• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สัมผัสมหัศจรรย์ TOUCH THERAPY

“การนวด การสัมผัส ” รักษาโรคได้ หลายคนคงแปลกใจ ไม่น่าเป็นไปได้ ลองอ่านบทความต่อไปนี้ดูสิครับ
เรื่องราวของการ “นวด” “การสัมผัส” ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับวัฒนธรรมไทยของเรา จากคำกล่าวของลาลูแบร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า “คนไทยเจ็บป่วยก็ไม่เห็นทำอะไร นวดๆ บีบๆ แต่ก็หายเป็นอันมาก” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยรู้จักใช้การนวดสัมผัสสมาตั้งนมนานแล้ว

นอกจากนี้ยังมีบันทึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการบำบัดด้วยการสัมผัสมานาน ตั้งแต่ยุค ๑oo ปี ก่อนคริสตกาล โดยออเรลิอุส คอร์เนลิอุส เซลซัส โดยเขาเรียกว่า “การเสียดสี” กับหัวไหล่ แขน ขา และหน้าอกเพื่อรักษาโรคปอดอักเสบ ซึ่งบันทึกไว้ว่า “ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”
รศ.พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ หน่วยจิตเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำไว้ว่า “การที่พ่อแม่โอบกอดลูก ก่อให้เกิดความรักขึ้นได้ การกอดสัมผัสลูกทำให้ลูกนั้นรู้ว่าเรารักลูก ความรู้สึกต่างๆก็ดีขึ้น”

สังเกตว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความคิดเกี่ยวกับการนวดเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยได้แพร่หลายในหมู่ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม วิชามานุษยวิทยาสมัยใหม่สอนไว้ว่าการนวดเป็นแบบแผนปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั้งเดิมในการรักษาโรคและดูแลผู้ป่วยซึ่งสืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่สิ้นเปลือง ไม่มีผลเสีย และมีประสิทธิภาพในการรักษา

การบำบัดด้วยการสัมผัสคืออะไร ทำอย่างไร
การบำบัดด้วยการสัมผัสคือ การใช้มือสัมผัสบนหรืออยู่ใกล้ๆกับร่างกาย เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำบัดรักษาโรค โดยลักษณะของการสัมผัสนี้ไม่ใช่เพียงแค่การสัมผัสแบบทั่วๆไป หรือสัมผัสเพื่อการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่เป็นการสัมผัสที่ผู้ให้การรักษามีความตั้งใจจริงที่จะถ่ายทอดความรัก ความห่วงใย ความเอื้ออาทรไปให้กับผู้ป่วยอย่างจริงใจและด้วยความเต็มใจ
ซึ่งกระทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การนวดแบบ
ต่างๆที่ใช้กันในโลกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งมีทั้งการลูบไล้ไปตามลำตัว การถูผิวหนังและการบีบเฟ้นกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งสามารถจะใช้น้ำมัน ครีม หรือแป้งร่วมด้วย เพื่อช่วยให้การนวดง่ายขึ้น โปรดจำไว้ว่าอย่าทำอย่างรีบร้อน ควรทำด้วยความรักและนุ่มนวล
โดยการสัมผัสนี้จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อ และมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนใต้สมอง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น การนวดรอบๆแผล จะช่วยดึงเม็ดเลือดขาวมาช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

การบำบัดด้วยการสัมผัส กับงานวิจัยทางการแพทย์

ในการประชุมกุมารแพทย์แห่งชาติอินเดียในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ นายแพทย์ไมค์ ทอมป์สัน แห่งโรงพยาบาล Royal กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะนำการสัมผัสและการนวดเข้าไปรวมในแผนบำบัดรักษา เพื่อให้ครอบครัวมีส่วนร่วม การส่งเสริมให้พ่อแม่ของเด็กให้ใช้การนวดสัมผัสอย่างแผ่วเบา ควรจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการบำบัดรักษา

ศาสตราจารย์ซูซาน ดิกชัน แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ระบุว่า “การถูหรือสัมผัสตรงจุดที่มีอาการปวดเป็นสิ่งที่มีคุณค่า โดยเป็นการมองจากมุมมองของเด็กโดยตรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กเล็กๆจะมีความคิดและเหตุผลที่ต่างไปจากผู้ใหญ่”

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาโดย ดร.ทิฟฟานี ฟีลด์ และคณะ แห่งสถาบันวิจัยการสัมผัส คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา พบว่าพลังของการสัมผัสมีอิทธิพลต่อกระบวนการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของเด็ก

ผลการวิจัยนี้พบว่าคุณประโยชน์ของการบำบัดด้วยการสัมผัสมีผลต่อการรักษาโรคหรืออาการต่างๆ เช่น โรคหืด ผิวหนังอักเสบ ความเครียดจากอาการบาดเจ็บต่างๆ รวมทั้งสามารถใช้ได้ผลกับเด็กทารกที่ได้รับเชื้อเอชไอวี ทารกคลอดก่อนกำหนดจากแม่ที่ติดยาเสพติด และทารกปกติ โดยให้ประโยชน์ทางด้านจิตใจ และให้ผลที่วัดได้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ดังนี้

โรคหืด
เด็กซึ่งเป็นโรคหืดเมื่อได้รับการนวดตามแบบแผน พบว่าจะมีความกระวนกระวายน้อยลง มีอารมณ์ดีขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือเด็กจะมีอาการของโรคน้อยลง และหายใจโล่งขึ้น ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลายลดลง ซึ่งเป็นหลักฐานที่บอกว่าความเครียดลดลง ที่น่าสนใจก็คือ พบว่าผู้ที่ดูแลเด็กหรือพ่อแม่ของเด็กก็มีอาการกระวนกระวายน้อยลงเช่นกัน (เรียกว่ามีประโยชน์ถึงสองต่อเลยทีเดียว)

ทารกคลอดก่อนกำหนด
ทารกคลอดก่อนกำหนดตอบสนองต่อการนวดของพยาบาล (ที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษ) โดยจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีระยะเวลาการตื่นและรู้สึกตัวนานขึ้น และมีการพัฒนาทักษะการใช้ กล้ามเนื้อดีขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด และสร้างความประหลาดใจให้กับคณะผู้ศึกษาไม่น้อย ก็คือช่วยลดระยะเวลาที่ทารกซึ่งคลอดก่อนกำหนดจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลได้ถึง ๖ วัน ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่พ่อแม่เด็กได้อย่างมาก
ทารกซึ่งติดเชื้อเอชไอวี ทารกกลุ่มนี้หากได้รับการนวดโดยแม่ของตัวเอง จะมีการตอบสนองในลักษณะที่ใกล้เคียงกันกับทารกปกติซึ่งไม่ได้รับเชื้อเอชไอวี และยังพบประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น พ่อแม่ของเด็กในกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกดีขึ้นที่สามารถช่วยเหลือลูกของตน ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ดูแลและทารกเอง เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ของการบำบัดด้วยการสัมผัสก็ว่าได้

คนไข้จิตเวช
นับคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพบว่าได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการนวดเป็นประจำทุกวัน ที่สำคัญก็คือพบว่าคนไข้มีระดับฮอร์โมนซึ่งเกี่ยวข้องกับความเครียดลดลง ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนนอร์เอพิเนฟรีนก็ตาม ซึ่งผลที่เป็นรูปธรรมลักษณะนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์และผู้ให้การบำบัดรักษาโรคหันมาให้ความสนใจและให้ความเชื่อถือในประสิทธิภาพของวิธีการบำบัดเก่าแก่นี้มากยิ่งขึ้น

ทารกปกติ
ผลการศึกษาที่เด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับการบำบัดด้วยการสัมผัส น่าจะเป็นผลที่ได้จากการศึกษาทารกที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ พบว่าทารกที่เกิดจากแม่ที่มีอายุน้อยได้รับผลดีอย่างมากจากการนวดระยะสั้นๆ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่าทารกที่ได้รับการนวดจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แจ่มใสขึ้น โดยสังเกตจากทารกจะร้องโยเยน้อยลง ตื่นตัวมากขึ้น และมีพัฒนาการทางสังคมมากขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าระดับฮอร์โมนความเครียดของเด็กลดลง และมีฮอร์โมนเซโรโตนินเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่าเด็กมีอารมณ์แจ่มใสขึ้น หรือเครียดน้อยลงนั่นเอง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่พบในกลุ่มทารกปกติที่รักษาด้วยการเขย่าตัวแทนการนวด

โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนในเด็กที่มีอาการไม่รุนแรงนัก
ก็สามารถบำบัดด้วยการสัมผัสไม่ว่าจะใช้เพียงวิธีเดียว หรือใช้ควบคู่กับยาทาผสมน้ำมันระเหยก็ตาม เป็นการบำบัดเสริมที่มีประโยชน์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะความรู้สึกจากสัมผัสด้วยมือพ่อหรือแม่จะส่งผลดีต่อจิตใจของเด็ก ทำให้เด็กสบายตัวขึ้น หลับสบาย และฟื้นตัวเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็จะรู้สึกดีขึ้นด้วยที่ได้มีส่วนในการช่วยลูก
และกำลังเป็นที่ตื่นตัวอยู่ในขณะนี้ ที่แผนกเด็กอ่อนของโรงพยาบาลมงกุฎเกล้า มีการนวดเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กทารกที่น้ำหนักตัวน้อย และเด็กทารกที่น้ำหนักตัวปกติ ซึ่งวิธีการสัมผัสบีบนวดนี้นำมาจากการศึกษาวิจัยโดยนางพยาบาลชื่อ เทเรซา เคิร์กแพตริก แรมเซย์

ไม่เฉพาะกับการนวดเท่านั้น แม้กระทั่งการได้รับการสัมผัสจากอกอุ่นของแม่ ก็ได้ช่วยชีวิตเด็กคลอดก่อนกำหนดมาหลายต่อหลายรายแล้ว ดังเช่นที่ประเทศโคลัมเบียมีตู้อบสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดไม่พอ เด็กตายกันมาก และได้ความคิดจากลูกจิงโจ้ซึ่งอาศัยอยู่ที่หน้าท้องของแม่ ตามปกติลูกจิงโจ้ที่เกิดใหม่จะยังอ่อนแอมาก คล้ายเด็กคลอดก่อนกำหนด ในระยะแรกจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมพิเศษคือ ในถุงหน้าท้อง จึงเอาอย่างโดยเอาเด็กคลอดก่อนกำหนดมาเลี้ยงไว้ในระหว่างเต้านมของมารดา มีเสื้อผ้าและเข็มขัดอีกชั้นหนึ่งเพื่อกันตก ซอกนี้จะทำหน้าที่คล้ายถุงที่หน้าท้องของแม่จิงโจ้

อย่างไรก็ดี การเอาเด็กไว้กับหน้าอกตลอดเวลา ทำความลำบากให้กับมารดาไม่ใช่น้อย เพราะเวลากลางคืนมารดาต้องนอนหัวสูงเล็กน้อย และไม่สามารถจะทำงานต่างๆได้ตามปกติ เวลากลางวันก็ต้องนอนเพิ่มเติมเพราะกลางคืนนอนไม่สนิท ฉะนั้นจะต้องมีผู้ทำงานต่างๆแทน แต่เขาบอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีกว่าตู้อบทั้งหลาย สามารถจะเลี้ยงเด็กซึ่งมีน้ำหนักน้อยมาก แม้แต่น้ำหนักตัวเพียง ๑ กิโลกรัม ก็สามารถเลี้ยงให้รอดได้

นอกจากนั้นเด็กที่เลี้ยงดูกับอกจะหลับสบายและน้ำหนักตัวขึ้นเร็วกว่าเด็กที่เลี้ยงในตู้อบ เข้าใจว่าเมื่อเด็กหลับสบายก็ใช้พลังงานน้อย ทำให้น้ำหนักตัวขึ้นเร็ว อาจเป็นได้ว่าเพราะเด็กมีความรู้สึกอบอุ่น และรู้สึกปลอดภัยจากการที่อยู่ใกล้ชิดกับมารดาตลอดเวลา

หลังจากได้เริ่มวิธีใหม่นี้ในประเทศโคลัมเบีย เด็กคลอดก่อนกำหนดจะอยู่ในโรงพยาบาลสั้นลงมาก บางรายอยู่เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น เมื่อก่อนนี้ตู้อบไม่พอ ตู้อบซึ่งปกติใส่เด็กเพียง ๑ คนต้องใส่เด็กหลายคนบางครั้งถึง ๔ คน ซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่าย วิธีใหม่นี้ทำให้สภาพการณ์ต่างๆดีขึ้นมาก อัตราตายลดลง และน้ำหนักตัวขึ้นเร็วกว่าวิธีเดิมถึง ๓ เท่า การทดลองนี้ที่ประเทศอังกฤษก็ได้ผลคล้ายคลึงกัน

จะเห็นว่าการบำบัดโดยการสัมผัสได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลดีในการบรรเทาอาการของโรคหลายชนิด สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นทั้งด้านจิตใจ และผลที่วัดด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีซึ่งง่ายและใช้เวลาไม่มาก ไม่ต้องฝึกฝนอะไรเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และสมาชิกในครอบครัวนำไปปฏิบัติ
รู้อย่างนี้แล้ว เรามาช่วยกันใช้สัมผัสให้เกิดประโยชน์กันเถอะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

237-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 237
มกราคม 2542
บทความพิเศษ
ชลทิพย์ นาคาสัย