• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พารา-ยาลดไข้แก้ปวดที่ใช้บ่อยที่สุด

“คุณหมอครับ ผมเป็นไข้มา ๒ วัน กินพารามาหลายเม็ดแล้วยังไม่ทุเลา คุณหมอช่วยจัดยาลดไข้ตัวอื่นแทนใหเด้วยครับ”
“ผมขอยาพาราเม็ดฟ้า-ขาว คราวก่อนไก้เม็ดสีขาวไปกิน ได้ผลสู้เม็ดฟ้า-ขาวไม่ได้ ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นพาราเหมือนกัน”
“ห้องพยาบาลมีแต่พารา ตัวร้อนก็ให้พารา ปวดหัวก็ให้พารา ปวดฟันก็ให้พารา ผมไม่เห็นเขาจัดยาแก้ไข้ตัวอื่นให้สักที”
“คุณหมอคะดิฉันนิยมให้ลูกกินยาไทลีนอลในการลดไข้ รู้สึกว่าใช้ได้ผลกว่ายาพารา...”
“ผู้ใหญ่ควรกินพาราครั้งละ ๑ เม็ด หรือ ๒ เม็ดดีคะ ดิฉันรู้สึกสับสน เห็นหมอบอกว่า กินพารามากๆจะทำลายตับ ควรกินครั้งละเม็ดเดียว ปลอดภัยกว่าไหมคะ...”


นี่คือตัวอย่างความเชื่อและข้อข้องใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับยาพาราเซตามอล (นิยมเรียกสั้นๆว่า พารา) ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท
ยานี้มีอยู่ในห้องพยาบาลของที่ทำงาน ในโรงเรียน ร้านขายยา ร้านขายของชำ ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ในหมู่บ้าน)

หากจะถามว่ามียาลดไข้แก้ปวดตัวอื่นอีกไหม?

คำตอบก็คือ มีครับ ตัวที่เก่าแก่ที่ใช้กันมานมนานก็คือ แอสไพรินนั่นไง ยานี้ปัจจุบันใช้กันน้อยลงเพราะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจทำให้เป็นโรคกระเพาะ (กัดกระเพาะ) หรือเลือดออกในกระเพาะ (อาเจียนเป็นเลือดสดหรือถ่ายเป็นเลือดดำๆ) บางคนอาจเกิดอาการแพ้เป็นลมพิษ ผื่นคัน หรือหอบหืด นอกจากนี้ไข้บางอย่าง (เช่นไข้เลือดออก) ก็มีข้อห้ามใช้แอสไพริน เพราะอาจมีอันตรายตามมา ดังนั้นแอสไพรินจึงถูกแทนที่ด้วยพาราซึ่งไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าว

ยาลดไข้แก้ปวดตัวใหม่อีกตัวหนึ่งคือ กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ซึ่งนิยมใช้รักษาอาการปปวดข้อ ข้ออักเสบ (เช่น ไอบูโพรเพน) ก็มีสรรพคุณในการลดไข้แก้ปวดได้เช่นเดียวกัน แต่ก็อาจมีผลข้างเคียง คือทำให้เป็นโรคกระเพาะ และอาจเกิดอาการแพ้ยาได้แบบเดียวกับแอสไพริน จึงมีการใช้เพื่อลดไข้แก้ปวดกันค่อนข้างน้อย
พูดไปพูดมาก็หนีไม่พ้นข้อสรุปที่ว่า พาราเป็นยาลดไข้แก้ปวดที่ปลอดภัยกว่ายาตัวอื่นๆอยู่ดี หรือถ้าอยากจะปลอดภัยจริงๆ ก็คือใช้หลักธรรมชาติบำบัด คือปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติ เช่น หากอาการไข้เป็นไม่มาก (พอทนได้) ก็ใช้วิธีเช็ดตัวลดไข้แทนยา หรือปวดหัวเล็กน้อย นอนพักสักตื่นก็อาจจะหายไปได้เอง

ส่วนความเชื่อและข้อข้องใจของผู้คนทั่วไปเกี่ยวกับยาพารานี้มักเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการด้วยกัน

ประการแรก
เป็นเรื่องของ “อุปาทาน” หรือจิตวิทยา มีการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอาการเจ็บปวด หากหมอหลอกให้กินเม็ดแป้งเปล่าๆโดยชักจูงให้เชื่อว่าเป็นยาแก้ปวด ก็สามารถทำให้หายปวดได้ถึง ๔o-๕o คนใน ๑oo คน ทางแพทย์อธิบายว่าความเชื่อ (อุปาทาน) กระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารธรรมชาติในร่างกายมีฤทธิ์ระงับปวดได้เช่นเดียวกับฝิ่นหรือมอร์ฟีน และยังมีผลในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย ดังนั้นจึงพบได้บ่อยครั้งที่คนไข้จะรู้สึกสบายขึ้นเมื่อมีความเชื่อศรัทธาในยาหรือวิธีบำบัดรักษา หรือในตัวหมอผู้รักษา (ทั้งๆที่ยาหรือวิธีบำบัดเหล่านั้นไม่ได้มีผลโดยตรงต่อโรคที่เป็น)
ตรงกันข้าม ถ้าคนไข้ไม่เชื่อหรือศรัทธา ผลการรักษาก็อาจจะได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
เนื่องจากยาพารามีการใช้บรรเทาอาการตัวร้อน และอาการปวดต่างๆมากมาย จึงดูเหมือนเป็นยาครอบจักรวาล เป็นอะไรนิดอะไรหน่อยก็ให้กินพาราตัวเก่าอยู่เรื่อยๆ จนบางคนคลายความศรัทธา

ตามคลินิกหมอจึงมักจะมียาพาราอยู่หลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อมีรูปแบบสีสันต่างๆกันไป เป็นเม็ดกลมๆบ้าง เม็ดรีๆบ้าง สีขาวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีฟ้า-ขาวบ้าง เป็นต้น ทำให้แลดูว่าไม่ใช่ยาพาราชนิดเดียวกัน หากคนไข้คนไหนไม่ชอบ (ไม่ถูกโฉลก) กับเม็ดสีขาว ก็เปลี่ยนเป็นสีอื่นแทน คนไข้บางคนบอกว่าทั้งๆที่รู้ว่าเป็นตัวยาพาราอย่างเดียวกัน แต่ก็มีอุปาทานว่าต้องเป็นเม็ดสีฟ้า-ขาวดีกว่าสีขาว

ประการที่ ๒
เป็นเรื่องธรรมชาติของโรค บางโรคจะมีไข้สูงตลอดเวลา (เช่น หัด ไข้เลือดออก) กินยาลดไข้ตัวไหนๆก็ไม่บรรเทา บางโรคจะมีจังหวะการหายไข้ เช่น ไข้หวัด มักจะต้องใช้เวลา ๒-๔ วัน กว่าไข้จะหายขาด เมื่อกินยาได้วันสองวันไม่ทันถึงจังหวะหาย คนไข้ก็อาจกังวลว่ายาพาราที่กินนั้นไม่ได้ผล เมื่อไปหาหมอในวันที่ ๓-๔ ของโรค ก็ถึงจังหวะหายพอดี เลยนึกว่าหมอมียาลดไข้ที่ชะงัดกว่า (ที่แท้หมอเปลี่ยนไปใช้ยาพาราต่างยี่ห้อกับที่คนไข้ใช้ก่อน จึงทำให้คนไข้เข้าใจว่าหมอให้ยาอื่นที่ไม่ใช่พารา) ผู้ที่ต้องการดูแลรักษาตัวเอง จึงต้องศึกษาธรรมชาติของโรคแต่ละโรคให้ถ่องแท้
เมื่อพูดถึงเรื่องยี่ห้อยาก็ต้องขอทำความกระจ่างเพิ่มเติม เนื่องจากสังเกตพบว่า ผู้คนทั่วไปยังมีความสับสนในเรื่องนี้อยู่มาก

ทางแพทย์เราจะมีการเรียกชื่อยาอยู่ ๒ แบบ แบบหนึ่งเรียกว่า ชื่อสามัญ อีกแบบหนึ่งเรียกว่า ชื่อการค้า
ชื่อสามัญ หมายถึง ชื่อแท้ของยาชนิดนั้น เช่น พาราเซตามอล (แก้ปวดลดไข้) คลอร์เฟนิรามีน (แก้หวัดแก้แพ้)

ชื่อสามัญแต่ละชื่อจะมีชื่อการค้าหรือยี่ห้ออีกมากหลาก ตามแต่บริษัทจะตั้ง

พาราเซตามอลก็จะมีชื่อการค้ามากมาย (ดูตัวอย่างในกรอบ) เช่น ไทลีนอล ก็เป็นชื่อการค้าหนึ่งของยาพารานั่นเอง แต่อาจมีรูปแบบที่ดูแปลกตาและราคาก็อาจจะต่างกัน จึงทำให้ดูพิเศษกว่ายาพาราทั่วๆไป

กอรปกับแรงโฆษณาและอุปาทาน จึงอาจทำให้บางคนนิยมยี่ห้อหนึ่งมากกว่าอีกยี่ห้อหนึ่งไป
สุดท้ายนี้ขอไขข้อข้องใจกี่ยวกับบบขนาดของยาที่ใช้สักนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ใหญ่ พบว่ามักนิยมกินกันครั้งละ ๒ เม็ด (ขนาด ๕oo มิลลิกรัม)
ความจริงแล้วกินเพียง ๑ เม็ดก็พอ นอกเสียจากว่าใช้ขนาด ๓๒๕ มิลลิกรัม (เม็ดเล็ก) ก็อาจต้องใช้ ๒ เม็ด (เทียบเท่ากับ ๖๕o มิลลิกรัม)
ในกรณีที่มีไข้สูงจัด หรือปวดมาก หรือรูปร่างอ้วน (หนัก ๗o-๘o กิโลกรัมขึ้นไป) ก็อาจใช้ครั้งละ ๒ เม็ด (ขนาด ๕oo มิลลิกรัม)
ไม่อยากให้ใช้ครั้งละ ๒ เม็ดเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตับได้
กล่าวโดยสรุป ยาพาราเซตามอลเป็นยาลดไข้แก้ปวดที่ใช้ได้ผลดี ราคาถูก ปลอดภัย เป็นยาที่หมอสั่งใช้กับคนไข้ทั่วไป (รวมทั้งกับตัวหมอเอง) ข้อสำคัญต้องระวังอย่ากินเกินขนาด ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

ข้อควรรู้
ยาพาราเซตามอล

ชื่อสามัญ พาราเซตามอล (paracetamol)
ชื่อการค้า (ยี่ห้อ) พาราเซตามอล , เซตามอล , คาลพอล , ดากา , เทมพรา , ไทลีนอล , ไบโอเจสิก , พานาดอลล , พาราซิน , ซารา , อะเซตาซิล ฯลฯ
ประเภทยา
- ชนิดน้ำเชื่อม ๑๒o มิลลิกรัมต่อช้อนชา (๕ มิลลิลิตร) บรรจุขวดขนาด ๖o มิลลิลิตร
- ชนิดเม็ด ๓๒๕ มิลลิกรัม และ ๕oo มิลลิกรัม
สรรพคุณ
๑. ลดไข้ บรรเทาอาการตัวร้อนจากสาเหตุต่างๆ
๒. แก้ปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดหู ปวดตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ปวดแผล ฯลฯ
- สำหรับอาการปวดศีรษะจากไมเกรน ควรกินยานี้ทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกปวด หากปล่อยให้มีอาการเกิน ๑/๒ ชั่วโมง แล้วค่อยกินยาบรรเทาปวดจะไม่ได้ผล
- สำหรับอาการปวดข้อจากโรคข้อเสื่อม (เช่น ปวดเข่า ปวดสะโพก ปวดกระดูกสันหลังในผู้สูงอายุ) ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ควรให้กินยาพาราบรรเทาปวดเป็นครั้งคราวจะปลอดภัยกว่าการกินยาแก้ข้ออักเสบติดต่อกัน เพราะอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะ หรือเลือดออกในกระเพาะได้
- สำหรับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ควรให้ยาพาราบรรเทาอาการตัวร้อน ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ ๒-๔ วัน หากเกิน ๔ วันแล้วไข้ยังไม่บรรเทา ควรปรึกษาแพทย์ อาจมีโรคแทรกซ้อน หรือเป็นไข้จากสาเหตุอื่น

ขนาดและวิธีใช้
กินเวลามีอาการ ถ้ายังมีอาการกำเริบ ให้กินซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง โดยใช้ขนาดดังนี้
เด็ก ให้กินชนิดน้ำเชื่อม (๑๒o มิลลิกรัมต่อช้อนชา)
- อายุต่ำกว่า ๑ ปี ครั้งละ ๑/๒ ช้อนชา
- ๑-๔ ปี ๑ ช้อนชา
- ๔-๗ ปี ๑ ๑/๒ ช้อนชา
- ๗-๑๒ ปี ๑ ๑/๒ – ๒ ช้อนชา (หรือเม็ดขนาด ๓๒๕ มิลลิกรัม ๑ เม็ด หรือเม็ดขนาด ๕oo มิลลิกรัม ๑/๒ เม็ด)
ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๑-๒ เม็ด (ขนาด ๕oo มิลลิกรัม) โดยทั่วไปใช้เพียง ๑ เม็ดก็ได้ผล ยกเว้นในรายที่ไข้สูงหรือน้ำหนักตัวมาก อาจต้องใช้ ๒ เม็ด

ข้อควรระวัง

ที่สำคัญคือ ยานี้เป็นพิษต่อตับถ้ากินในขนาดมากๆ เช่น ผู้ใหญ่ครั้งละ ๗-๑o กรัม (๑๔-๒o เม็ด) ทำให้ตับไม่ทำงานเฉียบพลัน เป็นอันตรายถึงตายได้
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ในเด็กไม่ควรใช้เกินวันละ ๑,๒oo มิลลิกรัม (๑o ช้อนชา) ผู้ใหญ่ไม่ควรกินวันละ ๔ กรัม (๘ เม็ด)
ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือผู้ป่วยเป็นโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
ถ้าพบว่ามีการใช้ยานี้ขนาดมากเกินไป ควรรีบทำให้อาเจียน เช่น ใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอ แล้วรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์จะทำการล้างท้องและให้ยาต้ายพิษ เพื่อป้องกันมิให้ตับถูกทำลาย
หมายเหตุ
๑. ยานี้ไม่กัดกระเพาะ สามารถกินขณะท้องว่างได้ ไม่จำเป็นต้องกินหลังอาหาร
๒. อาการแพ้ที่เกิดจากพาราพบได้น้อยมาก นับว่าใช้ได้ปลอดภัยกว่ายาลดไข้แก้ปวดชนิดอื่นๆ
 

ข้อมูลสื่อ

237-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 237
มกราคม 2542
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ