• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การออกกำลังกาย ช่วยข้อเข่าเสื่อมหรืออักเสบของคนแก่

แม่ผมอายุ ๘๒ ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมอักเสบมา ๒o กว่าปี ตอนอายุ ๖o ปีเศษๆ เคยปรึกษาเพื่อนแพทย์ที่เป็นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เพื่อนบอกว่า “เปลี่ยนข้อเข่าสิ”

ผมก็กลัว กลัวเปลี่ยนหัวข้อเข่า (เมื่อ ๒o ปีก่อน) แล้วแม่จะเดินไม่ได้ น้องๆและคุณพ่อขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ คงเอาผมตายแน่
แต่พยายามไปถามหลายต่อหลายคนที่ได้รับการผ่าตัด บางรายบอกว่าได้ผลดี บางรายก็ไม่ดี จนแล้วจนรอดเลยตัดสินใจไม่ยอมให้แม่ผ่าตัด และแม่เองก็ไม่ยอมด้วย

พยายามให้แม่ออกกำลังกาย แต่ท่านก็ไม่ค่อยยอมทำ เพราะแรกๆคงจะเจ็บ ผลสุดท้ายข้อเข่าก็ติด เดินเหินลำบาก ต้องใช้ ๔ ขาช่วยเดิน แต่ก็ยังไม่ค่อยคล่อง
นานเข้า เนื่องจากขาดการออกกำลังกายอย่างเป็นระบบและอย่างสม่ำเสมอ เลยเดินไม่ได้ กอปรกับน้ำหนักตัวเพิ่ม ยิ่งทำให้เพิ่มน้ำหนักบนข้อเข่า มีอาการเจ็บปวด งอพับข้อเข่าทำไม่ได้เลย สงสาร แต่ทำอะไรมากไม่ได้ ต้องให้น้องๆหลานๆช่วยกันพยุงลุกนั่ง และจับยืนขึ้นรถเข็น ลำบากพอสมควร

พอดีได้อ่านวารสารทางการแพทย์ เรื่องกล้ามเนื้อและกระดูกเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ ที่น้องชายนำมาฝากจากสหรัฐอเมริกา เห็นข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย เพื่อการยืดและทำให้กล้ามเนื้อสะโพกโคนขาและเข่าแข็งแรง ซึ่งเรียบเรียงโดย แพทย์หญิงซูซาน เอมเมอร์ฟีย์ และแพทย์หญิงแมรี่ แอล จูริสสัน จากเมโยคลินิก เมืองไรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซต้า จึงใคร่ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก จากข้อเข่าเสื่อมและอักเสบโดยเฉพาะผู้ที่สูงอายุ คงจะได้อานิสงส์จากบทความนี้

การออกกำลังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนหนึ่งในแผนการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มันช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ยืดหยุ่นดี ช่วยให้รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มมาก ลดความเจ็บปวด และที่สำคัญ คือช่วยการเคลื่อนไหว ให้ไปไหนมาไหนได้ นั่นคือการเพิ่มคุณภาพชีวิต

การออกกำลังกายแบบยืดเส้นยืดสาย ช่วยประคับประคอง และเพิ่มคุณภาพของการเคลื่อนไหวของข้อ
การออกกำลังกายแบบเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อเข่าของคุณมั่นคง ช่วยประคับประคองรอบๆหัวเข่า

ท่าออกกำลังกายต่อไปนี้หากใช้ร่วมกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน ๔๕ นาทีทุกวัน จะช่วยเป็นโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการออกกำลังกายของขา เข่า เท้าทั้ง ๒ ข้าง

แพทย์ทางกายภาพบำบัดหรือฝึกกายภาพบำบัด จะแนะนำคุณว่า ควรจะทำมากน้อย นานแค่ไหน เพียงไร ในแต่ละวัน เพื่อจะได้ประโยชน์สูงสุด
ที่สำคัญยิ่ง คือ คุณควรทำตามแผนการออกกำลังกายอย่างอดทน และซื่อสัตย์ จะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จึงจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลง จงอย่าท้อถอย
จงตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไปเถอะ ผลจะได้กับคุณเอง

เมื่อคุณบริหารร่างกายดังที่นำเสนอไปแล้ว หากคุณทำได้โดยไม่เจ็บไม่ปวด และรู้สึกสบาย อาจจะอยู่ในท่างอเข่า (๔.๔) นาน ๑-๒ นาที ก็ได้ และหากคุณทำเก่งๆ อาจจะทำตัวให้ต่ำลงมาอีก แต่คุณต้องมองเห็นนิ้วหัวแม่เท้า โดยให้เท้ายื่นออกมาห่างจากกำแพงมากขึ้น
ข้อควรระวัง ถ้าคุณใส่รองเท้า ควรเป็นพื้นชนิดที่ไม่ลื่นไถลได้
และโปรดสังเกต การออกกำลังกายท่า ๑-๔ นี้ ไม่ควรมีการรเจ็บปวด ถ้าข้อเข่าบวมแดงหรืออักเสบ ต้องรอให้ยุบเสียก่อน
หวังว่าท่านคงโชคดี มีกำลังใจ ขยันออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเข่าและพยุงข้อไม่ให้เสื่อมมากขึ้นกว่านี้
โชคดีครับ

หมายเหตุ มีหนังสือเรื่อง “ปวดเข่า” ของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน ได้อธิบายถึงสาเหตุและข้อแนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้มีข้อเข่าเสื่อม กรุณาหาอ่านประกอบด้วยจะดีมากครับ

 

ข้อมูลสื่อ

237-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 237
มกราคม 2542
เรื่องน่ารู้
นพ.อำนาจ บาลี