• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขอบตาดำคล้ำ ปัญหาเล็กๆ ที่ไม่เล็ก

“ผมไปฝังเข็มรักษาตามา พอฝังเสร็จวันรุ่งขึ้นขอบตาก็ช้ำบวมอย่างนี้ แต่หมอบอกว่า อาการอย่างนี้อาจจะเกิดได้ แต่จะค่อยๆหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน”
“ตั้งแต่เธอเข้าเวรดึกในช่วงเดือนนี้ ฉันสังเกตว่าขอบตาเธอดำจังเลย”
“ใช่สิ ฉันไม่ค่อยได้หลับได้นอนเลย บางทีตอนเช้าออกเวรมา นอนกลางวันก็ไม่หลับ หลับก็หลับไม่สนิทเหมือนกลางคืน”
“ตั้งแต่เธอตกงาน ไม่สบายใจ และตรากตรำรับจ้างทำงานหนัก ดูขอบตาเธอคล้ำไปเยอะทีเดียว”

คนทั่วไปมักจะมองเห็นว่าขอบตาดำคล้ำเป็นเรื่องที่อาจจะไม่มีความหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะของโรค หรือภาวะสมดุลของร่างกาย แต่ในทัศนะการแพทย์แผนจีน มองภาวะขอบตาดำอย่างเป็นปัญหาองค์รวม ไม่แยกส่วน กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะเรื่องของเม็ดสีหรือภาวการณ์ไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยบริเวณเบ้าตาไม่คล่องตัว มีการอุดกั้นเท่านั้น แต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่สะท้อนภาวะของร่างกายทั้งระบบที่มีปัญหาบางอย่างซ่อนเร้นอยู่

ขอบตาดำคล้ำเกิดจากอะไร
นอกจากสาเหตุที่เกิดจากการกระทบกระแทก ทำให้เกิดการฉีกขาดหรือทำลายหลอดเลือดฝอย มีการไหลของเลือดออกนอกหลอดเลือด ทำให้มีการคั่งค้างของเลือดบริเวณรอบขอบตา ซึ่งมักเกิดทันทีทันใดภายหลังเกิดอุบัติเหตุแล้ว
การเกิดอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปของสีดำคล้ำบริเวณขอบตาก็เช่นเดียวกัน เป็นการสะท้อนถึงการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยของตา มีการคั่งค้าง อุดกั้น ไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อเวลาผ่านไปการไหลเวียนยิ่งน้อยลง อาการดำคล้ำก็จะสังเกตได้มากขึ้น

การตรวจพบจะสังเกตได้ง่ายหรือยากขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น
๑. คนสูงอายุจะสังเกตได้ง่ายกว่าคนอายุน้อยหรือวันรุ่น เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ไขมันใต้ผิวหนังมีการสะสมตัวน้อย หนังตาจะหย่อน ขณะเดียวกัน การทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และการไหลเวียนเลือดจะลดลง ทำให้สามารถสังเกตความผิดปกติจากการอุดกั้นหรือภาวะไหลเวียนของเลือดบริเวณเบ้าตาได้ง่ายขึ้น
๒. คนที่มีเม็ดสีบริเวณเบ้าตา ใบหน้า มากกว่าปกติ ทำให้สังเกตเห็นความคล้ำของสีมากผิดปกติ
๓. คนที่ร่างกาย ใบหน้า ซูบผอม มีไขมันใต้ผิวหนังน้อย จะสังเกตได้ง่ายกว่าคนอ้วน
๔. คนที่ผิวกายสีขาว ทำให้เห็นความดำคล้ำได้ชัดกว่า คนที่สีผิวเหลือง น้ำตาล หรือดำ

ขอบตาดำคล้ำกับความสมดุลของร่างกาย
ภาวะขอบตาดำ อาจเป็นภาวะของสรีรภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองของร่างกายขณะที่ยังไม่เป็นโรค หรือเป็นพยาธิสภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีราภาพนานๆเข้าและไม่ได้รับการเยียวยา แพทย์แผนจีนพูดถึงความสัมพันธ์ของอวัยวะภายในกับดวงตาไว้ว่า
“ตับมีทวารเปิดที่ตา” และ “พลังของไตจะขึ้นบนมากำกับความมีชีวิตชีวาของดวงตา”

ความผิดปกติของบริเวณดวงตา จึงเกี่ยวข้องกับตับและไต ตับเป็นที่สะสมเลือด ไตเป็นที่สะสมสารจำเป็นที่เรียกว่าจิง ถ้าเลือดและสารจิงมีความสมบูรณ์ครบถ้วน ดวงตาก็จะสดใส มีชีวิตชีวา ขอบตาจะไม่ดำคล้ำ

ไตเป็นอวัยวะที่ให้พลังพื้นฐานแก่ร่างกาย และให้สารจิงเพื่อการสร้างความมีชีวิตชีวา ส่วนตับเกี่ยวข้องกับเลือด การบกพร่องของตับทำให้มีการอุดกั้นของเลือด การไหลเวียนไม่สะดวก

ในทางการแพทย์สมัยใหม่ คนไข้ที่มีภาวะของไตพร่องและการไหลเวียนของเลือดไม่ดี มักเกี่ยวข้องกับภาวการณ์แปรปรวนของระบบต่อมไร้ท่อ ฮอร์โมน ต่อมหมวกไต โรคหัวใจขาดเลือด และโรคที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือดติดขัด โรคที่เกิดจากภาวการณ์สูญเสียพลังอย่างต่อเนื่องยาวนาน จะมีผลต่อการไหลเวียนของหลอดเลือดเล็กๆ ที่ปรากฏรอบๆดวงตา และเม็ดสีที่บริเวณนั้นด้วย

ขอบตาดำคล้ำจากภาวะเสียสมดุล
๑. การนอนหลับไม่เพียงพอ
๒. การอ่อนล้าของระบบประสาทจากภาวะเครียด กลุ้มใจ ตรากตรำ วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ร่วมกับการพักผ่อนไม่เพียงพอ
๓. กินของเย็นขณะมีประจำเดือน หรือกินน้ำแข็ง ของเย็นเป็นประจำ มีการแปรปรวนของฮอร์โมนและภาวะความเป็นกรดมากขึ้นของร่างกาย (ในภาวะร่างกายปกติ เป็นด่างเล็กน้อย ภาวะของสารเม็ดสีจะไม่มีสี แต่ถ้าเป็นภาวะกรดจะเป็นสีดำ)
๔. ภาวะความเป็นกรดมากขึ้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ยา อาหาร สารพิษ โรคตับ ฯลฯ ภาวะสารแคลเซียมในร่างกายน้อย (แคลเซียมมีมากในสารพวกผักสีเขียว กระดูก ปลากรอบ ฯลฯ มีหน้าที่รักษาสมดุลของกรดและด่าง)
๕. การกินอาหารพวกแป้งและของหวานมากเกินไป จะทำให้เกิดกระบวนการเผาผลาญ มีคาร์บอนไดออกไซด์มาก ทำให้เลือดดำคล้ำ ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์
๖. การมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป จะสูญเสียพลังและสารจำเป็น รวมทั้งการมีอาชีพที่ต้องทำงานกลางคืน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ
๗. การสูญเสียพลังเรื้อรัง หรือภายหลังการเจ็บป่วยเรื้อรัง แพทย์ถือว่าการตั้งครรภ์บ่อยๆ การคลอดลูกแต่ละครั้งมีการทำลายพลังดั้งเดิม(พลังของไต) รวมทั้งการเจ็บป่วยเรื้อรังก็มีการทำลายพลังของร่างกาย จึงควรสนใจสร้างเสริมพลังและป้องกันการสูญเสียพลังของร่างกายแต่เนิ่นๆ
อาการอื่นๆที่ต้องสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับขอบตาดำคล้ำได้แก่ อาการที่บ่งบอกถึงภาวะของตับและไตพร่อง ได้แก่ ปวดเมื่อยเอว สีหน้าขาวซีด กลัวหนาว แขนขาเย็น มีตกขาวใส มีอาการร้อนตามฝ่ามือฝ่าเท้า ไข้ต่ำๆ นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ฯลฯ

การดูแลรักษา
๑. รักษาเฉพาะที่อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณตาประมาณ ๑o นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด หรืออาจใช้ก้อนน้ำแข็งห่อด้วยผ้าบางๆ ประคบสลับกับใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ทั้งนี้เพื่อทำให้หลอดเลือดหดตัว เพื่อเพิ่มแรงดันในหลอดเลือดฝอย ใช้ประคบเย็นประมาณ ๕ นาที
๒. หลลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เสียพลังอย่างสะสม งดของที่เย็น น้ำแข็ง โดยเฉพาะหลังกินอาหารเสริมบำรุงร่างกายให้เต็มที่ภายหลังการสูญเสียพลัง เช่น จากการคลอดลูก การเจ็บป่วยเรื้อรัง
๓. พักผ่อนแต่หัวค่ำ นอนหลับให้เพียงพอ
๔. ลดอาหารจำพวกเพิ่มกรด เช่น ของหวาน แป้ง และเนื้อสัตว์ ให้กินอาหารพวกผัก และผลไม้ ให้มาก
๕. ควบคุมสมดุลของอารมณ์ทั้ง ๗ ให้เหมาะสม
๖. ในบางรายจำเป็นต้องรักษาด้วยการสร้างสมดุลของอวัยวะ ไต ตับ โดยใช้การฝังเข็ม และใช้สมุนไพรร่วมด้วย

การรักษาภาวะของขอบตาดำคล้ำ จะต้องพิจารณาถึงภาวะองค์รวมของร่างกาย และให้การรักษาร่างกาย จิตใจ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน
ขอบตาดำคล้ำ จึงมีนัยที่มีความหมายที่ต้องพิจารณาให้ถึงแก่นของปัญหา และไม่แยกส่วนจากร่างกาย จิตใจ และวิถีการดำเนินชีวิตออกจากกันด้วยประการฉะนี้

 

ข้อมูลสื่อ

237-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 237
มกราคม 2542
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล