ลำต้น กิ่งก้าน ไปจนถึงก้านใบ เส้นแกนกลางหลังใบ และก้านช่อดอก ผล ใบมะแว้งเครือ มีลักษณะคล้ายใบมะเขือพวง แต่ขนาดเล็กกว่ามาก ดอกมีขนาดใกล้เคียงกับดอกมะเขือพวง แต่กลีบ-ดอกเป็นสีม่วงเข้ม เกสรตัวผู้สีเหลือง ผลขนาดเล็กเป็นพวง แต่ไม่ดกเท่ามะเขือพวง ขนาดผลเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๗ เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวสลับลายขาว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแสดและแดงตามลำดับ ภายในผลมีเมล็ดแบนสีครีมขนาดเล็กมากมาย มะแว้งเครือเป็นพืชป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์โดยเมล็ดที่ร่วงหล่นหรือสัตว์ (โดยเฉพาะนก)กินผล แล้วถ่ายเมล็ดออกมา เป็นการกระจายพันธุ์ออกไปได้กว้างขวาง ปัจจุบันมีผู้นำมาปลูกใช้ประโยชน์บ้าง แต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ คือ มะแว้งเครือ

มะแว้งต้น : ญาติผู้น้องของมะเขือพวง
มะแว้งต้นเป็นไม้พุ่มยืนต้น ขนาดเล็ก สูงราว ๑.๕ เมตร ลักษณะแทบทุกอย่างคล้ายมะเขือพวง เพียงย่อขนาดลง สักราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น ดอกและผลมีขนาดและลักษณะ คล้ายกับมะแว้งเครือมาก ต่างกันตรงที่ผลสุกมีสีแสดไม่เข้มหรือแดงเท่าผลมะแว้งเครือ หนามตามลำต้นกิ่งก้านก็มีน้อยกว่ามะแว้งเครือ มะแว้งต้นมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum sanitwongsei Craib. ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ Sparrow’s Brinjal น่าสังเกต ว่าชื่อชนิดของมะแว้งต้นมีคำว่า “สนิทวงศ์” อยู่ด้วย น่าจะเป็นการ ตั้งจากประเทศไทยนี่เอง ส่วนชื่อสามัญภาษาอังกฤษมีคำ Brinjal ซึ่งเป็นภาษาฮินดี หมายถึงมะเขือ ผู้ตั้งชื่อคงเห็นมะแว้งต้นในอินเดียนั่นเอง แสดงว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะแว้งต้นอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียซึ่งรวมทั้งไทยและอินเดียด้วย

มะแว้งต้นเป็นพืชที่พบในไร่นา หรือเพาะปลูกโดยเกษตรกรมากกว่ามะแว้งเครือ และพบขึ้นเองตามธรรมชาติน้อยกว่ามะแว้งเครือ สันนิษฐานว่ามะแว้งต้นคงได้รับการคัดเลือกปรับปรุงโดยมนุษย์มาบ้างแล้ว เช่นเดียวกับมะเขือพวง ไม่ใช่พืชป่าตามธรรมชาติบริสุทธิ์เหมือนมะแว้งเครือ

ชื่อตามท้องถิ่นต่างๆของมะแว้งต้น คือ มะแว้ง มะแว้งต้น(ภาคกลาง) มะแคว้งขม(ภาคเหนือ) และหมากแข้ง(ภาคอีสาน)

มะแว้งในฐานะผัก
เชื่อว่าผู้อ่านคอลัมน์ต้นไม้ ใบหญ้าส่วนใหญ่คงไม่เคยกินมะแว้งในฐานะผักมาก่อน และอาจนึกไม่ออกว่าจะกินอย่างไร ส่วนของมะแว้งที่ใช้เป็นผักได้ก็คือ ยอดอ่อนและผลอ่อน สำหรับยอดอ่อนนั้นต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้เป็นผักจิ้ม ส่วนผลอ่อนดิบใช้เป็นผักจิ้มได้เลย นิยมกินกับปลาร้า แต่ก็ใช้จิ้มน้ำพริกได้เหมือนกัน รสชาติของมะแว้งค่อนข้างขื่นขม แต่เมื่อเคี้ยวสักครู่จะรู้สึกออกรสหวานเล็กน้อย ถือเป็นเอกลักษณ์ของผลมะแว้งดิบ ประโยชน์ด้านอื่นของมะแว้ง คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมะแว้งในฐานะสมุนไพรที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการรักษาอาการไอและขับเสมหะ ตำราสมุนไพรไทยระบุสรรพคุณของมะแว้งดังนี้
ใบ รสขื่นขม บำรุงธาตุ แก้วัณโรค แก้ไอ
ผล รสขื่นขมเอียน แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว
ราก รสขื่นเอียน แก้ไอ แก้เสมหะ ขับให้เสมหะออก แก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว

นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณของรากเพิ่มเติมในบางตำราว่า ใช้ระงับความร้อน กระทุ้งพิษไข้ให้ลดลง และขับปัสสาวะ แพทย์ไทยในอดีตนิยมใช้มะแว้งต้นร่วมกับมะแว้งเครือ เรียกว่า มะแว้งทั้งสอง ปัจจุบันสรรพคุณของมะแว้งในด้านแก้ไอ ได้รับการพัฒนาเป็นยาสำเร็จรูปโดยองค์การเภสัชกรรม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ รักษาแผลในลำคอ ถือเป็นตำรับยาแผนโบราณที่มีประสิทธิภาพสูงตำรับหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณขนานหนึ่ง มีการผลิตออกจำหน่ายอย่างจริงจัง และมีการปลูกมะแว้งเพื่อนำมาผลิตเป็นยา โดยเฉพาะกันบ้างแล้ว

นอกจากประโยชน์ด้านอาหารและสมุนไพร มะแว้งยังอาจนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อีก เช่น หากปลูกมะแว้งเครือไว้ที่รั้วบ้าน ก็จะได้รั้วมีชีวิตที่มีใบเขียวตลอดปี ดอก สีม่วงดกงดงาม ผลสุกสีแดงเข้มแปลกตา ผลัดเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล ไม่จำเจ นอกจากนั้นหนามอันมากมายจะทำหน้าที่ของรั้วได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผลสุกของมะแว้งยังจะดึงดูดนกให้มาเยี่ยมเยียนขอชิม นับว่าเป็นมากกว่า “รั้วกินได้” หลาย เท่า ทั้งยังไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่แสนแพงมาจากต่างประเทศอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

235-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 235
พฤศจิกายน 2541
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร